“...คนที่ไปกู้เงินทางตรงจากภาครัฐพบว่าไม่ค่อยสำเร็จ โดยเฉพาะซอฟท์โลน ซึ่งไม่ได้ง่ายเลย และมีเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง อย่างเช่น งบดุลต้องสวย และถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากันยาวๆ ก็จะกระทบหนัก ถึงตอนนั้นเจ้าของจะขาย (โรงแรม) หรือปล่อยให้เป็นหนี้เสีย (NPL) ก็คงขึ้นอยู่กับตัดสินใจของแต่ละราย...”
แม้จะเริ่มเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์ สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวไทย
หลังรัฐบาลส่งสัญญาณเดินหน้านโยบาย ‘จับคู่ประเทศท่องเที่ยว’ หรือ ‘travel bubble’ กับประเทศที่ปลอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเริ่มจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น พร้อมๆกับการออกประกาศผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : คลายล็อกคนไทย-ต่างชาติบินเข้าปท.! กพท.ตั้งเงื่อนไขอนุญาต 11 กลุ่ม-มีผล 1 ก.ค.นี้)
แต่แล้วความหวังของภาคการท่องเที่ยวไทยต้อง ‘ริบหรี่’ อีกครั้ง เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และบางประเทศมีการระบาดระลอกที่ 2 แล้ว รวมถึงการปิดเมืองรอบใหม่ (อ่านประกอบ : โควิดโลกทะลุ 12 ล.! ฟิลิปปินส์ ติดเชื้อใหม่พุ่ง 2,486 ราย - ออสเตรเลีย สั่งปิด 'เมลเบิร์น')
ทำให้ล่าสุด จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กพท. ออกมาระบุว่า การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยตามนโยบาย travel bubble จะต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่คาดว่าเริ่มได้ในตั้งแต่เดือนส.ค.นี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ทำให้ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค.63 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยลดลงเหลือ 6.69 ล้านคน จากระดับ 16.7 ล้านคนในปีก่อน และสร้างรายได้เข้าประเทศเพียง 3.32 แสนล้านบาท จากระดับ 8.21 แสนล้านบาทในปีก่อน
ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุในรายงาน 'Outlook ไตรมาส 2/2020' ฉบับวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 63 จะอยู่ที่ 7.4-11 ล้านคนเท่านั้น
"สมมติฐานกรณีที่ดีกว่า (Better) คาดว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 11 ล้านจาก จากมาตรการ Travel bubble (ข้อตกลงการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19) ที่ไทยอาจมีทำกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศใกล้เคียงอย่างอาเซียนและเอเชียตะวันออก
แต่ในกรณีแย่กว่า (Worse) คือ การระบาดจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง จนต้องใช้มาตรการ lockdown จนจบช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี จะทำให้นักท่องเที่ยวจะหายไปเกือบทั้งหมดในช่วง เม.ย.-ก.ย. และทั้งปี 63 จะมีนักท่องเที่ยวเหลือเพียง 7.4 ล้านคน ซึ่งส่งผลต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอย่างหนัก" SCB EIC ระบุ
ใกล้เคียงกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประเมินว่า ปี 63 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 8 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 39.8 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ธปท.ประเมินว่า ในปี 64 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 16.2 ล้านคนเท่านั้น พร้อมทั้งระบุว่านักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะกลับสู่ภาวะปกติในปี 65 ไปแล้ว หรือต้องใช้เวลาอีก 2 ปี (อ่านประกอบ : มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ติดลบ 8.1%)
“ปี 64 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 16.2 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจะทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 64 จากจำนวนวัคซีนที่แพร่หลายมากขึ้น และในปี 65 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นไปอีก” ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นั่นหมายถึงเม็ดเงินที่เคย 'สะพัด' ในประเทศไทย และไหลเวียนหล่อเลี่ยงธุรกิจท่องเที่ยวของไทยปีละ 1.8-1.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของจีดีพี จะต้อง 'หดหาย' ไปอย่างน้อย 50-60% ในช่วง 2 ปีนับจากนี้
“มีการบอกขาย (โรงแรม) กัน แต่ดีลสำเร็จหรือไม่ เราไม่ทราบ ซึ่งถ้าถามว่ามีคนอยากขายไหม ก็ต้องบอกว่า มีอยู่แล้ว แต่การขายมันได้ทำง่ายขนาดนั้น และต้องยอมรับว่าจำนวนห้องพักของโรงแรมที่มีอยู่ตอนนี้ มันโอเวอร์ซัพพลายมาตลอด” ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ศุภวรรณ ยังระบุว่า ปีที่แล้วไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 38-39 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยอีกกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง แต่อัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 70% เท่านั้น จึงเหลือห้องพักที่ว่างอยู่อีก 20-30% และจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง จะทำให้จำนวนห้องพักว่างเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้และปีหน้า
“เรามีห้องพักโรงแรมในระบบเยอะมากประมาณ 1.8 ล้านห้อง อย่างไรก็ต้องเหลืออยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีนี้ มันไม่มีทางกลับไปที่เดิม” ศุภวรรณบอก
ศุภวรรณ กล่าวว่า วันนี้ผู้ประกอบการธุรกิจโรมแรมต่างก็พยายามหาทางรอดด้วยตัวเอง โดยหาเงินจากแหล่งต่างๆเข้ามาพยุงธุรกิจของตัวเอง เพราะนักท่องเที่ยวที่ลดลงไปมาก ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ในขณะที่แหล่งเงินจากภาครัฐก็เข้าถึงได้ยากมาก โดยเฉพาะเงินกู้ซอฟท์โลน
“คนที่ไปกู้เงินทางตรงจากภาครัฐพบว่าไม่ค่อยสำเร็จ โดยเฉพาะซอฟท์โลน ซึ่งไม่ได้ง่ายเลย และมีเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง อย่างเช่น งบดุลต้องสวย และถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากันยาวๆ ก็จะกระทบหนัก ถึงตอนนั้นเจ้าของจะขาย (โรงแรม) หรือปล่อยให้เป็นหนี้เสีย (NPL) ก็คงขึ้นอยู่กับตัดสินใจของแต่ละราย” ศุภวรรณกล่าว
(ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ)
ศุภวรรณ ตั้งความหวังว่า มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศผ่านโครงการท่องเที่ยวร่วมจ่าย หรือ ‘เที่ยวปันสุข’ ที่จะเริ่มต้นในกลางเดือนก.ค.นี้ จะช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจโรงแรม ส่วนนโยบาย travel bubble นั้น ยังคงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้เมื่อไหร่
“ถ้าเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ก็น่าจะช่วยได้บ้าง เพียงแต่ว่าถ้าเปิดให้เข้ามาได้วันละ 1,000 คน คงไม่มีผลอะไรนัก เพราะเดิมเขา (นักท่องเที่ยวต่างชาติ) เข้ามาวันละหลายหมื่นคน ซึ่งเรามองเป็น 2 กรณี คือ ถ้าเปิดให้เข้ามาเร็ว คือ ภายใน 3 เดือน นักท่องเที่ยวทั้งปีจะอยู่ที่ 8-10 ล้านคน แต่ถ้าเปิดช้า ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 7-8 ล้านคน” ศุภวรรณระบุ
ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า แม้ว่าในปีที่ผ่านมาไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน แต่หากเทียบกับจำนวนห้องพักในโรงแรมมีอยู่ในปัจจุบัน จะพบว่าจำนวนห้องพักอยู่ในภาวะ ‘โอเวอร์ซัพพลาย’ คือ มีจำนวนห้องพักมีสูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทำให้ 1-2 ปีนี้ต้องติดตามว่าจะมีธุรกิจโรงแรมล้มลงเท่าไหร่
“กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเป็น 40 ล้านคน น่าต้องใช้เวลาเป็นปี และคาดว่าธุรกิจโรงแรมกว่า 50% จะอยู่ไม่ได้ และเมื่อธุรกิจล้มจะทำให้เกิดหนี้เสียตามมา ซึ่งจะมีกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ในที่สุด” แหล่งข่าวระบุ
นายธนาคารรายนี้ ยังเสนอว่า ภาครัฐควรมีมาตรการจัดการหนี้เสียหรือหนี้ที่เสี่ยงจะเป็นหนี้เสียในธุรกิจโรงแรมแต่เนิ่นๆ โดยอาจใช้แนวทางของปี 2540 คือ ให้แยกหนี้ของโรงแรมออกมาบริหารต่างหาก เช่น อาจตั้งเงื่อนไขว่าให้เจ้าของเดิมเป็นผู้รับจ้างบริหารโรงแรมไปก่อน และมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะให้เจ้าของเดิมซื้อโรงแรมคืนในราคาเท่าไหร่ และภายในเวลากี่ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความเห็นนายธนาคารดังกล่าวยังสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการ กนง. ที่ระบุว่า ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องควรเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินที่จะเพิ่มขึ้น หากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาดมาก
เช่น สร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditor) มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น และขยายบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (asset management company: AMC) ในการแยกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบการเงินออกไปบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ธุรกิจโรงแรมที่อยู่ในสภาวะ ‘โอเวอร์ซัพพลาย’ และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ ‘ฟองสบู่แตก’ ซึ่งจะก่อให้เกิดหนี้เสียจำนวนมหาศาลตามมานั้น ภาครัฐและธปท. จะมีมาตรการรับมือกันอย่างไร
อ่านประกอบ :
เปิดสูตร'ทราเวล บับเบิ้ล'จับคู่ประเทศเที่ยว-ดึงนักลงทุนกู้เศรษฐกิจ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
สกัดเอ็นพีแอลเร่งตัว! ธปท.ตั้งกลไกเกาะติดลูกหนี้-เผย 3 เดือนช่วยรายย่อย 11.5 ล้านบัญชี
แบงก์ชาติ : เราคงไม่ปล่อยให้ NPLs ไปถึงร้อยละ 50-อาจมีเรื่องระบาดระยะที่สอง
แจง 5 มาตรการขั้นต่ำช่วยลูกหนี้! ธปท.สั่งพักหนี้ 'บ้าน-รถ' อีก 3 เดือน-ลดค่างวด-ชะลอยึดทรัพย์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/