"...นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า เดือน มิ.ย.นี้มีวัคซีนจัดสรรให้อย่างเพียงพอ ไม่มีการเลื่อนฉีดแต่อย่างใด โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกที่ได้รับมา 2.4 แสนโดส ได้กระจายให้ทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามแผนการกระจายวัคซีนทั้งหมด ถูกดำเนินการตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กำหนดไว้..."
…………………………………………………………
ในการบรรยายสรุปร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) กระทรวงสาธารณสุขของไทย โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวยืนยันยันว่า ในเดือน มิ.ย.2564 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนทั้งสิ้นราว 5-6 ล้านโดส โดยมีลำดับการคาดการณ์ว่าจะทยอยได้รับวัคซีน ดังนี้
สัปดาห์แรกคาดว่าจะมีวัคซีนจัดส่ง 2 ล้านโดส แบ่งเป็น วันที่ 2-3 มิ.ย.2564 ได้รับ ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ 240,000 โดส และช่วงปลายสัปดาห์เดียวกัน จะได้รับวัคซีนอีกกว่า 1,000,000 โดส และจะมีการจัดส่ง ‘ซิโนแวค’ อีกราว 700,00 โดส ส่วนที่เหลือคาดว่าจะได้รับการส่งมอบในช่วงกลางเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป
“คนที่จองผ่านหมอพร้อม ที่จะฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนก้าเป็นหลัก แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย ส่วนจำนวนวัคซีน เนื่องจากเราได้ส่งมอบเป็นระยะนั้น ในส่วน กทม. จะได้สัดส่วนสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะประชากรมากกว่าจังหวัดอื่นและสถานการณ์การแพร่ระบาด น่าจะได้ประมาณ 1 ล้านโดส โดยส่งครั้งแรก 5 แสนกว่าโดสใน 2 สัปดาห์แรก มีทั้งแอสตราเซนเนก้าและซิโนแวค” นพ.โสภณ กล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. เวลา 09.30 น. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า เดือน มิ.ย.นี้มีวัคซีนจัดสรรให้อย่างเพียงพอ ไม่มีการเลื่อนฉีดแต่อย่างใด โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกที่ได้รับมา 2.4 แสนโดส ได้กระจายให้ทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามแผนการกระจายวัคซีนทั้งหมด ถูกดำเนินการตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กำหนดไว้
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า "ประโยคหลักของปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือ ไม่มีการเลื่อน และไม่เคยคิดจะเลื่อนครับ"
(ข่าวประกอบ : ไม่มีเลื่อน! สธ.รับมอบ'แอสตร้าเซนเนก้า'ล็อตแรก 1.8 ล้านโดส ย้ำส่งมอบวัคซีนตามแผน)
@ 58 จังหวัด ได้รับจัดสรรวัคซีนล็อตแรก จังหวัดละ 3,600 โดส
สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 240,000 โดส ที่ถือเป็น 'ล็อตแรก' ในห้วงเดือน มิ.ย.ที่จะเริ่มประเดิมฉีดเป็น 'วาระแห่งชาติ' ตั้งแต่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป
มีการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่า จะมี 58 จังหวัด ได้รับวัคซีนจังหวัดละ 3,600 โดส ดังนี้
เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท เลย หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี นครนายก สระแก้ว จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
อย่างไรก็ตามมี 19 จังหวัด จะได้รวมส่งกับวัคซีนล็อตหลังภายในวันที่ 6 มิ.ย.2564 ประกอบด้วย ปทุมธานี นนทบุรี อยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
(อ้างอิงข่าว : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/941336)
@ ‘ลำปาง’ เลื่อนฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับ หลาย รพ. เหตุได้รับจัดสรรน้อย
ก่อนหน้านี้มีการยืนยันจากกระทวงสาธารณสุขว่าไม่มีการเลื่อนฉีดวัคซีนนั้น เกิดการแจ้งเลื่อนกำหนดการหลายพื้นที่เช่นกัน
ยกตัวอย่าง 'ลำปาง' ที่มียอดจองฉีดวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ ในช่วงที่รณรงค์ให้ประชาชนมาลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ ที่ได้มีประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนหรือยกเลิกการฉีดตามนัดหมายเดิมออกไปก่อน เนื่องจากได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าที่คาดหวังไว้
นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างน้อย 4 โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประกาศเลื่อนการฉีดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ประกอบด้วย โรงพยาบาลแมคคอร์มิค โรงพยาบาลสันป่าตอง โรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม ให้เหตุผลเดียวกันว่า ได้รับการจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ลงทะเบียนไว้
ส่วน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ออกประกาศผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ขออนุญาตแจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีนของท่าน ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ช่วงวันที่ 7-10 มิ.ย. 2564 ทั้งสิ้นจำนวน 191 คน เนื่องจากโควตาการจองทั้งจังหวัดของเดือน มิ.ย. 2564 คือ แอสตร้าเซนเนก้า 87,000 โดส แต่ทั้งจังหวัดได้รับการจัดสรรวัคซีนเพียง 3,600 โดส โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีจะกระจายให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก่อน 6 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลวารินชำราบ เป็นต้น
เช่นเดียวกับที่ โรงพยาบาลบางปะกอก 1 ประกาศว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงระบบการกระจายวัคซีนของภาครัฐ ทำให้โรงพยาบาลไม่ได้รับวัคซีนครบตามจำนวนและวันที่ตามที่ได้มีการลงทะเบียนไว้ จึงขอให้ผู้ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกไว้จำนวน 39,430 คน รับทราบว่าจะมีการดูแลคนไข้ทั้งหมดที่ลงทะเบียนไว้อย่างแน่นอน โดยจะปรับจำนวนที่ได้รับในแต่ละวันตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับมาต่อไป และขอให้ติดตามข่าวจากเฟซบุ๊กและ SMS ที่จะแจ้งล่วงหน้า 1 วันต่อไป
ส่วน ประชาสัมพันธ์จังหวัดสกลนคร แจ้งว่า ขอให้ประชาชนจังหวัดสกลนคร ที่จองฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม ระหว่างวันที่ 7-14 มิ.ย.2564 ซึ่งเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ให้มารับบริการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลที่จองในวันที่ 7 มิ.ย. เพียง “วันเดียว” เท่านั้น
@ 3 นักวิชาการคาดไทยอาจมีความพร้อม แนะรัฐสื่อสารให้ชัดเจนขึ้น หวั่นกระทบแผนวัคซีน
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวถึงการเริ่มปฏิบัติการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ให้กับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นมาก หากไม่รีบระดมฉีดวัคซีนจะทำให้ยอดผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
“โชคดีที่ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด สามารถส่งวัคซีนล็อตแรกให้กับคนไทยได้ 1.8 ล้านโดส ทำให้คาดได้ว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศในวันที่ 7 มิ.ย.2564 แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าภาพในอนาคตของเมืองไทย เราจะหยุดการแพร่ระบาดใหญ่ได้ โควิดจะเป็นเหมือนเพียงไข้หวัดใหญ่ อาจมีผู้ป่วยบ้างต่อปี แต่จะเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” นพ.มนูญ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นพ.มนูญ กล่าวเสริมว่า อยากรัฐให้เตรียมจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีความหลากหลาย สำหรับปีหน้าด้วย เพื่อเตรียมรองรับการระบาดใหม่ หรือการเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่มากเพียงพอว่าการฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้วนั้น จะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานเพียงใด และจะต้องฉีดเข็มที่ 3 อีกหรือไม่ นอกจากนั้นธรรมชาติของไวรัส ที่สามารถกลายพันธุ์ได้ ซึ่งแน่นอนว่าหากโควิดเกิดกลายการพันธุ์อีก จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนบางยี่ห้อด้วยหรือไม่ ต้องติดตามกันไป ด้วยเหตุนี้จึงได้เน้นย้ำให้รัฐบาลเตรียมจัดหาวัคซีนที่หลายหลาย รองรับสำหรับปีหน้า เผื่อไว้ด้วย
ทั้งนี้การได้รับวัคซีนอาจมีล่าช้า เกิดขึ้นได้ แต่ที่สำคัญคือ 'เมื่อมีวัคซีนแล้ว ต้องรีบฉีดทันที' ให้เร็วที่สุดเท่าที่เร็วได้ ซึ่งวัคซีนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนซิโนแวค ต่างก็ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ไทยนำเข้ามานั้นปลอดภัย อาจเกิดผลข้างเคียงได้บ้าง แต่ประโยชน์มีมากกว่าโทษแน่นอน
(นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์)
สอดคล้องกับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่กล่าวว่า เป็นความดีใจ ที่ประชาชนชาวไทยจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนล้าเพิ่มเข้ามาอีก เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา และจะกระจายวัคซีนซิโนแวค 700,000 โดส ในวันที่ 3 มิ.ย.2564 ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศในสัปดาห์นี้ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของความพร้อมในการเดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีน ‘วาระแห่งชาติ’
นายสมชัย กล่าวอีกว่า วัคซีน เป็นเครื่องมือที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง และคนในครอบครัว หากประเทศได้รับวัคซีนตามแผนที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้เบื้องต้น 100 ล้านโดส และภายในเดือน ก.ค.2564 พื้นที่ระบาดใหญ่ อย่าง กทม. จะสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนในพื้นที่ได้ 70-80% ทุกคนจะมีความกล้า มีความมั่นใจ ในการใช้ชีวิต ในการทำงานอีกครั้ง จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้งได้
ขณะเดียวกันหากเราได้วัคซีนจากไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันเข้ามาเพิ่มอีก ณ ตอนนั้นเราอาจไม่ต้องแย่งกันว่าจะจัดสรรให้กลุ่มใดก่อน หรือพื้นที่ใดมากกว่าหรือน้อยกว่า
อย่างไรก็ตามธรรมชาติของวัคซีนมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจเป็นได้ว่าวัคซีนที่คิดว่า ‘สำเร็จ’ บางตัวอาจไม่ช่วยป้องกันการระบาดได้ และยังไม่รู้ว่าตัวไหนช่วยตัวไหนไม่ช่วย ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ต้องล็อกดาวน์ ก็อาจไม่เห็นหรือไม่มากอย่างที่หวัง ประกอบกับสถานการณ์ด้านการพัฒนาและผลิตวัคซีนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ข้อจำกัดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เคยเจอมา น่าจะผ่อนคลายลง อุปทานของวัคซีนก็น่าจะมีอยู่ในช่วงขาขึ้น
“ดังนั้นสิ่งที่ควรทำตอนนี้คือเร่งศึกษาและเร่งหาวัคซีนที่พอจะไว้ใจในประสิทธิภาพการป้องกันโรค ประสิทธิภาพการป้องกันการระบาด และความปลอดภัยจากทุกแหล่งที่สามารถหาได้ รวมถึงอาจยอมจ่ายราคาที่เหมาะสม คือไม่แพงไป แต่ก็ไม่ต้องเกี่ยงว่าต้องถูกสุด เพื่อเตรียมรองรับวัคซีนมาไม่ตามกำหนด รองรับการระบาดใหม่ หรือการกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลต่อข้อจำกัดของวัคซีนบางยี่ห้อ ที่อาจเกิดขึ้นได้” นายสมชัย กล่าว
นอกจากนั้น นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แน่นอนว่าธรรมชาติของวัคซีนไม่แน่นอน อาจเกิดปัญหา ‘วัคซีนมาไม่ทัน’ ได้เช่นกัน แต่การทำงานของรัฐบาลในปัจจุบัน ยังขาด ‘การสื่อสารภายใต้ความไม่แน่นอน’ รัฐมักจะพูดถึงแผนหนึ่งอยู่เสมอ แต่อยากเรียนให้ทราบว่า ‘การวางแผนไว้อย่างดี อาจสะดุดได้เสมอ’ การสื่อสารของรัฐที่ผ่านมาทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังและรู้สึกว่าสิ่งนี้ชัวร์มาก ยังขาดการพูดถึงแผนสำรองต่างๆ ว่าหากเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา รัฐจะมีวิธีแก้อย่างไร มีแผนอย่างไรต่อบ้าง ซึ่งรัฐจะต้องอธิบายด้วยเหตุผลให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจด้วย
(ดร.สมชัย จิตสุชน)
ขณะที่ ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงข้อกังวลต่อการบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐด้วยว่า ขณะนี้การสื่อสารของรัฐบาลยังขาดความชัดเจน ขาดความเชื่อมโยงของแต่ละหน่วยงานกัน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนแผนการกระจายวัคซีนใหม่ หรือการปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการลงทะเบียนรับวัคซีน
ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดข้อสงสัย อาทิ การได้รับวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนด โดยรัฐบาลไม่ได้ออกมาชี้แจงกับประชาชนถึงสาเหตุของความล่าช้า ทำให้ประชาชนต้องจินตนาการต่างนานาๆ จึงอยากให้รัฐบาลชี้แจงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ว่าติดขัดเรื่องใด เนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการรับวัคซีนได้
ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ กล่าวอีกว่า อย่างกรณีที่ปรากฏข่าวว่าบางจังหวัดอาจเลื่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากได้รับจัดสรรมาน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ เกิดเป็นข้อสงสัยให้กับประชาชนว่า แล้วจังหวัดตนเองนั้นได้รับวัคซีนมากน้อยเพียงใด และวัคซีนจะมาทันในวันที่ 7 มิ.ย.2564 จริงหรือไม่ เนื่องจากตัวเลขนี้ยังเป็นความลับ หลายจังหวัดไม่ได้ประกาศให้ประชาชนรับทราบ
ขณะเดียวกันหากประชาชนเกิดความคาดหวังต่อการแจ้งข่าวของรัฐบาล ที่เคยกล่าวว่าในวันที่ 7 มิ.ย.2564 จะปูพรมฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ และมาทราบภายในไม่กี่วัน ก่อนวันที่ 7 มิ.ย.2564 ว่าจังหวัดตนเองอาจได้รับน้อยกว่าที่คาดคิด อาจสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนได้ที่ส่งผลไปยังผู้ทำงานด่านหน้าที่ต้องพบปะโดยตรงได้ ดังนั้นจึงอยากเน้นย้ำว่าขอให้รัฐบาลสื่อสารและอธิบายกับประชาชนตลอดอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ กล่าวแนะนำอีกว่า รัฐบาลอาจให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารจัดการวัคซีนแทนได้ โดยรัฐอาจปรับเปลี่ยนไปเป็นผู้จัดหาวัคซีนมาให้กับประชาชนแทน เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนปราศจากความเป็นการเมือง ที่จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการกระจายวัคซีนโควิดของประเทศได้ เนื่องจากต้องยอมรับว่าในสถานการณ์โรคระบาด โดยปกติเราจะเชื่อบุคลากรการแพทย์มากกว่า หน่วยงานอื่น รวมถึงรัฐบาลอยู่แล้ว
(ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล)
อ่านข่าวประกอบ:
กางแผนวัคซีนโควิด คลุมคนไทย-ต่างชาติทั่วประเทศ ลุ้นไฟเซอร์-จอห์นสันเข้าไตรมาส 3
เปิดแผนกระจายวัคซีนโควิด 100 ล้านโดส - ยืนยัน มิ.ย. ส่งทั่วประเทศ 5-6 ล้านโดส
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage