‘คต.’ เร่งประสานอัยการฯขอศาลออก ‘หมายบังคับคดี’ ก่อนยึดทรัพย์จำเลยคดีทุจริตขายข้าวจีทูจี ยังไม่นิ่งนอนใจ แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน เตรียมเรียกถก 5 หน่วยงาน กำหนดแนวทางสืบทรัพย์
จากกรณีที่นายศุภฤกษ์ เอี่ยมลออ รักษาการผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และฝ่ายกฎหมายของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาระบุว่า นับตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำเลยคดีนี้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2562
แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้หน่วยงานผู้เสียหาย 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1.กรมการค้าต่างประเทศ 2.องค์การคลังสินค้า (อคส.) 3. องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) 4.กระทรวงพาณิชย์ และ5.กระทรวงการคลัง ยังไม่มีความคืบหน้าในการยื่นเรื่องต่อกรมบังคับคดี เพื่อบังคับให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาฯแต่อย่างใดนั้น
ล่าสุดนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ แต่สาเหตุที่ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการบังคับคดี และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้นั้น เนื่องจากทางอัยการฯอยู่ระหว่างยื่นเรื่องต่อศาลฯเพื่อขอให้ออกหมายบังคับคดี ซึ่งกรมฯได้ประสานงานกับอัยการเป็นระยะๆ มาตั้งแต่วันที่ได้รับคำพิพากษาศาลฯอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนธ.ค.2562 แล้ว
นอกจากนี้ กรมฯยังได้เรียกประชุม 5 หน่วยงานผู้เสียหายมาประชุมกันแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 โดยเบื้องต้นได้มีการหารือถึงการแบ่งหน้าที่ว่า เมื่อมีหมายบังคับคดีออกมาแล้ว แต่ละหน่วยงานจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น จะแยกกันสืบทรัพย์หรือสืบทรัพย์ร่วมกัน และมีรายละเอียดข้อมูลบางอย่างที่จะต้องไปขอกับทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้การดำเนินการสืบทรัพย์ไม่มีปัญหาในภายหลัง
“ตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว กรมฯได้ประสานกับทางอัยการฯเป็นระยะๆ ในการยื่นขอให้ศาลฯออกหมายบังคับคดี แต่เนื่องจากคดีนี้มีรายละเอียดมาก จึงต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมฯได้รับหมายบังคับคดีมาแล้ว จะเรียกประชุม 5 หน่วยงานอย่างเป็นทางการ กำหนดแนวทางในการสืบทรัพย์จากจำเลย และดูว่าแต่ละหน่วยงานเข้าถึงข้อมูลทรัพย์สินอะไรได้บ้าง เพราะการเข้าถึงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่เหมือนกัน” นายกีรติกล่าว
สำหรับการสืบทรัพย์จากจำเลย เพื่อนำมาชดใช้ค่าเสียหายคดีทุจริตข้าวจีทูจี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1.จำเลยที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการประจำ การบังคับคดีในส่วนนี้ ได้มีการดำเนินการตามคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามความผิด พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ไปแล้วเมื่อปี 2559 ซึ่งในส่วนนี้กรมฯได้ร่วมกับกรมบังคับคดีได้ดำเนินการสืบทรัพย์ไปแล้ว โดยมีระยะเวลาในการสืบทรัพย์ 10 ปี เนื่องจากการสืบทรัพย์ทำได้ยาก จึงต้องค่อยๆหากันไป ส่วนทรัพย์ที่พบแล้วก็ทยอยส่งเข้าหลวงไป
“เราร่วมกับกรมบังคับคดีเข้าไปสืบทรัพย์ ซึ่งทรัพย์ส่วนนี้ไม่มากนัก เพราะเป็นการดูจากทรัพย์ที่มีทะเบียน เช่น โฉนด คอนโด อสังหาริมทรัพย์ ที่ถือในนามส่วนตัว แต่การยึดทรัพย์ตรงนี้ก็ไม่ง่าย เราโดนฟ้องสวนกลับมาก็หลายราย เพราะหาว่าเราไปกลั่นแกล้งเขา แต่เราก็ชนะ เนื่องจากศาลฯไม่รับฟ้อง โดยเราได้ทรัพย์มาจำนวนหนึ่ง และส่งให้กรมบังคับคดีไปแล้ว” นายกีรติกล่าว
2.กลุ่มบริษัท สยามอินดิก้า และจำเลยผู้เกี่ยวข้อง เช่น ‘เสี่ยเปี๋ยง’ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร รวมถึงเครือข่าย ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์ไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการทุจริต ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) โดย 2 ปีที่ผ่านมา ปปง.ได้อายัดทรัพย์แล้ว 1.62 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อมีหมายบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฯเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2562 ออกมาแล้ว กรมฯและผู้เสียหายอีก 4 หน่วยงาน จะเข้าหารือกับปปง.ว่า ทรัพย์ที่ปปง.อายัดไปแล้วนั้น มีทรัพย์ส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ และมีมากน้อยเพียงใด เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน
3.จำเลยที่เป็นบริษัทเอกชน 4 บริษัท ซึ่งศาลฯสั่งให้ร่วมกันชดใช้ความเสียหาย ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2562 เมื่อมีหมายบังคดีบังคดีมา กรมฯและ 4 หน่วยงาน จะร่วมกับกรมบังคับคดี ดำเนินการติดตามเรียกค่าเสียหายต่อไป โดยกรมฯเชื่อว่าบริษัทฯเหล่านี้มีทรัพย์เหลืออยู่ให้ติดตามได้ เพราะก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษา บริษัทเหล่านี้ยังทำธุรกิจอยู่ และหากมีการโยกทรัพย์ไปที่อื่น ก็จะมีความผิดตามกฎหมายฉบับอื่นๆ จึงมั่นใจว่าจะตามทรัพย์กลับมาได้
“เราไม่ได้นิ่งเฉย แต่เนื่องจากการดำเนินการมีความซับซ้อน เวลาที่ 5 คนจะเดินไปแต่ละขั้น ต้องศึกษาดีๆ ไม่ใช่มาแพ้เทคนิเคิล น็อกเอาท์ ทำเอกสารผิด ทำขั้นตอนผิด และจริงๆเราอยากให้หน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการสืบทรัพย์บังคับคดี เช่น ปปง. ปปส. ดีเอสไอ เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน แต่เขาก็งานเยอะ ส่วนเจ้าหน้าที่เราก็ไม่มีประสบการณ์ และมีนิติกรแค่ 20 คน แต่ต้องทำงานทั้งกรมฯ แต่เราก็จะทำให้ดีที่สุด ไม่เช่นนั้นจะโดนมาตรา 157” นายกีรติกล่าว
เมื่อถามว่า จะสืบทรัพย์จากจำเลยมาได้เท่าไหร่ เพราะยิ่งเวลาผ่านไปนานจะไม่มีทรัพย์ให้ยึด นายกีรติ กล่าวว่า “คำว่าล่วงเลย เราจะรีบไปทำก็ไม่ได้ เพราะเป็นการทำที่เกินกว่ากรอบอำนาจที่มีอยู่ ผมเข้าใจสังคมนะ ว่าบังคับคดีช้า จะไปยึดอะไร เขาก็โยกย้ายทรัพย์หนีไปหมด แต่ถ้าวันนี้ผมไม่มีหมายบังคับคดี ผมก็โดนสวนกลับ ซึ่งเราก็ติดตามอยู่ ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ด้วยขั้นตอน ก็ต้องรอ จะไปข้ามขั้นไม่ได้”
นอกจากนี้ หากกรมฯไม่มีหมายบังคับคดี การขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆว่า จำเลยในคดีนี้มีทรัพย์อยู่ที่ไหนบ้างจะทำไม่ได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคล
อ่านประกอบ :
ชำแหละความเสียหายข้าวจีทูจี 2 หมื่นล.ศาลฎีกาฯเชือดแล้ว-ไฉนหน่วยงานรัฐไม่ยื่นบังคับคดี?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/