“...หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาหลอกลวงว่าสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลใดในการเข้ารับราการ โดยต้องจ่ายเงินให้ (เงินใต้โต๊ะ) และภายหลังพิสูจน์ได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกรับบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในราชการ บุคคลที่โดนหลอก คือผู้เสียหายโดยนิตินัย และมีสิทธิร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐรายนั้นในความผิดฐานฉ้อโกงได้นั่นเอง…”
.............................
กรณีเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือบุคคลต่าง ๆ หรือที่รู้จักกันว่ากรณี ‘จ่ายเงินใต้โต๊ะ’ เป็นอีกกรณีสำคัญที่กัดกร่อนการบริหารราชการแผ่นดิน และในทุกปีมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เอกชนและบุคคล ถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดจำนวนมาก
และมีไม่น้อยที่เอกชน หรือบุคคล มักกล่าวอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ ‘หลอก’ ให้จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่าง ๆ
อย่างไรก็ดีเมื่อไม่นานมานี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563 วางแนวทางใหม่ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลฎีกาเดิม วินิจฉัยเกี่ยวกับกรณี การจ่ายเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยอ้างว่าสามารถช่วยเหลือวิ่งเต้นให้เข้าทำงานในหน่วยงานของราชการ หรือหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563 ระบุแล้วว่า ผู้ที่จ่ายเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ หากเป็นกรณีถูกหลอกให้หลงเชื่อ เท่ากับว่าตกเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยด้วย!
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563 ดังกล่าว มานำเสนอ ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563 ยึดหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ได้แก่
1.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 บัญญัติว่า ในความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลทั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ส่วนมาตรา 341 บัญญัติว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า ในประมวลกฎหมายนี้ “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้
คดีนี้พยานหลักฐานโจทก์ และโจทก์ร่วม (ผู้จ่ายเงินใต้โต๊ะ) ฟังได้ว่า จำเลยกับพวก (เจ้าหน้าที่รัฐผู้รับเงินใต้โต๊ะ) กล่าวอ้างว่า สามารถช่วยเหลือฝ่ายโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลในเขต จ.บุรีรัมย์ อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถช่วยเหลือฝากโจกท์ร่วมเข้าทำงานรับราชการใน อบต. หรือเทศบาลในเขต จ.บุรีรัมย์ ตามที่กล่าวอ้างได้
การหลอกหลวงของจำเลยกับพวก เป็นเหตุให้โจทก์ร่วม หลงเชื่อว่าเป็นความจริง และมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง ถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้
ส่วนที่โจทก์ร่วมมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปนั้น ล้วนเกิดขึ้นเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาหลอกลวงว่าสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลใดในการเข้ารับราการ โดยต้องจ่ายเงินให้ (เงินใต้โต๊ะ) และภายหลังพิสูจน์ได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกรับบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในราชการ บุคคลที่โดนหลอก คือผู้เสียหายโดยนิตินัย และมีสิทธิร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐรายนั้นในความผิดฐานฉ้อโกงได้นั่นเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563 นับเป็นแนวทางใหม่ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ‘หัวใส’ บางรายหลอกลวง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เปิดช่องให้ถูกฟ้องฐานฉ้อโกงได้
ดังนั้นหากในอนาคตใครเจอเจ้าหน้าที่รัฐประเภทนี้ สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงได้ทันที!
หมายเหตุ : ภาพประกอบศาลฎีกา จาก https://static.posttoday.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/