‘ศักดิ์สยาม’ ประชุมรถไฟสายสีแดง ตั้งกรรมการสอบปมเปลี่ยนชื่อ ‘สถานีกลางกทม.อภิวัฒน์’ โดยให้อัพเดท 15 วัน และเตรียมแผนสำหรับการเปิดเชิงพาณิชย์ 19 ม.ค. 66 ด้า่นรถไฟแจงยิบ ให้ยูนิค เพราะเป็นงานด่วน และมีขั้นตอนดำเนินการค่อนข้างละเอียด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 มกราคม 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินการรถไฟสายสีแดง
การรถไฟแห้งประเทศไทย (รฟท.) ได้กำหนดปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ สายเหนือ สายใต้ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งหมดจำนวน 52 ขบวน ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดทางรถไฟในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้โดยสารที่มีต้นทาง - ปลายทาง ที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีดอนเมือง สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ขึ้นรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อเชื่อมต่อสถานีที่รถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ไม่หยุดรับ – ส่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ส่วนขบวนรถธรรมดา รถชานเมือง และสำหรับขบวนรถนำเที่ยวทุกสายยังคงให้บริการที่สถานีหัวลำโพงเหมือนเดิม อีกทั้งผู้โดยสารรถไฟชานเมืองที่ใช้ตั๋วโดยสารรายเดือน สามารถนำมาใช้กับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมทั้งได้มีการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถประจำทางสาย 1 – 33 (บางเขน – สถานีกลางบางซื่อ) สาย 2 – 15 (กระทรวงสาธารณสุข – โรงพยาบาลสงฆ์) และสาย 2 – 17 (วงกลมสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ – มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เพื่อเป็นระบบเชื่อมต่อการเดินทางให้กับประชาชน อีกทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะมาใช้บริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ที่สถานีรังสิตจึงได้มีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะเสริม (Feeder) เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานด้านระบบขนส่งสาธารณะเสริม (Feeder) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการให้บริการบัตรโดยสารรายเดือนร่วมของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และรถโดยสารปรับอากาศ ขสมก. ปัจจุบัน รฟท. และ ขสมก. ได้จัดทำ MOU ร่วมกันแล้วโดยคาดว่าจะเปิดขายบัตรโดยสารดังกล่าวได้ภายในเดือนมกราคม 2566
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้
1. มอบหมายให้ รฟท. ตรวจเช็คระบบสาธารณูปโภคภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการให้บริการแก่ประชาชน สำหรับการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ ที่จะให้บริการที่สถานีกลางฯ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
2. มอบหมายให้ รฟท. ตรวจสอบความถูกต้องให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องในการ
จัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในพื้นที่ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และให้มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนต่อไป
3. มอบหมายให้ รฟท. และ รฟฟท. จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และใช้ Influencer ที่มีผู้ติดตามที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การประชาสัมพันธ์ให้เป็นรูปธรรมต่อไป
4. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องของการปรับปรุงป้ายชื่อของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธาน นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นรองประธาน โดยให้มีผู้แทนจากสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมสถาปนิกสยาม และกรมบัญชีกลาง ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ และให้ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นเลขานุการ โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนต่อไป
@แจงประมูลเจาะจง เพราะงานด่วน
ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เผยแพร่คำชี้แจงว่า การกำหนดราคากลางได้มีการดำเนินการ ผ่านการตั้ง คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลาง ตามคำสั่งเฉพาะที่ ก.812/2565 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2565 โดยมีการพิจารณารายละเอียดของการประมาณการที่เกี่ยวข้องกับชนิด จำนวน ปริมาณ รายการพัสดุ วัสดุต่างๆ ค่าแรง ที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามราคากลางและระเบียบของกรมบัญชีกลาง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) เป็นเงิน 33,169,726.39 บาท ราคาดังกล่าว ได้รวมยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) เป็นเงิน 1,627,662.60 บาท
ซึ่งยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) รายการนี้กำหนดไว้ว่า จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ สำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะครีลิกใส เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคารสถานี ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่ โดยในกรณีที่ผนังกระจกใหม่สามารถผลิตและติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 90 วัน ยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) รายการนี้ผู้ว่าจ้างก็จะไม่ต้องสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการและผู้รับจ้างก็จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายเงินค่าจ้างได้ รฟท.ก็จะสามารถประหยัดเงินค่าจ้างลงได้ส่วนหนึ่งด้วย
สำหรับเหตุผลที่ต้องมีการเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง เนื่องจากโครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง และมีความเร่งด่วนจึงต้องมีการรีบดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
@เนื้องานละเอียด ไม่ใช่แค่เปลี่ยนป้าย
ขณะที่กระบวนการกำหนดขอบเขตงาน ทางคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลางของโครงการฯ ได้มีการกำหนดขอบเขตของงานที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอน ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง เพื่อให้โครงการเกิดความรอบคอบ เสร็จสิ้นเรียบร้อยตามกำหนด ซึ่งมีขอบเขตงานทั้งหมด ประกอบด้วย
งานส่วนที่ 1 งานโครงสร้างวิศวกรรม งานรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อเดิม ทั้งในส่วนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานรื้อผนังกระจกและโครงกระจกอลูมิเนียมเดิม งานรื้อระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายเดิม งานผลิตและติดตั้งโครงเหล็กยึดตัวอักษรใหม่ต่อเติมตามความยาวป้ายที่เพิ่มขึ้น
งานส่วนที่ 2 งานผลิตป้ายใหม่ งานติดตั้งแผ่นกระจกและโครงกระจกอลูมิเนียมใหม่ และงานประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ และงานติดตั้งป้ายชื่อใหม่ และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายชื่อใหม่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1
งานส่วนที่ 3 งานในช่วงรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน)
นอกจากนี้ ในการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ รฟท. ยังได้กำหนดจุดติดตั้งป้ายชื่อสถานีจำนวน 2 ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยมีตัวอักษรตัวสระภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร และ 1 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ฝั่งจะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ
ส่วนรายละเอียดของอักษรป้ายชื่อที่ขอพระราชทาน ในส่วนที่เป็นชื่ออักษรภาษาไทย มีความสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร มีความยาวของป้ายใหม่รวม 60 เมตร ตามจำนวนอักษรของชื่อพระราชทาน ในส่วนที่เป็นอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยวัสดุอะครีลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย การรถไฟฯ ได้ขอเพิ่มตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ที่มีความสูง 7 เมตร ซึ่งได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อ และจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งป้ายอักษรติดตั้งโดยมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง โครงเหล็กยึดไว้เสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุผนังกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว แต่ผนังกระจกเป็นกระจกหนากว่า 10 มิลลิเมตร ที่ไม่สามารถเจาะรูใหม่ได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผนังกระจกที่ติดตั้งไว้เรียบร้อยแล้วด้วยผนังกระจกใหม่ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษ โดยผนังกระจกต้องหล่อแผ่นกระจกเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า
“โดยเฉพาะการรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) รวมถึงงานรื้อผนังกระจก (เดิม) และการติดตั้งป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (ใหม่) รวมถึงงานติดตั้งผนังกระจก (ใหม่) ดำเนินการด้วย การติดตั้งกระเช้าไฟฟ้า (แขวนสลิง) ยาว 6 เมตร รวมการย้ายจุดทำงาน จำนวน 4 กระเช้า (ชุด) ระดับความสูงของป้ายสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 28 เมตร ความสูงเทียบเท่าตึก 9 ชั้น น้ำหนักที่ต้องยกขึ้นไปติดตั้งกว่า 7 ตัน เป็นงานที่ยากและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ”
ขณะเดียวกัน ผู้รับจ้างต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ การดำเนินงานให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่สัญญาจ้างกำหนดเป็นจำนวน 150 วัน (5 เดือน) และรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน) โดยเมื่อเริ่มงานผู้รับจ้างต้องเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อขออนุมัติภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มงาน โดยในแผนงานต้องระบุงานติดตั้งเฉพาะงานโครงป้ายตัวอักษร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้ง 2 ด้านของอาคารสถานี พร้อมติดตั้งตราสัญลักษณ์การรถไฟฯให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และต้องดำเนินงานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามสัญญาภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนดจนถึงครบกำหนดสิ้นสุดสัญญา 150 วัน
ที่มาภาพปก: สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ Krung Thep Aphiwat Central Terminal