“...ถ้อยแถลงจากโฆษก อสส. นำไปสู่ประเด็นสำคัญว่า เมื่อนายสกุลธร ทราบแล้วว่าอาจมีการโกงเกิดขึ้น และมีการเรียกเงินคืนแล้วเบื้องต้น 7 ล้านบาท จากยอด 20 ล้านบาท เหตุใดจึงไม่มีการนำประเด็นนี้ ไปฟ้องต่อศาลเพื่อเอาผิดคดีฉ้อโกงเพื่อเรียกเงินที่เหลือคืนอีก 13 ล้านบาท?...”
............................
ยังเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง!
กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท 76/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อท 228/2562 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา สั่งลงโทษจำคุก อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) และตัวกลางผู้ประสานงาน กรณีปลอมเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯเรื่องสิทธิการให้เช่าที่ดิน และกรณีรับสินบนจากนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด อย่างน้อย 3 ครั้ง 20 ล้านบาท (อ่านประกอบ : กาง กม.-ไขเบื้องหลัง? ไฉนไร้ชื่อ‘สกุลธร’ เป็นจำเลยคดี จนท.สนง.ทรัพย์สินฯรับสินบน 20 ล.)
ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคมว่า เหตุใดตำรวจ-อัยการจึงส่งฟ้องผู้ต้องหาแค่ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ และตัวกลางผู้ประสานงาน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ส่วนนายสกุลธร กลับไม่ปรากฏชื่ออยู่ในสำนวนแต่อย่างใด?
ร้อนถึงกองบังคับปราบปราม (บก.ป.) คอนเฟิร์มว่า คดีนี้มีการแยกสำนวนออกเป็น 2 ส่วน คือ สำนวน ‘ผู้รับสินบน’ ที่ บก.ป. สอบสวนจนพยานหลักฐานชัดเจนแล้วว่ามีการรับเงินสินบนจริง จึงเรียกสำนักงานทรัพย์สินฯมาแจ้งความ ก่อนมีความเห็นควรสั่งฟ้องให้อัยการ เพื่อดำเนินการส่งฟ้องศาล และศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว ส่วนสำนวน ‘ผู้ให้สินบน’ บก.ป. กำลังดำเนินการสอบสวนอยู่ เพื่อสาวให้ถึง ‘ตัวการ’ ในการกระทำความผิดกรณีนี้ (อ่านประกอบ : ผบก.ป.ยันแยกสอบ 2 สำนวนทั้ง‘ผู้ให้-ผู้รับ’คดี จนท.สนง.ทรัพย์สินรับสินบนจาก‘สกุลธร’)
สอดคล้องกับการแถลงข่าวของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ถึงกรณีนี้ว่า บก.ป.ประสงค์แยกสำนวนการสอบสวนออกเป็น 2 สำนวน (อ่านประกอบ : อสส.แจงไม่มีอำนาจฟ้อง'สกุลธร' รายงานการสอบสวน ตร.ประสงค์แยกสำนวนคดีอยู่แล้ว)
ประเด็นที่น่าสนใจในคำพิพากษาคดีนี้ จำนวน 12 หน้า ปรากฏใจความสำคัญอยู่ในหน้า 9 ที่บรรยายพฤติการณ์ ‘รับสินบน’ ระหว่างอดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ และตัวกลางผู้ประสานงาน กับนายสกุลธร และบริษัท เรียลแอสเสทฯ ?
คำพิพากษาหน้า 9 ตอนหนึ่ง ระบุว่า จำเลยที่ 1 (อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ) และจำเลยที่ 2 ไปแจ้งต่อนายสกุลธร ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรียลแอสเสทฯ ว่า ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ บริเวณที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) กำลังจะหมดสัญญาเช่า และจะเปิดให้ผู้สนใจมาลงทุนพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าว โดยจะมีการทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินฯระยะยาว
เมื่อนายสกุลธร เชื่อว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ มีที่ดินแปลงดังกล่าวให้เช่าจริง จึงให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการติดต่อประสานงาน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีค่าตอบแทนจำนวน 500 ล้านบาท จากนั้นจำเลยทั้ง 2 ได้ร่วมกันกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 1 ได้แนะนำให้นายสกุลธร ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเช่าที่ดินต่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ตามช่องทางปกติ แล้วจำเลยทั้ง 2 ร่วมกันเรียกรับเงินจากนายสกุลธร รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 20 ล้านบาท (ดูเอกสารประกอบ)
ประเด็นที่น่าสนใจข้างต้น แหล่งข่าวจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม อธิบายสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีนี้ว่า ในคำพิพากษาที่เขียนถึงตอนที่นายสกุลธรให้จำเลยที่ 2 ติดต่อประสานงาน และอำนวยความสะดวกโดยมีค่าตอบแทนจำนวน 500 ล้านบาทนั้น ในทางกฎหมายอาจหมายถึงสัญญา ‘ค่านายหน้า’ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็น ‘นายหน้า’ และเอกสารสัญญาจ้างนายหน้านี้ น่าจะอยู่ในสำนวนการสอบสวนของ บก.ป.
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า เงินสัญญาจะให้ 500 ล้านบาทดังกล่าว หากเป็นสัญญาจ้างนายหน้าทำงาน เพื่อให้บริษัท เรียลแอสเสทฯ เพื่อให้บริษัทเป็นผู้เช่าตรงจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ใช่สัญญาจะมอบเงินให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ส่วนข้อตกลงราคาเช่าเท่าไหร่ ยังไม่ได้กำหนด เพราะขึ้นอยู่กับระยะเวลา
“ยกตัวอย่าง หากสัญญาเช่า 30 ปี ต่อ 30 ปี ราคาจะสูงมาก ที่ดินตรงนั้นมีประมาณ 12 ไร่เศษ ราคาเช่ารวมคงเป็นหลายพันล้านบาท เพราะราคาที่ดินซื้อขายตารางวาละ 2.5-3 ล้านบาท หากประมูลแข่งขันกันตอนหมดสัญญาในปี 2565 จะมีผู้สนใจหลายราย โดยเฉพาะกลุ่มเอกชนยักษ์ใหญ่ภายในประเทศ ราคาประมูลจะสูงมาก อาจถึงหมื่นล้านบาทได้ จึงเป็นไปได้ว่ามีการวิ่งเต้นเพื่อเปลี่ยนสัญญาเช่าจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (เจ้าขององค์การโทรศัพท์ฯ) เป็นบริษัท เรียลแอสเสทฯ” แหล่งข่าว ระบุ
ส่วนกรณีการจ่ายเงิน 3 งวด รวม 20 ล้านบาทนั้น แหล่งข่าว ระบุว่า ตั้งแต่ข้อมูลการจ่ายเงิน 5 ล้านบาท โดยเชิญไปพบและประชุมร่วม มีการจ่ายเพิ่มอีก 5 ล้านบาท ต่อมามีจดหมายเชิญให้บริษัท เรียลแอสเสทฯ ไปเสนอโครงการ มีการจ่ายเพิ่มอีก 10 ล้านบาท แต่กลับมี ‘ข่าวรั่ว’ และ ‘วิ่งเต้น’ ไม่สำเร็จ จึงเปลี่ยนเป็นร้องว่าถูกโกง?
ประเด็นนี้ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษก อสส. กล่าวถึงในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า เมื่อเดือน มี.ค. 2560 จำเลยที่ 1 (นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ) เมื่อครั้งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ปลอมแปลงหนังสือสำนักงานทรัพย์สินฯ มอบให้กับจำเลยที่ 2เป็นนายหน้าอิสระ นำไปให้มอบยังนายสกุลธรต่อไป
โดยรายละเอียดในเอกสารนั้นระบุว่าบริษัทเรียลแอสเสทฯ ผ่านคุณสมบัติในการตรวจสอบว่าจะเป็นผู้เช่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่มีการนำหนังสือฉบับนี้ไปมอบให้กับนายสกุลธร ต่อมา นายสกุลธร มีการจ่ายเงินกลับมาให้อีก 5 ล้านบาท แต่พอมาถึงช่วงเดือน พ.ย. 2560 ยังไม่ปรากฎว่าบริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้รับสิทธิ์ในการเป็นผู้ให้เช่าที่ดินทั้งตรงซอยร่วมฤดีและตรงชิดลม ดังนั้น จึงมีการนัดให้ตัวจำเลยที่ 2 ไปดำเนินการต่อไป
จำเลยที่ 2 จึงได้มีการร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารราชการอีกฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เชิญบริษัทนี้ไปประชุม หลังจากได้รับหนังสือเชิญประชุมนี้แล้ว นายสกุลธร มีการจ่ายเงินไปให้กับตัวจำเลยที่ 2 อีกจำนวน 10 ล้านบาท รวม 3 ครั้ง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 20 ล้านบาท และจำเลยทั้ง 2 ก็เอาเงินไปแบ่งกัน
พอมาถึงวันประชุมก็มีการยกเลิกการประชุม นายสกุลธรจึงได้มีการทวงถามเอาเงินคืน จากการสอบสวนก็ได้ความว่า มีการคืนเงินให้นายสกุลธรไปแล้วประมาณ 7 ล้านบาท
หลังจากนั้นปรากฎว่าทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทราบเรื่องเลยมอบอำนาจให้นายอิศรา จารุวณิชกุล ไปแจ้งความให้ข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารราชการปลอม โดย บก.ป. สามารถจับกุมจำเลยที่ 1-2 ได้ และก็มีการดำเนินการสอบสวนมาทั้งหมด เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น และส่งมาถึงพนักงานอัยการในเดือน เม.ย. 2562 หลังจากนั้นจึงมีการฟ้องต่อศาล (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! คำแถลง อสส. คดีสินบนสนง.ทรัพย์สินฯ 20 ล. 'สกุลธร' - ตร. ขอแยกฟ้องอีกสำนวน)
ถ้อยแถลงจากโฆษก อสส. นำไปสู่ประเด็นสำคัญว่า เมื่อนายสกุลธร ทราบแล้วว่าอาจมีการโกงเกิดขึ้น และมีการเรียกเงินคืนแล้วเบื้องต้น 7 ล้านบาท จากยอด 20 ล้านบาท เหตุใดจึงไม่มีการนำประเด็นนี้ ไปฟ้องต่อศาลเพื่อเอาผิดคดีฉ้อโกงเพื่อเรียกเงินที่เหลือคืนอีก 13 ล้านบาท?
เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 335/2563 ได้วางแนวคำพิพากษาใหม่ เปิดช่องให้บุคคลที่อ้างว่าถูกหลอกลวงให้จ่ายเงินใต้โต๊ะหรือเงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือเงินคืนได้? (อ่านประกอบ : รู้ยัง? ศาลฎีกาพิพากษาแนวทางใหม่! โดน จนท.รัฐหลอกจ่ายใต้โต๊ะ ฟ้องเอาคืนคดีฉ้อโกงได้)
อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงเหล่านี้ คงต้องรอฝ่าย บก.ป. ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป
ท้ายที่สุดจะมีบทสรุปอย่างไร ต้องติดตามกัน!
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสกุลธร จาก https://yusabuy.com/
อ่านประกอบ :
ฉบับเต็ม! คำแถลง อสส. คดีสินบนสนง.ทรัพย์สินฯ 20 ล. 'สกุลธร' - ตร. ขอแยกฟ้องอีกสำนวน
อสส.แจงไม่มีอำนาจฟ้อง'สกุลธร' รายงานการสอบสวน ตร.ประสงค์แยกสำนวนคดีอยู่แล้ว
ผบก.ป.ยันแยกสอบ 2 สำนวนทั้ง‘ผู้ให้-ผู้รับ’คดี จนท.สนง.ทรัพย์สินรับสินบนจาก‘สกุลธร’
กองปราบฯอาจแจ้งข้อหา‘สกุลธร’หลังคำพิพากษาระบุให้ 20 ล้าน จนท.สำนักงานทรัพย์สินฯ
กาง กม.-ไขเบื้องหลัง? ไฉนไร้ชื่อ‘สกุลธร’ เป็นจำเลยคดี จนท.สนง.ทรัพย์สินฯรับสินบน 20 ล.
เปิดปูม บ.‘สกุลธร’ รายได้ 1,745 ล. โยงคดี จนท.ปลอมเอกสารเช่าที่ดิน สนง.ทรัพย์สินฯ
พอร์ตธุรกิจ 44 บ.ไทยซัมมิท 'สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ’- 4 บริษัทย่อยเครือเรียลแอสเสทฯ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage