‘จิรัฏฐ์ ก้าวไกล’ ชงกระทู้ถาม ‘ศักดิ์สยาม’ ปมเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็น กทม.อภิวัฒน์ ชี้สิ้นเปลือง และใช้จ่ายสุรุ่ยสุหร่ายไม่จำเป็น ด้าน ‘รมว.คมนาคม’ แจงที่มา เผยเป็นธรรมเนียมที่ได้ชื่อพระราชทานใหม่ ก็ต้องเปลี่ยน ส่วนให้ ‘ยูนิค’ ทำ เพราะอยู่ในช่วงการันตีผลงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 5 มกราคม 2566 นายจิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎรถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ใช้วิธีประมูลเฉพาะเจาะจง วงเงิน 33 ล้านบาท
นายจิรัฎฐ์เริ่มต้นว่า การติดตั้งตัวอักษรดังกล่าว ได้ไปดูตัวอักษรที่ติดตั้งบนสถานีกลางบางซื่อ พบว่า ตัวอักษรใช้อะคริลิคสีขาวขุ่น ยกขอบข้างด้วยเหล็ก ซึ่งไม่ใช่เหล็กเรียบ แต่เป็นเหล็ก 2 แผ่นเชื่อมประกบกัน งานเชื่อมโดยรวมไม่ได้สวยอะไร เพียงทาผิวด้วยสีกันสนิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะการติดตั้งป้ายในลักษณะนี้ไม่ได้ต้องการความสวยงามมากนัก
อย่างไรก็ตาม การชี้แจงของรัฐมนตรีและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ว่าเป็นป้ายที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงนั้น ขอเรียนว่า ป้ายที่ติดตั้งตอนนี้ก็เป็นเพียงป้ายไฟธรรมดาเท่านั้น แค่ใหญ่กว่าปกติเท่านั้นเอง ที่บอกว่าใช้กระจกหนา 10 มิลลิเมตร หรือมีการเจาะรูบนกระจก หรือการก่อสร้างในพื้นที่สูง บริษัทก่อสร้างล้วนมีความชำนาญในการรับภาระตรงนี้อยู่แล้วหรือไม่ ส่วนวัสดุที่ว่าใช้ไวเบรเนียม ก็เป็นเพียงโครงเหล็กธรรมดาเท่านั้น หากนำไปเทียบในราคา 33 ล้านบาท ดูอย่างไรก็แพง
อีกอย่างหนึ่ง รฟท.ไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่า โครงการนี้ไม่ได้ติดตั้งยาว 60 เมตร เพราะของเดิมมีอยู่แล้ว 40 เมตร เพียงแต่ติดตั้งเพิ่มอีก 20 เมตรเท่านั้นเอง คือโลโก้ของรฟท. ส่วนการใช้งบประมาณคุ้มค่าก็น่ากังขา เพราะป้ายเดิมใช้งานมาแค่ 3 ปีเท่านั้น สามารถนำคำว่า ‘สถานีกลาง’ มาใช้ต่อได้เลย หรือหากจะให้ประหยัดขึ้นอีกก็ไม่ต้องรื้อคำว่า 'Grand Station’ แล้วไปใช้ ‘Central Terminal’ ก็ได้ หรือแม้กระทั่งไม่ต้องเปลี่ยนป้ายเลยก็ยังได้ เพราะสามารถใช้ชื่อราษฎร์ชื่อหลวงควบคู่กันไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะคนก็ยังเรียกว่า สถานีกลางบางซื่อ อยู่ดี
และอีกประเด็นที่ติดใจคือ โลโก้ของ รฟท.ที่สูง 7 เมตร จะติดไปทำไม เพราะฉะนั้นจึงมีคำถามว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวมีความเหมาะสมด้านราคาอย่างไร ค่าจ้างดังกล่าวแพงไปหรือไม่
@ไล่เรียงความเป็นมา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลุกขึ้นชี้แจงว่า รฟท.ได้ชี้แจงมาว่า การเปลี่ยนชื่อดังกล่าว ได้ว่าจ้างในมูลค่า 33.169 ล้านบาท โดยได้ติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการ โดยขอชี้แจงดังนี้
1. การก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต รวมสถานีกลางบางซื่อ และสายสีแดงช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน เริ่มต้นปี 2550 เปิดใช้เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 โดยการก่อสร้างสถานีมีขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศ จึงเรียกโครงการว่า การก่อสร้างสถานีรถไฟกลางบางซื่อ โดยสามารถใช้เปรียบเทียบได้กับโครงการสนามบินหนองงูเห่า ที่ภายหลังได้รับพระราชทานนามว่า สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นมงคลนาม และรู้จักไปทั่วโลก
2. เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 กระทรวงจึงพิจารณาว่า รถไฟฟ้าสายทางต่างๆล้วนได้รับพระราชทานชื่ออันเป็นมงคลนาม จึงได้แต่งตั้งอนุกรรมการด้านการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการ และบริหารโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ โดยหนึ่งในภารกิจก็ได้คือ การขอชื่อพระราชทานระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงเมื่อเดือน พ.ค. 2564 ก่อนการเปิดให้บริการ
ต่อมามีหนังสือไปถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานชื่อระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้ง 2 ช่วง รวมไปถึงสถานีกลางบางซื่อด้วย
ถัดมา วันที่ 2 ก.ย. 2565 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งว่าได้นำความให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นำความขึ้นกราบบังคมทูลทรงทราบแล้ว และได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดังนี้ รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ - ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 นามว่า ‘นครวิถี’ ความหมาย 'เส้นทางของเมือง', รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ - รังสิต) ระยะที่ 1 นามว่า ‘ธานีรัถยา’ ความหมาย 'เส้นทางของเมือง' และสถานีกลางบางซื่อ นามว่า ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ความหมาย 'ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุเทพมหานคร'
หลังจากนั้น จึงได้สั่งการ รฟท. ลงนามเมื่อวันที่ 20 ก.ย. และ 5 ต.ค. 2565 ติดตั้งป้ายชื่อพระราชทานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งสำหรับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้ออกแบบให้ติดตั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางฝั่งตะวันออกและตะวันตกจำนวน 2 ชุด โดยภาษาไทยใช้ชื่อว่า ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ สูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 ซม. รวมตัวอักษร 19 ตัว ส่วนภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Krung Thep Aphiwat Central Terminal’ สูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 ซม. ตัวอักษรทำจากอะคริลิคสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟด้านหลัง
@แกะเนื้องาน - เปิดกระบวนการประมูล
นายศักดิ์สยาม ชี้แจงต่อว่า หลังจากนั้น รฟท. แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงานและราคากลาง โครงการจัดทำป้ายชื่อ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2565 ต่อมาได้รับแจ้งว่า จะต้องรื้อถอนกระจกและอะลูมิเนียมรับน้ำหนักความยาวจุดละ 60 เมตรออก และต้องปรับปรุงแก้ไขจากการก่อสร้างเดิมเป็นจำนวนมาก และประมาณราคาโดยบริษัทที่ปรึกษา แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มงาน ได้แก่
1. งานโครงสร้างวิศวกรรม ที่ต้องใช้รถเครนขนาดใหญ่ในการดำเนินการรื้อถอนไม่น้อยกว่า 3 ตัวในแต่ละจุด วงเงินโครงการ 6.228 ล้านบาท
2. งานด้านสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย งานติดตั้งกระจกใหม่ที่เป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass) ใช้ในพื้นที่รวม 85 ตารางเมตร รวมถึงงานติดตั้งโครงอะลูมิเนียมใหม่ 188 ตารางเมตร และงานติดตั้งป้ายและตราสัญลักษณ์จำนวน 2 ชุด มูลค่างาน 24.394 ล้านบาท
3. งานออกแบบรายละเอียดและรายการคำนวณ จำนวน 0.92 ล้านบาท
และ 4.งานติดตั้งและรื้อถอนปิดกระจกระหว่างรอติดตั้งวัสดุใหม่ มูลค่างาน 1.627 ล้านบาท
รวมมูลค่างานทั้งหมด 33.169 ล้านบาท
ส่วนการกำหนดทีโออาร์ ได้พิจารณาว่า การดำเนินการจะต้องสอดคล้องกับพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 จึงเห็นสมควรจัดซื้อจัดจ้างแบบ ‘เฉพาะเจาะจง’ เนื่องจากขณะนี้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ยังอยู่ในเนื้องานของโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - รังสิต สัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง วงเงิน 34,142 ล้านบาท ที่มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ เป็นผู้ก่อสร้าง
โดยเอกชนคู่สัญญาได้ส่งมอบงานแล้ว ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการการันตีผลงานตามสัญญาหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ และหากใช้วิธีอื่น อาจจะมีผลกับการการันตีผลงานหรือค้ำประกันสัญญาได้
ทั้งนี้ จากที่สังคมและสื่อมวลชนสงสัยในประเด็นต่างๆ กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว โดยสั่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
ต่อมา นายจิรัฏฐ์ ลุกขึ้นถามต่อว่า ทำไมต้องรอ 15 วัน และควรจะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ นอกจากนั้น ไม่ควรพุ่งเป้าไปที่ รฟท. แต่ควรตรวจสอบด้วยว่า เมื่อกลางปี 2564 ที่มีการคิดจะเปลี่ยนชื่อสถานีกลางบางซื่อ จนเดือน มิ.ย. 2565 มีการขอพระราชทานชื่อใหม่ ก็พบการเร่งรีบให้เปลี่ยนชื่อหลังจากได้ชื่อใหม่มาในเดือน ก.ย. 2565
ในกระบวนการทำราคากลาง ก็เพิ่งจะสรุปกันเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว โดยสอบราคากลางจากผู้รับเหมา 2 ราย จนได้ราคากลางที่ 34 ล้านบาท ต่อมาได้ต่อรองกับ บมจ.ยูนิค เพื่อรับงานดังกล่าวในราคา 33,169,726.39 บาท เมื่อประชาชนเห็นราคาจึงวิจารณ์ว่า ราคาแพงเกินไป ซึ่งการตั้งกรรมการเป็นการเอาตัวรอดแบบไทยๆ และปกติก็รอดกันหมด
แต่กรณีนี้ การตั้งกรรมการสอบจึงมีคำถามว่า จะสอบเรื่องราคา สอบอะไร การอยากเปลี่ยนชื่อสถานกลาง ที่รัฐมนตรีต้องการ ทั้งๆที่ป้ายเดิมติดตั้งไม่นานและไม่สนใจเลยว่า จะใช้ภาษีประชาชนเท่าไหร่ นอกจากนั้น จะต้องเปลี่ยนป้ายบอกทางต่างๆอีก ต้องใช้อีกกี่ป้าย เงินเท่าไหร่ และทำไมต้องเปลี่ยนชื่อ
นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพราะสาธารณชนให้ความสนใจและต้องตรวจสอบอย่างโปร่งใส ขอให้รอสักนิด ให้กรรมการรวบรวมข้อมูลสักหน่อย หากผลออกมาจะรายงานผลให้ทราบแน่นอน ผิดเป็นผิด แต่ถ้าถูกก็ต้องให้ รฟท. ดำเนินการต่อ
ส่วนราคาจะถูกไปหรือแพงไป ส่วนตัวไม่ยืนยัน เพราะไม่ใช่คนกำหนดราคา และได้เรียนไปแล้วว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมามีบุคคลจากภายนอกเข้ามาร่วมด้วย
ส่วนการเปลี่ยนชื่อดังกล่าว ไม่ได้มาจากความต้องการของตัวเอง เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สนามบินหนองงูเห่าก็เปลี่ยนชื่อ สถานที่สำคัญของราชการหลายแห่งก็ดำเนินการแบบนี้ เป็นการดำเนินการตามปกติ
ช่วงท้าย นายจิรัฏฐ์ ถามอีกว่า สถานีกลางบางซื่อ ถูก บมจ.ยูนิคผู้รับจ้างฟ้องร้อง รฟท. จากการทำงานเพิ่มเติมจากสัญญา วงเงิน 7,200 ล้านบาท และเพิ่งชนะคดีไป ถ้าเป็นปกติคงไม่มองหน้ากันแล้ว แต่กลับยังเลือกยูนิคกลับมาสร้างอีก และที่ผ่านมาก็ไม่เคยเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจ่ายค่างานดังกล่าวเพิ่ม แถมยังใช้เป็นทมี่ฉีดวัคซีนอีก
นายศักดิ์สยาม ตอบว่า รฟท.ได้รายงานความจำเป็นการจ้างบริษัทรายเดิมแล้วตามที่ได้ชี้แจงไปข้างต้น ส่วนการต่อสู้คดี ยังไม่ถึงที่สุด ขอให้ศึกษากระบวนการต่อสู้คดีความให้ดี คงจะต้องอุทธรณ์กันต่อไป
อ่านประกอบ
‘ศักดิ์สยาม’ ตั้งกก.สอบป้าย ‘สถานีกทม.อภิวัฒน์’ รฟท.แจงประมูลเจาะจง เพราะเป็นงานด่วน
เปิดคำสั่ง ‘ศักดิ์สยาม’ เซ็นตั้ง 10 ชื่อเป็นกรรมการ สอบกรณีป้ายส.กลาง กทม.อภิวัฒน์