"....ที่น่าสนใจ ก็คือ กลุ่มที่ 4 นางอรัญญา อุปัติสิงห์ และ บริษัท ที.แอล เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่พิจารณาจากข้อมูลมีสถานะเป็นเพียง "ผู้รับจ้างขนไม้" เข้ามายังประเทศไทย ไม่ใช่ "ผู้ว่าจ้าง" ที่น่าจะมีสถานะเป็นเจ้าของไม้ตัวจริงมากกว่า ทำไมถึงได้ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ในการครอบครองไม้พะยูงของกลางจำนวนนี้ด้วย? ..."
.........................
ประเด็นตรวจสอบกรณีไม้พะยูงจำนวนกว่า 11 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 1,664 ท่อน 155 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ที่อ้างว่าถูกนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และถูกยึดไว้ที่สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง (ด่านลาดกระบัง) เมื่อปี พ.ศ.2549 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการนำไม้ดังกล่าวส่งคืนให้กับ สปป.ลาวแต่อย่างใด ทั้งที่เมื่อปี 2556 กระทรวงการต่างประเทศได้มีมติเตรียมจะคืนไม้ของกลางทั้งหมดให้กับรัฐบาล สปป.ลาว เรียบร้อยแล้ว
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้นั้น
ความเคลื่อนไหวล่าสุด คือ ข้อมูลสำคัญที่นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร ตัวแทนกรมศุลกากร ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบันมีบุคคล/นิติบุคคล ยื่นหนังสือต่อกรมศุลกากรเพื่ออ้างสิทธิในการดําเนินการเกี่ยวกับไม้ของกลางดังกล่าว เป็นจำนวนมากถึง 7 ราย ประกอบไปด้วย 1. นายสอนแก้ว สิทธิไช อ้างว่า เป็นกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนวิสาหกิจส่วนบุคคล โรงเลื่อยพงสะหวัน 2. บุคคลที่เคยติดต่อกับสำนักข่าวอิศราก่อนหน้านี้ โดยอ้างตัวว่าได้รับมอบอํานาจจากผู้อํานวยการบริษัท วิสาหกิจ ส่วนบุคคล พงสะหวัน อุตสาหกรรมไม้ จํากัด 3. บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จํากัด ผู้ดําเนินการพิธีการศุลกากรผ่านแดน 4. นายสมสัก แก้วผาลี อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอํานาจจาก สปป.ลาว 5. บจก. ที่ปรึกษาทางกฎหมายซึ่งทำหน้าที่เป็น ทนายความผู้รับมอบอํานาจของบุคคลที่อยู่ในข้อ 2 6. นางสาวิตรี นันทภิวัฒน์ อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอํานาจจากวิสาหกิจส่วนบุคคลพงสะหวัน อุตสาหกรรมไม้ และ 7. นายสุเทพ อุ่นศรี ทนายความผู้รับมอบอํานาจจาก นางอรัญญา อุปัติสิงห์ ผู้ประกอบ กิจการนําเข้าไม้จากลาว
แต่ปัจจุบัน กรมศุลกากร ยังไม่สามารถปล่อยไม้ของกลางจำนวนนี้ให้แก่ใครได้ เนื่องจากต้องการรับทราบความชัดเจนว่า ใครคือเจ้าของไม้ตัวจริง
นอกจากนี้ กรมศุลกากร ยังได้มีหนังสือถึงกรมเอเชียตะวันออก เพื่อขอความอนุเคราะห์กรมเอเชียตะวันออก แจ้งไปยังสถานทูตลาวในการประสานรัฐบาล สปป.ลาว ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการผ่านแดน และเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง และกรมศุลกากรต้องรอผลการพิจารณาจากกองบังคับการปราบปราม การกระทําผิดเกี่ยวกับทรัพยากรฯ กรณีนางสาวิตรี ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและชี้แจงข้อเท็จจริง ในประเด็นการปลอมเอกสารมอบอํานาจกระทําการแทนบริษัท Phongsavanh Wood Industry และ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งมายังกรมศุลกากรว่า นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับ สปป.ลาว เพื่อแจ้งความคืบหน้าของคดีไม้พะยูงของกลาง จํานวน 11 ตู้คอนเทนเนอร์ ให้นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว พร้อมขอทราบแนวทางการดําเนินการในเรื่องดังกล่าวจากนายกรัฐมนตรี สปป ลาว ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรได้มีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงบัญชา นายกรัฐมนตรีแล้ว
(อ่านประกอบ : มีคนอ้างสิทธิ์เพียบ 7 ราย! กรมศุลฯ เปิดข้อมูลศึกชิงไม้พะยูง 200 ล. ใครเจ้าของตัวจริง?)
ผลการดำเนินงานส่วนนี้เป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานของ นางสาวิตรี นันทวิวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจจากนายสอนแก้ว สิดทิไชเพื่อให้ติดตามคืนของกลางให้กับบริษัท ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสำนักข่าวอิศรา เกี่ยวกับ บุคคล 2 กลุ่มใหม่ ที่อ้างสิทธิ์ขอคืนไม้ คือ บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จํากัด และนายสุเทพ อุ่นศรี ทนายความผู้รับมอบอํานาจจาก นางอรัญญา อุปัติสิงห์ ผู้ประกอบ กิจการนําเข้าไม้จากลาว
ระบุว่า ที่ผ่านมานั้น นางอรัญญามีบทบาทเป็นผู้ที่ดำเนินการขนไม้มาจาก สปป.ลาว ข้ามฝั่งมายังประเทศไทย และต่อมานางอรัญญาก็ได้มีการจ้างงานบริษัท ที.แอล เอ็นเตอร์ไพรส์ให้รับผิดชอบในการนำไม้ไปยังท่าเรือของประเทศไทย ผ่านทางด่านกรมศุลกากรลาดกระบัง เพื่อจะส่งไม้ไปขายให้กับทางลูกค้าของบริษัทที่มาจากประเทศจีนต่อไป เพราะว่า สปป.ลาวนั้นไม่ใช่ประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเลจึงต้องอาศัยท่าเรือของประเทศไทย แต่ส่วนตัวแล้วก็เพิ่งทราบจากข่าวสำนักข่าวอิศราเหมือนกันว่าทางนางอรัญญาเขาก็มาขอคืนไม้ด้วย
เมื่อสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 4 มิถุนายน 2534 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 216/35 อาคารแอลพีเอ็นทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนนางลิ้นจี่ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าภายในประเทศ ปรากฎชื่อ นาย จิตรชัย บวรโชคชัย และ นาย สุภชัย หนุนภักดี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาง เตือนจิต ไกรสรรณ์ ถือหุ้นใหญ่ ณ 29 กรกฎาคม 2563
ส่วนนางอรัญญา อุปัติสิงห์ พบบุคคลที่มีชื่อและนามสกุลตรงกัน ในฐานข้อมูลออนไลน์ว่า เป็นเจ้าของธุรกิจหลายแห่ง และเคยมีตำแหน่งเป็นหอการค้าจังหวัดมุกดาหารด้วย
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลของ คณะทำงานนางสาวิตรี นันทวิวัฒน์ เกี่ยวกับ บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จํากัด และนายสุเทพ อุ่นศรี ทนายความผู้รับมอบอํานาจจาก นางอรัญญา อุปัติสิงห์ ทำให้สามารถจำแนกแบ่งกลุ่มตามความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคล 7 ราย ที่อ้างสิทธิ์การครอบครองไม้พะยูงดังกล่าวออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้ดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1 คือ นายสมสัก แก้วผาลี ซึ่งอ้างว่า เป็นตัวแทนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการติดตามทวงถามไม้พะยูงจำนวนกว่า 11 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 1,664 ท่อน 155 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทพงสะหวัน ยืนยันว่า ทางรัฐบาลลาวไม่ได้มีการติดใจเอาความอะไรเกี่ยวกับการนำไม้จำนวน 11 ตู้คอนเทนเนอร์คืนดังกล่าวแล้ว พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา มีความพยายามจากคนบางกลุ่มทั้งในส่วนลาวและไทย พยายามที่จะหาวิธีการครอบครองไม้จำนวน 11 ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวเอง แต่ทาง ปทส. ก็ได้มีการสอบสวนจนชัดเจนแล้วว่าไม้นั้นเป็นไม้ของบริษัทพงสะหวันจริง และยืนยันว่า ผลจากการที่มีบุคคลไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน รวมไปถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและก็กรมศุลกากรด้วย ทำให้เกิดปัญหาที่บริษัทพงสะหวันยังไม่สามารถที่จะนำไม้ออกจากด่านกรมศุลกากรได้ และทางบริษัทได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรมในเรื่องเหล่านี้แล้ว
กลุ่มที่ 3 คือ นายสอนแก้ว สิดทิไช กรรมการวิสาหกิจส่วนบุคคล บริษัท พงสะหวันอุตสาหกรรมไม้ โดยนายสอนแก้ว ยืนยันว่าไม้นั้นเป็นของบริษัทพงสะหวัน จริง หลังจากที่ทางบริษัทได้เคยทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐบาล สปป.ลาว จนกระทั่งได้ข้อพิสูจน์ยืนยันไม้พะยูงกองดังกล่าวนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทพงสะหวัน ซึ่งบริษัทพงสะหวันได้ให้นายสอนแก้วเป็นผู้ประสานงานเพื่อจะนำไม้คืนให้กับบริษัทแค่คนเดียวเท่านั้น และไม่ได้มีการแต่งตั้งบุคคลกลุ่มที่ 2 ให้ดำเนินการเรื่องไม้แต่อย่างใด
และกลุ่มที่ 4 คือ นางอรัญญา อุปัติสิงห์ ผู้ประกอบ กิจการนําเข้าไม้จากลาว ที่ทำหน้าที่รับจ้างขนไม้จากประเทศลาวเข้ามายังประเทศไทย และ บริษัท ที.แอล เอ็นเตอร์ไพรส์ ในฐานะผู้ที่ดำเนินการขนไม้ไปยังท่าเรือในประเทศไทย
ที่น่าสนใจ ก็คือ กลุ่มที่ 4 นางอรัญญา อุปัติสิงห์ และ บริษัท ที.แอล เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่พิจารณาจากข้อมูลมีสถานะเป็นเพียง "ผู้รับจ้างขนไม้" เข้ามายังประเทศไทย ไม่ใช่ "ผู้ว่าจ้าง" ที่น่าจะมีสถานะเป็นเจ้าของไม้ตัวจริงมากกว่า
ทำไมถึงได้ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ในการครอบครองไม้พะยูงของกลางจำนวนนี้ด้วย?
ยิ่งทำให้เรื่องนี้ มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
อ่านประกอบ:
อ้างตัวแทน สปป.ลาว ตามทวงคืนไม้พะยูง 200 ล.โดนยึดปี 49-ผู้การ ปทส.ยันคืนให้บริษัทแล้ว
ศึกชิงไม้พะยูงของกลาง 200 ล.ระอุ! คนกลุ่ม 3 โผล่ อ้างเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริง
ปมคืนไม้พะยูงของกลาง 200 ล.วุ่น! บ.ลาว อ้างมีคนหวังฮุบ ยื่นสำนักนายกฯ ขอความเป็นธรรม
ร้องผู้ตรวจการฯ สางปมศึกชิงไม้พะยูง 200 ล.- จี้ ปทส.แจงหลักเกณฑ์คืนของกลาง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage