"...หากความผิดอาญาใดเป็นความผิด ที่ประเทศไทยจัดทำความตกลงระหว่างประเทศในระดับพหุภาคีและระดับทวิภาคีกับประเทศใดแล้ว และความผิดนั้นเป็นความผิดอาญาที่กฎหมายของประเทศนั้นและกฎหมายไทยกำหนดให้เป็นความผิด ฐานเดียวกันและกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้นไว้ก็สามารถรับผลของคำพิพากษา ของศาลต่างประเทศนั้นมาใช้ในประเทศไทยได้..."
.........................................
การให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (5)ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อันเป็นผลมาจากกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในต่างประเทศ สามารถสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอาณาจักรไทยได้หรือไม่ในช่วงปี 2525
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบ และนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
(อ่านประกอบ : ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?)
มิใช่ความเห็นทางกฎหมายกรณีเดียว ที่น่าจะสามารถนำมาใช้เทียบเคียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีตัดสิน ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) แม้ว่าข้อเท็จจริง ร.อ.ธรรมนัส จะเคยถูกคำพิพากษาศาลรัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย ให้จำคุกในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดในช่วงปี 2537 แต่ไม่อาจนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาบังคับใช้ได้ เพราะเป็นการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของไทย
หากแต่ยังมีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกชุดหนึ่ง ที่น่าจะสามารถนำมาใช้เทียบเคียงการพิจารณาข้อกฎหมาย กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้เช่นกัน
โดยเป็นกรณีที่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ขอความเห็นต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการดำเนินการตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหาร พักราชการ กรณี นายทหารยศ 'พลตรี' ผู้ถูกสั่งให้พักราชการต้องคำพิพากษาจำคุกของ ศาลต่างประเทศ โดยถูกกล่าวหาว่า จำหน่าย มีเฮโรอีนไว้เพื่อจำหน่าย และได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 365 เดือน
เมื่อถูกปล่อยตัวออกมา กรมเสมียนตรา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อคดีถึงที่สุดและปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการได้กระทำผิดโดยคำพิพากษาของศาล จะตีความถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ด้วยหรือไม่ คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ที่ถือว่าเป็นกรณีคดีถึงที่สุด สามารถนำมาใช้ดำเนินการตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหาร พักราชการ พ.ศ.2528 ได้หรือไม่
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูล ก่อนจะมีความเห็นว่า โดยหลักแล้วคำพิพากษาของรัฐใดจะมีผลเฉพาะในเขตอธิปไตยของรัฐนั้น เว้นแต่มีกฎหมายหรือความตกลงระหว่างประเทศกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในเรื่องนี้ กฎหมายไทยได้กำหนดการรับผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ อาทิ มาตรา 102 แห่งประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ซึ่งให้นำมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ เป็นต้น
นอกจากนั้น ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับ ยาเสพติด จำนวน 3 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดระดับระหว่างประเทศและในขณะเดียวกันประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้มีสนธิสัญญาระหว่างกัน 3 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญเป็นการ ให้ความร่วมมือหรือความช่วยเหลือกันในการสืบสวนสอบสวน การแลกเปลี่ยนพยานหลักฐาน การยึด ค้น และการโอนตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา
ดังนั้น หากความผิดอาญาใดเป็นความผิด ที่ประเทศไทยจัดทำความตกลงระหว่างประเทศในระดับพหุภาคีและระดับทวิภาคีกับประเทศใดแล้ว และความผิดนั้นเป็นความผิดอาญาที่กฎหมายของประเทศนั้นและกฎหมายไทยกำหนดให้เป็นความผิด ฐานเดียวกันและกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้นไว้ก็สามารถรับผลของคำพิพากษา ของศาลต่างประเทศนั้นมาใช้ในประเทศไทยได้
โดยการรับผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ มาใช้ในประเทศไทยนั้นมีสองระดับ ได้แก่ (1) การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในฐานะ ข้อเท็จจริงที่มีผลในประเทศไทย และ (2) การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาบังคับโทษ ในประเทศไทย
ดังนั้น การพิจารณากรณีนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณากฎหมายไทย ทั้ง 3 ฉบับ ที่ตราขึ้นเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดประกอบด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า กฎหมายดังกล่าวได้วางหลักการ ในการยอมรับผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศไว้ ทั้งการฟ้องร้องและการรับโทษ ตามคำพิพากษาของศาลในความผิดอาญาด้วย
ก่อนที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา จะมีความเห็นกรณีนี้ ว่า ข้อหารือนี้ มิใช่ข้อหารือเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาแต่เป็นข้อหารือเรื่องวินัยทหาร และการพิจารณา ให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นกรณีที่ใช้ผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมารับฟัง เป็นพยานหลักฐานในฐานะข้อเท็จจริงในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการทหาร ซึ่งเป็นการรับฟังคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในฐานะข้อเท็จจริง มิใช่การรับคำพิพากษาของ ศาลต่างประเทศมาบังคับโทษในประเทศไทย ดังนั้น ข้อความว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว” ตามข้อ 7 วรรคสอง แห่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ. 2528 จึงรวมถึงคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ผลของคําพิพากษาของศาลสหรัฐอเมริกาสามารถนํามาใช้กับกรณีนี้
และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าพลตรีรายนี้ ซึ่งเป็นผู้ถูกสั่งให้พักราชการได้กระทำความผิด ผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งให้ออกจาก ราชการตั้งแต่วันพักราชการ โดยไม่มีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญได้
สำหรับรายละเอียดความเห็นทางกฎหมายฉบับเต็มกรณีนี้ มีดังต่อไปนี้
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือที่ กห 0201/2410 ลงวันที่ 29 เมษายน 2563 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สรุปความได้ว่า พลตรี ถ. มีหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอความอนุเคราะห์ในการรับบำเหน็จบำนาญ เพื่อการยังชีพ และขอให้เพิกถอนคำสั่งพักราชการ และสั่งให้จ่ายเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ โดย พลตรี ถ. ถูกสั่งพักราชการตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหาร พักราชการ พ.ศ. 2528 ในระหว่างสอบสวนดำเนินคดี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 เนื่องจาก ถูกจับกุมที่ฮ่องกง ในฐานละเมิดกฎหมายว่าด้วยสารควบคุมของสหรัฐอเมริกา
โดยถูกกล่าวหาว่า จำหน่าย มีเฮโรอีนไว้เพื่อจำหน่าย และนำเฮโรอีนเข้าสหรัฐอเมริกา
ต่อมาศาลประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 ให้จำคุกพลตรี ถ. เป็นเวลา 365 เดือน ในความผิด ฐานละเมิดกฎหมายว่าด้วยสารควบคุมดังกล่าว โดยพลตรี ถ. ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากพ้นโทษ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558
กรมเสมียนตรา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อคดีถึงที่สุดและปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการได้กระทำผิดโดยคำพิพากษาของศาล จะตีความถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา) ด้วยหรือไม่ เนื่องจากตามแนวทาง การวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 276/2525 และเรื่องเสร็จที่ 562/2554 ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน
ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว จึงขอหารือในประเด็นข้อกฎหมาย ดังนี้
(1) คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา) ถือว่าเป็นกรณีคดีถึงที่สุด ที่สามารถนำมาใช้ดำเนินการตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหาร พักราชการ พ.ศ.2528 ได้หรือไม่
(2) หากไม่สามารถนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ได้ การที่ กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งให้ พลตรี ถ. พักราชการและออกคำสั่งให้ออกจากราชการ เนื่องจากรับราชการมาครบกำหนดเกษียณอายุราชการ โดยมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ นั้น กระทรวงกลาโหมยังสามารถดำเนินการตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหาร พักราชการ พ.ศ. 2528 เพื่อจะพิจารณากรณีมีมลทินหรือมัวหมอง ได้อีกหรือไม่
(3) หากนำผลคำพิพากษาตามข้อ (1) มาใช้ได้การที่กระทรวงกลาโหมออกคำสั่งให้ พลตรี ถ. ออกจากราชการ เนื่องจากรับราชการมาครบกำหนดเกษียณอายุราชการ โดยมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญนั้น กระทรวงกลาโหมยังสามารถดำเนินการตามข้อบังคับ กระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ. 2528 ข้อ 7.3.1 ได้อีกหรือไม่
ทั้งนี้ หากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมดังกล่าวได้ กระทรวงกลาโหมจะอาศัย ผลคำพิพากษาคดีนี้มาเป็นคำสั่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ได้หรือไม่
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาข้อหารือของ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่มีความสำคัญที่จะต้องมีการ พิจารณาโดยรอบคอบ เพื่อเป็นแนวบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการต่อไป จึงอาศัยอำนาจ ตามข้อ 12 วรรคหนึ่ง 1 แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการประชุมของกรรมการ กฤษฎีกา พ.ศ. 2522 จัดให้มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11 ) และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 13 ) เพื่อประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเป็นกรณีพิเศษ
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11 และคณะที่ 13 ) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมีผู้แทนกระทรวงกลาโหม (สำนักงาน ปลัดกระทรวงและกรมเสมียนตรา) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ผู้แทนกระทรวง การต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
ปรากฏ ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการชี้แจงของผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและผู้แทนสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติเกี่ยวกับยาเสพติดจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
1. อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 (The Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) และพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972 (The 1972 Protocol Amending the Single Convention on Narcotic Drugs, 1961)
2. อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต ประสาท ค.ศ. 1971 (The Convention on Psychotropic Substances, 1971)
3. อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต ประสาท ค.ศ. 1988 (The United Nations Convention against Illicit Traffic in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances, 1988)
โดยสาระสำคัญของอนุสัญญาทั้ง 3 ฉบับ มีขึ้นเพื่อกำหนดระบบควบคุมยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ กำหนดความผิด (offense) สำหรับการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในทุกรูปแบบ (criminalization) และถือบัญชียาเสพติดแนบท้ายอนุสัญญา เป็นสารที่ต้องถูกควบคุมตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศภาคีสมาชิก ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมบางข้อของอนุสัญญาให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในรูปแบบสนธิสัญญา และมีการตรากฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีของไทยหลายฉบับ เช่น
1. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
2. พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534
3. พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550
4. พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559
5. พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533
6. คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2559 เรื่อง มาตรการป้องกัน การลักลอบนําสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด ลงวันที่ 21 มิถุนายน พุทธศักราช 2559
นอกจากนั้น ยังมีความตกลงระหว่างประเทศในระดับพหุภาคีและระดับทวิภาคี เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในความผิดทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นการสืบสวนสอบสวน การแลกเปลี่ยนพยานหลักฐาน การยึด ค้น และการโอนตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา รวมทั้งการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะความตกลง ทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย ซึ่งจะมีทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา (สนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยความช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันทางอาญา ค.ศ. 1986) การส่งผู้ร้ายข้ามแดน (สนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่ง ราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ. 1983) และการโอน ตัวนักโทษ (สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1982)
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 11 และคณะที่ 13 ) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า โดยหลักแล้วคำพิพากษาของรัฐใดจะมีผลเฉพาะในเขต อธิปไตยของรัฐนั้น เว้นแต่มีกฎหมายหรือความตกลงระหว่างประเทศกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในเรื่องนี้ กฎหมายไทยได้กำหนดการรับผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศไว้ตัวอย่างเช่น
(1) มาตรา 102แห่งประมวลกฎหมายอาญา
(2) มาตรา 53แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ซึ่งให้นำมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ
(3) มาตรา 94แห่งพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551
(4) มาตรา 65แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527
นอกจากนั้น ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับ ยาเสพติด จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 (The Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) และพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาเดี่ยว ว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972 (2) อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต ประสาท ค.ศ. 1971 (The Convention on Psychotropic Substances, 1971) และ (3)อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้าน การลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต ประสาท ค.ศ. 1988 (The United Nations Convention against Illicit Traffic in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances, 1988) โดยอนุสัญญาทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดระดับระหว่างประเทศและในขณะเดียวกันประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้มีสนธิสัญญาระหว่างกัน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) สนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง สหรัฐอเมริกาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา ค.ศ. 1986 (2) สนธิสัญญาระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ. 1983 และ (3) สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1982 โดยมีสาระสำคัญเป็นการ ให้ความร่วมมือหรือความช่วยเหลือกันในการสืบสวนสอบสวน การแลกเปลี่ยนพยานหลักฐาน การยึด ค้น และการโอนตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ดังนั้น หากความผิดอาญาใดเป็นความผิด ที่ประเทศไทยจัดทำความตกลงระหว่างประเทศในระดับพหุภาคีและระดับทวิภาคีกับประเทศใดแล้ว และความผิดนั้นเป็นความผิดอาญาที่กฎหมายของประเทศนั้นและกฎหมายไทยกำหนดให้เป็นความผิด ฐานเดียวกันและกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้นไว้ก็สามารถรับผลของคำพิพากษา ของศาลต่างประเทศนั้นมาใช้ในประเทศไทยได้ โดยการรับผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ มาใช้ในประเทศไทยนั้นมีสองระดับ ได้แก่ (1) การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในฐานะ ข้อเท็จจริงที่มีผลในประเทศไทย และ (2) การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาบังคับโทษ ในประเทศไทย
กรณีตามข้อหารือนี้มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า จะถือว่าคำพิพากษาของศาล สหรัฐอเมริกาเป็นกรณีคดีถึงที่สุดที่สามารถนำมาใช้ดำเนินการตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วย การสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ. 2528 ได้หรือไม่ จึงจำเป็นต้องพิจารณากฎหมายไทย ทั้ง 3 ฉบับ ที่ตราขึ้นเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดประกอบด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า กฎหมายดังกล่าวได้วางหลักการ ในการยอมรับผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศไว้ ทั้งการฟ้องร้องและการรับโทษ ตามคำพิพากษาของศาลในความผิดอาญา
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงในกรณีนี้แตกต่างจากข้อเท็จจริง ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์และการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เรื่องเสร็จที่ 562/2554) โดยกรณีดังกล่าวเป็นการให้ความเห็นเกี่ยวกับการขอพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์และการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มิใช่ความผิดอาญาเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้น เมื่อกรณีนี้ได้มีคำพิพากษาของศาลสหรัฐอเมริกา ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายไทยทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวข้างต้นที่ตราขึ้นเพื่ออนุวัติการ ตามพันธกรณีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้วางหลักการในการยอมรับ ผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศไว้แล้ว ประกอบกับกระทรวงกลาโหมก็มีความเข้าใจ การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการทหารตามข้อบังคับดังกล่าวว่ารวมถึงผลของคำพิพากษาของศาล ต่างประเทศด้วยมาตั้งแต่ต้น จึงได้ออกคำสั่งพักราชการ พลตรี ถ. โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 56 แห่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการฯ ที่ให้อำนาจ ผู้บังคับบัญชาสั่งพักราชการข้าราชการทหารที่ถูกฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท และเมื่อกระทรวงกลาโหมสามารถสั่งพักราชการพลตรี ถ. เพราะเหตุที่ถูกฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติด ที่ศาลสหรัฐอเมริกามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษา และต่อมาได้มีการ ปล่อยตัวพลตรี ถ. และพลตรี ถ. ได้พ้นโทษแล้ว จึงถือได้ว่าคดีถึงที่สุด
คณะกรรมการ กฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11 และคณะที่ 13) จึงมีความเห็นว่า ข้อหารือนี้มิใช่ข้อหารือเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาแต่เป็นข้อหารือเรื่องวินัยทหาร และการพิจารณา ให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นกรณีที่ใช้ผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมารับฟัง เป็นพยานหลักฐานในฐานะข้อเท็จจริงในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการทหาร ซึ่งเป็น การรับฟังคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในฐานะข้อเท็จจริง มิใช่การรับคำพิพากษาของ ศาลต่างประเทศมาบังคับโทษในประเทศไทย
ดังนั้น ข้อความว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว” ตามข้อ 7 วรรคสอง แห่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ. 2528 จึงรวมถึงคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลสหรัฐอเมริกาด้วย
ประเด็นที่สอง เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า ผลของคำพิพากษา ของศาลสหรัฐอเมริกาสามารถนำมาใช้กับกรณีนี้ได้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้อีก
ประเด็นที่สาม เห็นว่า คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 201/2542 เรื่อง ให้นายทหาร ออกจากราชการ ลงวันที่ 15 มีนาคม 2542 เป็นเพียงการแจ้งให้ข้าราชการทหารที่จะครบ เกษียณอายุราชการได้ทราบล่วงหน้าและมีเวลาเตรียมตัวดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ก่อนจะถึง กำหนดสิ้นปีงบประมาณที่จะเกษียณอายุราชการเท่านั้น มิใช่คำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ ตามความเห็นของ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองที่ได้เคยให้ไว้แล้ว
ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า พลตรี ถ. ซึ่งเป็นผู้ถูกสั่งให้พักราชการได้กระทำความผิด ผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งให้ออกจาก ราชการตั้งแต่วันพักราชการ โดยไม่มีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญตามข้อ 7 วรรคสอง 7.3.1 ได้
(นายปกรณ์ นิลประพันธ์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตุลาคม 2563
ส่วนกรณีนี้ จะเทียบเคียงกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้หรือไม่
คงเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงทางกฎหมายให้สังคมคลายความกังขากันต่อไป (อีกครั้ง)
อ่านประกอบ :
รักษาอำนาจอธิปไตยไทย! ความเห็น‘ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ’ไฉนศาล รธน.ให้‘ธรรมนัส’ไปต่อ?
ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต.
‘ธรรมนัส’รอด! ศาล รธน.เอกฉันท์ชี้ไม่พ้น ส.ส.-รมต.เหตุคำพิพากษา ตปท.บังคับกับไทยไม่ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage