ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลังจำคุก 5 ปี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ให้นอมินีถือหุ้น บ.ชินคอร์ปฯ ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์บริษัทในเครือ เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม ออกหมายจับนำตัวมาบังคับตามคำพิพากษาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลย คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100
ศาลฎีกาฯวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 100 (2) ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 วาระ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ โดยให้บุคคลอื่นมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทน อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประดยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และฝ่าฝืน พ.ร.บ.ดังกล่าว จำเลยให้บุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนจำเลยต่อเนื่องมาโดยตลอด เพียงแต่ในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 วาระติดต่อกันเท่านั้น ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเดียว กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (2) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว มิใช่ 2 กรรมตามโจทก์ฟ้อง
ศาลวินิจฉัยอีกว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้มอบนโยบายและสั่งการให้ตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 เพื่อจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐ โดยคณะรัฐมนตรีที่เป็นจำเลย เป็นหัวหน้ารัฐบาล มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราภาษีและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ลงวันที่ 28 ม.ค. 2546 ให้ลดพิกัดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากอัตราร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 10 และมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2546 เห็นชอบแนวทางให้คู่สัญญาภาคเอกชนนำภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ หรือค่าสัมปทานที่คู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องนำส่งให้คู่สัญญาภาครัฐได้
จำเลยดำเนินการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท. ชื่อขณะนั้น) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือบริษัท ดีพีซี ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท. ชื่อขณะนั้น) โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้ง 2 บริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเข้ามีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม และเป็นผลให้บริษัทที่จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นได้รับประโยชน์ อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่ต้องปรับบททั่วไปตามมาตรา 157 อีก
พิพากษาว่า จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
โดยองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ จำเลยหลบหนี ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาคดีได้ โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ศาลจึงยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป และอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยดังกล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก BBC Thai https://ichef.bbci.co.uk/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage