"... พนักงานสอบสวนได้สรุปไว้ในรายงานการสอบสวนเสนอพนักงานอัยการว่า ในส่วนของนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ พนักงาน สอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดําเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยแยกสํานวนดําเนินคดีต่างหาก ออกจากคดีนี้ ดังนั้น พนักงานอัยการสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายปราบปรามการทุจริต 4 จึงไม่มีความเห็นและ คําสั่งทางคดีในส่วนของนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมทั้ง พนักงานอัยการไม่ได้แนะนําพนักงานสอบสวน ให้ดําเนินคดี เนื่องจากพนักงานสอบสวนระบุไว้ในสํานวนชัดแจ้งว่าอยู่ระหว่างดําเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน และแยกสํานวนคดีดังกล่าว...."
..........................
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เป็นรายละเอียดการแถลงข่าวกรณีการสั่งไม่ฟ้อง “นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” นักธุรกิจน้องชายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จ่ายเงินเป็นจำนวน 20 ล้านบาทให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีผู้แถลงข่าวคือ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ,นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์,นายประยุทธ เพชรคุณ,นางสันทนี ดิษยบุตร และนายจิตภัทร พุ่มหิรัญ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคาร A แจ้งวัฒนะ
@ ข้อมูลในเอกสารแถลงข่าว
กรณีมีการเสนอข่าว อัยการสั่งไม่ฟ้องและไม่ดําเนินคดี นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนอย่างแพร่หลายในขณะนี้ว่า พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องรวมทั้งไม่ดําเนินคดี นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ นั้น
สํานักงานอัยการสูงสุด ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว ขอชี้แจงว่า กรณีการเสนอข่าวดังกล่าว ยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง โดยขอชี้แจง ดังนี้
1. เรื่องนี้ สืบเนื่องจากสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 4 ได้รับสํานวนการสอบสวน จากพนักงานสอบสวนกองกํากับการ 1 กองบังคับการปราบปราม (สํานักงาน ปปช. มีหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวน โดยมอบหมายให้ทําการสอบสวนคดีนี้ต่อไป ตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 61 วรรค 2) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 คดีระหว่างนายอิศรา จารุวณิชกุล ผู้กล่าวหา นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ ผู้ต้องหาที่ 1 นายสุรกิจ ตั้งวิทวนิช ผู้ต้องหาที่ 2 โดยกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งสอง ว่า ร่วมกัน ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม และร่วมกันเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใด สําหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริต หรือผิดกฎหมาย ให้กระทําการหรือไม่กระทําการในหน้าที่เหตุเกิดช่วงเดือน มีนาคม - พฤศจิกายน 2560 ต่อเนื่องกัน ในท้องที่แขวงดุสิต เขตดุสิต และแขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพ ต่อเนื่องกัน
2. พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง
โดยข้อเท็จจริงทางคดีได้ความว่า ผู้ต้องหาทั้งสองได้ร่วมกันปลอมหนังสือราชการ ของสํานักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ จํานวน 2 ฉบับ แล้วนําไปใช้แสดงต่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ว่า สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีที่ดินจะให้เช่าเพื่อทําธุรกิจจํานวน 2 แปลง จนนายสกุลธร ตกลงว่าจ้างและได้ว่าจ้างผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้แทนดําเนินการในเรื่องดังกล่าว ในวงเงินสัญญาจ้าง 500 ล้านบาท และได้จ่ายเงินให้แล้วบางส่วน จํานวน 3 ครั้ง เป็นจํานวน 20 ล้านบาท สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทราบข้อเท็จจริงจึงมอบอํานาจให้นายอิศรา จารุวณิชกุล ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสองดังกล่าว โดยในส่วนของ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ พนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งเป็นผู้ต้องหา แต่ได้สรุปในรายงานการสอบสวนว่า จะรวบรวม พยานหลักฐานเพื่อดําเนินคดีกับนายสกุลธร ตามกฎหมายต่อไป
ต่อมาเมื่อพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายปราบปรามการทุจริต 4 พิจารณาสํานวนแล้ว และพิเศษฝ่ายปราบปรามการทุจริต 4 ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ในข้อหา นามกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สําหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทน ในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย ให้กระทําการ หรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือโทษแก่บุคลใด และร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม
ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ได้ยื่นฟ้อง ผู้ต้องหาทั้งสองเป็นจําเลยทั้งสองต่อศาลอาญา คดีทุจริตและ ประพฤติมิชอบกลาง เป็นคดีอาญาหมายเลขดําที่ อท 76/2562 โดยจําเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และศาลได้มี คําพิพากษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ลงโทษจําเลยทั้งสองตามฟ้อง พิพากษาจําคุกจําเลยทั้งสอง คนละ 6 ปี จําเลยทั้งสอง ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจําคุก จําเลยทั้งสอง คนละ 3 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท 228/2562 หลังจากศาลมีคําพิพากษาแล้วต่อมาพนักงาน อัยการสํานักงานพิเศษฝ่ายปราบปรามการทุจริต 4 เห็นว่าศาลพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งสองตามฟ้องโจทก์ชอบด้วย ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วจึงเสนออัยการศาลสูงไม่อุทธรณ์และได้เสนอสํานวนความเห็นคําสั่งไม่อุทธรณ์ ไปยังผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบกับการสั่งไม่อุทธรณ์ของพนักงานอัยการและฝ่ายจําเลย ไม่อุทธรณ์เช่นกัน คดีจึงถึงที่สุดตามคําพิพากษาดังกล่าว
สํานักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงว่า เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนความผิดของ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมทั้งไม่ได้ตั้งเป็นผู้ต้องหาและไม่มีการสอบปากคําใด ๆ ไว้ในสํานวน โดยพนักงานสอบสวนได้สรุปไว้ในรายงานการสอบสวนเสนอพนักงานอัยการว่า ในส่วนของนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ พนักงาน สอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดําเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยแยกสํานวนดําเนินคดีต่างหาก ออกจากคดีนี้ ดังนั้น พนักงานอัยการสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายปราบปรามการทุจริต 4 จึงไม่มีความเห็นและ คําสั่งทางคดีในส่วนของนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมทั้ง พนักงานอัยการไม่ได้แนะนําพนักงานสอบสวน ให้ดําเนินคดี เนื่องจากพนักงานสอบสวนระบุไว้ในสํานวนชัดแจ้งว่าอยู่ระหว่างดําเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน และแยกสํานวนคดีดังกล่าว
ดังนั้น ตามที่ปรากฏข่าวว่า พนักงานอัยการไม่ดําเนินคดีนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ พนักงานอัยการ สั่งไม่ฟ้องนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ดี จึงไม่เป็นความจริง
สํานักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้หากมีการดําเนินการ ตามที่พนักงานสอบสวน ได้ระบุไว้ในรายงานการสอบสวนดังกล่าว เมื่อมีการจัดส่งสํานวนมาให้พนักงานอัยการพิจารณา พนักงานอัยการ ก็จะได้ดําเนินการตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อไป
@ คำชี้แจงทีมโฆษกอัยการสูงสุด
นายนายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวเสริมข้อมูลในเอกสารแถลงข่าวว่า จากการตรวจสอบสำนวน ในช่วงต้นปี 2560 ผู้ต้องหารายที่ 2 (นายสุรกิจ ตั้งวิทวนิช) ซึ่งเป็นนายหน้าค้าที่ดินอิสระขณะนั้น ได้ไปพบกับนายสุกลธร และมีการนำที่ดินไปเสนอให้เช่าทั้ง 2 แปลง ซึ่งที่ดินทั้ง 2 แปลงเป็นนั้นเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพยฺสินพระมหากษัตริย์ ซึ่งในขณะนั้นยังใช้ชื่อว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
โดยที่ดินทั้ง 2 แปลงประกอบด้วยที่ดินซอยร่วมฤดีแปลงหนึ่ง และอีกแปลงหนึ่งเป็นที่ตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่บริเวณชิดลม
นายสกุลธรได้ให้ความสนใจในที่ดินดังกล่าว และหลังจากมีการตรวจสอบข้อมูลว่ามีที่ดินอยู่จริง นายสุกลธร ได้ติดต่อประสานงานและทำสัญญาว่าจ้างผู้ต้องหาที่ 2 เพื่ออำนวยความสะดวกและประสานงาน ให้บริษัทเรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด มีสิทธิในการเช่าที่ดินโดยมีค่าตอบแทนทั้งสิ้น 500 ล้านบาท ซึ่งหลังจากมีการทำสัญญาก็ปรากฎว่าทางผู้ต้องหาที่ 2 และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้แนะนำให้นายสกุลธรเข้าไปยื่นหนังสือขอเช่าที่ดินตามช่องทางปกติของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในเวลานั้น
หลังจากที่ยื่นแล้วก็มีการจ่ายเงินในงวดแรกประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อเป็นการดำเนินการในเรื่องนี้ โดยผู้ต้องหาที่ 2 ได้ให้การว่าเป็นการล็อกผู้ใหญ่
นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า พอมาถึงเมื่อเดือน มี.ค. 2560 ผู้ต้องหาที่ 1 (นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ได้ปลอมแปลงหนังสือสำนักงานทรัพย์สินฯ มอบให้กับผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นนายหน้าอิสระ นำไปให้มอบยังนายสกุลธรต่อไป
โดยรายละเอียดในเอกสารนั้นระบุว่าบริษัทเรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ ผ่านคุณสมบัติในการตรวจสอบว่าจะเป็นผู้เช่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากที่มีการนำหนังสือฉบับนี้ไปมอบให้กับนายสกุลธร นายสกุลธรก็มีการจ่ายเงินกลับมาให้อีก 5 ล้านบาท แต่พอมาถึงช่วงเดือน พ.ย. 2560 ก็ยังไม่ปรากฎว่าบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ ได้รับสิทธิ์ในการเป็นผู้ให้เช่าที่ดินทั้งตรงซอยร่วมฤดีและตรงชิดลม ดังนั้น จึงมีการนัดให้ตัวผู้ต้องหาที่ 2 ไปดำเนินการต่อไป
ทางผู้ต้องหาที่ 2 จึงได้มีการร่วมกับผู้ต้องหาที่ 1 ปลอมเอกสารราชการอีกฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เชิญบริษัทนี้ไปประชุม ซึ่งหลังจากที่ได้รับหนังสือเชิญประชุมนี้แล้ว นายสกุลธรก็ได้มีการจ่ายเงินไปให้กับตัวผู้ต้องหาที่ 2 อีกจำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งรวม 3 ครั้งก็จะคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 20 ล้านบาท และผู้ต้องหาทั้ง 2 ก็เอาเงินไปแบ่งกัน
และพอมาถึงวันประชุมก็มีการยกเลิกการประชุม นายสกุลธรจึงได้มีการทวงถามเอาเงินคืน ซึ่งจากการสอบสวนก็ได้ความว่ามีการคืนเงินให้นายสกุลธรไปแล้วประมาณ 7 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ปรากฎว่าทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทราบเรื่อง ก็เลยมอบอำนาจให้นายอิศรา จารุวณิชกุล ไปแจ้งความให้ข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งทางกองปราบก็สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 ได้ และก็มีการดำเนินการสอบสวนมาทั้งหมด
การสอบสวนนั้นก็เสร็จสิ้นและก็ส่งมาถึงพนักงานอัยการในเดือนเมษายน 2562 โดยมีผู้ต้องหาจำนวน 2 คน ตามที่ได้นำเรียนไปแล้ว
นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า พนักงานสอบสวนเองยังได้มีการส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ ป.ป.ช.ก็ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังพนักงานสอบสวนว่าให้ดำเนินการสอบสวนต่อไป
ซึ่งในส่วนท้ายของรายงานการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ทางพนักงานสอบสวนได้ขมวดข้อเท็จจริงเอาไว้ว่า ในส่วนของนายสกุลธร ผู้ให้เงินแก่ผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 โดยมีเจตนาให้นำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำความผิดต่อหน้าที่ ช่วยเหลือ บริษัทเรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ให้ได้สิทธิ์การเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยไม่ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนปกติ จึงเข้าลักษณะเป็นการใช้ให้ผู้ต้องหาที่ 2 ไปกระทำความผิด นายสกุลธรจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
ซึ่งพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับนายสกุลธรตามกฎหมายต่อไป
"เนื่องจากยังไม่มีการสอบสวน พนักงานอัยการจึงไม่มีการยื่นฟ้องนายสกุลธรต่อศาล พนักงานสอบสวนเองเขาก็ให้ความเห็นไว้ในท้ายรายงานสอบสวนแล้วว่าเขาประสงค์ที่จะแยกสำนวนการดำเนินคดีนายสกุลธรเป็นคดีนี้อีกต่างหาก เมื่อพนักงานสอบสวนเขาทราบแล้วทางอัยการจึงไม่มีหนังสือแจ้งให้ดำเนินคดีเอง ทางเราเองก็ไม่สามารถเริ่มต้นคดีเองได้ หรือลงไปสอบสวนเองได้ ก็คงต้องให้พนักงานสอบสวนเขาทำหน้าที่ของเขา และจะส่งมาให้ทางพนักงานอัยการ ซึ่งจะพิจารณาคดีไปตามที่ปรากฎในสำนวนต่อไป" นายอิทธิพรระบุ
อ่านประกอบ :
ผบก.ป.ยันแยกสอบ 2 สำนวนทั้ง‘ผู้ให้-ผู้รับ’คดี จนท.สนง.ทรัพย์สินรับสินบนจาก‘สกุลธร’
กองปราบฯอาจแจ้งข้อหา‘สกุลธร’หลังคำพิพากษาระบุให้ 20 ล้าน จนท.สำนักงานทรัพย์สินฯ
กาง กม.-ไขเบื้องหลัง? ไฉนไร้ชื่อ‘สกุลธร’ เป็นจำเลยคดี จนท.สนง.ทรัพย์สินฯรับสินบน 20 ล.
เปิดปูม บ.‘สกุลธร’ รายได้ 1,745 ล. โยงคดี จนท.ปลอมเอกสารเช่าที่ดิน สนง.ทรัพย์สินฯ
พอร์ตธุรกิจ 44 บ.ไทยซัมมิท 'สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ’- 4 บริษัทย่อยเครือเรียลแอสเสทฯ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage