“...อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับในปัจจุบัน นอกเหนือจากเจ้าพนักงานที่กรมควบคุมโรคมอบหมายแล้ว ยังมอบหมายให้พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับเมื่อพบการกระทำผิด เฉพาะในท้องที่นั้น ๆ ด้วย ส่วนกรณีค่าปรับนั้น ถ้าเป็นการกระทำผิดครั้งแรกต้องถูกปรับ 6,000 บาท (กรณีที่นายกรัฐมนตรีโดนปรับ)…”
.........................................................
เงื่อนปมค่าปรับบุคคลที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย (แมสก์) หรือหน้ากากผ้า ตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ โดยอ้างถึง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำลังสร้างความสับสนให้กับคนในสังคมอย่างมาก
เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เดินทางมาปรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กรณีประชุมร่วมกับทีมที่ปรึกษาในทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ได้แมสก์ ตามประกาศกรุงเทพมหานคร โดยสั่งปรับเป็นอัตราขั้นต่ำ 6,000 บาท เนื่องจากเป็นการกระทำผิดครั้งแรก ตามระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับ พ.ศ. 2563 (อ่านประกอบ : สั่งปรับ 6 พันบาท! 'บิ๊กตู่'ไม่สวมหน้ากากขณะประชุม ฝ่าฝืนประกาศ กทม.)
แต่ประเด็นนี้อาจสร้างความสับสนให้ประชาชนไม่น้อย เพราะเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สภ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เปรียบเทียบปรับพ่อค้าแม่ค้าขายของในตลาดสดแห่งหนึ่ง ข้อหาไม่สวมหน้ากากอนามัย เป็นเงิน 500 บาท อย่างไรก็ดีกรณีดังกล่าว พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 (ผบช.ภ.1) แถลงชี้แจงว่า กรณีนี้ต้องปรับอัตราขั้นต่ำเป็นเงิน 6,000 จึงมีคำสั่งเพิกถอนการเปรียบเทียบปรับดังกล่าว และจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับขั้นต่ำ 6,000 บาท อย่างไรก็ดีผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอม ขอให้ส่งสำนวนไปยังชั้นศาลเพื่อพิจารณาว่า ต้องจ่ายค่าปรับดังกล่าวเท่าไหร่ (อ่านประกอบ : คดีไม่สวมแมสก์ต้องส่งศาลพิจารณา! ผบช.ภ.1 เพิกถอนค่าปรับแล้ว-ผบ.ตร.ลั่นห้ามฉวยโอกาส)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตกลงแล้วพนักงานสอบสวนตำรวจ มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับหรือไม่ หรือต้องส่งฟ้องศาลเพื่อให้พิจารณากันแน่?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องมานำเสนอให้ทราบ ดังนี้
พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอำนาจที่จะดำเนินการเอง หรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการ โดยแบ่งเป็น 8 อนุมาตรา เช่น ผู้มีความเสี่ยง หรือสัมผัสโรคเป็นพาหะ ต้องมารับการตรวจหรือรักษา ผู้มีความเสี่ยงต้องปรับปรุงการสุขาภิบาลให้ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น
ส่วนมาตรา 51 เป็นบทกำหนดโทษ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 ดังกล่าว หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 นายโอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ขณะนั้น) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ออกคำสั่งกรมควบคุมโรคที่ 1746/2563 เรื่อง การมอบหมายให้มีอำนาจเปรียบเทียบความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยมอบหมายให้พนักงานสอบสวน เป็นผู้มีอำนาจเปรียบเทียบความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ได้เฉพาะในเขตท้องที่ที่ตนมีอำนาจดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ
ขณะที่ระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ.ศ. 2563 ข้อ 5 กำหนดว่า เมื่อผู้มีอำนาจเปรียบเทียบเปรับได้รับเรื่องจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคว่า มีการกระทำผิดเกิดขึ้น และพิจารณาแล้วเห็นว่าควรมีการเปรียบเทียบ ให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบเรียกหรือแจ้งให้ผู้ต้องหามาดำเนินการเปรียบเทียบตามแบบ รต.02 ท้ายระเบียบ โดยแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบในข้อหากระทำผิด วัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ และชี้แจงให้ผู้ต้องหาเข้าใจถึงความผิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นคดีที่สามารถดำเนินการเปรียบเทียบปรับได้ ในกรณีที่ผู้ต้องหารับสารภาพและยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้บันทึกถ้อยคำของผู้ต้องหาไว้แบบ รต.03 กรณีผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาไว้แบบ รต.04 และดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6
โดยข้อ 6 คือการให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับส่งเรื่องคืนแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเจ้าของเรื่อง เพื่อส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป เช่น การไม่มีอำนาจเปรียบเทียบ การกระทำนั้นไม่ผิดตามข้อกล่าวหา ไม่สมควรเปรียบเทียบเพราะกระทำผิดตามข้อหาเดิมซ้ำเกินตามจำนวนที่กำหนด หรือผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบ เป็นต้น
ขณะที่ข้อ 8 กำหนดให้กรณีมีเหตุผลพิเศษอันควรแก่การพิจารณาลดจำนวนเงินค่าปรับ ให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบสามารถกำหนดจำนวนเงินค่าปรับแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ตามอัตราในบัญชีท้ายระเบียบนี้ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนเงินค่าปรับ
เหตุผลพิเศษตามความในวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ความเสียหายที่ได้รับหรือผลกระทบต่อประชาชนหรือสังคมโดยรวม ตลอดจนอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ อาชีพ ขนาดลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจ หรือสถานประกอบการ และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ของผู้ต้องหาประกอบด้วย
สำหรับบัญชีอัตราการเปรียบเทียบแนบท้ายระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติฯ ฉบับดังกล่าว กำหนดว่าหากกระทำผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยอัตราค่าปรับกำหนดให้เปรียบเทียบคือ หากผิดตามมาตรา 35 (5) หรือ (6) ปรับครั้งแรก 6,000 บาท ปรับครั้งที่สอง 12,000 บาท และครั้งที่สามเป็นต้นไป 20,000 บาท
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับในปัจจุบัน นอกเหนือจากเจ้าพนักงานที่กรมควบคุมโรคมอบหมายแล้ว ยังมอบหมายให้พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับเมื่อพบการกระทำผิด เฉพาะในท้องที่นั้น ๆ ด้วย
ส่วนกรณีค่าปรับนั้น ถ้าเป็นการกระทำผิดครั้งแรกต้องถูกปรับ 6,000 บาท (กรณีที่นายกรัฐมนตรีโดนปรับ) หรือกรณีมีเหตุผลพิเศษอันควรแก่การพิจารณาลดจำนวนเงินค่าปรับ ต้องปรับไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของค่าปรับทั้งหมด (หรือประมาณ 6,666 บาท)
อย่างไรก็ดีหากผู้ต้องหาไม่เห็นพ้องกับค่าปรับนั้นด้วย พนักงานสอบสวนต้องส่งเรื่องคืนเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป
ประเด็นนี้สำคัญ เพราะผู้พิพากษาที่จะพิจารณาในชั้นศาล มิได้มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หรือตามระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ดังนั้นจึงสามารถใช้ ‘ดุลพินิจ’ พิจารณาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย จะต้องเสียค่าปรับเท่าไหร่?
ยกกรณีตัวอย่างตามที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอไปแล้วคือ กรณี 2 นักศึกษากระทำผิดเมื่อปี 2563 ขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ศาลกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 สั่งปรับคนละ 1,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสอง เป็นนักศึกษา ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน จึงสมควรลดอัตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือปรับคนละ 500 บาท (อ่านประกอบ : อุทธรณ์พิพากษากลับ! ปรับ 2 นศ. คนละ 500 บ.ไม่สวมแมสก์ออกจากบ้านโควิดฯระบาดปี 63)
อย่างไรก็ดีกรณีที่ศาลมีคำสั่งปรับดังกล่าวนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งเป็นคนละบริบทกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยระลอกใหม่รุนแรงอย่างมาก?
โดยสรุป พนักงานสอบสวน ตร. มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย แต่ถ้าหากผู้ต้องหาไม่เห็นพ้องด้วย สามารถส่งเรื่องไปสู้ต่อในชั้นศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาได้นั่นเอง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage