ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษากลับ! สั่งปรับ 2 นศ.ขับจักรยานยนต์ไม่สวมแมสก์ออกจากบ้าน ช่วงโควิด-19 ระบาดปี 63 คนละ 1,000 บาท ชี้คำสั่งผู้ว่าฯศรีสะเกษให้สวมแมสก์ชอบด้วยกฎหมาย ยังอยู่ในวัยเรียน-รับสารภาพ ลดโทษเหลือปรับคนละ 500 บาท
..........................................................
จากกรณีเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563 ศาลจังหวัดกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ พิพากษายกฟ้องจำเลย ในฐานความผิกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไปโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถานหรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ใด ๆ โดยศาลเห็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อนั้น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6) กำหนดแต่เพียงว่า ห้ามมิให้ผู้กระทำการใด ๆ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป โดยไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งกำหนดการกระทำการเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติให้บุคคลจะต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายนี้ใช้ในการกระทำความผิดและกำหนดโทษไว้ เมื่อการไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากเคหสถานไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามและกำหนดโทษไว้ ประกอบกับลำพังเพียงแต่การไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากเคหสถานโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นประกอบ ไม่น่าจะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง ต่อมาฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์นั้น (อ่านประกอบ : ยกฟ้องจำเลยไม่สวมหน้ากากอนามัยออกนอกบ้าน ชี้ไร้กฎหมายห้าม-ไม่เป็นเหตุแพร่โรค)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยสั่งปรับจำเลยทั้ง 2 เนื่องจากมีความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคตามฟ้อง
โดยศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ตรวจประชุมปรึกษากันแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 2 เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษที่ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งก่อนออกนอกเคหสถานหรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ใด ๆ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และข้อกำหนดในมาตรา 9 ของประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ โดยในข้อกำหนดดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ผู้ร่วมงาน ผู้ร่วมกิจกรรม ลูกจ้าง ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง (6) ห้ามผู้ใดกระทำการหรือกระทำการใด ๆ อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป
โดยตามบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์ มีใจความว่า สถานการณ์ปัจจุบัน (ขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2563) มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายประเทศ รวมถึงไทยในหลายจังหวัด รวมถึงจังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตราย มีความรุนแรงสูง และสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ติดเชื้อและถึงแก่ความตายจำนวนมาก ต่อมาผู้ว่าฯศรีสะเกษออกคำสั่งที่ 1485/2563 เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถานหรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ใด ๆ ดังนั้นผู้ว่าฯจึงเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และตามข้อกำหนดในมาตรา 9 ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การออกคำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้การออกคำสั่งห้ามกระทำการหรือดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมหมายความรวมถึงการงดเว้นการกระทำด้วย คำสั่งของผู้ว่าฯศรีสะเกษที่ให้ประชานในพื้นที่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถาน ย่อมมีความหมายทำนองเดียวกันกับการห้ามประชาชนในพื้นที่ออกจากเคหสถานโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อจากสถานการณ์โควิด-19
ส่วนที่จำเลยทั้ง 2 ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าออกจากเคหสถาน จะเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่หลายประเทศ รวมถึงไทยในหลายจังหวัด โรคติดเชื้อดังกล่าวเป็นโรคติดต่อกันได้ง่าย สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ และจังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นที่โรคติดต่ออันตราย หรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตราย ทั้งอยู่ในช่วงเวลาเกิดการแพร่ระบาดของโรค จำเลยทั้ง 2 ออกนอกเคหสถานโดยขับรถจักรยานยนต์ไปตาม ถ.สายกันทรลักษณ์-กันทรารมย์ โดยไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถาน การกระทำของจำเลยทั้ง 2 จึงเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้ง 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), 51 ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้ง 2 อายุ 18 ปีเศษ และเป็นนักศึกษา ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน สมควรลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยทั้ง 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage