ติดโควิดใหม่ 2,636 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ 671 ราย ยอดรวมสะสม 119,585 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 25 ราย ศบค.เผยที่ปรึกษาชงวิธีแก้แรงงานผิดกฎหมาย ด้านกรมราชทัณฑ์แจงเตรียมฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขัง-จนท.
------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิดในประเทศไทยว่า ณ วันที่ 20 พ.ค.2564 มียอดผู้ติดเชื้อใหม่ 2,636 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,907 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,385 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 522 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 671 ราย และอีก 58 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 119,585 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,268 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 42,246 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,234 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 405 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 25 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 703 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 25 ราย มาจาก กทม. 11 ราย ปทุมธานี 3 ราย เชียงใหม่ 2 ราย ลำปาง ลำพูน ยโสธร ราชบุรี เพชรบูรณ์ สระบุรี ร้อยเอ็ด นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 7 ราย อายุระหว่าง 41-94 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง ไตเรื้อรัง โรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วน หลอดเลือดสมอง มะเร็งส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มาจากคนในครอบครัว คนอื่นๆ เช่น เพื่อนร่วมงาน รพ. อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด ไปสถานที่แออัด เช่น ตลาดนัด อาชีพเสี่ยงแท็กซี่
ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 2,578 ราย เป็นผู้ติดเชื้อตามพื้นที่ปัจจัยเสี่ยง แบ่งเป็น กทม. 1,602 ราย ปริมณฑล 395 ราย และจังหวัดอื่นๆ 581 ราย
โดย 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 1,001 ราย เพชรบุรี 124 ราย นนทบุรี 99 ราย ปทุมธานี 89 ราย ชลบุรี 65 ราย สมุทรปราการ 61 ราย สมุทรสาคร 57 ราย จันทบุรี 44 ราย นครปฐม 38 ราย และพระนครศรีอยุธยา 30 ราย
และจังหวัดที่ยอดตัวเลขเป็น 0 หรือไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม มี 24 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต ขอนแก่น พัทลุง พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง ร้อยเอ็ด นครพนม ยโสธร น่าน ชุมพร พะเยา เลย แพร่ อุตรดิตถ์ ชัยนาท หนองคาย พังงา อำนาจเจริญ มุกดาหาร หนองบัวลำภู บึงกาฬ และสตูล
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 58 ราย ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย ตูนิเซีย 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย และกัมพูชา 54 ราย
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 62,098 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 32,373 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 2,540,116 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 1,647,871 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 892,245 ราย
@ คุมเข้มชายแดน เพิ่มเฝ้าระวังทางน้ำ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กล่าวว่า ขณะนี้กัมพูชามีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้คนไทย พากันเดินทางกลับเข้าประเทศ แต่ขอให้เดินทางเข้ามาโดยปกติ ถูกต้องตามกฎหมาย จะได้รับการดูแลอย่างดี อย่าลักลอบหรือเดินทางกลับมาทางช่องทางธรรมชาติ เนื่องจากจะเป็นภาระของคนในประเทศที่ต้องมาดูแล ระแวดระวัง ถ้าเข้ามาแล้ว ติดเชื้อ มาป่วยอยู่กลางเมือง ก็จะเป็นปัญหาของสาธารณสุขไทยด้วย โดยจะต้องให้ฝ่ายปกครองเข้ามาดูแลในส่วนนี้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ยังคงมีแรงงานที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอยู่ โดยเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) มีคนเข้ามาผิดกฎหมายรวม 113 คน โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ได้สั่งเน้นย้ำดูแลรอบชายแดน มีด่านที่ต้องดูแล รวมถึง ทางน้ำด้วย ถือเป็นความสามารถของทีมงาน ที่ต้องป้องกัน ไม่ให้เข้ามาอย่างผิดกฎหมายในทุกวิถีทาง
@ เรือนจำพิเศษ กทม.ติดเชื้อมากสุด 78%
นพ.ทวีศิลป์ รายงานสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำ ว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 671 ราย รวมสะสม 13,597 ราย แบ่งเป็นรายจังหวัด คือ เรือนจำในพื้นที่ กทม. ป่วยเพิ่ม 601 ราย รวมสะสม 8,921 ราย เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ป่วยเพิ่ม 3 ราย รวมสะสม 3,932 ราย เรือนจำจังหวัดนนทบุรี ป่วยเพิ่ม 51 ราย รวมสะสม 702 ราย และเรือนจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ป่วยเพิ่ม 16 ราย รวมสะสม 42 ราย ทั้งนี้ จากภาพรวมการตรวจหาเชื้อ พบว่า เรือนจำพิเศษ กทม. พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 78
@ เตรียมฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขัง-จนท.
ด้าน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผย ความคืบหน้าภายหลังเข้าพบหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค โดยกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค เตรียมจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิดสำหรับฉีดให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำทัณฑสถานทั่วประเทศ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจและคลายความกังวลของสาธารณชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดในเรือนจำและทัณฑสถาน โดยกรมราชทัณฑ์และกรมควบคุมโรคได้ร่วมกันจัดทำแผนฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเพื่อทยอยจัดส่งให้เรือนจำแลัทัณฑสถานต่อไป
@ เฝ้าระวังสูงสุด 23 คลัสเตอร์ พบใหม่อีก 1 ที่แคมป์ก่อสร้าง บางพลัด
นพ.ทวีศิลป์ รายงานเพิ่มเติมถึงการเฝ้าระวังสูงสุดในเขตพื้นที่ กทม. จำนวน 23 คลัสเตอร์ ใน 17 เขต ประกอบด้วย เขตดินแดง คลัสเตอร์ห้วยขวาง และแฟลตดินแดง เขตราชเทวี คลัสเตอร์ประตูน้ำ ชุมชนริมคลอง และแฟลตรถไฟฟ้ามักกะสัน เขตหลักสี่ คลัสเตอร์ แคมป์ก่อสร้าง เขตดุสิต คลัสเตอร์สี่แยกมหานาค สะพานขาว และตลาดผลไม้ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย คลัสเตอร์คลองถมเซ็นเตอร์ เสือป่า วงเวียน 22 วรจักร และโบ้เบ้ เขตคลองเตย คลัสเตอร์ที่พักคนงานก่อสร้าง ตลาดคลองเตย และชุมชนแออัดคลองเตย เขตบางรัก คลัสเตอร์สีลม เขตพระนคร คลัสเตอร์ปากคลองตลาด เขตประเวศ คลัสเตอร์ตลาดบุญเรือง เขตบางกอกน้อย คลัสเตอร์ตลาดศาลาน้ำร้อน เขตห้วยขวาง คลัสเตอร์ชุมชนโรงปูน เขตบางเขน คลัสเตอร์ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางคอแหลม คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง เขตจตุจักร คลัสเตอร์โรงงานน้ำแข็ง เขตดอนเมือง คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง เขตบางซื่อ คลัสเตอร์โกดังสินค้าให้เช่า และเขตบางกะปิ คลัสเตอร์ตลาดบางกะปิ และพบคลัสเตอร์ใหม่ คือ แคมป์ก่อสร้าง เขตบางพลัด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงมาตรการในการจัดการกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด และกลุ่มเฝ้าระวัง ว่า ศบค.ลงสอบสวนโรคเพิ่มและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมากักกัน ติดตามและประเมินจำนวนคนต่างด้าวในพื้นที่ เพื่อเก็บตัวอย่างเพิ่ม ติดตามคนงานก่อสร้างที่พักอยู่นอกแคมป์ ฉีดวัคซีนให้ประชาชน ปิดตลาด ทำความสะอาดสถานที่ ปิดสถานที่ที่พบผู้ป่วย เช่น แคมป์ โรงงานน้ำแข็ง โกดัง และลงตรวจกลุ่มเสี่ยงคนต่างด้าวที่ทำงาน
@ ที่ปรึกษา ศบค.เสนอวิธีแก้แรงงานผิดกฎหมาย
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า คณะที่ปรึกษาของ ศบค. เสนอเรื่องของแรงงานต่างด้าว มีประมาณการว่ากทม.และปริมณฑล ที่ถูกกฎหมายมีจำนวน 1,318,641 ราย แบ่งเป็น กทม. 580,000 ราย สมุทรสาคร 230,000 ราย สมุทรปราการ 160,000 ราย ปทุมธานี 130,000 ราย นนทบุรี 99,000 รายและนครปฐม 93,000 ราย ส่วนที่ไม่ถูกกฎหมาย ประมาณการว่า มีเกือบหลักล้านราย ฉะนั้นถ้าไม่มีการดำเนินการจัดการ คนเหล่านี้จะทำให้เป็นประเด็นปัญหาได้ เนื่องจากแรงงานที่ผิดกฎหมายจะไม่อยู่นิ่ง เขาจะหลบหนี และเคลื่อนย้ายตัวเองตลอดเวลา โดยจะไปอยู่กับคนที่ถูกกฎหมาย เกาะกลุ่มรวมกัน และจะไปทำงานย้ายจุดไปเรื่อยๆ และมีที่พักที่แออัด นอนที่เดียวกันในพื้นที่แคบๆ กิน นอน ด้วยกัน ในที่จำกัด เป็นปัจจัยจะนำมาสู่กันควบคุมโรคได้ยาก
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สิ่งที่คณะกรรมการที่ปรึกษาเสนอว่าจะต้องมีศูนย์คัดแยกผู้ป่วยแรงงานผิดกฎหมาย เพราะเราได้เรียนรู้จากจังหวัดสมุทรสาคร ควรมีพื้นที่เหมาะสม อาจจะอยู่ใกล้ชุมชนนั้นอหรือแยกออกมาถ้าป่วย จะเป็นแคมป์กักกัน ที่มีการพูดถึงโรงพยาบาลสนามที่จังหวัดปทุมธานี หรือตลาดเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว ทำเป็นโรงพยาบาลสนามให้อากาศถ่ายเท ให้คนต่างชาติมาอยู่ด้วยกัน และชุมชนก็ดูแลกันมี รั้วรอบขอบชิด เพราะกลุ่มคนดังกล่าวทำงานในนั้น ก็รู้จักกันแทบทั้งสิ้น ไม่ต้องเอาไปไกล โดยสิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ กทม.ลงพื้นที่ตรวจค้นหาเชิงรุกเพิ่มวันละ 300-400 ราย โดยต้องมีที่นอนให้ และแยกออกจากชุมชนให้ได้ ส่วนในเรื่องกฎหมายให้มีมาตรการ รองรับขยายนิรโทษกรรมให้ขึ้นลงทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเข้าสู่ระบบจ้างงานถูกต้องตามกฎหมาย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/