“...กฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าวหรือข้อความเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอปรากฎต่อศาลในปัจจุบันแล้วว่าขัดต่อกฎหมาย กฎหมายหามิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชนทั้งช่องทาง มีผลการนำเสนอข้อความในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย…”
......................................
“การที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ทั้ง 12 รายการ ซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี และกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล คำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้”
คือใจความสำคัญที่ศาลอาญามีคำพิพากษา ‘ยกคำร้อง’ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ภายหลังดำเนินการไต่สวนเพิ่มเติม กรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ยื่นคำร้องขอให้ปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของสื่อ 4 สำนัก ได้แก่ วอยซ์ ทีวี, ประชาไท, The Reporters, The Standard และ 1 เพจของกลุ่มผู้ชุมนุมคือ เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH จากเดิมที่ศาลมีคำสั่งให้ปิดแพลตฟอร์มของวอยซ์ ทีวี และเพจเยาวชนปลดแอกฯ มาก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : ศาลอาญายกเลิกคำสั่งปิด 4 สื่อออนไลน์'วอยซ์ทีวี-เยาวชนปลดแอกฯ'รอดด้วย)
ประเด็นข้างต้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน โดยพุ่งเป้าไปที่กระทรวงดีอีเอส และ ตร. ว่า ใช้อำนาจรัฐ ‘ปิดปาก’ สื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปคำพิพากษาฉบับเต็มกรณีดังกล่าวมานำเสนอสาธารณชน ดังนี้
คดีดังกล่าว กระทรวงดีอีเอส โดย ร.ต.อ.สุนันต์ มณีเทพ พนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นผู้ร้อง โดยบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด เป็นผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ได้ตรวจสอบพบว่า มีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นการเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวน 12 URL (Uniform Resource Locator) ประกอบด้วย URL จากเว็บไซต์วอยซ์ ทีวี เฟซบุ๊กวอยซ์ ทีวี ยูทูบวอยซ์ ทีวี ทวิตเตอร์วอยซ์ ทีวี อินสตราแกรมวอยซ์ ทีวี เป็นต้น
ศาลมีคำสั่ง ลงวันที่ 19 ต.ค. 2563 ให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวตามที่ขอ บัดนี้ได้มีการเสนอข่าวปิดสถานีโทรทัศน์ตามคำสั่งดังกล่าวปรากฎตามสื่อมวลชน ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้มีการไต่สวนเพิ่มเติม ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง
ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่า การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดีอีเอส ได้รับเรื่องจาก ตร. ว่า การออกอากาศทางโทรทัศน์ช่องวอยซ์ ทีวี และสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ วอยซ์ ทีวี ประชาไท The Reporters The Standard และเยาวชนปลดแอกฯ มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
กระทรวงดีอีเอสพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาบางส่วนของสื่อดังกล่าว มีลักษณะเชิญชวนให้บุคคลเข้าร่วมชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กทม. ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 แต่เนื่องจากไม่สามารถให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นการเข้าถึงเป็นการเฉพาะข้อมูลได้ จึงขอให้ปิดช่องทางการสื่อสารทั้งหมดของสื่อดังกล่าวข้างต้น
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร ตามมาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน การตีความ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 ก็ดี พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (3) ก็ดี จึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ทั้งนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และมาตรา 3 ระบุว่า ‘ข้อมูลคอมพิวเตอร์’ หมายถึง ข้อมูล ข้อความ … ในคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเจตนารมณ์๘องกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาล ห้ามโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิด ตามมาตรา 20 (1)-(3) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นรายข้อความ
ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (3) ห้ามการเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัว...นั้น กฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าวหรือข้อความเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอ ปรากฎต่อศาลในปัจจุบันแล้วว่าขัดต่อกฎหมาย
กฎหมายหามิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชนทั้งช่องทาง มีผลการนำเสนอข้อความในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย ส่วนความขัดข้องในเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงทางเทคนิคนั้นเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย
ดังนั้นการที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ทั้ง 12 รายการ เป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของ วอยซ์ ทีวี ประชาไท The Reporters The Standard หรือกลุ่มเยาวชนปลดแอกฯ โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่า เป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล คำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ ยกคำร้อง
โดยสรุปคือ ศาลยกคำร้องกรณีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญนั้นห้ามลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากนี้คำร้องของกระทรวงดีอีเอส มิได้ระบุว่า ให้ปิดกั้นเนื้อหาส่วนใด แต่เป็นการขอให้ปิดทุกช่องทาง โดยมีผลต่อการนำเสนอข้อมูลในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิด จึงมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว
เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่กำลังคุกรุ่นร้อนแรงในขณะนี้!
อ่านประกอบ :
ศาลอาญายกเลิกคำสั่งปิด 4 สื่อออนไลน์'วอยซ์ทีวี-เยาวชนปลดแอกฯ'รอดด้วย
สั่งปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์‘วอยซ์ทีวี’-ผู้บริหารแถลงยันทำตามวิชาชีพสื่อ-ไม่เคยบิดเบือน
ถูกใช้นัดชุมนุม! ดีอีเอส-กสทช.แจ้งผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระงับแอปฯเทเลแกรม
ไม่ได้ปิดสื่อแค่จัดการข้อมูล! กอร.ฉ.ผุด กก.คุมข่าว-เดินมาตรการรุกบังคับใช้กฎหมาย
ไม่ได้ปิดกั้น! รมว.ดีอีเอสให้รองปลัดฯแจ้งความสื่อผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-จับตา 3 แสน URL
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage