ครม.มีมติเห็นชอบต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ‘ดีเซล’ ออกไปอีก 4 เดือน คาดรัฐสูญเสียรายได้ 4 หมื่นล้าน 'บิ๊กตู่' ชี้เป็นการแก้ปัญหาแบบ 'พุุ่งเป้า'
......................................
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆที่ใกล้เคียงกันในบัญชีพิกัดภาษีสรรพสามิต ในอัตราลิตรละ 5 บาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.2566 ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้เดือนละ 1 หมื่นล้านบาท หรือรวมแล้ว 4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลดังกล่าว เป็นมาตรการที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 เป็นต้นมา เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ให้มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ในระดับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้
“กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดอัตราภาษีฯ เพื่อทำให้สถานการณ์คลังของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งในที่ประชุม ครม. รมช.คลัง ชี้แจงว่า การลดภาษีตรงนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆต่อการจัดเก็บภาษี และการจัดเก็บภาษีก็ยังเป็นไปตามเป้าอยู่ ขณะที่นายกฯย้ำ มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของในการดูแลพี่น้องประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานยังมีความผันผวนและสูงอยู่” นายอนุชา ระบุ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่า กรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบการต่ออายุมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 4 เดือน นั้น เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร ทั้งๆที่ราคาควรขึ้นไปอยู่ที่ 40 บาท/ลิตร ตั้งนานแล้ว ขณะที่การลดอัตราภาษีสรรพสามิตครั้งนี้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้เดือนละ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อต่ออายุไป 4 เดือน ก็จะทำให้สูญเสียรายได้รวม 4 หมื่นล้านบาท
“กองทุนน้ำมันก็ติดลบอยู่เดิม เมื่อลดภาษีไปเรื่อยๆ รายได้ก็ไม่กลับมา รายได้ที่จะมาแก้ปัญหาเฉพาะจุดด้านพลังงาน ก็ไม่มี ก็ต้องดึงเงินตรงอื่นมา ซึ่งอาจมีภาษีสูงขึ้น เก็บรายได้มากขึ้น แทนที่จะใช้ประโยชน์อื่นได้ ก็ต้องมาดูแลตรงนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ต้องตัดสินใจเพราะประชาชนเดือดร้อน เรียกว่าการแก้ปัญหาพุ่งเป้า ไม่มีอะไรที่ได้เปล่าๆ เราก็ต้องติดตามสถานการณ์ภายนอก ต้องรับรู้ด้วยว่าสถานการณ์ภายนอกเป็นอย่างไร ราคาน้ำมันเป็นอย่างไร การสู้รบยังมีอยู่หรือไม่ พลังงานมาจากไหน สิ่งเหล่านี้สำคัญ รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขณะที่ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 15 ม.ค.2566 กองทุนน้ำมันฯติดลบสุทธิ 116,883 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 72,089 ล้านบาท และบัญชีก๊าซฯติดลบ 44,794 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯติดลบน้อยลง จากในช่วงเดือน พ.ย.2565 ที่กองทุนฯเคยติดลบสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท
อ่านประกอบ :
เงินไหลเข้า 8 พันล.! ‘กองทุนน้ำมันฯ’โชว์ยอดติดลบเหลือ 1.21 แสนล้าน-สภาพคล่องเพิ่มขึ้น
‘สกนช.’ เผยปี 66 ทยอยกู้เงินอีก 1.2 แสนล้าน เพิ่มสภาพคล่อง ‘กองทุนน้ำมันฯ’
ครม.ไฟเขียวต่ออายุลดภาษีสรรพสามิต ‘ดีเซล’ อีก 2 เดือน-กองทุนน้ำมันฯติดลบ 1.3 แสนล้าน
สภาผ่านร่าง พ.ร.ก.ค้ำประกันเงินกู้ กองทุนน้ำมัน ‘ฝ่ายค้าน-ปชป.’ อภิปรายถล่ม
คาดสูญรายได้ 2 หมื่นล้าน! ‘ครม.’ เคาะต่ออายุลดภาษีสรรพสามิต ‘ดีเซล’ ออกไปอีก 2 เดือน