กทม.เปิดรับฟังความเห็น ผังเมืองใหม่ กางไทม์ไลน์บังคับใช้ปี 2568 ผอ.สำนักผังเมืองเผยประโยชน์ 3 ด้าน ทั้งได้ที่ทำที่อยู่อาศัยใหม่ 130,000 ไร่, มีการขยายคลองฝั่งตะวันออกระบายน้ำดีขึ้น และจะมีการจัดรูปที่ดินให้ดีขึ้น ยันถนน 148 สาย ไม่ใช่ถนนใหม่ทั้งหมด มีแค่ 53 สายเท่านั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 มกราคม 2567 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เมื่อเวลา 09.30 น. นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม., นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรและสมาคมวิชาชีพ สื่อมวลชน และประชาชน ร่วมประชุม ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
นายไทวุฒิกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอสาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมกทม. ฉบับใหม่ให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นขั้นตอนตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อพัฒนาให้“กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเพื่อทุกคน และเติบโตอย่างยั่งยืน”
เดิมทีผังเมือง กทม.ฉบับใหม่จะต้องประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2562 แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การผังเมืองฉบับปี 2562 ซึ่งกำหนดให้มีผังเมืองรวมอีก 2 ประเภท คือ ผังน้ำและผังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จึงได้ผนวกเอาผังเมืองทั้ง 2 ประเภทนี้รวมเข้ามาในการจัดทำผังเมืองฉบับใหม่นี้ โดยการรับฟังความเห็นได้มีการรับฟังมาหลายส่วน
ที่ผ่านมากทม.มีการปรับปรุงผังเมืองรวมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันถือเป็นครั้งที่ 4 โดยการจัดทำผังเมืองรวมครั้งนี้ ประกอบด้วย 6 แผนผัง คือ
1.แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกำหนดทิศทางการใช้ที่ดินในอนาคตให้สอดคล้องกับการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ สังคม และระบบโครงสร้างพื้นฐาน
2. แผนผังแสดงที่โล่ง เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อม และการนันทนาการ
3. แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง เพื่อแสดงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในอนาคตที่สอดคล้องกับการพัฒนาและขยายตัวของเมือง
4. แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
5. แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบในการส่งเสริม รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และ 6. แผนผังแสดงผังน้ำ เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบการระบายน้ำ และการป้องกันน้ำท่วม
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนที่ต้องการพัฒนาหรือดำเนินการอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือ FAR Bonus จาก 5 รูปแบบ เป็น 10 รูปแบบ และเพิ่มมาตรการปรับอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวม ระหว่างแปลงที่ดิน (TDR) ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าของอาคารอนุรักษ์และมาตรการเฉลี่ยอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมสำหรับโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ (PUD) ถือเป็นมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ดินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
@คาดปี 2568 ประกาศใช้ผังเมืองใหม่
หลังจากการประชุมในวันนี้ กทม. จะนำความคิดเห็นของประชาชนไปปรับแก้ไขร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการของกรมโยธาธิการและผังเมือง คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด กรุงเทพมหานครที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการปิดประกาศ 90 วัน ซึ่งจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครได้อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อปรับแก้ไขผังเมืองรวมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ต่อไป ซึ่งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะมีผังเมืองรวมฉบับใหม่ใช้บังคับแทนฉบับปัจจุบันประมาณปี พ.ศ. 2568
ผอ.สำนักการวางผังเมือง กล่าวอีกด้วยว่า ทั้งนี้ ประชาชนสามารถยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมได้ด้วยตัวเอง หรือ ส่งไปรษณีย์ไปที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 หรือผ่านทางเว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (webportal.bangkok.go.th/cpud) ภายในวันที่ 22 มกราคม 2567 ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความก้าวหน้าและรายละเอียดเพิ่มเติมของการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ได้ที่www.plan4bangkok.com หรือ โทร. 0 2354 1274-75
@ผอ.ยก 3 ประโยชน์ ผังเมืองใหม่
เมื่อถามว่า การจัดทำผังเมืองครั้งนี้ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร นายไทวุฒิตอบว่า ผังเมืองกทม.ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2556 วันนี้สภาพกายภาพของพื้นที่และพื้นที่สิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไป ผังเมืองนี้มรการพิจารณาจัดทำในหลายมิติ ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในพื้นที่รอบนอก กทม. ได้เพิ่มพื้นที่ในการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีบ้านอาศัยในเขตกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องไปอยู่ในพื้นที่รอบนอก จะมีการจัดสรรที่ดินแปลงเล็กจาก 5,000 ไร่ เป็น 130,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่นี้จะกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ
ดังนั้น หลังจากที่ผังเมือง กทม.ฉบับใหม่ประกาศใช้ในปี 2568 ก็คาดว่าพื้นที่ 130,000 ไร่นร่จะเกิดพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ จำพวกทาวน์เฮ้าส์หรือที่อยู่อาศัยขนาดเล็กอื่นๆ ไม่ต้องเดินทางไกล
ส่วนที่ 2 ผังน้ำจะมีการลดพื้นที่ฟลัดเวย์ลงในพื้นที่กรุงเทพฯด้านตะวันออกจาก 90,000 ไร่ เหลือ 30,000 ไร่ ฉะนั้น พื้นที่ตรงนี้จะถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น ส่วนพื้นที่ฝั่งธนบุรี ที่มีผังเมืองสีเขียวลาย ซึ่งมีปัญหาในการพัฒนา จะยกเลิกตรงนี้ไป 120,000 ไร่ จะเกิดการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนระดับล่าง
นอกจากนี้ ผังเมืองฉบับนี้ จะมีการขยายขนาดคลองเพิ่มอีก 4-5 คลอง เดินแต่ละคลองมีขนาด 14-15 เมตร แต่ กทม.จะขยายเป็น 30-40 เมตร ซึ่งคาดว่าจะรับน้ำจากคลองหกวา จ.ปทุมธานี มาอยู่ในคลองที่ขยายทั้งหมด โดยจะเพิ่มเครื่องสูบน้ำในส่วนคลองประเวศบุรีรมย์ ปั๊มน้ำให้เข้าสู่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตต่อไป ซึ่งจะมีถนนริมสองฝั่งคลองไว้ด้วย ดังนั้น พื้นที่ฝั่งตะวันออกจะพัฒนาขึ้น
ผอ.สำนักการวางผังเมือง กล่าวต่อไปว่า ส่วนพื้นที่จุดเชื่อมต่อการเดินทางขนส่งสาธารณะ จะดูเรื่องฟีดเดอร์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเด็นถนนและโครงข่ายคมนาคม ไม่ได้เน้นการทำถนนสายใหม่ แต่จะเป็นการปรับปรุงถนนสายเดิม เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ของเมืองและการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้มากที่สุด และจะมีการจัดรูปที่ดินแนวเวนคืนเดิม ซึ่งทุกวันนี้เป็นภาระของ กทม. ในการจ่ายค่าเวนคืนในหลายๆสาย จึงพยายามลดขนาดลง และจัดเป็นระยะทางสั้นๆที่มีการจัดรูปที่ดิน ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนคือ บริเวณที่ดินที่ถนนตัดผ่าน แต่หลังพื้นที่เหล่านี้จะกลายเป็นพื้นที่ตาบอด ดังนั้น หลายๆโซนจะมีการจัดรูปที่ดินใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้สอยและมีทางเข้าออกมากขึ้น
ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง
@ขอสื่อช่วย PR ประชาชนแสดงความเห็นผังเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีประชาชนหลายส่วนสะท้อนว่า กทม.ไม่ได้ออกไปรับฟังความเห็นเพียงพอ จะต้องเริ่มกระบวนการรับฟังความเห็นใหม่หรือไม่ นายไทวุฒิระบุว่า กทม.รับฟังความเห็นตลอดทุกกลุ่มเขต และยังมีการรับฟังความเห็นถึงวันที่ 22 ม.ค. นี้ ก็ขอให้สื่อมวลชนช่วยประสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและเข้ามาแสดงความเห็นด้วย ยืนยันว่าจะรับฟังทุกความเห็น
ส่วนถ้ามีการคัดค้าน การบังคับใช้ผังเมืองกทม.ใหม่จะเลื่อนออกไปหรือไม่นั้น นายไทวุฒิระบุว่า การคัดค้านน่าจะอยู่บนเหตุผลของกฎหมาย กทม.ก็ชี้แจงและคุยในรายละเอียด ทุกวันนี้มีการร้องเรียนทางเอกสารบ้าง มีการเดินทางมาด้วยตัวเองบ้าง โดย กทม.จะใช้วิธีอธิบายด้วยข้อกฎหมายเป็นหลัก รวมถึงเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่
“เมืองไทยวางผังเมืองช้าอยู่แล้วครับ ประเทศอื่นเขาวางกันมาเป็นร้อยๆปี ในภาพรวมของประเทศก็เพิ่งมามีผังเมืองไม่นานนี้ แต่ว่าของเรามันช้าที่การปรับปรุงมากกว่า จากผังเมืองเดิมเมื่อปี 2556 วันนี้ช้ามากว่า 10 ปี มันก็ควรจะต้องมีแล้ว 2 ผังเมือง แต่วันนี้ 10 กว่าปีผ่านมา กทม.มีแค่ผังเมืองเดียว แต่หลังจากนี้ผังเมืองจะไม่มีอายุ เพราะจะมีการปรับปรุงตามกยภาพและความเจริญของแต่ละพื้นที่ โดยใช้มาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 เข้ามาช่วย ฉะนั้น จะไม่มีการรอทีเดียวแล้วเปลี่ยนแปลง” นายไทวุฒิระบุ
@ผังใหม่ ถนนตัดใหม่แค่ 53 เส้น 200 กม.
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีในผังเมืองฉบับใหม่ระบุถึงถนนสายทางต่างๆในกทม. ที่จะมีถึง 148 สายทาง ระยะทางรวมกว่า 605.31 กม. ทำให้ประชาชนกังวลถึงการเวนคืนที่อาจจะตามมา นายไทวุฒิระบุว่า จำนวนถนนทั้ง 148 สายทาง 97 สาย ระยะทาง 380 กม. เป็นถนนที่มีอยู่แล้ว แต่จะเป็นการประกาศขยายถนน เช่น ถนนในหมู่บ้านกว้าง 6 เมตร ผังเมืองฉบับนี้เพียงจะประกาศว่า ถนนเส้นนี้จะมีความกว้างเป็น 12 เมตร เพื่อให้คนที่จะก่อสร้างใหม่ ใช้กฎหมายฉยัยนี้ ทำให้เกิดระยะร่นและเพิ่มความสวยงามในพื้นที่ ไม่ได้ยุ่งการเวนคืนใดๆ ขณะที่ถนนสายใหม่ใน กทม. จะมีเพียง 53 สายทาง ระยะทาง 200 กม.