องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ทำหนังสือถึง กทม. แนะนำให้รับฟังความเห็นในการจัดทำผังเมืองให้โปร่งใส ลดข้อครหาเอื้อทุนอสังหาฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 มกราคม 2567 จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังผลักดันการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 โดยมีเป้าหมายที่จะบังคับใช้ในปี 2568 และเพิ่งจัดรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยถูกประชาชนจากหลายส่วนคัดค้านนั้น
- กทม.เข็นผังเมืองใหม่ รับฟังความเห็น ตั้งเป้าปี 68 ประกาศใช้
- ค้านผังเมืองใหม่กทม. ‘ประชาชน-นักการเมือง-ก้าวไกล’ สะท้อนหลายปัญหา
@แนะรับฟังความเห็นต้องโปร่งใส - ลดครหาเอื้อทุนอสังหาฯ
ล่าสุด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โดยนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทำหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่อง ขอให้เปิดเผยข้อมูลการจัดทำ ร่างผังเมืองรวม กทม. ฉบับใหม่ มีเนื้อความดังนี้
ตามที่ กทม. ได้จัดทำร่างผังเมืองรวม กทม. และจัดให้มีการประชุมรับฟังความเห็นประชาชนในส่วนพื้นที่กรุงเทพใต้ ณ สำนักงานเขตคลองเตย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า กระบวนการนี้ควรมีการเปิดเผยอย่างโปร่งใส เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างครบถ้วน ป้องกันมิให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยคำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ และการสัญจรที่วิกฤตมากอยู่แล้ว
เพื่อขจัดข้อกังขาในปัจจุบันว่า เหตุใดไม่ส่งเสริมการกระจายประชากรออกไปนอก กทม. หรือว่าสุดท้ายแล้วการดำเนินการครั้งนี้ผู้ได้ประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มนายทุนและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลง บางรายจะถูกเวนคืนที่ดินส่วนผู้ที่ยังพักอยู่อาศัยที่เดิมคุณภาพชีวิตจะเปลี่ยนไป เพราะความแออัดที่เกิดจากการปลูกสร้างคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่และหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินจะสูงมากขึ้นจนเกินกำลังซื้อหาของประชาชนทั่วไป เป็นต้น
องค์กรฯ ใคร่ขอเสนอให้ท่านแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับพันธกิจในการดูแลประโยชน์ของประชาชนชาว กทม. และสร้างบรรทัดฐานของการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักสากลของ Open Government เป็นต้นว่า เหตุจำเป็นที่ต้องจัดทำร่างผังเมืองใหม่ แนวทางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผลกระทบในระยะยาว ทางเลือกและข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการหรือที่เสนอแนะโดยองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา