EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินผลกระทบอินเดียเก็บภาษีส่งออกข้าว 20% คาดไทยจะได้ประโยชน์สูงที่สุด มองราคา ‘ข้าวเปลือก’ ในประเทศปี 66 มีโอกาสเพิ่มขึ้น 11-46%
.........................................
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่บทวิเคราะห์ เรื่อง ‘นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย : หน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย’ วิเคราะห์โดยนายเกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส EIC ซึ่งระบุว่า การที่ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก คือ อินเดีย ออกนโยบายระงับและจำกัดการส่งออกข้าว จะส่งผลเชิงบวกต่อราคาข้าวโลกและคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์นี้
บทวิเคราะห์ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 อินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 40.7% ประกาศระงับการส่งออกปลายข้าวและจำกัดการส่งออกข้าวเปลือก ข้าวขาวและข้าวกล้องทุกชนิด ด้วยการเก็บภาษีส่งออก 20% อย่างไม่มีกำหนด เพื่อให้ผลผลิตข้าวมีเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียยังมีความไม่แน่นอนสูง EIC จึงทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากพัฒนาการของนโยบายที่อาจเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 อินเดียดำเนินนโยบายตามที่ได้ประกาศออกมาในปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงช่วงเดือน ต.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ของอินเดียจะออกสู่ตลาด และ
กรณีที่ 2 อินเดียมีการออกนโยบายระงับการส่งออกข้าวเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมถึงข้าวเปลือก ข้าวนึ่ง ข้าวขาว และข้าวกล้องด้วย และมีการดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือน ต.ค.2566 เหมือนกับกรณีแรก
ผลการศึกษาพบว่า นโยบายของอินเดีย กรณีที่ 1 จะกระทบต่อปริมาณการค้าข้าวโลก 9.6 ล้านตัน หรือคิดเป็น 18.3% ของปริมาณการค้าข้าวโลก และกรณีที่ 2 จะกระทบต่อปริมาณการค้าข้าวโลก 17.4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 33.5% ของปริมาณการค้าข้าวโลก ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวนั้น EIC คาดว่า กรณีที่ 1 ราคาข้าวโลกในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และกรณีที่ 2 ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 66.3% YOY
ทั้งนี้ เซเนกัล จีน บังกลาเทศ เบนินและเนปาล จะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุดจากนโยบายระงับและจำกัดการส่งออกข้าว เนื่องจากพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากอินเดียในระดับสูง ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าว อย่าง ไทย เวียดนามและปากีสถาน จะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการที่ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นและความต้องการนำเข้าเพื่อทดแทนข้าวอินเดียที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์สูงที่สุด จากการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก
เนื่องจาก 1.ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวและปลายข้าวมากเป็นอันดับสองของโลก มีปริมาณการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 12% และ 10% ของปริมาณการค้าข้าวและปลายข้าวโลก ตามลำดับ 2.ไทยมีผลผลิตข้าวเหลือจากการบริโภคในประเทศในระดับที่สูงกว่าผู้ส่งออกอย่าง เวียดนามและปากีสถาน 3.ไทยไม่ได้มีการนำเข้าข้าวจากอินเดียมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และบริโภคในประเทศ แล้วส่งออกข้าวของตัวเองไปขายในตลาดโลกเหมือนเวียดนาม
และ4.ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าอินเดียค่อนข้างมาก ส่งผลให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกให้อินเดียมาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวอินเดียอยู่ถึง 26.0% ดังนั้น นโยบายระงับการส่งออกและจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย จึงจะส่งผลดีต่อไทยค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามและปากีสถาน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดอันดับ 3 และ 4 ของโลก ตามลำดับ
“จากข้อมูลในอดีตพบว่า ส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกของไทย เวียดนาม และปากีสถาน จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูง ในช่วงที่อินเดียมีนโยบายระงับการส่งออกข้าว และส่วนแบ่งตลาดจะปรับตัวลดลงหลังจากที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง” บทวิเคราะห์ EIC ระบุ
บทวิเคราะห์ EIC ระบุด้วยว่า ในส่วนของผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมข้าวไทยจะได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบนโยบายส่งออกข้าวของอินเดีย โดยกรณีที่ 1 ราคาข้าวเปลือกเจ้าของไทยในปี 2566 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.1% YOY และกรณีที่ 2 ราคาข้าวเปลือกเจ้าของไทยอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 46.5% YOY ขณะที่ราคาขายปลีกข้าวขาวของไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7% YOY และ 36.4% YOY ในกรณีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
ส่วนผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวของไทย พบว่า ปริมาณการส่งออกข้าวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.4% YOY และ 73.0% YOY ในกรณีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ โดยราคาข้าวเปลือกและปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โรงสีและผู้ส่งออกข้าว แต่ราคาขายปลีกข้าวในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวที่เพิ่มขึ้น
“นโยบายของอินเดียเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสให้ไทยดึงส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกกลับมา ความต้องการข้าวไทยในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมข้าวไทย ควรจะร่วมมือกันใช้โอกาสนี้ในการดึงส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกกลับคืนมา” บทวิเคราะห์ EIC ระบุ
อ่านประกอบ :
ฝนตกต่อเนื่องกระทบส่งมอบ! คาดเดือน ส.ค.65 ไทยส่งออกข้าว 6-6.5 ล้านตัน-เวียดนามจ่อแซง
เอกชนขยับเป้าส่งออกข้าวปี 65 เป็น 7.5 ล้านตัน-7 เดือนโกยรายได้เข้าประเทศ 7.1 หมื่นล.
6 เดือนแรกปี 65 ไทยรั้งอันดับ 2 ส่งออกข้าวโลก-‘อินเดีย’ ยังแชมป์ยึดตลาด 9.27 ล้านตัน
สัญญาณดี! ‘พาณิชย์’ เผยครึ่งแรกปี 65 ไทยส่งออกข้าว 3.5 ล้านตัน-เฉพาะเดือน มิ.ย.โต 96%
‘นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวฯ’มั่นใจปีนี้ไทยส่งออก 7 ล้านตัน-จับตา‘ปุ๋ยแพง’ทำผลผลิตลดลง
บาทอ่อน-คู่ค้าเร่งนำเข้า! 'สมาคมส่งออกข้าวฯ'คาด เม.ย. ส่งออก 7 แสนตัน-3 เดือนโต 48.5%
3 ปี อุดหนุน 3.2 แสนล้าน ประกันราคา 'ข้าว' แต่ทำไม 'ชาวนา' ยังอยู่ในวังวน 'หนี้สิน'?