“...รายงานการประชุมบันทึกการรับรู้ของคณะทำงานฯว่า ผู้แทนบริษัท ท. เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ข้อเท็จจริงที่อนุ ก.ต. ได้จากการสอบพยาน โดยเฉพาะฝ่ายผู้รับจ้าง ผู้แทนบริษัท ท. ไม่ใช่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ คุณสมบัติว่าเป็นผู้มีประสบการณ์พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งมาก่อนหรือไม่ เชื่อได้ว่ามีผลต่อการตัดสินใจของคณะทำงานเตรียมการเลือกตั้งฯไม่มากก็น้อย ในการวินิจฉัยเลือกบริษัท ท. ...”
.............................................
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอที่มาที่ไปของโครงการเลือกตั้งกรรมการบริหารสำนักงานศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (I-Vote) แล้วว่าเกิดจากอะไร และมีการเชิญเอกชนรายใดเข้ามาบ้าง? (อ่านประกอบ : ล้วงที่มาศาลฯ จัดเลือกตั้ง I-Vote! ก่อนอนุ ก.ต. สอบพบปัญหาอื้อ-โปรแกรมแปลกประหลาด (1))
ประเด็นนี้ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ภายในแวดวงศาลยุติธรรม เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่า ระบบ I-Vote ดังกล่าว อาจมีเหตุผิดปกติจนมีข้อสงสัยในการประมวลผลและการประกาศผลคะแนนล่าช้าในการเลือกตั้ง ก.บ.ศ. ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งคณะอนุ ก.ต. เพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยมีผลสรุปมาว่า ระบบ I-Vote ดังกล่าว ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่าระบบ I-Vote เกิดความผิดปกติประมวลผลคะแนนล่าช้าจากสาเหตุใดกันแน่ และสำนักงานศาลยุติธรรมยังขาดประสบการณ์ดำเนินการจัดเลือกตั้งด้วยระบบ I-Vote อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้โปรแกรมที่ว่าจ้างบริษัท ท. (ชื่อย่อ เอกชนผู้ชนะ) ให้ดำเนินการมีความไม่เสถียรภาพทางเทคนิคอยู่เป็นอันมาก มีความแปลกประหลาดไปจากโปรแกรมเมอร์ผู้เขียนโปรแกรมมาตรฐานทั่วไปจะกำหนดออกไปแบบไว้ (อ่านประกอบ : โปรแกรมแปลกประหลาด! เผยผลสอบ อนุ ก.ต.ปมเลือกตั้ง I-Vote ปัญหาเพียบ-ประสิทธิภาพไม่พอ)
คราวนี้มาส่วนในการกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) กันบ้างว่า บริษัท ท. ผู้ชนะการประกวดราคาจัดทำระบบ I-Vote ดำเนินการได้หรือไม่?
ในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอนุ ก.ต. เกี่ยวกับกรณีนี้ ระบุเรื่องผลการตรวจสอบ TOR โดยได้บันทึกเป็นหลักฐานจากประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุฯ ระบุว่า บริษัท ท. ดำเนินการเลือกตั้งถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนดในสัญญาทุกประการ โดยมีคำอธิบายข้อสังเกตว่า
1.กรณีตาม TOR ที่กำหนดให้มีรหัสสำหรับใช้สั่งระบบให้นับคะแนนสำหรับคณะกรรมการไม่เกิน 3 ท่าน รวมกับผู้รับจ้าง 1 ท่าน และ TOR ที่กำหนดช่วงเวลาเลือกตั้ง 08.30-17.30 น. และให้มีระบบ Ticket เพื่อฝากคำถามในช่วงนอกเวลาให้บริการ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุฯ เห็นว่า แม้บริษัท ท. จัดให้มีรหัสสำหรับกรรมการ 5 ราย เกินกว่าที่กำหนดใน TOR และกำหนดช่วงเวลาเลือกตั้ง 08.00-16.00 น. โดยไม่มีระบบ Ticket เพื่อฝากคำถาม ซึ่งไม่ตรงกับ TOR แต่เป็นกรณีปฏิบัติตามความประสงค์ของสำนักงานศาลยุติธรรม จึงถือว่าไม่กระทบการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาและขอบเขตของงาน
2.กรณีการประมวลผลคะแนนการเลือกตั้งล่าช้า ระบบเริ่มประมวลผลเวลา 16.04 น. ใช้เวลาประมวลผลการเลือก ก.ต. ชั้นศาลฎีกา 20 นาที บริษัท ท. ทำการ Restart ระบบ เพราะเห็นว่าใช้เวลาประมวลผลช้าผิดปกติ ส่งผลให้ Public Key ของระบบหาย ต้องใช้เวลากู้ 30 นาที ระบบกลับเริ่มประมวลผลได้เมื่อเวลา 17.42 น. ใช้เวลาประมวลผลการเลือก ก.บ.ศ. ชั้นอุทธรณ์ 7 นาที ชั้นศาลชั้นต้น 8 นาที ใช้เวลาประมวลผลการเลือก ก.ศ. 9 นาที การประมวลผลแล้วเสร็จเวลา 18.07 น. คณะกรรมการตรวจรับพัสดุฯ เห็นว่า ตามสัญญาและ TOR ไม่ได้กำหนดว่าต้องประมวลผลแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด จึงมีมติถือว่าไม่กระทบการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาและ TOR
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกรรมการตรวจนับคะแนน ให้ถ้อยคำทำนองเดียวกันว่า กรรมการตรวจนับคะแนนการเลือกตั้ง ประชุมเตรียมความพร้อมก่อนวันเลือกตั้ง 2 ถึง 3 ครั้ง ในวันเลือกตั้งกรรมการทุกคนไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง กรรมการทุกรายยอมรับว่า ต่างไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่จะเข้าใจระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ คงปฏิบัติตามที่เคยได้รับการสาธิตก่อนวันเลือกตั้ง
โดยระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ทำงานด้วย Key 2 ชุดรหัสคำสั่ง ชุดหนึ่งกรรมการ 5 ราย เป็นผู้ตั้งรหัสและพิมพ์รหัสจากเครื่องพิมพ์แล้วแต่ละคนเก็บรักษาไว้กับตัว อีกชุดหนึ่งผู้แทนบริษัทเป็นผู้ตั้งรหัสและเก็บรักษา การเปิดหรือปิดระบบต้อง input Key ทั้ง 2 ชุด หลังจากหมดเวลาลงคะแนนมีการประมวลผลคะแนน ก.ต. ชั้นศาลฎีกา กรรมการมีความเข้าใจในตอนแรกว่า การเลือกตั้งโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวณ คงมีการประมวลผลที่รวดเร็ว แต่กลับปรากฏว่าการประมวลผลคะแนน ก.ต. ชั้นศาลฎีกา ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงทราบผล กรรมการเห็นว่าล่าช้า ส่วนผลคะแนน ก.บ.ศ. ชั้นศาลอุทธรณ์ กรรมการรอผลอยู่นาน
ด้าน ผู้แทนบริษัท ท. (ชื่อย่อเอกชนผู้ชนะ) ชี้แจงว่า เมื่อการประมวลผลคะแนน ก.ต. ชั้นศาลฎีกามีความล่าช้า จึงได้ Reboot ระบบโปรแกรมใหม่ และเกิดปัญหา Key ฝ่ายบริษัทสูญหาย ไม่อาจเปิด Inbox เก็บคะแนนได้ เจ้าหน้าที่บริษัทใช้เวลาอยู่นานจึงหา Key พบ เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. แล้วดำเนินการประมวลผลคะแนน ก.บ.ศ. ชั้นศาลอุทธรณ์ และ ก.ศ. จนแล้วเสร็จประมาณ 19.00 น.
อย่างไรก็ดีมีพยานให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต. ถึงประวัติการทำงานของบริษัท ท. ว่า เป็นบริษัทที่เคยเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งมีการเลือกหัวหน้าพรรคเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2561 โดยพยานให้ถ้อยคำว่า บริษัท ท. ลงมือเข้าไปแก้ไขกรณีพรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาการเลือกตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ดำเนินการโดยบริษัทผู้รับผิดชอบเดิมมีข้อขัดข้องเรื่อง Time Zone คลาดเคลื่อน และสามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนพยานอีกราย ให้ถ้อยคำว่า เจ้าของบริษัท ท. อยู่รู้เห็นในการทดสอบระบบของบริษัทผู้รับผิดชอบเดิมเท่านั้น ไม่ได้ให้ข้อมูลว่าได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขระบบแต่อย่างใด
ประวัติการทำงานของบริษัท ท. ในส่วนนี้ถูกอนุ ก.ต. นำไปพิจารณา ก่อนมีความเห็นว่า ผู้แทนบริษัท ท. เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานเตรียมการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 โดยรายงานการประชุมบันทึกการรับรู้ของคณะทำงานฯว่า ผู้แทนบริษัท ท. เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ข้อเท็จจริงที่อนุ ก.ต. ได้จากการสอบพยาน โดยเฉพาะฝ่ายผู้รับจ้าง ผู้แทนบริษัท ท. ไม่ใช่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ คุณสมบัติว่าเป็นผู้มีประสบการณ์พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งมาก่อนหรือไม่ เชื่อได้ว่ามีผลต่อการตัดสินใจของคณะทำงานเตรียมการเลือกตั้งฯไม่มากก็น้อย ในการวินิจฉัยเลือกบริษัท ท.
แต่จากการทำงานของระบบโปรแกรมที่ผู้รับจ้างใช้ โดยเฉพาะการออกแบบปุ่มพิมพ์ให้ถือเป็นการเสร็จสิ้นการทำงาน ผิดไปจากการออกแบบโปรแกรมทั่ว ๆ ไป อันเป็นข้ออ้างของตัวแทนบริษัท ท. ว่า เป็นเหตุให้รหัสสูญหาย จนโปรแกรมทำงานขัดข้อง แสดงว่ายังขาดประสบการณ์ในการออกแบบโปรมแกรมจัดการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งหมดคือข้อมูลในส่วนขอบเขตของงาน (TOR) และประวัติการทำงานของบริษัท ท. ผู้ชนะได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานศาลยุติธรรมให้จัดทำระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ (I-Vote) ก่อนที่จะโดนร้องเรียน และอนุ ก.ต. มีผลสรุปข้อเท็จจริงออกมาข้างต้น
ส่วนเหตุขัดข้องทางเทคนิคเกิดจากอะไร สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในคราวถัดไป
อ่านประกอบ :
ล้วงที่มาศาลฯ จัดเลือกตั้ง I-Vote! ก่อนอนุ ก.ต. สอบพบปัญหาอื้อ-โปรแกรมแปลกประหลาด (1)
โปรแกรมแปลกประหลาด! เผยผลสอบ อนุ ก.ต.ปมเลือกตั้ง I-Vote ปัญหาเพียบ-ประสิทธิภาพไม่พอ
เป็นทางการ! เปิดข้อสังเกต ก.ต. สั่งฟันเอกชน- สอบศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.
ฉ้อโกง-แก้ไขข้อมูล! ก.ต. สั่งฟัน บ.เอกชน - สอบ ’บิ๊ก’ ศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage