สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ เรียกร้องรัฐบาลปล่อยให้ราคา ‘เนื้อไก่’ ขึ้นลงตามกลไกตลาด หลังต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น จี้ลดอุปสรรคการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์
...............................
นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไก่เนื้อ จะต้องเผชิญปัญหาจากวิกฤตซ้อนวิกฤต เช่น โรคโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการเนื้อไก่ลดลงมาก และการบุกรุกของรัสเซียในยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นทั่วโลก แต่ผู้เลี้ยงไก่พยายามบริหารจัดการธุรกิจและต้นทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเสริมแหล่งโปรตีนทางเลือกให้กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น สมาคมฯขอเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณามาตรการสนับสนุนต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยต้องเปิดให้มีการนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ในส่วนที่ขาดแคลน และยกเลิกอุปสรรคการนำเข้าต่างๆในการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เรื่องภาษีและโควตานำเข้า นอกจากนี้ สมาคมฯต้องการให้ราคาเนื้อไก่ปรับขึ้นลงตามกลไกการตลาด เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
“สิ่งที่ภาคปศุสัตว์เป็นกังวลและจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในระดับสูง คือ ราคาเนื้อสัตว์ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากรัฐบาลต้องรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงในการตรึงราคาไว้ แต่เมื่อต้นทุนการผลิตปรับขึ้นรอบด้านในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ จึงควรให้กลไกตลาดทำงานเพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และผู้บริโภคได้อาหารในราคาที่เป็นธรรม” นางฉวีวรรณ กล่าว
นางฉวีวรรณ ยังระบุว่า ปัจจุบันราคาเนื้อไก่และชิ้นส่วนต่างๆในตลาดสดยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคา ณ วันที่ 28 เม.ย.2565 ไก่ทั้งตัวมีราคาเฉลี่ย/กิโลกรัมอยู่ที่ 75 บาท อกไก่ 85 บาท น่องไก่ 65 บาท ขณะที่ราคาไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่ 42 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งเนื้อไก่สามารถปรุงอาหารได้หลากหลายเมนูไม่ต่างจากเนื้อหมู และเป็นทางเลือกในช่วงที่หมูมีราคาแพงได้เป็นอย่างดี
“เนื้อไก่มีโปรตีนสูงกว่าเนื้อหมู 3 เท่า แต่ราคาถูกกว่าเนื้อหมูมาก และเนื้อไก่ที่จำหน่ายในประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันกับมาตรฐานส่งออก ที่สามารถบริโภคทดแทนเนื้อหมูในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาสูงได้” นางฉวีวรรณ กล่าว
นางฉวีวรรณ กล่าวด้วยว่า การที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก เป็นเครื่องหมายรับรองว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อของไทยยังเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ทั้งเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลทั้งระบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์และกระบวนการผลิตและแปรรูป โดยที่ผ่านมาไทยส่งออกไก่ไปยังประเทศที่มีกฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสูง เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น
อ่านประกอบ :
‘สงคราม’ กระทบต้นทุนวัตถุดิบ! 'สมาคมผู้เลี้ยงฯ' จี้รัฐยุติตรึงราคา 'เนื้อไก่-ไข่ไก่'
คนเลี้ยงไก่ไข่วอนรัฐแก้ปัญหาข้าวโพด-กากถั่วเหลืองแพง ต้นทุนพุ่ง แต่ต้องตรึงราคาขาย
ครม.ไฟเขียว ‘ไก่-เนื้อไก่’ เป็นสินค้าควบคุม-นายกฯย้ำแก้ ‘หมูแพง’ ต้องใช้เวลา
หากผิดจริงโทษคุก 1 ปี! ‘ผู้ว่าฯสงขลา’รายงาน‘จุรินทร์’ ห้องเย็นฯไม่แจ้งสต๊อกหมู 2 แสนกก.
'ของแพง' เขย่ารัฐบาล 'บิ๊กตู่' ค่าครองชีพพุ่ง แต่ 'รายได้' ไม่เพิ่ม