‘นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย’ มั่นใจทั้งปี 65 ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7 ล้านตัน ตามเป้า แต่จับตาราคา ‘ปุ๋ยแพง’ อาจทำให้ผลผลิตข้าวลดลง แม้ปีนี้ฝนจะดี
.......................................
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ไทยส่งออกข้าวได้แล้ว 3.5 ล้านตัน และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะส่งออกข้าวได้อีก 3.5 ล้านตัน จึงคาดว่าทั้งปี 2565 ไทยจะส่งออกข้าวสารได้ตามเป้าหมาย 7 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 1 ล้านตัน แต่ปริมาณการส่งออกข้าวดังกล่าวยังถือเป็นระดับการส่งออกที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งไทยควรส่งออกข้าวได้ปีละ 8 ล้านตัน
"ครึ่งแรกของปี ก็ตรงตามเป้าได้ 3.5 ล้านตัน เป้าเราตอนนี้ 7 ล้านตัน ถ้าสิ้นปีได้ 7 ล้านตัน ก็โอเค มากกว่าปีที่แล้ว 1 ล้านตัน ก็คิดว่าน่าจะเป็นตามเป้า ถ้าไม่มีสถานการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงไป" ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ต้นทุนการปลูกข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ยที่ยังมีราคาสูงอยู่ แม้ว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาราคาปุ๋ยจะลดลงตันละ 200-300 บาท ก็ตาม เช่นเดียวกับฝนฟ้าในปีนี้ที่คาดว่าน่าจะดี แต่หากราคาปุ๋ยแพงและมีการใช้ปุ๋ยน้อยลง ก็จะต้องดูว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปี 2565/66 หรือไม่
ร.ต.ท.เจริญ ยังกล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ว่า แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาหลุด 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้ขีดความสามารถในแข่งขันของข้าวไทยได้เปรียบคู่แข่งแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่เฉพาะแต่ค่าเงินบาทเท่านั้นที่อ่อนค่า แต่ค่าเงินอ่อนค่ากันทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะค่าเงินของอินเดีย ซึ่งล่าสุดค่าเงินรูปีของอินเดียอ่อนค่ามากกว่าค่าเงินบาทของไทยเสียอีก
“ตอนนี้อินเดียขายข้าว 5% และข้าวนึ่ง ถูกกว่าไทยตันละ 70-80 เหรียญ ผู้ซื้อจึงหันไปซื้อข้าวจากอินเดียกันเยอะ ตลาดที่เมื่อก่อนเคยเป็นของเรา เช่น แอฟริกา ก็ถูกอินเดียแย่งไปเยอะมาก แม้กระทั่งฟิลิปปินส์เองก็เริ่มนำเข้าข้าวจากอินเดียแล้ว” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวถึงราคาข้าวสารส่งออกที่มีราคาลดลงต่อเนื่อง ว่า ราคาข้าวสารที่ลดลงดังกล่าว เป็นเพราะไทยกำลังอยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วไป ประกอบกับปีนี้มีน้ำมาก จึงทำให้มีผลผลิตข้าวมาก ราคาข้าวก็ลดลง ในขณะที่คู่แข่งอย่างอินเดีย ผลผลิตข้าวก็ออกมาดีและลดราคาข้าวลงมาเช่นกัน ส่วนเวียดนาม ซึ่งหันไปผลิตข้าวที่มีคุณภาพนั้น ล่าสุดส่งข้าวไปขายไปฟิลิปปินส์แล้ว 2 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทยจะลดลงไปอยู่ที่ 420 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน แต่ชาวนายังขายข้าวเปลือกได้ที่ตันละ 8,000-8,500 บาท
(ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย)
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์สถานการณ์ข้าวไทยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะอุปทานข้าวตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากราคาปุ๋ยเคมีที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผลผลิตข้าวไทยลดลง
ในขณะที่ความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent Up Demand) ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่คลี่คลาย และเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยสนับสนุนการส่งออกข้าวไทยให้กระเตื้องขึ้น 15.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) จึงยิ่งกดดันอุปทานข้าวที่เหลือในประเทศให้ลดลง และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 เป็นผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน
“หากเราย้อนกลับไปดูผลผลิตข้าวไทยในปี 2562-2564 จะพบว่ามีค่าเฉลี่ยราว 21 ล้านตันข้าวสารต่อปี ซึ่งหลังหักปริมาณการส่งออก และการบริโภคในประเทศแล้ว รวมกับข้าวในสต๊อกไทยจะมีอุปทานข้าวเหลือในประเทศราว 6 ล้านตันข้าวสารต่อปี ส่วนปี 2565 คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวจะลดลงราว 1.2-1.8 ล้านตันข้าวสาร เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้มีผลผลิตข้าวรวมสต๊อกอยู่ที่ราว 24.3 ล้านตันข้าวสาร ในขณะที่การส่งออกขยับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ราว 7 ล้านตันข้าวสาร และการบริโภคในประเทศราว 13 ล้านตันข้าวสาร
จึงทำให้เหลืออุปทานข้าวในประเทศเพียง 4.3 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเป็นระดับที่ตึงตัวขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า และคาดการณ์ว่าในปี 2566 อุปทานข้าวที่เหลือในประเทศจะลดลงอยู่ที่ระดับ 0.9-2.4 ล้านตันข้าวสารเท่านั้น จากการคาดการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอุปทานข้าวที่เหลือในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2565-2565 ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงดันให้ราคาข้าวในประเทศขยับขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้บริโภคต้องการกลับมาจับจ่ายใช้สอย หลังจากที่หยุดหรือลดการใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้า” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ