‘ชัชชาติ’ โร่แจงปมประชาชนค้านผังเมือง วอนอย่าเริ่มด้วยการบอกว่าเป็นการเอื้อนายทุน ขอให้คุยด้วยเหตุผล ชี้ขยายรับฟังความเห็นไปถึงสิ้น ก.พ. 67 ฝาก สส.ช่วยสแกนพ.ร.บ.ผังเมืองปี 62 หวั่น ส.ก.โหวตคว่ำต้องเริ่มกระบวนการ 25 ขั้นตอนใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรณีที่กทม.รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 67 ที่ผ่านมานั้น กทม.ถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน มีเรื่องทางเทคนิคมากมาย ดังนั้น เวลาร่างผังเมือง จึงต้องใช้นักผังเมืองจริงๆเป็นผู้ร่าง ขนาดตัวเองจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมมา ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องอย่างละเอียด
ส่วนประเด็นที่กล่าวกันว่า ผังเมืองนี้เอื้อเอกชน ขอว่าอย่าใช้คำนี้เลย เพราะว่ามันเป็นการสร้างวาทกรรมที่ทำให้เกิดความแตกแยก ขอให้คุยกันด้วยเหตุด้วยผล กทม.พร้อมรับฟังเหตุผลทุกอย่าง ผังเมืองกทม.ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นผังเมืองที่มาต่อเนื่อง ประเด็นที่มีข้อสังเกตถึงผังสีแดง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก)ปรากฎเป็นย่อมๆ ไม่ได้เกิดขึ้นในผังเมืองฉบับร่าง แต่เป็นสิ่งที่พัฒนากันมา กทม.ก็พยายามเติมให้ดีขึ้น แต่เมื่อมีการเพิ่มเติมลงไป นักผังเมืองก็ต้องอธิบายให้ประชาชนว่าทำไมจึงมีสีเพิ่มขึ้น แต่ในขั้นต้น ขอร้องว่า อย่าพูดกันว่าเอื้อนายทุน จริงๆแล้วคนที่มีบุญคุณกับ กทม. คือ ประชาชน ไม่ใช่นายทุน กทม.ก็อยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“อย่างที่บอก ผังเมืองเป็นเรื่องละเอียด การดูเพียงจุดเดียวไม่ได้สะท้อนทั้งหมด แก้ผังเมืองสีแดงจุดนี้ไม่ได้ทำให้คนกรุงเทพฯมีชีวิตดีขึ้น ต้องมองในภาพรวม เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วหลักการที่ให้ไปคืออยากเห็นกรุงเทพฯที่คน ‘อยู่’ ‘ทำงาน’ และ ‘เดินทาง’ สะดวกมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่บ้านและที่ทำงานอยู่ห่างกันคุณภาพชีวิตจะแย่ลง เพราะมีการเดินทางเยอะขึ้น ดังนั้น โจทย์คือจะทำยังไงให้คนหาบ้านที่อยู่ใกล้งานมากขึ้น หรือเอาที่ทำงานไปอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น ดังนั้น จึงมีการทำผังเมืองสีแดงตามเขตรอบนอก อาทิ หนองจอก มีนบุรี ก็เพื่อหวังว่าจะมีการทำออฟฟิศที่ใกล้บ้าน หรืออาจจะเพิ่มสีส้ม (พื้นที่ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยปานกลาง) แถวประดิษฐ์มนูธรรม เพื่อให้คนสามารถอยู่ใกล้งานมากขึ้นไม่ต้องมาอยู่แถววงแหวนด้านในทั้งหมด” ผู้ว่ากทม.กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า กทม.ยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยได้ยืดเวลาออกไปถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่การบอกว่าผังเมืองนี้เพื่อนายทุนจะทำให้เกิดความเกลียดชังและความขัดแย้งตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น ประชาชนผู้ใดอยากให้เพิ่มหรือลดอะไรสามารถแสดงความคิดเห็นกันมาได้ผ่านช่องทางต่างๆที่กทม.ระบุไว้
ส่วนประเด็นที่ประชาชนกังวลถึงแผนการขยายเขตทางในอนาคตนั้น ผู้ว่ากทม.กล่าวว่า จริงๆแล้วการเพิ่มเขตทางจะทำให้การพัฒนาต่างๆยากขึ้นด้วย เพราะว่าต้องมีระยะต่างๆมากขึ้น เป็นการดูกรณีจากต่างประเทศมาประกอบที่เมืองมีฟุตบาทมากขึ้น มีระยะเว้นมากขึ้น โดยผู้ที่จะสร้างอาคารต่างๆ ต้องถอยออกมาจากถนนที่มีอยู่ ไม่ใช่ถนนในอนาคต
ขณะที่ประเด็น พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 ก็ยังมีปัญหาอีกมาก เพราะเมื่อประชาพิจารณ์เสร็จ คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด ซึ่งกทม.จะมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ ประชาชนเห็นด้วยแล้ว ให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติบังคับใช้ หากในระดับสภาท้องถิ่นมีการปรับแก้ ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะต้องไปเข้ากระบวนการปรับแก้ 25 ขั้นตอนนี้อีกหรือไม่ อาจต้องฝากสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ช่วยดูกฎหมายฉบับนี้ว่า หาก กทม.ผ่านข้อบัญยัติโดยสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) แล้ว ถ้า ส.ก.ไม่เห็นด้วยกับข้อบัญญัติ จะต้องไปเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่หรือไม่ ต้องฝากทางสภาผู้แทนราษฎร
อ่านประกอบ