ป.ป.ช. ตรัง ยื่น 7 ข้อเสนอกับ กรมการปกครอง ในการขอใบอนุญาตอาวุธปืน เพื่อป้องกันการทุจริต เรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายหลังจากข่าวในการเรียกรับผลประโยชน์ เช่น กรณีอดีตกำนันนก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีปัญหาการจ่ายเงินใต้โต๊ะ ในการขอซื้ออาวุธปืน ที่ปรากฏเป็นข่าวมาให้เห็นในสังคมไทย จนทำให้สังคมตั้งข้อคำถามว่าสิ่งเหล่านี้ น่าจะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่อาวุธปืนถึงมีเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง จนนำไปสู่การก่อเหตุ 'อาชญากรรม' มากมาย ที่ให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง แต่กลับกลายว่าประชาชนทั่วไป จะไปขออนุญาตซื้อหรือมีอาวุธปืนกับทางอำเภอ ประชาชนจำนวนไม่น้อย บอกว่า ต้องจ่ายเงินจำนวน 5,000 บาท 10,000 บาท 15,000 บาท แล้วแต่ประเภทของปืน หากไม่จ่าย คนที่อยากจะครอบครองอาวุธปืนต้องรอ จะได้หรือไม่ได้เป็นอำนาจและขึ้นอยู่ดุลพินิจของนายอำเภอ หากไม่มีการจ่ายเงินก็จะเป็นการใช้เส้นสาย พวกพ้อง ผู้มีอำนาจ หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่างๆ เป็นคนชักนำพา หรือฝากฝังเพื่อขอให้กัน
เฉกเช่นเดียวกับกรณี 'กำนันนก' ในจ.นครปฐม ที่มือปืนคือ 'หน่อง ท่าผา' ลูกน้องคนสนิทของ 'กำนันนก' ได้ใช้อาวุธปืนยิง พ.ต.ต. ศิวกร สายบัว หรือสารวัตรแบงค์ สารวัตรตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง เสียชีวิต จนต่อมามีการสืบทราบพบว่าอาวุธปืนที่มือปืนรายนี้พกพาและใช้ก่อเหตุเป็นของเจ้าหน้าที่ 'ตำรวจ' ตำแหน่ง รองสารวัตรจราจร สภ.เมืองนครปฐม และมีรายงานว่า 'กำนันนก' สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปซื้ออาวุธปืน เพื่อนำมาให้มือปืนเป็นผู้ใช้และครอบครอง หรือที่เรียกกันว่า 'ปืนผิดบ่า' ซึ่งง่ายต่อการขอซื้อหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลเป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้ จากปัญหาเหล่านี้ นำมาสู่การที่สำนักงาน ป.ป.ช.ตรัง ได้ทำวิจัยศึกษาจนพบว่ามีการ 'จ่ายส่วยอาวุธปืน' เกิดขึ้นจริง โดยมีข้อมูลยืนยันจนนำผลวิจัยเหล่านั้นมากำหนดเป็นมาตรการจำนวน 7 ข้อ เพื่อป้องกันการทุจริตในเรื่องการรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผอ.ป.ป.ช. ตรัง พร้อมด้วย นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ป.ป.ช.ตรัง เปิดเผยว่า ในการจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตในการรับสินบนการออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุน สำนักงาน ป.ป.ช. ตรัง ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอมาตรการ และมีคณาจารย์จากมหาลัยสวนดุสิต เป็นทีมศึกษาและวิจัย ประกอบกับได้เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนของกรมการปกครองในการรับฟังร่างมาตรการ ซึ่งทางกรมการปกครองเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และหากมาจากข้อเสนอของทางสำนักงาน ป.ป.ช. ก็จะสามารถดำเนินการได้และไม่มีขัดข้องแต่อย่างใด
ซึ่งข้อพิจารณาในการขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490 นั้นมีช่องว่างในการใช้ดุลพินิจ มีปัญหาในหลักเกณฑ์ ที่ไม่จำกัดจำนวนอาวุธปืนขั้นสูงสุดของคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตแต่ละราย และไม่มีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน จนปรากฏว่า มีการให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในการขออนุญาต ประกอบกับกับมีคดีที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหา หรือการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อตอบแทนในการดำเนินการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขอซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) และมีผลคำสั่งไล่ออกจากราชการ
โดยที่มาตรการ ข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการเรียกหรือรับสินบนในการขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เห็นควรมีข้อเสนอแนะ มาตรการไปยังกรมการปกครอง จำนวน 7 ข้อ ดังนี้
1. กรมการปกครองต้องดำเนินการกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ อาชีพ รายได้ ทรัพย์สิน อาวุธปืน ชนิด ขนาด ให้มีความชัดเจน เพื่อประกอบการใช้ดุลยพินิจพิจารณาของเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
2. กรมการปกครองต้องกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องมีหลักฐานใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของบุคคล โดยผู้ที่ขออนุญาตมีหรือใช้อาวุธปืนต้องมีสุขภาพจิตที่เป็นปกติ และเป็นบุคคลที่มีความจำเป็นในการพกพาอาวุธเท่านั้น โดยออกเป็นระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องคุณสมบัติของบุคคลผู้ยื่นคำขอตามมาตรา 13 โดยต้องมีใบรับรองจากแพทย์หรือแพทย์ที่จบด้านจิตเวช หรือนักจิตวิทยา
3. กรมการปกครองต้องกำหนดคุณสมบัติผู้ขออนุญาตว่าต้องมีรับหนังสือรับรองความสามารถว่าเป็นบุคคล ผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จากสมาคมยิงปืนหรือจากสนามยิงปืน ที่ได้รับรองมาตรฐานจากทางราชการ โดยต้องให้มีการอบรมและทดสอบความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน
4. กรณีมีคำพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ให้พนักงานสอบสวน ส่งสำเนาคำพิพากษาให้นายอำเภอเพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป
5.กรมการปกครองต้องจัดให้มีการทำระบบการเปิดเผยขั้นตอนตั้งแต่การยื่นขออนุญาตมีอาวุธปืน จนถึงการเสร็จสิ้นในระบบออนไลน์และประชาชนสามารถติดตามสถานะได้ (Case Tracking) ในการขออนุญาตได้
6.กรมการปกครองควรกำหนดตัวชี้วัดของอำเภอให้ดำเนินการจัดกิจกรรมในการเผยแพร่การไม่เรียก ไม่รับ สินบนในการขออนุญาตและกฎหมายที่เกี่ยวกับโทษของประชาชนในการให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในจ่ายสินบน ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ
7.กรมการปกครองควรกำหนดตัวชี้วัดของอำเภอให้มีการรณรงค์ส่งเสริมสร้างจิตสำนึกและยึดมั่นในมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการไม่เรียกรับสินบนและการกระทำผิดต่อหน้าที่และสร้างสื่อที่ต่อต้านหรือแจ้งเหตุของการทุจริตของข้าราชการ
อย่างไรก็ตามที่สำคัญเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล 'ไม่เรียกไม่รับสินบน' ทุกประเภทประเทศชาติก็จะดีขึ้น สินบนในการขออนุญาตปืนคงจะหมดไปถ้าช่วยกันแก้ไขและยึดมั่นในการทำงานของข้าราชการ