"…การสื่อสารเพื่อบริหารจัดการวัคซีนของรัฐเหมือนการทำสงครามโดยไม่มีอาวุธ ตระเตรียมไพร่พลมาอย่างดี เกณฑ์ให้ทหารเข้ามาแล้ว แต่กลับไม่มีอาวุธให้ ทำให้ทุกคนต้องกลับบ้านกันไปก่อน ระหว่างทางหากถูกข้าศึกโจมตี จะเสียกระบวนไปกันหมด ดังนั้นแล้วหากไม่มีอาวุธควรจะให้เขาอยู่ในที่ตั้งดีกว่าหรือไม่…”
………………………………………………………..
หลังจาก 7 มิ.ย. เป็นต้นมา การฉีดวัคซีน ถูกประกาศให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งมีปัญหาให้ลุ้นกันหลายครั้งว่า ‘วัคซีนพร้อมจริงหรือไม่?’
เค้าลางปัญหา เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่กรณีที่กรมควบคุมโรค แจงแผนการจัดสรรวัคซีนประจำเดือน มิ.ย. และพบว่าบางจังหวัดที่ไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดกลับได้รับการจัดสรรวัคซีนมากกว่าพื้นที่สุ่มเสี่ยง
ส่งผลให้แผนจัดสรรวัคซีนต้องถูกรื้อ – ปรับปรุงใหม่อีกครั้ง แต่ก็ยังปรากฏปัญหาใหม่ หลังโรงพยาบาลหลายแห่ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. เนื่องจากได้รับการจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอ ปรากฏตัวเลข 58 จังหวัด ได้วัคซีนจังหวัดละ 3,600 โดส
ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องออกมายืนยันว่าไม่มีแผนเลื่อนฉีดวัคซีน และมีการจัดสรรวัคซีนอย่างเพียงพอ พร้อมย้ำว่า ‘ไทยไม่ได้แทงม้าตัวเดียว’ และเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนจัดส่งรวม 6 ล้านโดสอย่างแน่นอน
การฉีดวัคซีนตั้งแต่ 7 มิ.ย.จนถึงปัจจุบัน ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานว่า มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2,410,663 เข็ม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกิดปัญหาซ้ำอีกครั้ง โรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และต่างจังหวัด ทยอยประกาศเลื่อนนัดฉีดวัคซีนโควิดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้เกิดการโต้กันไปมาระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ กทม. จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรวัคซีนครั้งนี้
จนมาล่าสุดหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าว ขออภัยต่อปัญหาการจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอ ยอมรับว่าไม่สบายใจที่ได้ทราบข่าวประกาศเลื่อนฉีดวัคซีน ซึ่งเรื่องต่างๆเหล่านี้ ตนเองได้รับทราบและพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ย้ำว่าวัคซีนทยอยเข้ามา ไม่ใช่ล็อตเดียวจบ
พร้อมระบุ 4 สูตรในการจัดสรรวัคซีนของรัฐ เพื่อให้หน่วยรัฐทำความเข้าใจในแนวทางเดียวกัน คือ 1. เมื่อมีวัคซีนมา สธ.จะตรวจสอบและส่งให้ทุกจังหวัดทันทีตามสถานการณ์แต่ละพื้นที่ 2. จำนวนวัคซีนที่จะได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นต้นทุนในการส่งออก 3.หากจังหวัดใดได้รับวัคซีนไม่เพียงพอต่อการฉีดในรอบนั้น ให้จัดสรรให้กับผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังที่จองคิวไว้ก่อน และ 4.หากต้องชะลอการฉีดตามกำหนด ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ให้จัดฉีดวัคซีนตามลำดับเดิมทันทีที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน
(ข่าวประกอบ: ขออภัยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น! 'บิ๊กตู่'ไม่สบายใจเลื่อนฉีดวัคซีน สั่งเร่งแก้-ทำความเข้าใจ)
นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.จนถึงปัจจุบัน จากปัญหา ‘พร้อม-ไม่พร้อม’ สะท้อนไปถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าคือเรื่องการสื่อสารของหน่วยงานรัฐ ย่อมส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่เริ่มไม่มั่นใจว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นภายในสิ้นปี 2564 ได้จริงหรือไม่
วิกฤติการสื่อสารของรัฐอยู่ตรงไหน? ควรแก้ไขอย่างไร? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พูดคุยกับ 3 นักวิชาการ ถอดหลักสูตรการสื่อสารในภาวะวิกฤติ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
(รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี)
@ สอบตกทุกข้อ! รัฐขาด 4 หลักการสื่อสารในภาวะวิกฤต
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความโกลาหลทางการสื่อสารของรัฐว่า ว่า หลักสากลของการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่รัฐควรจะมีนั้น คือ 1. ความรวดเร็วและแม่นยำ (Sense of Urgency) 2. ความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ (Empathy) 3. ความโปร่งใส (Transparency) 4. ความเชื่อมั่น (Make it Credible) ซึ่งหากพิจารณาการสื่อสารของรัฐ แล้วให้เกรดนั้น จะพบว่ารัฐสอบตกทุกข้อ
โดยในเรื่องของ ความรวดเร็วและแม่นยำ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ที่เรื่องดูใหญ่ที่สุด เพราะรัฐบาลเคยบอกกับประชาชนว่าจะปูพรมฉีดวัคซีนโควิดครั้งใหญ่ทั่วประเทศ และยืนยันหลายต่อหลายครั้งว่าจะไม่มีการเลื่อนฉีดวัคซีนแน่นอน แต่ปรากฏว่าพรมอาจจะสั้น จนคนแซวว่าที่เหลือเอามาซุกใต้พรมหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่ารัฐรู้อยู่แล้วว่าตอนนี้มีวัคซีนอยู่ในมือเท่าไร กระจายเท่าไร และวัคซีนสามารถกระจายได้ถึงวันใด แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครออกมายอมรับหรือขอโทษ จนใกล้วันที่วัคซีนไม่เพียงพอ ประชาชนถึงได้ทราบ เกิดเป็นภาพที่ได้เห็นตามสื่อถึงการโต้กันไปมาระหว่าง สธ.และ กทม.
ส่วน ความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จะเห็นว่าการเลื่อนนัดฉีดวัคซีนในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งหลายรายต้องงดกินยาประจำตัวก่อนหรือเลื่อนนัดแพทย์ประจำตัวเพื่อเตรียมตัวเข้ารับวัคซีน ทำมาแล้วล่วงหน้าเป็นหลายวัน การเลื่อนนัดอย่างกะทันหัน ทำให้แผนการใช้ชีวิตประจำวันของเขาต้องเปลี่ยนไป จากที่ยากอยู่แล้ว กลับยากยิ่งขึ้นไปอีก
“แม้แต่จะกระทั่งการสื่อสารออกมาว่าประชาชนไม่ดูแลตัวเอง การ์ดตก หรือการเสียชีวิตในสถานการณ์โควิดนี้เกิดจากโรคประจำตัว ทั้งๆ ที่จริงแล้วเป็นผลมาจากโควิดหรือความล่าช้า รวมถึงการฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต เรื่องนี้รัฐยังมีความเลิ่กลักที่จะออกมารับผิดชอบ หรือออกมายอมรับว่าเป็นผลจากวัคซีน ซึ่งในเรื่องของการเสียชีวิตจากวัคซีน ประชาชนเข้าใจได้อยู่แล้ว เนื่องจากวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกให้ใช้นั้น ต่างเป็นเพียงการให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน” รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว
สำหรับ ความโปร่งใส นั้น เมื่ออยู่ในภาวะวิกฤติ ประชาชนต่างอยากรู้ว่าวัคซีนที่ได้รับมานั้นมีเพียงพอจริงหรือไม่ ต้องการทราบสัญญาจัดมอบวัคซีนว่ามีการตกลงอย่างไรบ้าง ไม่ใช่มีเพียงแต่การพูดขึ้นมาว่าไทยจะได้รับวัคซีน 61 ล้านโดส แต่ต่อมากลับกลายเป็นวาทกรรมกลบเกลื่อนความรับผิดชอบว่าอ้างว่า 61 ล้านโดส ไม่ได้หมายความว่าไทยจะได้รับวัคซีนมาจำนวนเท่านั้น แต่เป็นศักยภาพในการฉีดวัคซีนที่ไทยทำได้
“การสื่อสารของรัฐขณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐและความล้มเหลวของส่วนราชการ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งรัฐควรจะปรับแผนการสื่อสารใหม่อย่างเร่งด่วน เนื่องจากหากยืดเยื้อต่อไปอาจกระทบถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการตั้งคำถามใหญ่ต่อรัฐราชกาลไทย และตัวระบอบทหารเองด้วย” รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว
ดังนั้นรัฐควรปรับให้การสื่อสารมีความรวดเร็ว แม่นยำ อย่าเกี่ยงกัน มีความเห็นอกเห็นใจผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย ที่ชีวิตเขาต้องพังทลายจากโควิด และที่สำคัญต้องจริงใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนสามารถตรียมตัวได้ และที่สำคัญควรจะเปิดเผยข้อมูลของวัคซีนให้มีความโปร่งใสมากขึ้นด้วย เชื่อว่าหากรัฐพูดความจริง อย่างไรก็คือความจริง ประชาชนสามารถเข้าใจได้
(รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส)
@ อย่าสื่อสารสร้าง‘ความหวัง’ บั่นทอนความเชื่อมั่นมากกว่า‘ความจริง’
นอกจากนั้น รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก สะท้อนถึงภาพชัดของปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในภาวะวิกฤติวัคซีนด้วยว่า คือ การสื่อสารที่ไม่ประสานกันของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ นายกรัฐมนตรี ศบค. สธ. และ กทม. ต่างสื่อสารคนละทิศทาง ทำให้ประชาชนสับสน หาทางออกของปัญหาไม่เจอ ต้องเผชิญกับความยากลำบากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ นี่คือภาพสะท้อนของสิ่งที่เกิดขึ้น ณ วันนี้
โดนปัญหาการสื่อสารในการบริหารจัดการวัคซีนมีความสับสนอยู่ใน 3 เรื่อง ดังนี้
1. การจัดหาวัคซีน ประชาชนไม่สามารถทราบได้ว่าเราจะมีวัคซีนกี่ยี่ห้อ จำนวนเท่าไร และจะมาเมื่อใด
2. การจัดสรรวัคซีน มีเพียงการกำหนดให้กลุ่มบุคลากรการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก ส่วนกลุ่มที่เหลือนั้นไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีการจัดสรรอย่างไรเช่นกัน ซึ่งการไม่ระบุนั้น อาจเอื้อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรวัคซีน ใครใกล้ชิดกับผู้บริหารได้ก่อน ใครอยู่ชายขอบได้ทีหลัง
3. ช่องทางการจองฉีดวัคซีน ในช่วงแรกจัดระบบหมอพร้อม เอาไว้สำหรับการลงทะเบียนนัดหมายฉีดวัคซีน แต่ต่อมากลับเปลี่ยนอย่างเป็นปริศนาให้จองผ่านระบบของจังหวัด ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรือออนไซต์แทน
รศ.ดร.นันทนา กล่าวอีกว่า หากรัฐยังสื่อสารคลุมเครือ ไม่ตรงกัน จะส่งผลกระทบต่อสังคมที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากขณะนี้ประชาชนต่างก็ไม่มั่นใจในชีวิตอยู่แล้ว เพราะรัฐได้ให้ความหวัง ตั้งแต่เริ่มคิกออฟฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ แต่ไม่สามารถจัดสรรวัคซีนได้ตามที่พูดไว้ ท้ายที่สุดกลับต้องเลื่อนฉีดวัคซีนอย่างไม่มีกำหนด ดับฝันประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงและกลุ่มเปราะบางที่ควรจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
“การสื่อสารเพื่อบริหารจัดการวัคซีนของหน่วยงานรัฐเหมือนการทำสงครามโดยไม่มีอาวุธ ตระเตรียมไพร่พลมาอย่างดี เกณฑ์ให้ทหารเข้ามาแล้ว แต่กลับไม่มีอาวุธให้ ทำให้ทุกคนต้องกลับบ้านกันไปก่อน ระหว่างทางหากถูกข้าศึกโจมตี จะเสียกระบวนไปกันหมด ดังนั้นแล้วหากไม่มีอาวุธควรจะให้เขาอยู่ในที่ตั้งดีกว่าหรือไม่” รศ.ดร.นันทนา กล่าว
ดังนั้นการสื่อสารให้ถูกหลักการให้ตรงกับทฤษฎีสื่อสารการเมือง รัฐบาลจะต้องหาคนที่สื่อสารเรื่องนี้เพียงคนเดียวหรือหน่วยงานเดียว และต้องสื่อสารให้ชัดเจน ตรงประเด็น ที่สำคัญต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลนี้ไปปรับตัวในภาวะวิกฤติโควิดได้ ทั้งนี้หัวใจของการสื่อสารในภาวะวิกฤติจะต้องทำให้กับประชาชนอยู่ในภาวะที่มั่นคง ปราศจากความตื่นตระหนก และความสับสน ซึ่งจะเกิดได้ต่อเมื่อรัฐสามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้องชัดเจนและต้องทำได้ตามที่พูดจริงๆ อะไรที่สื่อสารแล้วทำไม่ได้ ขออย่าสื่อสารออกไป เพราะความหวังที่เราสร้างให้ประชาชน หากทำไม่ได้ จะเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งแย่ยิ่งกว่าการไม่มีความหวังตั้งแต่ต้นเสียอีก
(ดร.ขจร ฝ้ายเทศ)
@ แนะรัฐสร้างเอกภาพข้อมูล ตอบกลับปชช.ทุกข้อสงสัยด้วยข้อเท็จจริง
ขณะที่ ดร.ขจร ฝ้ายเทศ อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่างเห็นสอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 คน ว่า วิกฤตการสื่อสารในครั้งนี้ คือ การสื่อสารที่ไม่ประสานกันของภาครัฐ และความไม่โปร่งใส ที่ไม่สามารถการเปิดเผยสัญญาจัดมอบวัคซีนได้ ด้วยการอ้างว่าเป็นสินค้าความมั่นคง เป็นความลับทางราชการที่ไม่สามารถบอกใครได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนอยากรับรู้เพื่อความมั่นใจ จึงทำให้สถานการณ์ยิ่งอึมครึมมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม การรับมือในภาวะวิกฤติ แม้จะบริหารจัดการดีมากเพียงใด แต่ทุกคนต่างต้องการต้องการข้อมูล ต้องการการตอบกลับ หรือ Feedback ยิ่งวิกฤตเท่าใด ประชาชนจะยิ่งต้องการข้อมูลมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นรัฐควรจะสร้างความเป็นเอกภาพทางข้อมูล และนำไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตอบทุกข้อสงสัยของประชาชนได้สอดคล้องกัน กล่าวคือ การทำให้เกิดระเบียบในข้อมูลข่าวสาร เป็นวิธีที่จะลดความสับสนให้กับประชาชนได้ ทั้งนี้ในการสื่อสารทุกครั้งจะต้องสื่อสารข้อเท็จจริงด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน” ดร.ขจร กล่าว
ดร.ขจร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การแก้วิกฤติการสื่อสารหากทำได้เร็ว จะยิ่งดี เพราะหากยังมีความคลุมเครือ ไม่ตรงกัน ประชาชนถูกบั่นทอนความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของรัฐได้ หากรัฐเกิดความสั่นคลอนระหว่างที่เผชิญกับภาวะวิกฤติของโควิดด้วยวิกฤตการณ์นี้คงจะรุนแรงมากขึ้นอีก ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่จะทำให้การสื่อสารเกิดความโกลาหล บั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชน
ทั้งหมดนี้ต่างเป็นมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิเทศศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ขาดความรวดเร็วแม่นยำ ความเห็นอกเห็นใจ ความโปร่งใส และความเชื่อมั่น ซึ่งหากรัฐสามารถปรับเทคนิคการสื่อสารในภาวะวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว เราจะก้าวผ่านวิฤตโควิดนี้ไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง
อ่านข่าวประกอบ:
ไม่ใช่ผู้ควบคุมหรือจัดสรร! กทม.โต้ สธ.7-14 มิ.ย.ได้วัคซีน 5 แสนไม่ใช่ 1 ล้านโดส
ต้องสื่อสารให้ชัดเจน! เจาะปรากฎการณ์วัคซีนไม่มาตามนัด? สธ.ยืนยันไม่มีเลื่อนฉีด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage