‘ศักดิ์สยาม’ ตั้งอนุฯ 14 คน สอบสวนหลัง ‘ก้าวไกล’ จี้ปมถูกเอกชนฟ้อง กรณีค่างานสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มกว่า 7 พันล. ระบุตั้งกรอบ 30 วันต้องมีความคืบหน้ามารายงานให้ทราบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 มกราคม 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามกรณีการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ใช้วิธีประมูลเฉพาะเจาะจง วงเงิน 33 ล้านบาท แล้วก็มีการพูดถึงกรณีที่ บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ฟ้องร้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรณีการทำงานเพิ่มเติมจากสัญญา วงเงิน 7,200 ล้านบาทในส่วนงานสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น
ล่าสุด ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 127/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ เพิ่มเติม ครั้งที่ 4 สาระสำคัญ ดังนี้
จากคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 71/2564 สั่ง ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมเปิดให้บริการและการบริหารโครงกรรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางชื่อ (ปัจจุบันคือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 คณะ นั้น
ปัจจุบัน การดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีประเด็นข้อกฎหมายกับผู้รับจ้างที่อาจ
ส่งผลกระทบต่อความเรียบร้อยในการเปิดให้บริการ เช่น กรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 และ รฟท. อยู่ระหว่างพิจารณาคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ และความเห็นของสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ก่อนที่จะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้มีการให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางกฎหมาย จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 1 คณะ คือ คณะอนุกรรมการด้านให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และกำกับติดตามการขี้แจงคำวินิจฉัย ภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ
โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธาน
2. อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นรองประธาน
3. นายชนินทร์ แก่นหิรัญ เป็นอนุกรรมการ
4. นายสิทธิ โสภณภิรมย์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ เป็นอนุกรรมการ
5. พลตำรวจตรี อุกฤษฏ์ ศรีเสือขาม รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (รองผบช.กมค.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นอนุกรรมการ
6. อธิบดีกรมบัญชีกลางหรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการ
7. ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการ
8. ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นอนุกรรมการ
9. ผู้แทนสภาวิศวกร เป็นอนุกรรมการ
10. ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการ
11. หัวหน้าสำนักอาณาบาล รฟท. เป็นอนุกรรมการ
12. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
13. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมการขนส่งทางราง เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
14. นายสุทธิรักษ์ ยิ้มยัง หัวหน้ากองประจำ รฟท. เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
อนุกรรมการ มีหน้าที่
1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับผู้รับจ้างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และ
พิจาราให้คำปรึกษา แนะนำ หรือให้ข้อเสนอแนะต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการดำเนินการ
ตามกระบวนการของกฎหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ
2. กำกับดูแล ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นไปโดยเรียบร้อย
3. เชิญหน่วยงานหรือบุคคลมาให้ข้อมูลได้ตามความเหมาะสม
4. รายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางชื่อเป็นระยะ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยนายศักดิ์สยามระบุว่า ให้เวลาอนุกรรมการชุดนี้ศึกษาและรายงานผลให้ทราบภายใน 30 วัน
อ่านประกอบ