“...คดีความเกี่ยวกับนายทักษิณที่ถูกรื้อขึ้นมาใหม่อีกรอบภายหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่เมื่อปี 2560 เป็นต้นมา โดยนายทักษิณถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกรวม 3 สำนวน 10 ปี ไม่รอลงอาญา และยกฟ้อง 2 คดี ยังมีในชั้นไต่สวน ป.ป.ช. อีก 1 คดี…”
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เผยแพร่เอกสารข่าว พิพากษาจำคุก 5 ปี นายทักษิณ คดีให้บุคคลถือหุ้นแทนในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป และเข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม (อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯพิพากษาคุก 5 ปี‘ทักษิณ’ให้นอมินีถือหุ้น‘ชินคอร์ป’-มีส่วนได้เสียกิจการโทรคมนาคม)
นับว่าเป็นคดีที่ 5 ของนายทักษิณ ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ภายหลังอัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้นำคดีที่นายทักษิณตกเป็นจำเลยอย่างน้อย 5 คดีที่ถูกจำหน่ายออกจากสารบบความเนื่องจากจำเลยหลบหนี มาพิจารณาใหม่ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.ศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ) ทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาคดีขึ้นมาใหม่ได้ เพื่อพิพากษาคดีลับหลังจำเลยได้
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า คดีที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในชั้นศาลฎีกาฯของนายทักษิณนั้น ขณะนี้มีอย่างน้อย 5 คดีแล้ว ?
ผลแต่ละคดีเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมให้ทราบ ดังนี้
@ถูกจำคุก 3 คดี รวมโทษ 10 ปี ได้แก่
หนึ่ง คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน
คดีนี้ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้ตรวจสอบ ต่อมาส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนต่อ หลังจากนั้น ป.ป.ช. มีการชี้มูลความผิด และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) แต่ท้ายที่สุด อสส.ไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช.จึงดำเนินการฟ้องคดีเอง
ศาลมีคำวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ มีวัตถุประสงค์ในการหารายได้เข้ารัฐ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดให้เล่น และจำหน่ายเอง โดยได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย หากจำหน่ายสลากได้ไม่หมด รางวัลอาจถูกลดลงได้ เงินได้หลังหักเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแล้วต้องนำส่งเป็นรายได้คืนแผ่นดิน
แต่รัฐบาลนายทักษิณ มีมติ ครม.ให้ออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว (หวยบนดิน) ไม่มีจำกัดวงเงินการเล่น และไม่มีจำกัดวงเงินการจ่าย และไม่มีวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินรายได้เป็นการเฉพาะ และแตกต่างจากสลากปกติที่มีการจำกัดวงเงินรางวัล จึงมีลักษณะเป็นการกินรวบ (หวยใต้ดิน) ที่อาจำทำให้สำนักงานสลากฯขาดทุน ส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย ดังนั้นมติ ครม.ดังกล่าว จึงไม่เป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากฯ ดังนั้นการสั่งการของนายทักษิณ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เงินที่จ่ายเกินไปกว่ารายได้ของการจำหน่ายสลากจึงถือว่าก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่รัฐ
ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา (อ่านประกอบ : แสน ล.ยังไม่ส่งรายได้แผ่นดิน! คำพิพากษาศาลชำแหละคดีหวยบนดิน‘ทักษิณ’รู้อยู่แล้วขาดทุน-ขัด กม.)
สอง คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4 พันล้านบาท
เป็นอีกคดีที่เกิดขึ้นจากการไต่สวนของ คตส. และส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด แต่ อสส.ไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช. จึงดำเนินการฟ้องคดีเอง โดยศาลฎีกาฯพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนายทักษิณ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 40,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพเมียนมา โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง หรือผู้อื่น
ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา (อ่านประกอบ : ย้อนผลสอบคตส.-หนังสือ 'สุรเกียรติ์' มัดทักษิณสั่งปล่อยกู้ Exim Bank - ก่อนโดนคุก 3 ปี)
สาม คดีให้นอมินีถือหุ้น‘ชินคอร์ปฯ’-เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม
โดยคดีนี้ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยในสาระสำคัญว่า นายทักษิณ ถือครองหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปฯ มาโดยตลอด โดยให้บุคคลอื่นมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทน (นอมินี) จึงฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 100 (2) ขณะเดียวกันในช่วงที่นายทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสรรพสามิต ในเรื่องการลดพิกัดอัตราและยกเว้นภาษีสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้บริษัทในเครือของชินคอร์ปฯได้รับประโยชน์
ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
โดยองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว (อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯพิพากษาคุก 5 ปี‘ทักษิณ’ให้นอมินีถือหุ้น‘ชินคอร์ป’-มีส่วนได้เสียกิจการโทรคมนาคม)
@ยกฟ้อง 2 คดี
สี่ คดีสั่งกระทรวงการคลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ
ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยในสาระสำคัญว่า กรณีนายทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ นั้น ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายทักษิณ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษในการให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนทีพีไอ และไม่ได้แสวงผลประโยชน์ หรือกระทำการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงพิพากษายกฟ้อง
ต่อมา ป.ป.ช.ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้มีคำพิพากษายืนตามศาลฎีกาฯ ยกฟ้องนายทักษิณเช่นเดียวกัน (อ่านประกอบ : ผลอุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายืนยกฟ้อง‘ทักษิณ’ไม่แทรกแซงฟื้นฟูกิจการ‘ทีพีไอ’)
ห้า คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริตเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท
คดีนี้ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยรวมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้องไปเรียบร้อยแล้ว และสั่งจำหน่ายในส่วนของนายทักษิณออกจากสารบบชั่วคราวเนื่องจากหลบหนี
ต่อมามีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่ตาม พ.ร.บ.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ โดยศาลวินิจฉัยว่า ตามพยานที่ให้การแก่ คตส. ป.ป.ช. และศาลฎีกาฯ อ้างว่าคนสั่งการคือ ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ นั้น ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่าคือนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (อดีตภรรยานายทักษิณ) และคำให้การของพยานนั้นจับความเอากับเคยประชุมร่วมกับจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความคิดและความเข้าใจไปเองของพยาน
นอกจากนี้ไม่มีพยานหลักฐานใดส่อแสดงหรือบ่งชี้ว่านายทักษิณได้ร่วมกันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องสั่งการจำเลยอื่น ๆ ในการกระทำความผิดส่วนนี้ จึงพิพากษายกฟ้อง (อ่านประกอบ : ‘ทักษิณ’รอดอีกคดี! ศาลฎีกายกฟ้องคดีกรุงไทย-หลักฐานไม่ชัดเป็น'ซุปเปอร์บอส')
@ยังเหลือคดีถูกกล่าวหาร่วมทุจริตระบายข้าวจีทูจีล็อต 2
นอกเหนือจากคดีความในชั้นศาลฎีกาฯแล้ว นายทักษิณยังปรากฏชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีสำคัญที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. อีกอย่างน้อย 1 คดี ได้แก่ คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญาสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (คดีข้าวจีทูจีล็อตสอง) โดย ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่านายทักษิณ มีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวีดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค ถ.เลียบทางด่วนรามอินทรา ระหว่างนายทักษิณ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง โดยนายทักษิณ สั่งให้แต่งตั้ง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (จำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีล็อตแรก ปัจจุบันหลบหนี) เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง) และสั่งการชัดเจนว่า ให้ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ดูแลเรื่องการระบายข้าว
ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนโดยคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ดังนั้นจึงยังถือว่านายทักษิณยังเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีนี้อยู่ (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ส่งหนังสือแจ้งข้อหา 71 รายพันคดีข้าวจีทูจีล็อต 2-‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เยาวภา’ด้วย, ขยายผลจาก‘บุญทรง’!มติทางการ ป.ป.ช. ไต่สวน‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เจ๊แดง’ คดีข้าว-มันจีทูจี)
ทั้งหมดคือคดีความเกี่ยวกับนายทักษิณที่ถูกรื้อขึ้นมาใหม่อีกรอบภายหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่เมื่อปี 2560 เป็นต้นมา โดยนายทักษิณถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกรวม 3 สำนวน 10 ปี ไม่รอลงอาญา และยกฟ้อง 2 คดี ยังมีในชั้นไต่สวน ป.ป.ช. อีก 1 คดี