“…กองทุนพัฒนาสื่อฯ ควรต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ การรับฟังความคิดเห็นและการแก้ไขตรงจุดไหนก็ต้องทำให้เกิดการแก้ไขแบบสร้างสรรค์ เพราะไม่ใช่กองทุนของภาครัฐ แต่เป็นกองทุนของประชาชน…คำถามในเรื่องของการใช้คำที่คลุมเครือและเอื้อประโยชน์ต่อองค์กรอื่นที่อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ คิดว่าตรงนี้ประธานกองทุนฯ ก็น่าจะลองตีความและพิจารณาดูใหม่ว่าถูกต้องไหม…”
...............................
ภายหลังจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประกาศผลผู้ได้รับทุนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 จำนวน 95 โครงการ งบประมาณรวม 284,966,950 บาท ต่อมาภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), รวมทั้งยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนของรัฐสภา ขอให้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อฯ เนื่องจากเห็นว่า 95 โครงการที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณ มีสัดส่วนผู้รับทุนในกลุ่มบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อและอุตสาหกรรรมบันเทิงจำนวน 33 ราย ได้งบประมาณรวม 153,198,585 บาท หรือร้อยละ 53.76 ของงบประมาณที่กองทุนจัดสรรให้ในปีนี้ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 หมวด 1 มาตรา 5 ที่ให้กองทุนมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงประเด็นข้อสังเกตของภาคประชาชนและอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในประเด็นว่าด้วยการตีความประกาศและพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ รวมทั้งเจตนารมณ์และความเห็นว่าควรระงับหรือชะลอการอนุมัติทุนออกไปหรือไม่
มีรายละเอียดต่อไปนี้
@ การประกาศผลอนุมัติทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อฯ พ.ศ. 2558 หมวด 1 มาตรา 5 (4) และ (6)
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งในข้อเรียกร้องของภาคประชาชน คือ เห็นว่าการประกาศผลอนุมัติทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวนเกือบ 300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 หมวด 1 มาตรา 5 (4) ที่กำหนดว่าส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ (6) ส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ดําเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อให้มีการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์
เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีข้อสังเกตต่อการตีความข้อ 3 แห่งข้อบังคับคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินแก่โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีนิยามกำหนดว่า “ผู้ขอรับการสนับสนุน” หมายความว่า บุคคลธรรมดา นิติบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน
โดย “องค์กรเอกชน” หมายความว่าสมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือเป็นส่วนงานหรือโครงการในองค์กรนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อดําเนินกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์และไม่แสวงหากําไร รวมทั้งมีการดําเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่องการเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงิน จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปี 2563
@ภาคประชาชนเตรียมยื่น ‘วิษณุ’ วินิจฉัยตีความ “นิติบุคคล” ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งระงับการเบิกจ่ายกองทุนฯ
ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกอบด้วยนายจารุวงศ์ ณ ระนอง นายณัฐพงศ์ เปาเล้ง และนายหนึ่ง (ตัวแทนเครือข่ายประชาชนฯ ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอทุนและขอสงวนนามจริง ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ภายในสัปดาห์นี้เตรียมยื่นหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อตีความว่า ประกาศกองทุนฯ ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 หรือไม่
นายหนึ่งกล่าวว่า “ก่อนไปศาลปกครอง รองนายกฯ วิษณุต้องเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดประกาศกองทุนฯ นี้ก่อน กรณีที่เรายื่นให้วินิจฉัยว่านิติบุคคลที่ระบุในประกาศดังกล่าว ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.หลัก” นายหนึ่งระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่าประเด็นที่จะให้นายวิษณุ เครืองาม ตีความคือประเด็นการตีความนิติบุคคลในประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 หรือไม่ หากวินิจฉัยว่าทางกองทุนฯ ทำถูกต้อง แม้นายวิษณุจะวินิจฉัยเช่นนั้น เครือข่ายภาคประชาชนก็จะยังเดินหน้ายื่นต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองตีความต่อไป
นายหนึ่งกล่าวด้วยว่าตามประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปี 2563 ข้อ 7 ระบุไว้ชัดเจนว่า “กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความหรือการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และคำวินิจฉัยให้ถือเป็นที่สุด ดังนั้น กรณีนี้ รองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นประธานกรรมการกองทุนฯ ต้องวินิจฉัย”
ด้านนายจารุวงศ์กล่าวว่า โดยหลักการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีเจตนาที่จะให้ทุนกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเอกชน เน้นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร สิ่งนี้ชัดในตัวเองอยู่แล้ว เพราะพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 ชัดเจนว่าไม่แสวงหากำไร ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อพูดถึงพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฯ เจตนารมณ์ชัดเจนว่ากองทุนต้องเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนภาคประชาชน องค์กร ศาสนา มูลนิธิ ให้เขามีโอกาสที่จะได้พัฒนาความสามารถในช่องทางที่ได้แสดงออกทางด้านสื่อที่ตรงกับเจตนารมณ์
ด้านนายณัฐพงศ์ กล่าวถึงประเด็นการตีความ “นิติบุคคล” ในประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่อาจเอื้อต่อการเปิดช่องให้บริษัทเอกชนเข้ามาได้และอาจขัดแย้งกับหลักการของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 เนื่องจากในประกาศข้อ 3.1.4 ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จึงจะสามารถยื่นขอรับทุนได้
ขณะที่การยกเหตุผลตามประกาศ ข้อ 3.1.2 (1) ระบุว่ามูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มากล่าวอ้าง จึงขัดแย้งกันเองกับประกาศ ข้อ 3.1.4 ซึ่งหากทางกองทุนแปลความหมายของประกาศตาม ข้อ 3.1.2 (1) เพียงข้อเดียว โดยไม่ดูเจตนารมณ์ของข้อ 3.1.4 จึงเป็นการตีความหมายโดยไม่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง และตีความหมายในลักษณะที่ขัดแย้งกันเองในเนื้อหาและความหมายของประกาศและขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกองทุน ตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 หมวด 1 มาตรา 5 (4) เนื่องจากผู้ที่ได้รับทุน จำกัดอยู่ในกลุ่มบริษัทเอกชนผู้ผลิตสื่อรายใหญ่ และบางส่วนยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
นายจารุวงศ์กล่าวว่า สุดท้ายแล้วในเรื่องของการระงับคำสั่งเบิกจ่าย ถือเป็นคำสั่งทางปกครองอยู่แล้ว แต่เครือข่ายประชาชนนำเสนอเพื่อให้เกิดการถกเถียงในสังคม ซึ่งก็ทราบมาว่ามีการหารือกันประเด็นนี้ภายในกองทุนฯ
@ กองทุนพัฒนาสื่อฯ ควรต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ
ด้านนางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงเจตนารมณ์ของกองทุนพัฒนาสื่อฯ และความเห็นต่อกรณีที่เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เห็นว่าควรชะลอหรืองดการอนุมัติ 95 โครงการออกไปก่อน
นางสาวเข็มพรกล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อฯ ควรต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ การรับฟังความคิดเห็นและการแก้ไขตรงจุดไหนก็ต้องทำให้เกิดการแก้ไขแบบสร้างสรรค์ เพราะไม่ใช่กองทุนของภาครัฐ แต่เป็นกองทุนของประชาชน ซึ่งในเรื่องของการให้ทุนก็มีประเด็นประธานกองทุนช่วยให้เกิดการตีความในข้อเรียกร้องของภาคประชาชนได้ ที่เขาท้วงติงมาว่าในระเบียบของประกาศที่มีการให้ทุน มีอะไร ที่ต่างไปจาก พ.ร.บ. ต้นฉบับหรือเปล่า ในเรื่องของการให้คำที่คลุมเครือและเอื้อประโยชน์ต่อองค์กรอื่นที่อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ คิดว่าตรงนี้ประธานกองทุนฯ ก็น่าจะลองตีความและพิจารณาดูใหม่ว่าถูกต้องไหม
นางสาวเข็มพรกล่าวว่า ในประกาศกองทุนข้อ 7 ข้อสุดท้าย ระบุว่า “กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความหรือการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและคำวินิจฉัยให้ถือเป็นที่สุด”
ประธานกองทุนฯ มีสิทธิที่จะพิจารณาใหม่ว่าเป็นไปตามข้อท้วงติงไหม ว่าการที่เพิ่มหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลที่ระบุไว้กว้างๆ ดังนั้น ต้องตีความ
นางสาวเข็มพรกล่าวทิ้งท้ายว่าอยากให้กองทุนนี้เป็นกลไกขับเคลื่อนนิเวศน์สื่อแบบสร้างสรรค์ หัวใจของเรื่องก็คือเรื่องของการมีส่วนร่วม การเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบ มีอิสระ สร้างสรรค์และเท่าทันต่อสถานการณ์
ขณะที่ นายธนกร ศรีสุขใส ผจก.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เคยให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา ตอบคำถามในหลายประเด็นที่เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนฯ มีข้อเคลือบแคลงต่อ 95 โครงการที่ได้รับการอนุมัติว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ใจความตอนหนึ่ง นายธนกรระบุว่าถ้าภาคประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เราก็ได้ถือเป็นโอกาสในการชี้แจงเรื่องทุนที่ทำมาทั้งหมด "เราชี้แจงได้ในทุกประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกต ก็ยินดี เพราะเราทำงานระบบเปิด เราพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลทุกเรื่องอยู่แล้ว เราก็พร้อมดูว่าภาคประชาชน เขามีข้อสงสัยหรือข้อเคลือบแคลงใดบ้าง กองทุนฯ กำลังหาจังหวะที่จะเชิญภาคประชาชน ผู้ยื่นหนังสือมาแลกเปลี่ยนในข้อห่วงใย"
(อ่านประกอบ : ธนกร ศรีสุขใส : กองทุนสื่อฯ ไม่ระงับงบ 284 ล.พร้อมชี้แจง ไม่มีหลบหน้า สู้ด้วยข้อเท็จจริง )
ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องที่ขอให้พิจารณายกเลิกหรือชะลอการอนุมัติครั้งนี้ไปก่อน ตามหลักการแล้วทำได้หรือไม่นั้น นายธนกร ตอบว่า "ไม่ได้ วันนี้คนที่จะสั่งได้คือศาลปกครองและผู้ที่จะไปยื่นศาลปกครองได้ต้องมีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วเรายกเลิกไม่ได้เลย วันนี้ ถ้าเราทำแบบนั้น ทั้ง 95 รายจะได้รับผล กระทบทันที เราจะกลายเป็นจำเลยต่อ 95 รายที่ได้ประกาศไปแล้ว ซึ่งเราก็ยืนยันว่าที่เราไม่ระงับเพราะว่ากระบวนการและการดำเนินการตามกฎหมาย เราทำถูกต้อง บางกรณีที่มีข้อมูล เราพร้อมตรวจสอบสำนักงานกองทุนฯ มีจุดยืนชัดเจน ไม่หมกเม็ด ไม่ปกปิด แต่ขอให้ข้อเท็จจริงที่ออกไปมันตรง เรื่องไหนที่ควรต้องตรวจสอบเราก็ตรวจสอบ"
ทั้งหมดนี้ คือ ความเห็นจากภาคประชาชนและอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีต่อการอนุมัติทุนของกองทุนพัฒนาฯ สื่อ ซึ่งล้วนมีความเห็นสอดคล้องว่า นายวิษณุ เครืองามประธานกองทุนฯ มีสิทธิที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นไปตามข้อท้วงติงของภาคประชาชนหรือไม่?
ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
ภาพประกอบ : ThaiPublica, ไทยรัฐ, ไทยโพสต์
อ่านประกอบ :
ขีดเส้น15 วัน! ภาคปชช.ขู่ไม่ทบทวนโครงการกองทุนสื่อฯยื่นศาลปค.ขอระงับเบิกจ่ายงบ 300 ล.
ภาคปชช.ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบกองทุนพัฒนาสื่อฯ เบรกอนุมัติงบ 300 ล.เอื้อทุนใหญ่
ระบบเสนอโครงการ 300 ล.ติดขัด! กองทุนสื่อฯ ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงหวั่นกระทบความน่าเชื่อถือ
แถลงการณ์ (ฉบับที่ 1) เครือข่ายประชาขนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ใครเป็นใคร! เปิดครบ 95 โครงการ-ผู้รับงบ 300 ล.กองทุนสื่อฯ ก่อน ภาคปชช. ยื่น สตง.สอบ
กว่าจะเป็น "กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์"
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage