“...บ้านพักรับรองกองทัพบกมีอยู่หลายแห่งตามที่กองทัพบกกำหนด เช่น บ้านพักรับรองสี่เสา เทเวศร์ กองทัพบกเคยให้สิทธิแก่ ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้เคยเป็น ผบ.ทบ. พักอาศัย และใช้เป็นบ้านพักรับรอง เคยใช้ต้อนรับผู้นำประเทศต่าง ๆ มาแล้ว บ้านพักรับรองเชิงสะพานเกษะโกมล เคยให้สิทธิแก่ผู้เคยเป็น ผบ.ทบ. และใช้เป็นบ้านพักรับรอง บ้านพักรับรองใน ร.1 รอ. ให้สิทธิแก่ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้เคยเป็น ผบ.ทบ. และยังมีบ้านพักรับรองหลังอื่นใน ร.1 ที่อดีต ผบ.ทบ. ท่านอื่นยังคงมีหน้าที่ด้านความมั่นคงได้อาศัยและใช้เป็นบ้านพักรับรอง…”
.............................
นับถอยหลังอีก 1 วัน ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีที่อาจเรียกว่าเป็น ‘บรรทัดฐานใหม่’ ทางการเมือง-ทางการทหาร กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ กรณีถูกร้องว่าพักอาศัยอยู่ในบ้านพักราชการ ในค่ายทหารแห่งหนึ่ง (อ่านประกอบ : ไม่กังวลศาล รธน.! นายกฯเชื่อทำดีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง-มีบ้านส่วนตัวแต่พื้นที่จำกัด)
ประเด็นนี้ถูกจุดขึ้นโดยฝ่ายค้าน โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็น ‘ฝ่ายคิด’ และมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็น ‘ผู้อภิปราย’ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา
เบื้องต้น นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงที่มาที่ไปและ ‘ความเป็นไปได้’ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยกรณีนี้ว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิรับประโยชน์อื่นใด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ประกอบมาตรา 186 และอาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 160 ด้วย (อ่านประกอบ : ชลน่าน ศรีแก้ว:ชำแหละจุด‘เป็น-ตาย’คดีบ้านพักทหาร‘บิ๊กตู่’-ล้มนายกฯสะเทือนทั้งกองทัพ?)
อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ เคยส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากรณีดังกล่าว โดยอ้างว่า บ้านพักนายกรัฐมนตรี (บ้านพิษณุโลก) อยู่ระหว่างซ่อมแซม จึงต้องพักอาศัยบ้านพักราชการในค่ายทหารเพื่อความปลอดภัย ขณะที่อดีต ผบ.ทบ. เช่น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันอย่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ชี้แจงเช่นกันว่า ตามระเบียบของกองทัพบก เปิดช่องให้อดีต ผบ.ทบ. พักอาศัยบ้านในค่ายทหารได้
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบความเป็นมามากขึ้น สำนักข่าวอิศรา เปิดเอกสารคำร้องของฝ่ายค้าน และคำชี้แจงลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ ดังนี้
@โชว์คำร้องฝ่ายค้าน
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้บ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ถ.วิภาวดี-รังสิต กทม. ซึ่งเป็นบ้านพักของทางราชการ เป็นที่พักอาศัยของตนเองและครอบครัว ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2553-30 ก.ย. 2557 และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557-9 มิ.ย. 2562 จนถึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยสอง ตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2562 และตำแหน่ง รมว.กลาโหม ตั้งแต่ 10 ก.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ และครอบครัว ยังคงใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยตลอดมา
เนื่องจากบ้านที่ พล.อ.ประยุทธ์ และครอบครัว ใช้พักอาศัย เป็นบ้านพักของทางราชการ จัดไว้ให้เฉพาะบุคคลที่เป็นข้าราชการ และลูกจ้างประจำในสังกัดของกองทัพบกอาศัยเท่านั้น เป็นไปตามระเบียบของกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพัก ของข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดกองทัพบก พ.ศ. 2553 ข้อ 11 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เกษียณอายุราชการ ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมหมดสิทธิการเข้าพักอาศัยในบ้านหลังดังกล่าวทันที ตามข้อ 14.2 ของระเบียบกองทัพบกดังกล่าว
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ และครอบครัว ใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จึงเป็นการอยู่อาศัยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระเบียบคณะกรรมการอำนวยการสวัสดิการ กองบัญชาการกองทัพไทย ว่าด้วยการพักอาศัยในอาคารสวัสดิการ กองบัญชาการกองทัพไทย พ.ศ. 2556 ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าและน้ำประปาที่เบิกจ่ายจากงบประมาณ งบงานบริหารหน่วย พ.ศ. 2546 และหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการเข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการ พ.ศ. 2560 ของกระทรวงการคลังแล้ว เห็นได้ว่าบุคคลที่จะเข้าพักอาศัยและใช้ไฟฟ้า และน้ำประปาของราชการได้นั้น ต้องเป็นบุคคลที่รับราชการอยู่เท่านั้น ดังนั้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ราชการในสังกัดกองทัพบกตั้งแต่ 30 ก.ย. 2557 จึงหมดสิทธิที่จะเข้าพักอาศัยในบ้านพักของทางราชการหลังดังกล่าวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงใช้บ้านพักหลังดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้เสียค่าเช่าให้กับทางราชการทหารเป็นระยะเวลานับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557 เป็นต้นมา ระยะเวลากว่า 5 ปีเศษ และได้ใช้ไฟฟ้าและประปาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง คิดเป็นมูลค่าเงินนับล้านบาท กรณีจึงถือเป็นการรับประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นในธุรกิจการงานปกติ อันเป็นการกระทำที่ถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 184 (3) ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 27 ประกอบข้อ 7, 8, 9, 10, 11 อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (5) อีกด้วย
(เอกสารตอนต้นของคำร้องฝ่ายค้าน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีบ้านพักทหาร)
@เปิดคำชี้แจง 7 หน้า-‘บิ๊กตู่’อ้างบ้านพักรับรองทหารให้สิทธิอยู่ได้
พล.อ.ประยุทธ์ เขียนคำชี้แจงถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุที่อยู่ภูมิลำเนา (ตามบัตรประชาชน) ว่า อยู่บริเวณ ถ.พหลโยธิน ซ.ร่วมมิตร แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. ขณะที่ระบุที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้คือทำเนียบรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจง รวม 7 หน้า สรุปได้ดังนี้
@อ้างสถานการณ์ม็อบจึงต้องอยู่บ้านพักในค่ายทหาร
หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ และครอบครัว มีที่อยู่อาศัยถาวร และภูมิลำเนาใน ซ.ร่วมมิตร ถ.ย่านพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. โดยในการจดแจ้งทำนิติกรรมต่าง ๆ และใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้ใช้บ้านที่อยู่อาศัยบ้านเลขที่ดังกล่าวตลอดมา บางครั้งก็กลับไปอาศัย ณ ที่อยู่ดังกล่าว แต่โดยเหตุที่รับราชการในกองทัพบก และดำรงตำแหน่งบังคับบัญชาสำคัญ ประกอบกับสถานการณ์ของประเทศตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ไม่สู้จะสงบเรียบร้อย มีการชุมนุมสาธารณะประท้วงรัฐบาล และตอบโต้กันเองตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เช่น มีการปิดล้อมอาคารรัฐสภาจนรัฐบาลต้องไปแถลงนโยบายที่อื่น มีการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล แม้แต่สถาบันตุลาการถูกคุกคาม มีการปิดล้อมและทำลายยานพาหนะของนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยขณะนั้น จึงจำเป็นต้องเข้าใช้บ้านพักรับรองของกองทัพบกภาใน ร.1 รอ. เป็นที่พักและศูนย์กลางการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการสั่งการ
เมื่อเกษียณอายุราชการ และพ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศยังคงใช้กฎอัยการศึก ความจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อยขั้นสูงสุดยังมีอยู่ บ่อยครั้งที่ คสช. ไม่มีสถานที่ประชุมของตนเอง จึงเปลี่ยนมาใช้บ้านพักรับรองของ พล.อ.ประยุทธ์ หรืออาคารต่าง ๆ ในบริเวณ ร.1 รอ. เป็นที่หารือหรือประชุมในทางราชการเป็นครั้งคราว
@เผยอดีต ผบ.ทบ.ไฟเขียวให้อยู่ได้ตามระเบียบ ทบ.
ดังนั้น ผบ.ทบ. คนต่อ ๆ มาคือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร พล.อ.ธีรชัย นาควานิช พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พิจารณาเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ และมีคุณสมบัติตามแบบธรรมเนียมที่กองทัพบกเคยปฏิบัติต่ออดีตผู้บังคับบัญชา และเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ข้อ 4, 5, 8, 11 โดยคำนึงถึงสถานการณ์ สถานะของความเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในสมัยรัฐบาลต่อมา และความจำเป็นอื่น ๆ ประกอบกัน จึงพิจารณาให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าวต่อไปภายหลังเกษียณอายุราชการในปี 2557 เช่นเดียวกับกรณีของผู้เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. คนอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นตามควรแก่สถานภาพและสถานการณ์โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพียงแต่บุคคลอื่น ๆ เมื่อตำแหน่ง ผบ.ทบ. ไปแล้ว ไม่มีตำแหน่งอื่นเกี่ยวกับราชการทหาร และการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประเทศ ประกอบกับการย้ายออกไปพักอาศัยที่บ้านพักของตนเอง มีความเป็นส่วนตัว สะดวกในการสัญจรและการสมาคม การไปมาหาสู่กับญาติมิตรมากกว่า เนื่องจากอยู่นอกเขตทหาร ไม่มีกฎเกณฑ์ในการผ่านเข้าออก บางคนจึงได้ย้ายออกจากบ้านพักรับรองของกองทัพบกไปอยู่ภายนอก
สอง ระบบราชการไทย ไม่ว่าข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ มักจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น บ้านพักอาศัย บ้านพักรับรอง ทางราชการทหารก็เช่นเดียวกัน ข้าราชการชั้นผู้น้อยจะจัดที่อยู่อาศัยในรูปแบบที่เป็นแฟลต เรือนแถว บ้านพัก ที่เรียกตามระเบียบกองทัพบกว่า “บ้านพักอาศัย” กรณีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต้องการที่อยู่เป็นสัดส่วน มีประชุม มีการต้อนรับแขก จัดเลี้ยงเป็นการเฉพาะ บ้านพักดังกล่าวต้องมีขนาด และประโยชน์ใช้สอยต่างจากบ้านพักของกำลังพลทั่วไป เรียกตามระเบียบกองทัพบกว่า “บ้านพักรับรอง” ซึ่งภาษาพูดอาจเรียกว่า “บ้านพักประจำตำแหน่ง” แต่ความจริงผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันอาจใช้บ้านพักรับรองคนละหลังกัน กองทัพบกจึงวางระเบียบบ้านพักอาศัย และบ้านพักรับรองเป็นคนละฉบับกัน
(เอกสารใบปะหน้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ คดีบ้านพักทหาร)
@อ้างถึงบ้านพักสี่เสาฯ‘พล.อ.เปรม’-บ้านเกษะโกมล
บ้านพักรับรองกองทัพบกมีอยู่หลายแห่งตามที่กองทัพบกกำหนด เช่น บ้านพักรับรองสี่เสา เทเวศร์ กองทัพบกเคยให้สิทธิแก่ ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้เคยเป็น ผบ.ทบ. พักอาศัย และใช้เป็นบ้านพักรับรอง เคยใช้ต้อนรับผู้นำประเทศต่าง ๆ มาแล้ว บ้านพักรับรองเชิงสะพานเกษะโกมล เคยให้สิทธิแก่ผู้เคยเป็น ผบ.ทบ. และใช้เป็นบ้านพักรับรอง บ้านพักรับรองใน ร.1 รอ. ให้สิทธิแก่ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้เคยเป็น ผบ.ทบ. และยังมีบ้านพักรับรองหลังอื่นใน ร.1 ที่อดีต ผบ.ทบ. ท่านอื่นยังคงมีหน้าที่ด้านความมั่นคงได้อาศัยและใช้เป็นบ้านพักรับรอง
@บ้านพิษณุโลกเสื่อมโทรมต้องซ่อมแซม
สี่ อันที่จริงแล้ว ในฐานะนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดบ้านพักรับรองไว้ให้นายกรัฐมนตรีทุกคนเช่นกัน คือ บ้านพิษณุโลก ถ.พิษณุโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เหมือนกับบ้านพักรับรองของกองทัพบก และเคยมีนายกรัฐมนตรีบางท่านใช้เป็นที่พักอาศัยอยู่ระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2557 ขณะนั้นบ้านพิษณุโลกดังกล่าวทรุดโทรมลงตามกาลเวลา เพราะถูกใช้เป็นที่ทำงานของบางหน่วยงานราชการ และยังได้รับผลกระทบจากการชุมนุมสาธารณะ ระหว่างปี 2551-2557 จนได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซมอย่างใหญ่
ตลอดจนฝ่ายรักษาความปลอดภัยของกองทัพบก ตำรวจ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปตรวจสอบแล้วเกรงว่าอาจไม่สะดวกต่อการสัญจรและไม่ปลอดภัยสำหรับสถานการณ์ในขณะนั้น เพราะอยู่ในรัศมีที่หากมีการชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และปิด ถ.พิษณุโลกดังในอดีต ผู้อยู่อาศัยในสถานที่นั้นอาจถูกกระทบได้ กองทัพบกจึงเสนอว่าควรใช้บ้านพักรับรองใน ร.1 รอ. ที่มีรั้วรอบขอบชิด ยากที่ใครจะเข้าปิดล้อมหรือจู่โจมได้ ทั้งยังมีกฎเกณฑ์การเข้าออก มีระบบรักษาความปลอดภัย และไม่ก่อความเดือดร้อนรบกวนเพื่อนบ้านละแวกนั้น ให้เป็นบ้านพักรับรองต่อไป
@ยกระเบียบ ทบ.-รธน.เปิดช่องให้อยู่ได้
ห้า พล.อ.ประยุทธ์ อ้างถึงระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 เปิดช่องให้เข้าพักอาศัยอยู่ได้ เช่น ข้อ 5 ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองต้องมีคุณสมบัติตาม 5.2 เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติและเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) โดยระบุถึงความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบมาตรา ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น และเผยแพร่เมื่อปี 2562 ที่อธิบายว่า บทบัญญัติใน (3) เพื่อเป็นข้อห้ามในการใช้อำนาจหน้าที่ของตนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์เพื่อรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ แต่กรณีการรับเงินหรือประโยชน์อื่นใด ๆ ในธุรกิจการงานปกติ สามารถรับได้ตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด
“จากข้อเท็จจริงที่กราบเรียนมานี้ เห็นได้ว่าข้าพเจ้ามิได้กระทำการที่ถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ เพราะการที่ข้าพเจ้ารับประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ เป็นไปตามที่หน่วยราชการคือกองทัพบกได้ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ที่มีสถานภาพและคุณสมบัติเดียวกันในธุรกิจการงานปกติ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
(เอกสารตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันระเบียบ-ข้อกฎหมายเปิดช่องให้อยู่บ้านพักทหารได้)
@อยู่เพื่อภารกิจความมั่นคง-เป็นสาธารณะประโยชน์ในการบริหารแผ่นดิน
ในตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงมิได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตารฐานทางจริยธรรมฯ และการพักอาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งสำคัญอื่น เนื่องจากภารกิจเหล่านี้เป็นเรื่องด้านความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียกร้อยในประเทศ ต้องบริหารจัดการ ประสานงาน และสั่งราชการด้วยความรวดเร็ว เป็นความลับ มีประสิทธิภาพ ดูแลความปลอดภัยแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสามารถใช้บ้านพักรับรองดังกล่าวเป็นที่ประชุมต้อนรับผู้นำรัฐบาล และผู้นำทางทหารจำนวนมากเพื่อความสะดวกในการใช้งานและอ้างอิง เป็นที่ถ่ายทอดสดออกอากาศเผยแพร่คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีในบางโอกาส และสามารถจัดเลี้ยงรับรองแขกของรัฐบาล แขกของฝ่ายทหาร และแขกของนายกรัฐมนตรี ในหลายโอกาส นับเป็นประโยชน์สาธารณะแก่ราชการแผ่นดิน และเมื่อเสร็จภารกิจหรือพ้นจากตำแหน่งหน้าที่แล้ว เมื่อกองทัพบกประสงค์จะใช้บ้านพักรับรองเพื่อการอื่น ข้าพเจ้าพร้อมจะย้ายไปอยู่ ณ ที่พักของตนเองดังที่เคยแจ้งเจตนาต่อกองทัพบกไว้ก่อนแล้ว
ทั้งหมดคือคำร้องของฝ่ายค้าน-คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ในคดีบ้านพักราชการทหาร ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในขณะนี้
ท้ายที่สุดผลจะเป็นอย่างไร ต้องรอฟังคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ 2 ธ.ค. บ่ายสามโมงเป็นต้นไป!
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก https://siamrath.co.th/
อ่านประกอบ :
(มีคลิป) จุดเป็น-จุดตายคดีบ้านพักทหารชี้ชะตา'บิ๊กตู่'
ชลน่าน ศรีแก้ว:ชำแหละจุด‘เป็น-ตาย’คดีบ้านพักทหาร‘บิ๊กตู่’-ล้มนายกฯสะเทือนทั้งกองทัพ?
‘บิ๊กตู่’ลุ้น! 2 ธ.ค.ศาล รธน.นัดฟังคำวินิจฉัยถูกร้องเป็น จนท.รัฐ-พ้นสถานะ รมต.หรือไม่
2 ธ.ค.อาถรรพ์? จากยุบพรรคพลังประชาชน ‘สมชาย’หลุดเก้าอี้นายกฯถึงชี้ชะตา‘ประยุทธ์’
ส่อผิดจริยธรรมร้ายแรง!‘หมอชลน่าน’เผยจุดตายคดีบ้านพักทหาร‘บิ๊กตู่’-ศาล รธน.นัดฟัง 2 ธ.ค.
ไม่กังวลศาล รธน.! นายกฯเชื่อทำดีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง-มีบ้านส่วนตัวแต่พื้นที่จำกัด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage