"...เนื่องจากว่ามีผู้ที่มาแสดงกรรมสิทธิ์กันเยอะมาก ดังนั้นการตัดสินใจคืนไม้จะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ถ้าหากคืนไม้ให้กับบุคคลผิดคนจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ จึงเป็นเหตุให้ทางกรมศุลกากรได้ประสานข้อมูลไปยังกรมเอเชียตะวันออก เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจ้าของไม้พะยูงกองดังกล่าว โดยได้มีการทำหนังสือไปยังกรมเอเชียตะวันออกแล้วตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา..."
......................
ประเด็นตรวจสอบกรณีไม้พะยูงจำนวนกว่า 11 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 1,664 ท่อน 155 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ที่อ้างว่าถูกนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และถูกยึดไว้ที่สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง (ด่านลาดกระบัง) เมื่อปี พ.ศ.2549 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการนำไม้ดังกล่าวส่งคืนให้กับ สปป.ลาวแต่อย่างใด ทั้งที่เมื่อปี 2556 กระทรวงการต่างประเทศได้มีมติเตรียมจะคืนไม้ของกลางทั้งหมดให้กับรัฐบาล สปป.ลาว เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลอย่างน้อย 3 กลุ่ม อ้างสิทธิ์ขอคืนไม้พะยูงของกลางดังกล่าว
(อ่านประกอบ : ร้องผู้ตรวจการฯ สางปมศึกชิงไม้พะยูง 200 ล.- จี้ ปทส.แจงหลักเกณฑ์คืนของกลาง, ศึกชิงไม้พะยูงของกลาง 200 ล.ระอุ! คนกลุ่ม 3 โผล่ อ้างเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริง)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการชี้แจงข้อมูลจากกรมศุลกากร ถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ และได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ปัจจุบันมีบุคคล/นิติบุคคล ยื่นหนังสือต่อกรมศุลกากรเพื่ออ้างสิทธิในการดําเนินการเกี่ยวกับไม้ของกลางดังกล่าว เป็นจำนวนมากถึง 7 ราย
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยภายหลังจาก ในช่วงปลายเดือน ก.พ.2564 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อขอให้ชี้แจงข้อมูลในส่วนของกรมศุลกากรที่เกี่ยวกับปัญหาไม้พะยูงของกลางดังกล่าว ใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1.ไม้ 11 ตู้คอนเทนเนอร์นี้มีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร 2.มีใครมีแสดงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของไม้นี้แล้วบ้าง 3.ณ เวลานี้ ทำไมยังไม่สามารถจะปล่อยไม้ออกไปได้ มีประเด็นอะไรที่ต้องพิจารณาต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
เบื้องต้น อธิบดีกรมศุลกากรได้มอบหมายให้นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลเรื่องไม้กองดังกล่าว เป็นผู้ตอบคำถามสำนักข่าวอิศรา
อ้างอิงรูปภาพจาก http://www1.mof.go.th/vayupak/inc_news_detail.php?id=9313
โดยนายชูชัย ได้จัดทำเอกสารเพื่อตอบคำถามสำนักข่าวอิศรา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่ตํารวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ สถานทูตลาวประจําประเทศไทย ผู้ขนส่งสินค้าผ่านแดน และเจ้าของตู้สินค้า รวมกันตรวจสอบไม้พะยูง ผ่านแดนบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ จํานวน 11 ตู้ ที่อยู่ในอารักขาของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ตามที่ได้รับแจ้งขออายัด จากสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดมุกดาหาร
เบื้องต้น ไม่พบตรา ปมล. ซึ่งเป็น ตราป่าไม้ของลาว พบเพียงตราอักษร ต ซึ่งเป็นตราป่าไม้ของไทยประทับไว้เพียงบางท่อน จึงสันนิษฐานว่า ไม้ดังกล่าวถูกลักลอบตัดในไทย และปลอมใบอนุญาตผ่านแดน
ต่อมา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 สํานักงาน อัยการฯ (พระโขนง) แจ้งคําสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเพราะพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง โดยไม่ได้ขอให้ศาลริบไม้ ของกลาง แต่แจ้งกองบังคับการปราบปรามการกระทําผิดเกี่ยวกับทรัพยากรฯ จัดการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85
อย่างไรก็ดี กรมป่าไม้ได้รื้อฟื้นคดี เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ โดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลย ในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม
สํานักงานอัยการสูงสุด (อสส.) จึงแจ้งให้ด่านศุลกากรเก็บรักษาไม้ไว้ จนกว่าคดีอาญาจะถึงที่สุด
2. ผู้แสดงกรรมสิทธิ์
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ศาลฎีกาได้มีคําพิพากษาแล้ว แต่มิได้มีคําสั่งเกี่ยวกับไม้ของกลางแต่อย่างใด
จนเป็นเหตุให้มีบุคคล/นิติบุคคล ยื่นหนังสือต่อกรมศุลกากรเพื่ออ้างสิทธิ์ในการดําเนินการเกี่ยวกับไม้ของกลางดังกล่าว จำนวน 7 ราย ดังนี้
1. นายสอนแก้ว สิทธิไช อ้างว่า เป็นกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนวิสาหกิจส่วนบุคคล โรงเลื่อยพงสะหวัน
2. บุคคลที่เคยติดต่อกับสำนักข่าวอิศราก่อนหน้านี้ โดยอ้างตัวว่าได้รับมอบอํานาจจากผู้อํานวยการบริษัท วิสาหกิจ ส่วนบุคคล พงสะหวัน อุตสาหกรรมไม้ จํากัด
3. บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จํากัด ผู้ดําเนินการพิธีการศุลกากรผ่านแดน
4. นายสมสัก แก้วผาลี อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอํานาจจาก สปป.ลาว
5. บจก. ที่ปรึกษาทางกฎหมายซึ่งทำหน้าที่เป็น ทนายความผู้รับมอบอํานาจของบุคคลที่อยู่ในข้อ 2
6. นางสาวิตรี นันทภิวัฒน์ อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอํานาจจากวิสาหกิจส่วนบุคคลพงสะหวัน อุตสาหกรรมไม้
7. นายสุเทพ อุ่นศรี ทนายความผู้รับมอบอํานาจจาก นางอรัญญา อุปัติสิงห์ ผู้ประกอบ กิจการนําเข้าไม้จากลาว
3. สาเหตุที่ยังไม่สามารถปล่อยไม้ได้
กรมศุลกากร มีหนังสือถึงกรมเอเชียตะวันออก เพื่อขอความอนุเคราะห์กรมเอเชียตะวันออก แจ้งไปยังสถานทูตลาวในการประสานรัฐบาล สปป.ลาว ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการผ่านแดน และเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง และกรมศุลกากรต้องรอผลการพิจารณาจากกองบังคับการปราบปราม การกระทําผิดเกี่ยวกับทรัพยากรฯ กรณีนางสาวิตรี ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและชี้แจงข้อเท็จจริง ในประเด็นการปลอมเอกสารมอบอํานาจกระทําการแทนบริษัท Phongsavanh Wood Industry
อีกทั้ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งมายังกรมศุลกากรว่า นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับ สปป.ลาว เพื่อแจ้งความคืบหน้าของคดีไม้พะยูงของกลาง จํานวน 11 ตู้คอนเทนเนอร์ ให้นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว พร้อมขอทราบแนวทางการดําเนินการในเรื่องดังกล่าวจากนายกรัฐมนตรี สปป ลาว ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรได้มีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงบัญชา นายกรัฐมนตรีแล้ว
ดังนั้น กรมศุลกากรจึงต้องรอผลการพิจารณาจากทั้งสามหน่วยงานให้เป็นที่ยุติเสียก่อน (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่ นายชูชัย กล่าวทิ้งท้ายกับสำนักข่าวอิศราว่า ประเด็นเรื่องไม้พะยูงนั้น เนื่องจากว่ามีผู้ที่มาแสดงกรรมสิทธิ์กันเยอะมาก ดังนั้นการตัดสินใจคืนไม้จะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ถ้าหากคืนไม้ให้กับบุคคลผิดคนจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ จึงเป็นเหตุให้ทางกรมศุลกากรได้ประสานข้อมูลไปยังกรมเอเชียตะวันออก เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจ้าของไม้พะยูงกองดังกล่าว โดยได้มีการทำหนังสือไปยังกรมเอเชียตะวันออกแล้วตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี่เป็นความคืบหน้าล่าสุด คดีศึกชิงไม้พะยูงของกลางมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อ่านประกอบ:
ร้องผู้ตรวจการฯ สางปมศึกชิงไม้พะยูง 200 ล.- จี้ ปทส.แจงหลักเกณฑ์คืนของกลาง
ปมคืนไม้พะยูงของกลาง 200 ล.วุ่น! บ.ลาว อ้างมีคนหวังฮุบ ยื่นสำนักนายกฯ ขอความเป็นธรรม
อ้างตัวแทน สปป.ลาว ตามทวงคืนไม้พะยูง 200 ล.โดนยึดปี 49-ผู้การ ปทส.ยันคืนให้บริษัทแล้ว
ศึกชิงไม้พะยูงของกลาง 200 ล.ระอุ! คนกลุ่ม 3 โผล่ อ้างเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage