"...ลูกจ้าง ที่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอย่างน้อย 6 เดือน กองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน นอกจากนั้น เฉพาะลูกจ้างสัญชาติไทย ยังได้รับเงินพิเศษจากรัฐบาลอีก 2,000 บาท ส่วนนายจ้างรัฐบาลจ่ายเงินพิเศษให้ในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน สูงสุดไม่เกิน 200 คนหรือไม่เกิน 600,000 บาท..."
------------------------------------------------------------
รัฐบาลเตรียมอนุมัติงบประมาณ 7,500 ล้านบาท เพื่อเยียวยา – จ่ายเงินพิเศษให้กับผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มโควิดครั้งใหม่
เป็นมาตรการ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ ที่มีผลบังคับใช้ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ที่มีผลให้พื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ต้องปิดแคมป์คนงาน และไม่อนุญาตให้นั่งกินอาหารในร้านเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย.เป็นต้นไป
(ข่าวประกอบ : คุมเข้มโควิด! กทม.-ปริมณฑล ห้ามนั่งกินในร้าน-ปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน เริ่ม 28 มิ.ย.)
ข้อกำหนดฉบับที่ 25 ถูกเผยแพร่ผ่านราชกิจจานุเบกษา กลางดึกวันที่ 26 มิ.ย.2564 หลังจากก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์วัคซีนและการแก้ปัญหาการระบาดโควิดระลอกปัจจุบัน ที่คาดว่าตัวเลขผู้ป่วยที่สูงขึ้นส่วนใหญ่มาจาก ‘แคมป์คนงาน’ ที่พบการระบาดเป็น ‘คลัสเตอร์’ หลายแห่ง และวิธีหยุดการระบาดครั้งนี้ คือ ต้องลดการเดินทาง-เคลื่อนย้ายในกลุ่มดังกล่าว
ส่วนกรณีที่มาตรการครั้งนี้ถูกประกาศออกมาในช่วงกลางดึกจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ กะทันหันเกินไป เสมือนเป็นการ 'ลักหลับ' ประชาชน ได้รับคำชี้แจงจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลได้ส่งสัญญาณให้รู้ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้แพทย์ขอให้ดำเนินการในทันที ที่ต้องมีการชั่งน้ำหนัก ระหว่างผลกระทบทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งสถานการณ์โควิดมีความรุนแรง เป็นสายพันธุ์เบตา
ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 25 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ถูกประกาศทันที เพื่อให้ทันต่อการบังคับใช้ในวันที่ 28 มิ.ย. โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ชุดเล็ก เพิ่งประชุมและมีมติเห็นชอบช่วงเช้าของวันที่ 26 มิ.ย. หลังจากได้รับทราบแนวทางการดำเนินการจากที่ประชุมของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงภายหลังประชุมเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.)
@ ใครได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด ฉบับที่ 25 ?
ข้อกำหนดฉบับที่ 25 พุ่งเป้าไปที่การคุมเข้มในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม
โดยสาระสำคัญที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน มีอย่างน้อย 4 เรื่อง คือ 1.ปิดสถานที่ก่อสร้าง 2.ขายอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะนำกลับบ้าน 3.งดกิจกรรมประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง และ 4.ห้ามกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน
ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้อยู่ในธุรกิจ 4 หมวด คือ 1.การก่อสร้าง 2.กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 3.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และ 4.ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ
@ เยียวยาอย่างไร ?
ทีมเศรษฐกิจวิเคราะห์ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ คือ ผู้ประกอบการและแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งอาจรวมถึงผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมบางส่วน โดยแต่กลุ่มจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ดังนี้
ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม
ลูกจ้าง ที่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอย่างน้อย 6 เดือน กองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน นอกจากนั้น เฉพาะลูกจ้างสัญชาติไทย ยังได้รับเงินพิเศษจากรัฐบาลอีก 2,000 บาท
นายจ้าง รัฐบาลจ่ายเงินพิเศษให้ในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน สูงสุดไม่เกิน 200 คนหรือไม่เกิน 600,000 บาท
ผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม
กรณีมีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม โดยรัฐบาลจ่ายเงินพิเศษให้ในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน สูงสุดไม่เกิน 200 คนหรือไม่เกิน 600,000 บาท และลูกจ้างสัญชาติไทย ได้รับเงินพิเศษจากรัฐบาล 2,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคม เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบ อย่างน้อย 6 เดือน
กรณีไม่มีลูกจ้าง ทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมได้ ให้ขึ้นทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ภายใน 1 เดือน โดยจะได้รับเงินพิเศษจากรัฐบาล 3,000 บาท
โดยภาพรวม การเยียวยาพิเศษครั้งนี้ จะใช้งบประมาณทั้งหมด 7,500 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท และเงินกู้ 4,000 ล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับ 1 ล้านล้านบาทที่ยังเหลืออยู่
@ ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนเท่าไร ?
จากข้อมูลของทีมเศรษฐกิจ พบว่า ทั้ง 6 จังหวัด เฉพาะแรงงานในระบบ ตามจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของประกันสังคม ในธุรกิจ 4 หมวด มีอยู่ทั้งหมด 697,315 ราย แบ่งเป็น คนไทย 603,560 ราย และ ต่างด้าว 93,755 ราย ส่วนแรงงานนอกระบบนั้น ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กทม. มีผู้ประกันตน รวม 533,207 ราย อยู่ในภาคการก่อสร้าง 264,300 ราย , ภาคกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 44,244 ราย , ภาคที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 208,949 ราย และ ภาคศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 15,714 ราย
สมุทรปราการ มีผู้ประกันตน รวม 41,331 ราย อยู่ในภาคการก่อสร้าง 29,043 ราย , ภาคกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 2,0307 ราย , ภาคที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 8,035 ราย และ ภาคศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 1,946 ราย
ปทุมธานี มีผู้ประกันตน รวม 43,417 ราย อยู่ในภาคการก่อสร้าง 32,090 ราย , ภาคกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 3,083 ราย , ภาคที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 6,076 ราย และ ภาคศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 2,168 ราย
นนทบุรี มีผู้ประกันตน รวม 58,555 ราย อยู่ในภาคการก่อสร้าง 44,724 ราย , ภาคกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 4,450 ราย , ภาคที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 8,660 ราย และ ภาคศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 721 ราย
สมุทรสาคร มีผู้ประกันตน รวม 9,409 ราย อยู่ในภาคการก่อสร้าง 6,949 ราย , ภาคกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 719 ราย , ภาคที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 1,590 ราย และ ภาคศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 151 ราย
นครปฐม มีผู้ประกันตน รวม 11,396 ราย อยู่ในภาคการก่อสร้าง 6,650 ราย , ภาคกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 733 ราย , ภาคที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3,278 ราย และ ภาคศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 735 ราย
ส่วนผู้ประกอบการในธุรกิจ 4 หมวดที่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการนี้ มีประมาณ 38,128 แห่ง อยู่ใน กทม. 25,757 แห่ง , นครปฐม 1,040 แห่ง , นนทบุรี 4,141 แห่ง , ปทุมธานี 3,366 แห่ง , สมุทรปราการ 2,914 แห่ง และสมุทรสาคร 910 แห่ง
@ แคมป์คนงานเช็คชื่อตลอด – จ่ายเงินทุก 5 วัน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ช่วงที่มีการปิดแคมป์กระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าจ้าง โดยจะส่งเจ้าหน้าที่เช็คชื่อแรงงานทุกวัน ทั้งนี้จะทำการจ่ายเงินทุก 5 วัน
@ ลุยตรวจเชิงรุก แยกผู้ป่วยไปรักษา
นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ กระทรวงแรงงานจะเข้าไปตรวจเชิงรุกทันที หากพบเชื้อจะนำไปรักษา ไม่เจอเชื้อให้อยู่กับแคมป์ จากนั้นจะเร่งรัดการจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับแรงงานต่อไป ทั้งนี้หากบางแคมป์ที่ตรวจเชิงรุกและฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะเสนอให้ ศบค.พิจารณาผ่อนปรนเป็นรายแคมป์ต่อไป
@ ระดมกำลัง จัดอาหารดูแลแรงงาน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือกันเพื่อขอความร่วมมือ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ประสานกับสมาคมภัตตาคารและอาหาร ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ใช้บริการจากร้านอาหารรายย่อย ในการจัดหาอาหารไปดูแลแรงงานในแคมป์คนงานก่อสร้าง
เช่นเดียวกับนายสุชาติ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมาแล้วว่าให้ประสานงานกับนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยที่เขามีแรงงานอยู่ประมาณ 100,000 คน เขายินดีที่จะใช้งบประมาณของตัวเองในการจัดหาอาหาร เพราะต้องการให้แรงงานของตัวเองอยู่กับที่ เพราะอีกส่วนหนึ่งก็กังวลว่า หากผ่อนปรนมาตรการแล้วจะไม่สามารถเรียกแรงงานให้กลับมาทำงานได้
“นอกจากนี้ผมได้ประสานงานโรงงานที่ผลิตอาหารหลายๆอย่าง ทุกคนก็ระดมช่วยกัน อย่างปลากระป๋อง ได้มา 2-3 แสนกระป๋อง ไข่สด ก็ได้มาหลายแสนฟอง เราก็ช่วยเขาด้วย เพราะต้องร่วมมือกันเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปให้ได้โดยเร็วที่สุด” นายสุชาติ กล่าว
@ ‘บิ๊กตู่’เสียใจหลายคนใช้วาจากริยาไม่สุภาพ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า สำหรับมาตรการครั้งนี้ ทำให้ประกอบการก่อสร้างเดือดร้อน แต่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป กรณีไหนหยุดชะงักชั่วคราวได้ก็หยุดก่อน ส่วนตรงไหนที่ทางเทคนิคทำอุโมงค์หรือก่อสร้างไปแล้วที่มีเวลาของการเซ็ตตัวก็ให้ทำเรื่องขออนุมัติมาที่ ศบค.เพื่อพิจารณาต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลนี้ผมยืนยันดูแลเต็มที่ รับฟังความเห็นทั้งคนที่ชอบหรือไม่ชอบตน เอามาฟัง มาดูทั้งหมด อันไหนที่ทำได้ก็รับมา แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่อยากจะดู ถ้าเป็นเชิงสร้างความเกลียดชัง สร้างความขัดแย้งมากๆ มันไม่เกิดประโยชน์
“เวลานี้ต้องเป็นอย่างนี้ ผมไม่รังเกียจใครเลย เพราะถือว่าทุกคนเป็นคนไทย หลายอย่างก็เสียใจเหมือนกันที่หลายคนใช้วาจากริยาไม่สุภาพ มันควรหรือไม่กับประเทศไทย ก็ไม่อยากจะพูด แต่ก็อดทนอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ข่าวประกอบ :
คุมเข้มโควิด! กทม.-ปริมณฑล ห้ามนั่งกินในร้าน-ปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน เริ่ม 28 มิ.ย.
'บิ๊กตู่'เรียก ศบศ.ถกด่วน หามาตรการเยียวยาร้านอาหาร-ปิดแคมป์คนงาน
เตรียม 7.5 พันล้าน เยียวยาพิเศษผู้ประกอบการ-ลูกจ้าง 6 จว.ย้ำไม่เลื่อน'คนละครึ่ง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/