“...แม้ตอนนี้จะยังไม่มีหลักฐานโต้แย้งไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถของไวรัสโควิด 19 สามารถแพร่กระจายผ่านละอองลอยได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันอีกเช่นกันว่ามันไม่สามารถทำได้ ดังนั้นในช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจที่มีความไม่แน่นอน มันก็อาจจะเป็นการตัดสินใจที่จะนำไปสู่หายนะได้เช่นกัน ดังนั้นทำไมเราถึงไม่เลือกที่จะป้องกันไว้ก่อน เช่นการออกมาตรการให้มีการใส่หน้ากากไปอีกเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ เพื่อจะให้แน่ใจว่าจะไม่มีการติดเชื้อ...”
นับเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้าม!
ต่อกรณีสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข่าวว่า นักวิทยาศาสตร์จำนวน 239 คน จาก 32 ประเทศทั่วโลก ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ให้พิจารณาคำเตือนเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด 19 หลังพบหลักฐานว่าเชื้อโควิด 19 นั้นมีความสามารถในการแพร่เชื้อทางอากาศด้วยอนุภาคต่ำกว่า 5 ไมครอนได้ หรือที่เรียกกันว่าการแพร่เชื้อแบบ Airborne
ทั้งนี้ การออกมาให้ข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ ถือว่ามีความขัดแย้งกับข้อมูลของ WHO ที่ออกมาระบุก่อนหน้านี้ ว่า การแพร่เชื้อไวรัสนั้นจะเกิดจากกรณีที่ผู้ติดเชื้อไอหรือจามแล้วมีละอองที่ปนเปื้อนไวรัสไปโดนใบหน้า และระบบทางเดินหายใจของผู้อื่นเท่านั้น
เพราะตัวไวรัสไม่สามารถอยู่ในอากาศได้นาน จะหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีขนาดที่เล็กมาก
คำถามที่น่าสนใจต่อกรณีนี้ คือ ถ้าหากว่าเชื้อโควิด 19 สามารถแพร่เชื้อในรูปแบบ Airborne ได้จริงแล้ว จะส่งผลต่อการควบคุมเชื้อเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้จะมีการเว้นระยะห่างทางสังคมแล้ว แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด 19
ตราบใดที่เราไม่ใส่หน้ากาก เราก็มีโอกาสจะติดเชื้อโควิด 19 ได้ทุกเมื่อ แม้จะไม่อยู่ใกล้ใครเลยก็ตาม
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ตรวจสอบข้อมูลเนื้อหารายงานข่าวฉบับเต็มเรื่องนี้ของสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ พบรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
เสียงเตือนครั้งแรก
ถ้าหากจะย้อนเวลากลับไป ในช่วงก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จำนวน 239 คน จะได้ส่งคำเตือนไปยัง WHO ในประเด็นเรื่องโอกาสที่เชื้อไวรัสโควิด 19 จะขยายขีดความสามารถในการแพร่เชื้อผ่านทางอากาศได้ดังกล่าว เมื่อประมาณวันที่ 29 มิ.ย. นางเบเนเดตตา อัลเลแกรนซี หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคติดต่อของ WHO ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ณ เวลานี้ ยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนว่า ไวรัสมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ผ่านทางอากาศ โอกาสในการแพร่เชื้อนั้นมักจะเกิดจากละอองที่เกิดจากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือเกิดจากกรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไปไอหรือจามใส่พื้นผิวของสิ่งของ แล้วมีคนไปจับพื้นผิวนั้นแล้วเอามือไปป้ายหน้าตัวเอง ก็เลยเป็นเหตุทำให้ติดเชื้อโควิด 19
นางเบเนเดตตา ยังย้ำในเวลานั้นด้วยว่า การแพร่เชื้อทางอากาศก็มีความเป็นไปได้ แต่ในปัจจุบันยังขาดหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอที่จะยืนยันข้อสมมติฐานดังกล่าว
นางเบเนเดตตา อัลเลแกรนซี หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคติดต่อของ WHO (อ้างอิงวิดีโอจากช่อง WAIdid)
อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์จากนักวิทยาศาสตร์จำนวนเกือบ 20 คน รวมถึงที่ปรึกษาของ WHO และจากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการพบข้อมูลสำคัญประการหนึ่งว่า เมื่อไวรัสเข้าสู่อากาศ ผ่านละอองจากระบบทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่ว่าละอองจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ก็มีโอกาสที่เชื้อโควิด 19 จะสามารถแพร่กระจายผ่านอากาศ หลังจากที่ผู้ติดเชื้อไอหรือจามออกมา และจะแพร่เชื้อให้กับผู้ที่หายใจเอาเชื้อเข้าไป
ที่ปรึกษารายหนึ่ง (ไม่เปิดเผยชื่อ) ได้พยายามนำรายงานเรื่องนี้ส่งต่อไปให้กับผู้บริหารของ WHO แต่ปรากฏว่าจนถึงเวลานี้ ทาง WHO ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยที่ปรึกษารายนี้ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าที่ WHO ยังคงยึดมั่นกับแนวทางขององค์การที่ประกาศออกไป เพราะว่าถ้าหากยอมรับในข้อมูลว่าเชื้อไวรัสโควิด 19 สามารถแพร่ผ่านทางอากาศได้ แม้จะไม่มีละอองเป็นพาหะ ก็จะส่งผลต่อแนวทางการป้องกันไวรัสโควิด 19 ที่ทาง WHO ได้เคยประกาศไว้อย่างใหญ่หลวง
หรือแม้แต่กระทั่งนางแมรี หลุยส์ แมคลอวส์ คณะกรรมการการระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ก็ได้ออกมายอมรับกับสื่อมวลชนเช่นกัน ว่าตัวเธอนั้นค่อนข้างจะหงุดหงิดกับประเด็นเรื่องความสามารถในการที่ไวรัสโควิด 19 จะสามารถแพร่กระจายผ่านอากาศด้วยอนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก
“ถ้าหากเราคิดทบทวนปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับการจัดการระบบการไหลเวียนของอากาศ เพื่อป้องกันไวรัสโควิด 19 เราก็ต้องเตรียมตัวที่จะเปลี่ยนในหลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้เคยทำมา ซึ่งฉันคิดว่าถ้าเราเริ่มคิดจะทำเรื่องนี้ มันก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่อย่างที่บอกว่ามันจะส่งผลกระทบในแง่ลบอย่างรุนแรงกับแนวทางการควบคุมไวรัสที่ผ่านมา” นางแมรีกล่าว
เสียงเตือนครั้งที่สอง
ย้อนไปเมื่อตอนต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศ ละอองลอยและหมอกควันจำนวน 36 คน ได้ส่งคำเตือนไปยัง WHO เช่นกัน
โดยระบุถึงหลักฐานที่น่าจะเป็นไปได้เกี่ยวกับความสามารถของไวรัสโควิด 19 ในการแพร่เชื้อผ่านอากาศ ซึ่งทาง WHO ก็ได้ให้นางลิเดีย โมรอว์สกา หัวหน้ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ และยังเป็นที่ปรึกษา WHO อย่างยาวนาน เข้าประชุมหารือกับ WHO ถึงแนวทางการแก้ไข
แต่ผลการประชุมในครั้งนั้นก็ได้ข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คนว่าการล้างมืออย่างละเอียดถี่ถ้วน ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องเน้นมากกว่าการป้องกันละอองของเหลวที่อาจแพร่ในอากาศ เพื่อจะป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
ดังนั้น จึงไม่มีการปรับเปลี่ยนคำแนะนำของ WHO แต่อย่างใด
ขณะที่นางลิเดีย ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่า การแพร่เชื้อโควิด 19 นั้นจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่ขาดการระบายอากาศอย่างถ่ายเท และในพื้นที่ปิดที่มีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งที่ผ่านมาทาง WHO ได้พยายามที่จะแยกระหว่างความแตกต่างของละอองของเหลวขนาดเล็กมากกับละอองขนาดใหญ่ที่มาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงแล้ว การแพร่เชื้อโควิด 19 จากผู้ที่ติดเชื้อนั้น สามารถทำได้ทั้ง 2 อย่าง โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นละอองขนาดใหญ่จากระบบทางเดินหายใจ หรือจะเป็นอนุภาคขนาดเล็กก็ตาม
“เรารู้มาตั้งแต่ปี 2489 แล้วว่าการไอจะทำให้เกิดละอองลอง” นางลินด์เซย์ มารร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพร่เชื้อผ่านละอองลอยของไวรัส ประจำมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค สหรัฐอเมริกา กล่าว
นางลินด์เซย์กล่าวต่อว่า แม้ว่าขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่เข้าใจถึงการเพาะเชื้อไวรัสโคโรน่าในห้องแล็บ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องละเลยอันตรายจากการแพร่เชื้อโควิด 19 ผ่านละอองลอย
เพราะจากการทดลองในห้องโรงพยาบาลหลายแห่ง พบข้อมูลว่าห้องโรงพยาบาลที่มีระบบถ่ายเทอากาศที่ดีจะช่วยลดความเจือจางของไวรัสในอากาศ และถ้าหากอัตราการถ่ายเทอากาศยิ่งน้อยเท่าใด อนุภาคไวรัสก็จะสะสมตัวอยู่บนอากาศ ทำให้มีความอันตรายมากขึ้น
โดยถ้าหากยกตัวอย่างเชื้อไวรัสที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อผ่านละอองลอยในอากาศ เช่นโรคหัด ก็จะพบว่าโรคหัดนั้นมีอัตราการติดเชื้อที่ง่ายมาก และเชื้อสามารถเดินทางไปได้ไกลมากเช่นกัน
นางลินด์เซย์ มารร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพร่เชื้อผ่านละอองลอยของไวรัส ประจำมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค (อ้างอิงรูปภาพจากhttps://vtnews.vt.edu/articles/2020/01/ce-linseymarr.html)
ขณะที่นายบิล ฮาเนจ นักระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กล่าวว่า "ผู้คนส่วนมากยังคิดว่าการแพร่เชื้อผ่านอากาศเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เราได้คาดการณ์ไว้ว่าการแพร่เชื้อทางอากาศนั้นหมายถึงละอองที่เล็กมากที่อาจจะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ในอีกหลายชั่วโมงถัดมา และละอองขนาดเล็กที่ว่านี้ก็เป็นไปได้ที่จะติดตามผิวของสิ่งของต่างๆทั้งบนถนน บนกล่องจดหมาย หรือแม้แต่แพร่เข้าไปในบ้านหลังไหนก็ได้"
ส่วนผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งมีความเห็นว่าการแพร่เชื้อโควิด 19 ส่วนมากจะเกิดจากการสัมผัสกันของผู้ที่อยู่ใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีการแพร่เชื้อของซุปเปอร์สเปรดเดอร์ที่มักจะเกิดขึ้นในสถานที่ปิด ดังนั้นจึงเป็นเหตุสำคัญที่ไม่ควรจะละเลยเรื่องความสามารถในด้านการแพร่เชื้อโควิด 19 ผ่านละอองลอยได้
@ มาตรการการป้องกันก่อนเกิดเหตุ
ต้องยอมรับข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ตอนนี้ WHO มีการแจ้งเตือนให้ระวังไวรัสโควิด 19 ที่ค่อนข้างช้ากว่าหน่วยงานควบคุมโรคของประเทศสมาชิก WHO เช่นการเตือนให้ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อช้ากว่าทางหน่วยงานควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) เป็นอย่างมาก หรือแม้แต่ในตอนนี้ที่ WHO ยังคงเชื่อว่าการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการนั้นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน ที่จะทำให้ WHO เชื่อเช่นนั้น
ซึ่งแนวคิดนี้ทำให้ที่ปรึกษาของ WHO หลายคนค่อนข้างไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะคิดว่า WHO ควรจะออกมาตรการเพื่อป้องกันเหตุร้ายก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ดีกว่าที่จะรอให้มีเหตุเกิดก่อนแล้วจึงออกมาตรการ
ดังนั้นแทนที่ WHO จะรอหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสามารถของไวรัสโควิด 19 แล้วจึงออกมาตรการป้องกัน WHO ควรจะประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แล้วจึงออกมาตรการป้องกันเหตุการระบาดล่วงหน้า แม้ว่าเหตุการณ์เลวร้ายที่ว่านั้นจะยังไม่เห็นหลักฐานที่เด่นชัดก็ตาม
นางทริช กรีนฮอลจ์ แพทย์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า “แม้ตอนนี้จะยังไม่มีหลักฐานโต้แย้งไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถของไวรัสโควิด 19 สามารถแพร่กระจายผ่านละอองลอยได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันอีกเช่นกันว่ามันไม่สามารถทำได้ ดังนั้นในช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจที่มีความไม่แน่นอน มันก็อาจจะเป็นการตัดสินใจที่จะนำไปสู่หายนะได้เช่นกัน ดังนั้นทำไมเราถึงไม่เลือกที่จะป้องกันไว้ก่อน เช่นการออกมาตรการให้มีการใส่หน้ากากไปอีกเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ เพื่อจะให้แน่ใจว่าจะไม่มีการติดเชื้อ”
ส่วนนายพอล ฮันเตอร์ คณะกรรมการป้องกันโรคระบาดและศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ได้กล่าวว่า แม้การแพร่เชื้อจากละอองลอยจะยังคงจำกัดอยู่ แต่ถ้า WHO ออกมาตรการควบคุมที่เหมาะสมในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันเหตุไว้ก่อน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลในประเทศรายได้ปานกลาง ก็จะช่วยลดภาระจากการนำทรัพยากรที่จำกัดเพื่อไปรักษาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมได้
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ ทาง WHO โดยนาง Soumya Swaminathan หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO ยังคงยืนยันว่า ณ เวลานี้ทางองค์การต้องขอประเมินข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่างๆก่อนเกี่ยวกับการแพร่เชื้อโควิด 19 ผ่านอากาศอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด แล้วจึงจะออกแนวทางที่ชัดเจนต่อสาธารณชนอีกทีหนึ่ง
อ้างอิงรูปภาพนาง Soumya Swaminathan หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO จากนิวยอร์กไทม์
จากข้อมูลทั้งหมดสะท้อนให้เห็นมุมมองและท่าทีของ WHO เกี่ยวกับกรณีนักวิทยาศาสตร์จำนวน 239 คน จาก 32 ประเทศทั่วโลก ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ให้พิจารณาคำเตือนเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด 19 หลังพบหลักฐานว่าเชื้อโควิด 19 นั้นมีความสามารถในการแพร่เชื้อทางอากาศด้วยอนุภาคต่ำกว่า 5 ไมครอนได้ หรือที่เรียกกันว่าการแพร่เชื้อแบบ Airborne
ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างไรดี ว่า ให้ความสำคัญกับคำเตือนเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด?
อ้างอิงเนื้อหาจาก:https://www.nytimes.com/2020/07/04/health/239-experts-with-one-big-claim-the-coronavirus-is-airborne.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage