เปิดผลสอบอนุ ก.ต. จัดเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ I-Vote ก.บ.ศ. พบปัญหาล่าช้า โปรแกรมแปลกประหลาด ระบบมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ-ไม่เหมาะนำมาใช้ เผยเอกชนผู้รับจ้างไม่เคยเป็นตัวแทนทำแอปฯ ให้พรรคประชาธิปัตย์ -Log Files มีปัญหา DFC ตั้งข้อสังเกตเพียบตอบไม่ได้ แต่ยังฟันธงไม่ได้ปัญหาเกิดจากอะไร
..............................................
สืบเนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รับข้อสังเกตของ ก.ต. ไปดำเนินการตรวจสอบให้ได้ความชัดเจน เกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งกรรมการศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมบางท่านให้ข้อสังเกตว่า กรณีดังกล่าวควรจะดำเนินการเป็นสองแนวทาง คือ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทผู้รับจ้างกรณีให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้รับจ้างที่อ้างว่าสามารถดำเนินการพัฒนาระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ได้ และสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น
(อ่านประกอบ : เป็นทางการ! เปิดข้อสังเกต ก.ต. สั่งฟันเอกชน- สอบศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานศาลยุติธรรม ถึงรายงานผลสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการ ก.ต. เพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว สรุปได้ว่า มีผู้พิพากษารายหนึ่งในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ยื่นหนังสือร้องเรียนอ้างว่า มีเหตุผิดปกติจนมีข้อสงสัยในการประมวลผลและการประกาศผลคะแนนที่ล่าช้าในการเลือกตั้งดังกล่าว
ต่อมา ก.ต. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อตรวจสอบ โดยมีปัญหาที่ต้องตรวจสอบ 2 กรณีคือ 1.การดำเนินการจัดการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และ 2.การทำงานของระบบการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์
ในส่วนของการดำเนินการจัดการเลือกตั้งนั้น เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม (ขณะนั้น) มีดำริให้พัฒนาระบบการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลือก ก.บ.ส. , ก.ต. และคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) แทนการเลือกตั้งในระบบส่งบัตรลงคะแนนและนับคะแนนเป็นรายบัตรในระบบเดิม มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 คณะเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง โดยคณะทำงานฯประชุม 2 ครั้งในช่วงปลายปี 2561 และมีการเชิญผู้พัฒนาโปรแกรมเลือกตั้งจากภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมนำเสนอวิธีการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 2 ราย ได้แก่
1.ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนที่ปรึกษาของบริษัท ท. (ชื่อย่อ) เสนอค่าใช้จ่ายพัฒนาโปรแกรม 2-3 ล้านบาท กับค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งแต่ละครั้งจำนวนหลักหมื่นบาท และมี option เสนอว่าหากต้องการใช้งานเป็นรายครั้ง โดยไม่ต้องลงทุนครั้งแรก คิดค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ 3.5 แสนบาท
2.ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งให้แก่กรมพลศึกษา ตัวแทนศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีค่าใช้จ่ายพัฒนาโปรแกรมประมาณ 5 แสนบาท ค่าใช้งาน Smart Contract บนเครือข่าย Blockchain 1 ครั้ง ประมาณ 2.5 แสนบาท ค่าบริหารโครงการ 83,500 บาท รวม 833,500 บาท กับค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัยร้อยละ 10 รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 916,850 บาท
ท้ายที่สุดสำนักงานศาลยุติธรรมเลือกทำสัญญากับบริษัท ท. ค่าจ้าง 875,000 บาท โดยทำสัญญาจ้างเหมาบริการจัดการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (COJ I-Vote) ลงวันที่ 14 ส.ค. 2562
อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ รวมทั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นสรุปได้ว่า กรณีการดำเนินการจัดการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า คุณสมบัติของผู้รับจ้าง ที่ปรากฏตามรายงานการประชุมของคณะทำงานฯ ระบุชัดว่า ตัวแทนบริษัท ท. เข้าประชุมกับคณะทำงานฯ แต่จากข้อเท็จจริงที่คณะอนุกรรมการฯ สอบพยาน โดยเฉพาะฝ่ายผู้รับจ้าง พบว่าบริษัทแห่งนี้มิใช่ตัวแทนทำแอปพลิเคชั่นให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ คุณสมบัติว่าเป็นผู้มีประสบการณ์พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งมาก่อนหรือไม่นี้ เชื่อได้ว่ามีผลต่อการตัดสินใจของคณะทำงานเตรียมการเลือกตั้งไม่มากก็น้อย ในการวินิจฉัยเลือกบริษัท ท. แต่จากการทำงานของระบบโปรแกรมที่ผู้รับจ้างใช้ (โดยเฉพาะการออกแบบปุ่มพิมพ์ให้ ถือเป็นการเสร็จสิ้นการทำงาน ซึ่งผิดจากการออกแบบโปรแกรมทั่ว ๆ ไป อันเป็นข้ออ้างของตัวแทนบริษัทฯ ว่าเป็นเหตุให้รหัสสูญหาย จนโปรแกรมทำงานขัดข้อง) แสดงว่ายังขาดประสบการณ์ในการออกแบบโปรแกรมจัดการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ การกำหนดขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) ไม่ปรากฏว่ามีนักวิชาการคอมพิวเตอร์ หรือผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีส่วนกำหนดเขียนทีโออาร์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กำหนดในทีโออาร์แต่เพียงให้เก็บ Log Files ไว้ 90 วันเพื่อการตรวจสอบ แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า Log Files ที่กำหนดให้เก็บรักษาตามสัญญา อย่างน้อยต้องมี แอบพลิเคชั่น Log Files และ Operating System log Files ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเลือกตั้งอยู่ด้วย เป็นเหตุให้เมื่อเกิดกรณีปัญหาต้องตรวจสอบการทำงานของโปรแกรมขึ้นภายหลัง ไม่อาจตรวจสอบทราบการทำงานของโปรแกรมได้ กับมีข้อพึงสังเกตด้วยว่าทีโออาร์ที่ส่งให้สำนักเทคโนโลยีตรวจสอบนั้น สำนักเทคโนโลยีไม่ได้ตรวจความสมเหตุสมผลของการร่างทีโออาร์ ตลอดจนความรัดกุมรอบคอบของทีโออาร์ว่าจะรัดกุมเพียงพอที่จะรักษาประโยชน์ของราชการหรือไม่
ส่วนด้านการตรวจรับงาน ไม่ปรากฎว่าสำนักงานศาลยุติธรรมแต่งตั้งผู้มีพื้นความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ทั้งไม่ปรากฏว่ากรรมการมีพื้นความรู้ทางเทคนิคที่จะตรวจสอบข้อมูล Log Files ที่ผู้รับจ้างส่งว่า ตรงตามข้อสัญญาหรือไม่ ขณะที่ด้านการบริหารจัดการเลือกตั้ง ผู้รับจ้างเป็นผู้ควบคุมเครื่องมือและโปรแกรมที่ใช้การทำงาน โดยไม่ปรากฏว่ามีข้าราชการของสำนักงานศาลยุติธรรมผู้มีพื้นความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าร่วมตรวจ และเฝ้าระวังใกล้ชิดในการทำหน้าที่ของฝ่ายผู้รับจ้าง แม้มีข้าราชการของสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ร่วมด้วยในห้องที่ใช้ปฏิบัติการเลือกตั้ง แต่ไม่มีผู้ใดได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ร่วมตรวจ และเฝ้าระวังการทำงานของผู้รับจ้างโดยใกล้ชิด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเพียงพอที่จะสอดส่องดูแลพฤติการณ์การทำหน้าที่ของผู้รับจ้างว่า มีความถูกต้องหรือผิดปกติใดหรือไม่ กรณีจึงขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้รับจ้างแต่ลำพัง เป็นผู้ควบคุมและสั่งการให้โปรแกรมทำหน้าที่โดยปราศจากการตรวจสอบของฝ่ายสำนักงานศาลยุติธรรมด้านเทคนิค ฝ่ายสำนักงานศาลยุติธรรมในขณะนั้นทำได้แต่เพียงเชื่อสิ่งที่ผู้รับจ้างแจ้งให้ทราบเท่านั้น
ในรายงานผลการตรวจสอบยังระบุด้วยว่า สำหรับกรณีการทำงานของระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า บริษัทผู้รับจ้างอ้างว่า การประมวลผลหยุดชะงักเพราะมีการกดปุ่มใช้คำสั่งพิมพ์ผลการเลือกตั้งโดยไม่รอให้มีการประมวลผลการเลือกตั้งคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดเสร็จก่อน การกดปุ่มพิมพ์เป็นคำสั่งล้างข้อมูลการถอดรหัสตามที่ออกแบบไว้ ทำให้ระบบหยุดประมวลผลการเลือกตั้งคณะกรรมการ ก.บ.ส. และ ก.ศ. นอกจากนี้ในส่วนของ Log Files ที่บันทึกการกดปุ่มพิมพ์ บริษัทไม่ได้เก็บไว้ ทั้งนี้มีพยานอ้างว่า Log Files ที่เก็บคำสั่งกดปุ่มพิมพ์อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นคอมพิวเตอร์กลาง ใช้เชื่อมโปรเจ็คเตอร์ เครื่องดังกล่าวเป็นของพนักงานบริษัทผู้รับจ้าง บริษัทไม่ได้สำรองข้อมูล Log Files ส่วนนี้ไว้ พยานเชื่อว่าข้อมูลถูกเขียนทับไปหมดแล้ว
ส่วนการตรวจสอบ Log Files ที่บริษัทผู้รับจ้างส่งให้คณะอนุกรรมการฯตรวจสอบ ได้จัดส่งให้ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ดิจิทัลฟอเรนสิกส์ (DFC) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อตรวจวิเคราะห์ พบข้อสังเกตหลายประการที่คณะอนุกรรมการฯ เห็นพ้องด้วย และผู้แทนบริษัทรับจ้างตอบคำถามข้อสังเกตได้เพียงข้อเดียว ส่วนข้อสังเกตอื่นที่ DFC และคณะอนุกรรมการฯตั้งข้อสังเกตว่า ล้วนไม่ได้รับคำตอบจากผู้แทนบริษัทรับจ้าง โดยอ้างว่าต้องไปถามผู้พัฒนาโปรแกรมถึงจะอธิบายได้ ทั้งที่คณะอนุกรรมการฯเรียกให้ส่งข้อมูลทั้งหมด และให้นำพยานมาให้สอบปากคำ แต่บริษัทผู้รับจ้างไม่ได้ส่งข้อมูลเพิ่ม และไม่ได้นำพยานมาให้สอบอีก อ้างว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ถูกเขียนทับแล้วบ้าง ไม่ได้ทำสำเนาข้อมูลไว้บ้าง
จากพยานหลักฐานข้างต้นอันเป็นข้อมูลที่จำกัดอยู่เช่นนี้ คณะอนุกรรมการฯ จึงไม่อาจสรุปได้ว่าระบบ I-Vote เกิดความผิดปกติประมวลผลคะแนนล่าช้าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ อย่างไรก็ดีในด้านการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เห็นว่า สำนักงานศาลยุติธรรมยังขาดประสบการณ์ในการดำเนินงานบริหารจัดการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการทำงานของระบบการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ เห็นว่า บริษัทผู้รับจ้างไม่อาจตอบข้อสังเกตอันสำคัญที่ DFC ตรวจพบและตั้งข้อสังเกตไว้ได้
คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ตามพยานหลักฐานที่ได้ความตามทางตรวจสอบเห็นได้ว่า ระบบเลือกตั้ง I-Vote ที่สำนักงานศาลยุติธรรมว่าจ้างบริษัท ท. ดำเนินการนั้น มีความไม่เสถียรทางเทคนิคอยู่เป็นอันมาก หากฟังได้จากตามที่ผู้รับจ้างอ้างเรื่องการออกแบบปุ่มพิมพ์และผลการกดปุ่มพิมพ์แล้ว การออกแบบสถาปัตยกรรมระบบของโปรแกรมที่ผู้รับจ้างอ้าง มีความแปลกประหลาดไปจากที่โปรแกรมเมอร์ผู้เขียนโปรแกรมมาตรฐานทั่วไปจะกำหนดออกแบบไว้จากกรณีที่กำหนดให้การกดปุ่มพิมพ์ผลการเลือกตั้งเป็นคำสั่งล้างข้อมูลการถอดรหัส และเป็นคำสั่งเสร็จสิ้นการประมวลผลเลือกตั้งอยู่ในตัว เพราะผู้ออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะไม่กระทำการออกแบบเช่นนี้
คณะอนุกรรมการฯ จึงสรุปและยืนยันความเห็นว่า โปรแกรม I-Vote ดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งคณะกรรมการของศาลยุติธรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานศาลยุติธรรมพิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอ ก.ต. พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบศาลยุติธรรม จาก https://www.naewna.com/
อ่านประกอบ :
เป็นทางการ! เปิดข้อสังเกต ก.ต. สั่งฟันเอกชน- สอบศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.
ฉ้อโกง-แก้ไขข้อมูล! ก.ต. สั่งฟัน บ.เอกชน - สอบ ’บิ๊ก’ ศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage