"...ปัญหาอีกประการก็คือเรื่องการทุจริต ที่คะแนนค่าคะแนนความโปร่งใสหรือค่า CPI ของประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 101 เมื่อปี 2562 ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การเข้ามาของบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศที่จะสนับให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยก็เป็นไปได้ยากลำบากเช่นกัน จากคะแนนค่าความโปร่งใสดังกล่าว ยังเป็นข้อบ่งชี้ได้ชัดเจนว่า การโฆษณาว่าจะปราบทุจริต ไม่อาจที่จะเป็นจุดแข็งของรัฐบาลชุดนี้ได้อีกต่อไปแล้ว ..."
หนึ่งในประเด็นข่าวการเมืองที่ถูกจับตามองอย่างมากในช่วงเวลานี้ คือ กรณีการลาออกจากตำแหน่งของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพราะนับเป็นการกำหนดรูปแบบนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตข้างหน้านับจากนี้เลยก็ว่าได้
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่สื่อไทยเท่านั้นที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด สื่อต่างประเทศอย่างสำนักข่าวเอเชีย นิกเกอิ ของประเทศญี่ปุ่น ก็ให้ความสำคัญติดตามนำเสนอข่าวเรื่องนี้เช่นกัน ได้ประเมินว่าการลาออกของอดีตข้าราชการการเมืองและรัฐมนตรีทั้ง 4 คนนี้ จะส่งเป็นลูกโซ่ที่เลวร้ายอย่างยิ่ง ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤติไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงข้อมูลรายงานข่าวเรื่องนี้ ของสำนักข่าวเอเชีย นิกเกอิ มานำเสนอ ณ ที่นี้
บทบาทและความรับผิดชอบสุดท้ายของนายสมคิด ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่ง ก็คือต้องหาทางลดความเสี่ยง และรับมือกับกรณีที่แรงงานจำนวนกว่า 10 ล้านคน ที่อาจจะเป็นผู้ว่างงานเนื่องจากภาวะโควิด 19
ขณะที่ นายบ๊อบ เฮอร์เรน่า ลิม นักวิจัยจากสถาบันเทเนโอ้ ให้ความเห็นว่าการที่ประเทศไทยเปลี่ยนตัวผู้นำทางเศรษฐกิจ ณ เวลานี้ ด้วยเหตุผลทางด้านการเมือง มากกว่าการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายเศรษฐกิจใหม่ เป็นเรื่องที่จะส่งผลลบรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับกรณีที่มีการประเมินเอาไว้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบถึง 8.1 เปอร์เซ็นต์
นายบ๊อบ เฮอร์เรน่า ลิม นักวิจัยจากสถาบันเทเนโอ้
เพราะว่าหลังจากนี้จะไม่มีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ประการ ได้แก่ 1.ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจอันเกิดจากไวรัสโควิด 19 ที่ส่งผลต่อความต้องการในประเทศและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 2.ภาวะค่าเงินแข็งอย่างรุนแรงในประเทศ 3. ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง และ 4. อัตราดอกเบี้ยที่เกือบจะเป็นศูนย์ส่งผลทำให้ต้องดำเนินนโยบายแบบขาดดุล
ยิ่งในช่วงเวลานี้ ที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ที่จะมาแทนนายวิรไท สันติประภพด้วยแล้ว ก็หมายความว่าเมื่อขาดรัฐมนตรีคลังที่จะเป็นผู้เสนอผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยุทธศาสตร์ด้านการคลังของประเทศ กำลังถูกแขวนเอาไว้บนการช่วงชิงตำแหน่งของขั้วการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความร้ายแรงที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ มีการประเมินกันว่าแม้จะมีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหน้าใหม่ขึ้นมา แต่ภายใต้การนำของรัฐบาลปัจจุบันที่เป็นรัฐบาลทหารที่ถูกแปลงสภาพมาเป็นรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ก็จะทำให้นโยบายเศรษฐกิจต่างๆไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแม้แต่น้อย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ธนาคารโลกได้ออกรายงานเตือนไว้ว่าแรงงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทย ไม่ใช่แรงงานในระบบปกติ ซึ่งหมายความว่าแรงงานเหล่านี้ไม่ได้ถูกครอบคลุมอยู่ในระบบประกันสังคม และมีความเปราะบางต่อการถูกเลิกจ้างได้โดยง่าย
ที่ผ่านมามีรายงานว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยใช้งบประมาณไปกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อพยายามพยุงสภาวะเศรษฐกิจจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนชุดนโยบายที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานและส่งเสริมความแข่งขันของผู้ประกอบการ ยังไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมมาก่อนภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้
หากย้อนไปนับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าสู่อำนาจ ได้มีความพยายามที่จะทุ่มเงินไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนกว่า 1.431 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างมูลค่าให้กับประเทศและเพิ่มการผลิต
แต่งบประมาณดังกล่าวก็ดูจะไม่ได้ทำให้การเดินหน้าประสบความสำเร็จเท่าไรนัก อันเนื่องมาจากว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งส่วนมากแล้วจะเป็นนายพลทหารที่จะเป็นผู้กำหนดแนวทางเสียมากกว่า
ซึ่งแม้ว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศจะมีข้อดีประการหนึ่งก็คือการความเป็นเป็นระเบียบเรียบร้อย อันเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ อาทิ โตโยต้า และเจนเนอรัล มอร์เตอร์ส เข้ามาลงทุนในประเทศ แต่สิ่งที่บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ยังต้องการอีกเพื่อจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศก็คือความสามารถในการผลิตของแรงงานในประเทศนั้นๆ
ขณะที่จากสถานการณ์ทางการเมืองในเวทีระดับโลก ที่ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศต่างๆกำลังถอนโรงงานจากประเทศจีน จุดนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะมีบริษัทจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีคู่แข่งที่สำคัญที่พยายามจะเสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิตของแรงงานและเทคโนโลยีเช่นกัน อาทิ อินโดนีเซีย,มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ดังนั้น ปัจจัยดึงบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็คงต้องอาศัยมากกว่าความสงบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้เคยอ้างถึงบ่อยๆ
กลับมาที่ช่วงเวลานี้ ที่มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจว่าเลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งตอนปี 2540 และทางธนาคารโลกได้ประเมินว่าประเทศไทยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ถึงจะสามารถกลับไปอยู่ในสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนช่วยเวลาที่ไวรัสโควิด 19 ระบาดได้ ซึ่งก็คืออัตราเติบโตที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น สิ่งที่สาธารณชนควรจะให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือนโยบายรูปแบบเศรษฐกิจที่จะเข้ามาหลังจากนี้จะยังคงเป็นนโยบายที่มีลักษณะสั่งการจากข้างบนลงมาข้างล่าง และยังอ้างว่าขายความสงบ และลดความขัดแย้งของประเทศอีกหรือไม่
เพราะถ้าหากยังคงมุ่งเน้นแต่นโยบายดังกล่าว มากกว่าการปฏิรูประบบทั้งระบบ ก็คงจะไม่ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
อีกปัญหาหนึ่งของประเทศไทยที่มักจะมีการพูดถึงกันก็คือ ประเทศไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่อัตรา 70 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งมากจนเกินไป ดังนั้น ทางแก้ก็คือต้องหาทางให้เศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถพึ่งพาได้ ด้วยการบริโภคภายในประเทศที่มากขึ้น
ซึ่งสิ่งที่จะช่วยได้ก็คือการสร้างแรงจูงใจทางด้านภาษี และการเปลี่ยนแปลงมาตรการทำให้เกิดธุรกิจหน้าใหม่ในภาคการบริการประชาชนในประเทศที่มากขึ้นตามไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การลดกฎเกณฑ์ต่างๆที่ยุ่งยาก ทำให้บริษัทจากต่างประเทศเช่นแกร๊บส์ หรือบริษัททำธุรกิจต่างๆเข้ามาในประเทศมากขึ้น ผนวกกับการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นไปที่ระบบการคิดวิเคราะห์ คิดในด้านการแก้ปัญหามากกว่าระบบท่องจำ
ปัจจัยเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยหน้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามมาด้วย
ปัญหาอีกประการก็คือเรื่องการทุจริต ที่คะแนนค่าคะแนนความโปร่งใสหรือค่า CPI ของประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 101 เมื่อปี 2562 ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การเข้ามาของบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศที่จะสนับให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยก็เป็นไปได้ยากลำบากเช่นกัน
จากคะแนนค่าความโปร่งใสดังกล่าว ยังเป็นข้อบ่งชี้ได้ชัดเจนว่า การโฆษณาว่าจะปราบทุจริต ไม่อาจที่จะเป็นจุดแข็งของรัฐบาลชุดนี้ได้อีกต่อไปแล้ว
ทั้งหมดนี่ คือ ความท้าทายสำคัญที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะแต่งตั้งขึ้นจะต้องหาทางรับผิดชอบ และแก้ไขปัญหาต่อไป ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
เรียบเรียงจาก:https://asia.nikkei.com/Opinion/Thailand-s-rulers-must-act-fast-to-reverse-COVID-19-economic-damage
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage