"…นอกจากการอำนวยความสะดวกด้านการให้บริการหน่วยฉีดวัคซีนแล้ว กทม.ยังเพิ่มช่องทางจองคิวฉีดวัคซีนให้เปิดกว้าง เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มให้มากที่สุด สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ 60 ปี และประชาชนกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงสามารถลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม ส่วนประชาชนทั่วไปอายุ 18 – 59 ปี 10 เดือน สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บเบดส์ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือสถานพยาบาลได้..."
………………………………………………….
จากการรายงานสถานการณ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ประจำวันที่ 20 พ.ค.2564 พบว่าในช่วงการระบาดระลอกใหม่กรุงเทพมหานครยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่าจังหวัดอื่นๆหลายเท่าตัว ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมถึง 30,535 ราย ซึ่งคิดเป็น 33.83% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด
(อ่านข่าวประกอบ: ติดโควิดเพิ่ม 2,636 รวมสะสม 119,585 ตายอีก 25 ราย เผยเตรียมฉีดวัคซีนในเรือนจำ)
ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ด้วยกัน 28 คลัสเตอร์ ในพื้นที่ 21 เขต มีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด ประกอบด้วย 18 เขต ดังนี้ เขตดินแดง ได้แก่ ตลาดห้วยขวาง และแฟลตดินแดง, เขตราชเทวี ได้แก่ ประตูน้ำ ชุมชนริมคลอง แฟลตรถได้มักกะสัน, เขตหลักสี่ ได้แก่ แคมป์ก่อสร้าง, เขตดุสิต ได้แก่ สี่แยกมหานาค/สะพานขาว/ตลาดผลไม้, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้แก่ คลองถมเซ็นเตอร์/เสือป่า/วงเวียน 22/ วรจักร/ โบ๊เบ๊, เขตคลองเตย ได้แก่ ที่พักคนงานก่อสร้าง ตลาดคลองเตย และชุมชนแออัดคลองเตย, เขตบางรัก ได้แก่ สีลม, เขตสาทร ได้แก่ ชาวกินี, เขตพระนคร ได้แก่ ปากคลองตลาด, เขตประเวศ ได้แก่ ตลาดบุญเรือง, เขตบางกอกน้อย ได้แก่ ตลาดศาลาน้ำร้อน, เขตห้วยขวาง ได้แก่ ชุมชนโรงปูน, เขตบางเขน ได้แก่ ตลาดยิ่งเจริญ, เขตบางคอแหลม ได้แก่ แคมป์ก่อสร้าง, เขตดอนเมือง ได้แก่ แคมป์ก่อสร้าง, เขตจตุจักร ได้แก่ โรงงานน้ำแข็ง, เขตบางซื่อ ได้แก่ โกดังสินค้าให้เช่า และเขตบางกะปิ ได้แก่ ตลาดบางกะปิ
กลุ่มเฝ้าระวัง ประกอบด้วย เขตวัฒนา ได้แก่ แคมป์คนงานก่อสร้าง, เขตสวนหลวง ได้แก่ ร้านเฟอร์นิเจอร์, เขตจตุจักร ได้แก่ ราชทัณฑ์ และเขตราชเทวี ได้แก่ บริษัทไฟแนนซ์
กลุ่มพื้นที่พบใหม่ ประกอบด้วย เขตบางพลัด ได้แก่ แคมป์ก่อสร้าง
@ เปิดแผนคุมโควิดเฝ้าระวังแคมป์คนงาน - ชุมชน 10 เขตพื้นที่ไข่แดง
ด้วยความแตกต่างของแต่ละคลัสเตอร์ ทำให้การควบคุมการระบาดต้องใช้กลวิธีที่แตกต่างกัน โดยทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมแผนการจัดการคลัสเตอร์ต่างๆ มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง
พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า การระบาดภายในแคมป์คนงานก่อสร้าง ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มีลักษณะอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างคลุกคลีกัน ดังนั้นการควบคุมการระบาดต้องใช้กลวิธีที่แตกต่างจากการควบคุมโรคในชุมชนแออัด
ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตรวจค้นหาเชื้อภายในแคมป์คนงานก่อสร้าง 100% แล้ว โดยเฉพาะในเขตหลักสี่และเขตวัฒนาที่พบการระบาดจำนวนมาก และได้คัดแยกผู้ติดเชื้อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลให้เข้าสู่ระบบการรักษาเรียบร้อยแล้ว ส่วนในกลุ่มผู้ยังไม่พบติดเชื้อนั้น จะมีการจำกัดวงด้วยมาตรการ Bubble and Seal ให้แรงงานข้ามชาติพักอยู่ภายในแคมป์เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อหลุดออกมาสู่สังคมภายนอก
อย่างไรก็ตามหากกลุ่มที่ไม่พบติดเชื้อในตอนแรกนั้น ติดเชื้อในภายหลัง จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเป็นรายบุคคลไป นอกจากนั้นจะมีการตรวจหาถูมิคุ้มกันโควิดให้กับคนงานภายในแคมป์ต่อไป หากรายใดยังไม่พบภูมิคุ้มกัน จะฉีดวัคซีนให้รายนั้นต่อไป
คลัสเตอร์คลองเตย
ส่วนการระบาดในพื้นที่คลองเตยนั้น พญ.ป่านฤดี กล่าวด้วยว่า กทม.ได้ดำเนินการคัดกรองเชิงรุกไปแล้ว 39 ชุมชนเสี่ยง จำนวน 34,130 คน พบผู้ติดเชื้อ 1,555 คน ขณะนี้ถือว่า การระบาดภายในชุมชนพอควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ด้วยความร่วมมือจากประธานชุมชน อาสาสมัคร และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มแข็ง ร่วมกับการมีมาตรการคัดแยกผู้ติดเชื้อมาอยู่ภายในวัด ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่อไป หรือที่เรียกว่า ‘Community Isolation’ รวมถึงการเร่งกระจายวัคซีนทั้ง 3 จุดในพื้นที่คลองเตย ซึ่งในวันที่ 21 พ.ค.2564 จะเป็นวันสุดท้ายของการกระจายวัคซีน ที่คนภายในชุมชนจะได้รับวัคซีนครบ 50,000 คน เป็นไปตามแผน
อย่างไรก็ตาม จากการติดเชื้อจากชุมชนได้ลามไปยังตลาดคลองเตย ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก ราว 10,000 คน ทางกรมควบคุมโรคและสำนักอนามัย กทม. จึงได้ร่วมกันจำกัดวงแรงงานภายในที่พัก ด้วยมาตรการ Bubble and Seal เรียบร้อยแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากทหาร ตำรวจ และเทศกิจ ในการดูแลเส้นทาง เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของแรงงานให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันมูลนิธิจากหลายแห่งได้เข้ามาร่วมช่วยเหลือให้แรงงานกลุ่มนี้ให้สามารถกักตัวอยู่ภายในที่พักของเขาได้อย่างต่อเนื่อง 14 วันด้วย ทั้งนี้กทม.จะมีการจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงนี้ต่อไป เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำงานภายในตลาดและต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก
ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร
พญ.ป่านฤดี กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการในการดูแลชุมชนราว 2,000 แห่งในพื้นที่ กทม.นั้น ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เราจะมุ่งเน้นการตรวจคัดกรองด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำลายในชุมชนที่พบการติดเชื้อประมาณ 50 – 60 คน ที่เรียกว่า ‘การตรวจเชิงเฝ้าระวัง’ ใน 10 เขตพื้นที่ไข่แดงก่อน ได้แก่ เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตบางกอกน้อย เขตประเวศ เขตคลองเตย เขตบางรัก เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตดุสิต และเขตห้วยขวาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางกทม.มีชุมชนค่อนข้างแออัด หากพบว่ามีแนวโน้มจะเกิดการระบาดสูง จะได้ดำเนินการค้นหาเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนพื้นที่โดยรอบ กทม. โดยส่วนใหญ่จะพบการระบาดภายในครอบครัวเท่านั้น หากทรัพยากรยังเหลือ จะสุ่มตรวจเชิงรุกในพื้นที่อื่นต่อไป จึงอยากขอให้ประชาชนมั่นใจว่าถ้าพื้นที่ชุมชนไหนมีความเสี่ยง กทม.ยืนยันว่าเข้าดำเนินการตรวจให้ต่อไป
(ซ้าย: พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ กลาง:นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร และ ขวา: ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง)
@ เพิ่มช่องทางจองฉีดวัคซีน ร้านสะดวกซื้อ-ห้างสรรพสินค้า
“หากถามว่าการควบคุมสถานการณ์ของกรุงเทพมหานครจะสามารถควบคุมได้จริงหรือไม่นั้น ในหลักวิชาการและหลักการแพทย์ ต่างยืนยันว่า หากไม่ทำอะไรเลยโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อจะมีเยอะกว่า” นี่คือเสียงยืนยันถึงศักยภาพในการควบคุมการระบาดในพื้นที่กทม. ของ ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า กทม.พยายามที่ควบคุมและรักษายอดผู้ติดเชื้อเอาไว้ ในการระบาดระลอกแรกและระลอกที่สองนั้น กทม.มีเพียงมาตรการควบคุมโรค แต่ยังไม่มีวัคซีนที่จะจัดสรรให้ประชาชน ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นมากการมีวัคซีนจะเป็นตัวเร่งให้สามารถควบคุมการระบาดได้รวดเร็วมากกว่าการใช้มาตรการเพียงอย่างเดียว
การให้บริการฉีดวัคซีน กทม. ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนแล้ว 519,822 โดส ขณะนี้วัคซีนที่ได้มา กทม.ได้ดำเนินการจัดสรรตามแผนใช้หมดแล้ว โดยแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจบแล้วคือ เขตปทุมวัน ได้แก่ คลัสเตอร์ชุมชนบ่อนไก่ และเขตดุสิต ได้แก่ คลัสเตอร์สี่แยกมหานาค/สะพานขาว/ตลาดผลไม้
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนก่อนนั้น จะใช้หลัก ‘ใครขนคนมากกว่า’ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเปิดให้กลุ่มพนักงานขับรถสาธารณะได้รับวัคซีนก่อน จากนั้นจะจัดสรรให้กลุ่มพนักงานเดลิเวอรรี่ขนสินค้า เป็นกลุ่มถัดไป
“ส่วนแผนการกระจายวัคซีน 5 ล้านโดสที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มิ.ย.2564 ภายในระยะเวลา 2 เดือนนั้น กทม.ได้เตรียมหน่วยให้บริการฉีดนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 จุด ร่วมกับภาคีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้ง 126 แห่ง คาดว่าในเดือน มิ.ย. – ก.ค.2564 จะสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้เดือนละ 2.4 ล้านโดสได้อย่างสบาย นอกจากนั้นยังเตรียมความพร้อมต่อการขยายหน่วยให้บริการวัคซีน กรณีได้รับวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มากกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ได้” ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
นอกจากการอำนวยความสะดวกด้านการให้บริการหน่วยฉีดวัคซีนแล้วนั้น กทม.ยังได้เตรียมการอำนวยความสะดวกด้านการจองคิวฉีดวัคซีนให้มีประสิทธิภาพและเปิดกว้าง สามารถเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ 60 ปี และประชาชนกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงสามารถลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม ส่วนประชาชนทั่วไปอายุ 18 – 59 ปี 10 เดือน สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บเบดส์ (Web Based) ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าหรือสถานพยาบาลได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้มียอดการจองรับวัคซีนแล้ว จำนวน 400,000 คน
(ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง)
@ กทม.ยันมีเตียงว่างอีก 800 เตียง พร้อมรับผู้ป่วยโควิดเข้ารู่ระบบการรักษา
ขณะที่ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงภายในกทม. ว่า เมื่อวันที 19 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา สำนักการแพทย์ได้เปิดโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยสีเขียวเพิ่มขึ้นที่วัดศรีสุดารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย ทำให้ในปัจจุบันโรงพยาบาลสนามในส่วนของสำนักการแพทย์มีเตียงรองรับผู้ป่วยจำนวน 2,752 เตียง และยังว่างอยู่อีก 800 เตียง
“เราพยายามผลักดันผู้ป่วยในระบบให้ได้รับการรักษาภายในโรงพยาบาลให้รวดเร็วที่สุดด้วยระบบโลจิสติกส์ที่ได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งเราจะพยายามเร่งดำเนินการที่จะรับผู้ป่วยที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายนอกเหนือจากกลุ่มที่มีได้รับความดูแลภายใต้มาตรการ Community Isolation ให้รวดเร็วที่สุด” นพ.สุขสันต์ กล่าว
ภาพจาก: Freepik
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage