“...ยกตัวอย่าง เช่น เรือ ตอนนี้เราไม่รู้ว่าเรือเหล่านั้นจอดอยู่ที่ท่าไหนบ้าง แม้ว่าเราจะรู้เลขทะเบียนเรือแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าไปจอดอยู่ที่ไหน จึงต้องไปตามค้นหา ต่างจากอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน และคอนโดที่ตั้งอยู่กับที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถร่วมกับกรมบังคับคดี ดำเนินการยึดทรัพย์ได้ทันที...”
ผ่านมา 3 เดือนแล้ว กับปฏิบัติการสืบหาทรัพย์ บังคับคดี จำเลย 20 ราย ในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
หลังจากเมื่อวันที่ 30 เม.ย.63 ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 3, 4/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 2-3/2562 ที่มีรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
ตามคำพิพากษาของศาลฯ จำเลย (ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลฯ) 20 ราย ในคดีนี้ ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง เป็นเงินทั้งสิ้น 34,549 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเสียหายตามคำพิพากษา เป็นจำนวนเงิน 22,393 ล้านบาท และดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ศาลฯกำหนดจนถึงวันที่ 24 ก.ค.63 เป็นจำนวนเงินดอกเบี้ย 12,156 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค.63 สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายการบังคับคดี 1 สำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งผลสืบทรัพย์สินของจำเลย จำนวน 11 ครั้ง
และผลการตรวจสอบทรัพย์สินของกรมการค้าต่างประเทศที่ได้รับแจ้งจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก ,กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ,กรมเจ้าท่า ,กรมการปกครอง ,บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ,กรมที่ดิน และกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบข้อมูลทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ละราย มีดังนี้
จำเลยที่ 7 สมคิด เอื้อนสุภา มีบัญชีเงินฝาก 1 บัญชี ,จำเลยที่ 8 รัฐนิธ โสจิระกุล มีอสังหาริมทรัพย์ 1 รายการ และบัญชีเงินฝาก 1 บัญชี ,จำเลยที่ 9 ลิตร พอใจ มีรถยนต์ 1 คัน และรถจักรยานยนต์ 3 คัน ,จำเลยที่ 10 บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีรถยนต์ 2 คัน และเรือ 42 ลำ
จำเลยที่ 11 รัตนา แซ่เฮ้ง มีอสังหาริมทรัพย์ 1 รายการ หุ้นบริษัท 1 แห่ง และบัญชีเงินฝาก 9 บัญชี ,จำเลยที่ 12 เรืองวัน เลิศศลารักษ์ มีรถยนต์ 1 คัน หุ้นบริษัท 1 แห่ง และบัญชีเงินฝาก 4 บัญชี ,จำเลยที่ 13 สุทธิ หรือสุธิดา ผลดี หรือจันทะเอ มีรถยนต์ 1 คัน รถจักรยานยนต์ 1 คัน และบัญชีเงินฝาก 4 บัญชี
จำเลยที่ 14 อภิชาต จันทร์สกุลพร หรือ 'เสี่ยเปี๋ยง' มีรถยนต์ 2 คัน รถจักรยานยนต์ 3 คัน หุ้นบริษัท 1 แห่ง ปีน 10 กระบอก และบัญชีเงินฝาก 4 บัญชี ,จำเลยที่ 15 ณพชร หรือนิมล รักดี มีรถยนต์ 1 คัน รถจักรยานยนต์ 1 คัน ปีน 1 กระบอก และบัญชีเงินฝาก 8 บัญชี
จำเลยที่ 17 ธนหรือสุนีย์ จันทร์สกุลพร (ญาติเสี่ยเปี๋ยง) มีรถยนต์ 1 คัน หุ้นบริษัท 1 แห่ง ปืน 1 กระบอก และบัญชีเงินฝาก 15 บัญชี , จำเลยที่ 18 กฤษณะ สุระมนต์ ยังไม่พบข้อมูลทรัพย์สิน
จำเลยที่ 20 บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด มีรถยนต์ 3 คัน อสังริมทรัพย์ 2 แห่ง (ในจำนวนนี้ 1 แห่ง คือ อาคารชุดแดนลิฟวิ่ง รัชดา-ประชาอุทิศ จำนวน 702 ห้อง) และบัญชีเงินฝาก 20 บัญชี
จำเลยที่ 23 บงกช หรือธันยพร จันทร์สกุลพร (ลูกสาวเสี่ยเปี๋ยง) มีรถยนต์ 3 คัน และบัญชีเงินฝาก 12 บัญชี ,จำเลยที่ 22 ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร มีรถยนต์ 1 คัน และบัญชีเงินฝาก 2 บัญชี , จำเลยที่ 23 ทวี อาจสมรรถ มีรถยนต์ 1 คัน รถจักรยานยนต์ 3 คัน หุ้นบริษัท 4 แห่ง หุ้นหลักทรัพย์ 1 แห่ง เรือ 1 ลำ ปืน 1 กระบอก บัญชีเงินฝาก 1 บัญชี ,จำเลยที่ 24 บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด ยังไม่พบข้อมูลทรัพย์สิน
จำเลยที่ 24 บริษัท เค.เอ็ม.ซี อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด มีรถยนต์ 3 คัน และบัญชีเงินฝาก 7 บัญชี ,จำเลยที่ 26 ทีปกร หรือปกรณ์ ลีศิริกุล มีหุ้นบริษัท 4 แห่ง ปีน 4 กระบอก และบัญชีเงินฝาก 16 บัญชี
จำเลยที่ 27 บริษัท เจียเม้ง จำกัด มีอสังหาริมทรัพย์ 12 แห่ง และบัญชีเงินฝาก 16 บัญชี และจำเลยที่ 28 ประพิศ มะนะธัญญา มีรถยนต์ 1 คัน หุ้นบริษัท 4 แห่ง ปืน 1 กระบอก และบัญชีเงินฝาก 7 บัญชี
เมื่อรวมกับข้อมูลทรัพย์สินของลูกหนี้เพิ่มเติมอีก ทำให้ล่าสุด (23 ก.ค.63) ทรัพย์สินของจำเลยที่ตรวจสอบพบทั้งหมด มีดังนี้
รถยนต์ จำนวน 23 คัน ,รถจักรยานยนต์ จำนวน 11 คัน ,อสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน) จำนวน 32 แปลง ,อสังหาริมทรัพย์ (ห้องชุด) จำนวน 704 รายการ หุ้น (บริษัท) จำนวน 17 รายการ ,หุ้น (ตลาดหลักทรัพย์ ) จำนวน 1 รายการ , เรือ จำนวน 42 ลำ
อาวุธปืน จำนวน 19 กระบอก ,บัญชีเงินฝาก จำนวน 143 บัญชี ,เครื่องจักร 20 เลขทะเบียน (306 เครื่อง) และเครื่องหมายการค้า 15 เลขหมาย
(ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง)
ทั้งนี้ คณะทำงานดำเนินการบังคับคดีฯ ได้แบ่งงานให้ 5 หน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย ดำเนินการบังคับคดี โดยแบ่งตามประเภทสินทรัพย์ คือ ทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์หรือหุ้น ให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ ,ทรัพย์สินประเภทรถยนต์ ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบ
ทรัพย์สินประเภทรถจักรยานยนต์ ให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้รับผิดชอบ ,ทรัพย์สินประเภทอาวุธปืน ให้ อ.ต.ก.และอคส. เป็นผู้รับผิดชอบ
ทรัพย์สินประเภทเรือ ให้กรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบ ,ทรัพย์สินประเภทเงินฝาก ให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนเครื่องจักรและเครื่องหมายการค้านั้น การบังคับคดีแบ่งความรับผิดชอบให้หน่วยงานต่างๆที่ได้รับมอบหมายในการตรวจสอบการล้มละลายของกลุ่มลูกหนี้
“ให้ประธานคณะทำงานเป็นผู้เบิกค่าฤชาธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายแลขดำที่ อม.อร. 3, 4/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 2-3/2562 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้ทั้งห้าตามคำพิพากษา” คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการบังคับคดีฯ ระบุ
แหล่งข่าวจากคณะทำงานฯ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า การบังคับคดี โดยการติดตามยึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อนำมาขายทอดตลาด และส่งเงินเข้าคลังเพื่อชดใช้ค่าเสียหายในคดีนั้น กรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ ปืน และเรือ เป็นต้น เพราะตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าทรัพย์อยู่ที่ไหนบ้าง และทรัพย์มีสภาพเป็นอย่างไร
“ยกตัวอย่าง เช่น เรือ ตอนนี้เราไม่รู้ว่าเรือเหล่านั้นจอดอยู่ที่ท่าไหนบ้าง แม้ว่าเราจะรู้เลขทะเบียนเรือแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าไปจอดอยู่ที่ไหน จึงต้องไปตามค้นหา ต่างจากอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน และคอนโดที่ตั้งอยู่กับที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถร่วมกับกรมบังคับคดี ดำเนินการยึดทรัพย์ได้ทันที” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า สำหรับทรัพย์ที่สำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่าเป็นของจำเลยนั้น มีทรัพย์บางส่วนที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดและอายัดทรัพย์ไว้แล้ว เช่น อาคารชุดแดนลิฟวิ่ง รัชดา-ประชาอุทิศ จำนวน 702 ห้อง หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องหารือกับปปง. และกรมบังคับคดีว่าจะดำเนินการบังคับคดีอย่างไร
“การสืบทรัพย์และบังคับคดี เราจะตามไปเรื่อยๆ จนกว่าจำเลยจะไม่มีทรัพย์ให้ยึดอีกแล้ว เพราะการบังคับคดีไม่มีอายุความ” แหล่งข่าวย้ำ
ไม่เพียงแต่การบังคับคดี และยึดทรัพย์จำเลย 20 ราย มาชดใช้ค่าเสียหายในคดีทุจริตขายข้าวจีทูจีเท่านั้น
เมื่อเร็วๆนี้ คณะทำงานที่ปลัดกระทรวงการคลังตั้งขึ้นอีกคณะหนึ่ง คือ คณะทำงานพิจารณามูลค่าความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบการค้าข้าวที่มีส่วนร่วมกระทำความผิด ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติกันไว้เป็นพยานในคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 3,4/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 2-3/2562 ได้มีการเรียกประชุม เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาเรียกค่าเสียหายกับผู้ประกอบการค้าข้าว ที่ ป.ป.ช. กันไว้เป็นพยานในคดีทุจริตขายข้าวจีทูจีแล้ว
“ในเบื้องต้นจะมีการทำหนังสือไปถึงสำนักงาน ป.ป.ช. ว่าพยานในคดีทุจริตขายข้าวจีทูจีมีใครบ้าง เมื่อได้ข้อมูลแล้วจะมีการดำเนินการสืบทรัพย์ว่าพยานมีทรัพย์อยู่ที่ไหนบ้าง” แหล่งข่าวจากหน่วยงานที่ได้รับความเสียหายจากคดีทุจริตขายข้าวจีทูจี กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าการยึดทรัพย์เพื่อชดใช้ค่าเสียหายคดีทุจริตขายข้าวจีทูจี ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายและดอกเบี้ยเป็นเงิน 3.45 หมื่นล้านบาท ส่วนจะได้ทรัพย์และนำไปขายทอดตลาดนำเงินมาชดใช้ ‘คลังหลวง’ เท่าไหร่ ณ ตอนนี้ ยังไม่มีใครทราบ
อ่านประกอบ :
ขยายผลฟ้องแพ่ง ‘พยาน’ คดีข้าวจีทูจี! 5 หน่วยงานเซ็นตั้ง ‘คณะทำงาน’ เรียกค่าเสียหายเพิ่ม
โชว์ยึดทรัพย์ทุจริตขายข้าวจีทูจี! ได้เงินสด 10 ล้าน-เรือ 1 ลำ-รถยนต์ 23 คัน-ปืน 18 กระบอก
ตามยึดทรัพย์ ‘ที่ดิน-บ้าน-รถ-ปืน’! 5 หน่วยงานตั้ง 'ทีมบังคับคดี' ทุจริตขายข้าวจีทูจี
เจาะ 5 เอกชนทุจริตข้าวจีทูจี ‘รายได้หด-ขาดทุนอื้อ’หาเงินจากไหนคืนรัฐ 2.9 หมื่นล.?
‘คต.’ ประสานอัยการฯขอศาลออก ‘หมายบังคับคดี’ ก่อนลุยสืบทรัพย์ทุจริตข้าวจีทูจี
ล้วงคำพิพากษาฉบับเต็ม! ชำแหละ ‘หมอโด่ง’คีย์แมนดีลขายข้าวคดีทูจีเก๊ก่อนโดนคุก 50 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/