"...ปัจจุบันแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในส่วนของ WHO ว่าสุดท้ายแล้วเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส แพร่เชื้อผ่านทางอากาศ หรือแบบ Airborne ได้หรือไม่ คำแนะนำ ที่ว่า พวกเราต้องทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยในกรณีที่เชื้อไวรัสโควิด 19 แพร่ทางอากาศได้ นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะล่าสุดขนาดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังต้องสวมหน้ากากในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ เคยยืนยันว่า "ผมไม่เคยต่อต้านหน้าการสวมหน้ากาก แต่ผมเชื่อว่า ขึ้นอยู่กับกาลเทศะ"..."
ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ให้ความสนใจติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
กรณีนักวิทยาศาสตร์จำนวน 239 คนทั่วโลก ได้ส่งคำเตือนไปยังองค์การอนามัยโลกหรือ WHO เพื่อให้เฝ้าระวังความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ในการแพร่เชื้อทางอากาศ หรือแบบ Airborne จากเดิมที่ WHO ได้เคยออกคำเตือนระบุว่าไวรัสโควิด 19 มีความสามารถในการแพร่เชื้อแค่ผ่านทางละอองจากระบบทางเดินหายใจ (การไอและจาม) ของร่างกายมนุษย์เท่านั้น
(อ่านประกอบ : เจาะลึกคำเตือน 'นักวิทย์ 32 ปท.' ถึง 'WHO' โควิด 19 แพร่เชื้อทางอากาศได้จริงหรือ?)
นักวิทยาศาสตร์ 239 คน เตือน WHO ถึงความเป็นไปได้ที่ไวรัสโควิด 19 จะแพร่เชื้อผ่านทางอากาศ (อ้างอิงวิดีโอจาก CBS Evening News)
ปัจจุบันแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในส่วนของ WHO ว่าสุดท้ายแล้วเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส แพร่เชื้อผ่านทางอากาศ หรือแบบ Airborne ได้หรือไม่
คำแนะนำ ที่ว่า พวกเราต้องทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยในกรณีที่เชื้อไวรัสโควิด 19 แพร่ทางอากาศได้ นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
เพราะล่าสุดขนาดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังต้องสวมหน้ากากในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19
ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ เคยยืนยันว่า "ผมไม่เคยต่อต้านหน้าการสวมหน้ากาก แต่ผมเชื่อว่า ขึ้นอยู่กับกาลเทศะ" นับเป็นสัญญาณเตือนโลกที่ไม่ควรถูกมองข้ามเช่นกัน
(ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สวมหน้ากากในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก อ้างอิงภาพจาก บีบีซีไทย)
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลรายงานข่าวสื่อต่างประเทศ พบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ของสหรัฐฯ ได้นำประเด็นเรื่องการแพร่เชื้อทางอากาศหรือทางละอองลอยมานำเสนอ พร้อมระบุถึงคำแนะนำว่าทำอย่างไรถึงจะปลอดภัย การปฏิบัติตามคำแนะนำเดิมๆจะยังคงมีประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้าหากไวรัสโควิด 19 มีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อทางอากาศได้จริง
เรียบเรียงข้อมูลในรายงานฉบับนี้ มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ การแพร่เชื้อทางอากาศหมายถึงอะไร
สำหรับไวรัสแล้ว การแพร่เชื้อทางอากาศหมายถึงตัวไวรัสเองสามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้ด้วยตัวเอง ในรูปแบบที่มีลักษณะคล้ายเกสรดอกไม้ โดยไม่ต้องอาศัยพาหะ
ในปัจจุบันไวรัสส่วนมากมักจะตายเมื่ออยู่นอกร่างกายมนุษย์ แต่ไวรัสบางประเภท เช่น โรคหัดกลับมีความอันตรายและสามารถจะแพร่เชื้อไปในอากาศได้อย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป
สำหรับไวรัสโคโรน่า ยังคงมีความสับสนในการจำกัดนิยาม และขีดความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัส ซึ่งที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญได้เห็นตรงกันหมดว่าไวรัสไม่มีความสามารถในการท่องไปในระยะที่ไกลมากๆในสภาพอากาศที่เปิดได้
แต่ก็มีปรากฏหลักฐานว่าไวรัสโควิด 19 มีความสามารถในการเดินทางไปได้ไกลด้วยระยะทางประมาณ 1 ห้องเป็นอย่างน้อย และสามารถอยู่ในอากาศในห้องนั้นๆได้นานถึง 3 ชั่วโมง
@ การแพร่เชื้อผ่านละอองลอย แตกต่างจากละอองของเหลวจากระบบทางเดินหายใจอย่างไร
ละอองลอย ก็คือ ละอองของเหลวที่มาจากระบบทางเดินหายใจของระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ แต่ละอองลอยนั้นมีความแตกต่างจากละอองของเหลวในเรื่องของขนาดเท่านั้น ในบางครั้งนักวิทยาศาสตร์ก็จะจำแนกให้ละอองของเหลวที่มีขนาดต่ำกว่า 5 ไมครอน เป็นละอองลอย (ยกตัวอย่างเช่นเซลล์เม็ดเลือดแดงของมนุษย์มีขนาด 5 ไมครอน ขณะที่เส้นผมมีขนาด 50 ไมครอน)
โดยในช่วงแรกของการระบาด ทาง WHO และหน่วยงานสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก ได้มุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัส ผ่านละอองของเหลวที่มีขนาดใหญ่ ที่มาจากการไอหรือจามของผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการป่วย
ซึ่งละอองของเหลวจะมีลักษณะที่ใหญ่กว่า และจะตกสู่พื้นผิวของสิ่งต่างๆ หรืออาจจะอยู่ตามสิ่งต่างๆที่มือได้ไปสัมผัสหลังจากปิดปากเวลาไอหรือจาม
นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับสุขภาพต่างๆทั่วโลกได้ออกคำเตือนให้มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 ฟุตขึ้นไป และหมั่นล้างมืออยู่บ่อยๆ
การแพร่เชื้อผ่านละอองของเหลวทั้งขนาดเล็กและใหญ่ (อ้างอิงรูปภาพจากhttps://www.eurekalert.org)
แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่าผู้ติดเชื้อโควิด 19 มีแนวโน้มจะปล่อยละอองลอยเมื่อเวลาไอหรือจาม หรือในบางครั้ง ในช่วงเวลาที่ผู้ติดเชื้อหายใจ พูด ร้องเพลง หรือตะโกน ก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยละอองลอยที่ติดเชื้อออกมาแล้ว
และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีรายงานออกมาอีกว่า ผู้ติดเชื้อแม้จะไม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด แต่แค่พูดออกมาก็สามารถปล่อยละอองลอยขนาดเล็กมากที่ทำให้ติดเชื้อได้แล้ว
ซึ่งขณะนี้มีการประเมินถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับกรณีซุปเปอร์สเปรดเดอร์ว่าอาจจะมาจากการแพร่เชื้อโดยผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการมากกว่าผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยให้เห็น
@ การล้างมือและการเว้นระยะห่างยังคงได้ผลหรือไม่
การเว้นระยะห่างทางสังคมยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าเรายิ่งใกล้ผู้ติดเชื้อเท่าไร เราก็จะมีโอกาสที่จะปนเปื้อนละอองลอยและละอองของเหลวจากผู้ติดเชื้อได้มากเท่านั้น เช่นกันการล้างมือก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ควรจะเพิ่มจากการล้างมือและการเว้นระยะห่างทางสังคมก็คือการสวมใส่หน้ากากที่ควรจะบ่อยขึ้นมากกว่าเดิม
@เราควรใส่หน้ากากในระดับคุณภาพเดียวกับที่มีการใช้ในโรงพยาบาลหรือไม่ และเราสามารถอยู่นอกเคหสถานได้นานเท่าไร
ในปัจจุบันยังคงมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมากมีความต้องการหน้ากากระดับ N95 ซึ่งมีความสามารถในการป้องกันละอองลอยได้ดี และมีความจำเป็นที่บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้จะต้องใช้หน้ากากในขั้นตอนกระบวนการแพทย์ต่างๆที่จะมีความเสี่ยงในการปกเปื้อนละอองลอยที่ติดเชื้อ
สำหรับประชาชนทั่วไป หน้ากากผ้ายังคงถือเป็นสิ่งที่จะลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อผ่านการแพร่เชื้อทางอากาศได้เป็นอย่างยิ่ง ตราบเท่าที่เรายังสวมใส่หน้ากากผ้า
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้ออกคำเตือนว่าถ้าหากเราต้องอยู่ในสถานที่ปิดซึ่งไม่ใช่บ้าน กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวเดียวกับเรา
การสวมใส่หน้ากากผ้าก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันการติดเชื้อ
ส่วนระยะห่างเท่าไรที่เราจะปลอดภัยจากผู้ติดเชื้อ ณ เวลานี้ ทางผู้เชี่ยวชาญก็พยายามหาคำตอบว่าระยะเท่าไรจึงจะเหมาะสม
แต่ปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงก็คือยิ่งในห้องมีความแออัดน้อยเท่าไร และอากาศยิ่งมีความถ่ายเทมากเท่าไร ก็จะลดโอกาสการติดเชื้อมากขึ้นตามไปด้วย
@สิ่งอื่นๆที่เราสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ออกคำแนะนำว่า การทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ ถ้าหากทำในสถานที่เปิดเช่นชายหาด หรือแม้แต่ชายหาดที่มีความแออัดของผู้คน ก็ยังคงมีความปลอดภัยมากกว่าสถานที่ปิดอย่างผับหรือร้านอาหารซึ่งเป็นห้องปิดที่ใช้ระบบอากาศหมุนเวียนภายใน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอยู่ข้างนอก ถ้าต้องไปใกล้ชิดกับบุคคลอื่นเป็นระยะเวลานาน ก็ควรจะมีการใส่หน้ากากหรือเครื่องป้องกันหน้าเพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าหากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ปิดหรือที่ทำงานได้ ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ระบุคำแนะนำว่า ควรที่จะเปิดหน้าต่างและประตูเท่าที่เป็นไปได้ และถ้าหากเป็นไปได้ก็ควรจะมีการติดตั้งระบบแผ่นกรองอากาศให้กับระบบเครื่องปรับอากาศ หรือตั้งค่าเครื่องปรับอากาศในสถานที่ให้เอาอากาศจากข้างนอกมาใช้ มากกว่าจะใช้ระบบอากาศหมุนเวียนในสถานที่ปิด
ซึ่งในช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด 19 การที่อาคารสาธารณะ สถานที่ทำงาน อาคารสำนักงานต่างๆ จะลงทุนในระบบฟอกอากาศ และระบบฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเล็ต ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการลดการติดเชื้อของพนักงานออฟฟิศ
ระบบยูวีฆ่าเชื้อโควิด 19 ที่ติดตั้งควบคู่กับระบบปรับอากาศในศูนย์การแพทย์ที่ประเทศเลบานอน (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.abc27.com/)
ที่ผ่านมามีรายงานว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่สุดที่จะมีการระบาด ถ้าหากไวรัสโควิด 19 มีความสามารถในการแพร่เชื้อทางอากาศ ก็คือ ในบล็อกออฟฟิศ และตามห้องน้ำในอาคารสำนักงานต่างๆที่พนักงานมักจะใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นค่อนข้างนาน
อย่างไรก็ตาม ทางเลือกสำหรับพนักงานออฟฟิศที่ดีที่สุด ก็ยังคงเป็นการลดเวลาการทำงานในสถานที่ปิดให้ได้มากที่สุด เพื่อจะลดโอกาสการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากพนักงานไม่มีหน้ากากไว้สวมใส่
ทั้งหมดนี้ เป็นคำแนะนำและคู่มือการป้องกันตัวของประชาชน กรณีโควิดแพร่เชื้อผ่านทางอากาศได้จริง ที่กำลังรอความชัดเจนอยู่ในขณะนี้
เรียบเรียงเนื้อหาจาก:https://www.nytimes.com/2020/07/06/health/coronavirus-airborne-aerosols.html
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/