“...ที่มาที่ไปโดยสรุปเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (I-Vote) ที่กำลังเกิดปัญหาการประมวลผลคะแนนของสำนักงานศาลยุติธรรม นำไปสู่ที่ประชุม ก.ต. แต่งตั้งอนุ ก.ต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพบว่า โปรแกรม I-Vote ที่ดำเนินการโดยบริษัท ท. เป็นโปรแกรม ‘แปลกประหลาด’ และไม่มีประสิทธิภาพในการนำมาใช้เลือกตั้งภายในสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ตอนนี้ และมีการนำผลการตรวจสอบเพื่อเสนอต่อที่ประชุม ก.ต. พิจารณาแล้ว…”
..............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุ ก.ต.) เพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (I-Vote) ที่ถูกร้องเรียนว่า อาจมีเหตุผิดปกติจนมีข้อสงสัยในการประมวลผลและการประกาศผลคะแนนล่าช้าในการเลือกตั้ง ก.บ.ศ.
โดย อนุ ก.ต. ไม่อาจสรุปได้ว่าระบบ I-Vote เกิดความผิดปกติประมวลผลคะแนนล่าช้าจากสาเหตุใดกันแน่ อย่างไรก็ดีสำนักงานศาลยุติธรรมยังขาดประสบการณ์ในการดำเนินจัดการเลือกตั้งด้วยระบบ I-Vote อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้โปรแกรมดังกล่าวที่ว่าจ้างบริษัท ท. ดำเนินการนั้น มีความไม่เสถียรภาพทางเทคนิคอยู่เป็นอันมาก มีความแปลกประหลาดไปจากโปรแกรมเมอร์ผู้เขียนโปรมแกรมมาตรฐานทั่วไปจะกำหนดออกแบบไว้ อนุ ก.ต. จึงเห็นว่า โปรแกรม I-Vote ดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
(อ่านประกอบ : โปรแกรมแปลกประหลาด! เผยผลสอบ อนุ ก.ต.ปมเลือกตั้ง I-Vote ปัญหาเพียบ-ประสิทธิภาพไม่พอ)
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบที่มาที่ไปว่า การเลือกตั้งแบบ I-Vote ถูกนำมาใช้ได้อย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปบางห้วงบางตอนของรายงานผลตรวจสอบข้อเท็จจริงของ อนุ ก.ต. มาให้ทราบ ดังนี้
เมื่อปี 2561 ผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานศาลยุติธรรมรายหนึ่ง มีดำริให้มีการพัฒนาระบบการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลือก ก.บ.ศ. ก.ต. และ ก.ศ. แทนการเลือกตั้งในระบบส่งบัตรลงคะแนนและนับคะแนนเป็นรายบัตรในระบบเดิม จึงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 1 คณะ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้แทนผู้พิพากษา และผู้บริหารในสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นคณะทำงาน
ต่อมาคณะทำงานฯ ประชุมพิจารณา 2 ครั้ง โดยในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ได้เชิญผู้พัฒนาโปรแกรมการเลือกตั้งจากภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมนำเสนอวิธีการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 2 ราย ได้แก่
1.ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนที่ปรึกษาบริษัท ท. (ชื่อย่อ) นำเสนอวิธีการเลือกตั้งโดยมีช่องทางการเลือกตั้ง 3 ช่องทาง ได้แก่ ผ่านเว็บไซต์ ผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์ และระบบการบันทึกคะแนนใช้ Blockchain ในการเก็บข้อมูล โดยเสนอใช้ Public Chain ให้เหตุผลว่ามีความปลอดภัยสูงกว่า Private Chain ส่วน Data Base อื่น เสนอให้จัดเก็บบน Cloud โดยเสนอค่าใช้จ่ายพัฒนาโปรแกรม 2-3 ล้านบาท กับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจำนวนหลักหมื่นบาท และมี Option ว่า หากต้องการใช้งานเป็นรายครั้งโดยไม่ต้องลงทุนครั้งแรก คิดค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ 3.5 แสนบาท
2.ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งให้แก่กรมพลศึกษา โดยมีผู้แทนจากศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอวิธีการเลือกตั้งว่า สามารถทำแอปพลิเคชั่นใช้เลือกผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ แต่แนะนำให้ใช้การเลือกผ่าน Web Base ดีกว่า เพื่อป้องกันปัญหาการอัพเดตระบบปฏิบัติการและความต่างกันของรุ่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการเข้า Web Base ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องทำแอปพลิเคชั่น ส่วนระบบการบันทึกคะแนนใช้ Blockchain ของ Ethereum คะแนนทั้งหมดอยู่บน Data Base ตรวจสอบได้ผ่าน Web Site Etherscan มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าพัฒนาโปรแกรมประมาณ 5 แสนบาท ค่าใช้งาน Smart Contract บนเครือข่าย Blockchain 1 ครั้ง ประมาณ 2.5 แสนบาท ค่าบริหารโครงการ 83,500 บาท ค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัยร้อยละ 10 รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 916,850 บาท
ต่อมาคณะทำงานฯ พิจารณา 4 แนวทางเลือก คือ 1.การเลือกตั้งด้วยการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้อุปกรณ์ตามแนวทางการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2.เลือกตั้งผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3.การเลือกตั้งด้วย Multiprotocol Label Switching (MPLS) ของสำนักงานศาลยุติธรรม และ 4.การเลือกตั้งด้วยระบบนับคะแนนผ่านเครื่องนับกระดาษ
คณะทำงานฯ ในการประชุมครั้งที่ 1 มีมติเห็นชอบให้นำวิธีเลือกตั้งที่ 2.เลือกตั้งผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาใช้ในการเลือกตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ของศาลแทนระบบการเลือกตั้งเดิม โดยเห็นว่าแม้การลงทุนครั้งแรกจะใช้งบประมาณสูง แต่ในระยะยาวค่าใช้จ่ายจะถูกลง ทั้งลดขั้นตอนและเวลาในการทำงาน ลดการใช้บุคลากร และทราบผลการเลือกตั้งได้รวดเร็วกว่าเดิม
สำหรับการเลือก ก.ศ. คณะทำงานฯเห็นว่า ผู้มีสิทธิเลือกบางส่วนไม่ได้รับการจัดสรรโทรศัพท์เคลื่อนที่จากทางราชการ อย่างไรก็ดีคณะทำงานฯ ยังคงเสนอความเห็นให้ใช้วิธีการเลือกตั้งที่ 2. โดยเสนอให้ทดใช้การเลือกตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบรายครั้งในเดือน ต.ค. 2561 ที่จะมีการเลือกตั้ง ก.บ.ศ. และ ก.ต. ทั้งยังมีความเห็นตามข้อเสนอที่มีถึงเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมว่า ในอนาคตหากสำนักงานศาลยุติธรรมลงทุนพัฒนาสร้างระบบ Blockchain ขึ้นใช้เองแล้ว อาจให้สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นผู้พัฒนาระบบการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เอง
ทั้งนี้ ในการดำเนินการเลือกตั้ง ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานศาลยุติธรรมในขณะนั้น อนุมัติงบประมาณจ้างเหมาเอกชนจัดการเลือกตั้งในศาลยุติธรรม (COJ I-Vote) ให้แก่สำนักงาน ก.บ.ศ. และสำนักงาน ก.ต. ประจำปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเติม 1,025,000 บาท แบ่งเป็นระยะที่ 1 การเลือกตั้งซ่อม ก.ต. 1.5 แสนบาท และระยะที่ 2 เลือกตั้งซ่อม ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ และการเลือกตั้งซ่อม ก.บ.ศ. ประจำชั้นศาล และการเลือกตั้งซ่อม ก.ศ. รวม 875,000 บาท
ส่วนขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อการจัดเลือกกรรมการของศาลยุติธรรมในเดือน ต.ค. 2562 จำนวน 3 ครั้ง ให้มีการลงคะแนนโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android กำหนดให้ระว่างการดำเนินการเลือกตั้ง ต้องมีรายงานหน้าจอแสดงจำนวนผู้ใช้สิทธิแบบ Real Time หน้าจอรายงานแสดงจำนวนผู้แสดงความประสงค์ใช้สิทธิลงคะแนนเลือก หรือไม่ประสงค์จะใช้สิทธิแบบ Real time กำหนดให้มีการ Back Up ข้อมูลสรุปผลการเลือกรายการผู้มาใช้สิทธิและข้อมูลรายการคะแนนดิบใน Private Blockchain เพื่อส่งมอบให้คณะกรรมการดำเนินการเลือก และลบข้อมูลต้นฉบับเพื่อส่งมอบงาน และกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องเก็บข้อมูล Log Files ของการเลือกตั้งแต่ละครั้งไว้เป็นเวลา 90 วัน นับถัดจากวันเลือกตั้งแล้วเสร็จตาม TOR
หลังจากนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมว่าจ้าง บริษัท ท. ดำเนินการ ค่าจ้าง 875,000 บาท โดยทำสัญญาจ้างเหมาบริการจัดการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (COJ I-Vote) สัญญาเลขที่ 256/2562 ลงวันที่ 14 ส.ค. 2562 อย่างไรก็ดีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม (ขณะนั้น) กำหนดให้การเลือกตั้งซ่อม ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ การเลือกตั้งซ่อม ก.บ.ศ. ประจำชั้นศาล และการเลือกตั้งซ่อม ก.ศ. ซึ่งกำหนดไว้ 3 ครั้งตาม TOR เปลี่ยนเป็นเลือกตั้งพร้อมกันในวันเดียวต่างจาก TOR
คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงเชิญผู้แทนบริษัท ท. เข้าหารือเพื่อปรับลดวันเลือกตั้งและปรับลดค่าจ้างเหลือ 6.5 แสนบาท และมีการแก้ไขสัญญาเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2562
หลังจากนั้นมีการตรวจรับงานจ้างของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุสำหรับการจ้างเหมาบริการจัดการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามที่บริษัท ท. ผู้รับจ้าง มีหนังสือส่องมอบรายการการบริการเป็นเงิน 6.5 แสนบาท
นี่คือที่มาที่ไปโดยสรุปเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (I-Vote) ที่กำลังเกิดปัญหาการประมวลผลคะแนนของสำนักงานศาลยุติธรรม นำไปสู่ที่ประชุม ก.ต. แต่งตั้งอนุ ก.ต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพบว่า โปรแกรม I-Vote ที่ดำเนินการโดยบริษัท ท. เป็นโปรแกรม ‘แปลกประหลาด’ และไม่มีประสิทธิภาพในการนำมาใช้เลือกตั้งภายในสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ตอนนี้ และมีการนำผลการตรวจสอบเพื่อเสนอต่อที่ประชุม ก.ต. พิจารณาแล้ว
ยังมีอีกหลายเงื่อนปมที่สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในคราวถัดไป
อ่านประกอบ :
โปรแกรมแปลกประหลาด! เผยผลสอบ อนุ ก.ต.ปมเลือกตั้ง I-Vote ปัญหาเพียบ-ประสิทธิภาพไม่พอ
เป็นทางการ! เปิดข้อสังเกต ก.ต. สั่งฟันเอกชน- สอบศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.
ฉ้อโกง-แก้ไขข้อมูล! ก.ต. สั่งฟัน บ.เอกชน - สอบ ’บิ๊ก’ ศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage