ตลอดปี 2567 ทั่วโลกมีเหตุการณ์สำคัญ มีหลายเรื่องที่คิดว่าไม่น่าจะเกิดก็เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่านี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ หลายเรื่องเองก็เป็นพัฒนาการสืบเนื่องจากปีก่อนหน้า และบางทีก็สืบเนื่องมานานนับสิบปี
ตลอดปี 2567 ทั่วโลกมีเหตุการณ์สำคัญ มีหลายเรื่องที่คิดว่าไม่น่าจะเกิดก็เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่านี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ หลายเรื่องเองก็เป็นพัฒนาการสืบเนื่องจากปีก่อนหน้า และบางทีก็สืบเนื่องมานานนับสิบปี อาทิ ความรุนแรงจากสงครามในตะวันออกกลาง การเข้าร่วมของทหารเกาหลีเหนือในสงครามยูเครนรัสเซีย ความตึงเครียดทะเลจีนใต้ การกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงความพ่ายแพ้อย่างไม่คิดว่าจะมีมาก่อนสำหรับรัฐบาลทหารในสงครามกลางเมืองเมียนมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอาเหตุการณ์เหล่านี้มาประมวลเพื่อนำเสนอ 10 ข่าวเด่นรอบปี 2567 มีรายละเอียดดังนี้
@กษัตร์ย์ชาร์ลส์ และเจ้าหญิงแคทเธอรีน ทรงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง
5 ก.พ.2567 สำนักพระราชวังอังกฤษประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์อังกฤษ ทรงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหลังจากการผ่าตัดต่อมลูกหมากเมื่อเดือน ม.ค. พระองค์ทรงตัดสินใจยุติพระราชกรณียกิจชั่วคราวเพื่อเข้ารับการรักษา
อย่างไรก็ตามสำนักพระราชวังอังกฤษ ไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นมะเร็งชนิดใด แค่บอกว่าเป็นเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้น ส่วนสื่ออังกฤษก็ระบุว่า ไม่ใช่มะเร็งต่อมลูกหมาก และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเริ่มรับการรักษามะเร็งแล้วตั้งแต่ช่วงต้น ก.พ.แล้ว โดยพระองค์จะทรงเลื่อนพระราชกรณียกิจตามคำแนะนำของแพทย์
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีการระบุชนิดของมะเร็ง แต่ว่าในวันที่ 2 มี.ค. สื่ออังกฤษได้รายงานว่าเจ้าชายแฮร์รี่ พระราชโอรสองค์เล็กเสด็จจากประเทศสหรัฐอเมริกา มาเยี่ยมพระราชบิดาทันทีหลังสำนักพระราชวังอังกฤษออกแถลงการณ์อาการประชวรด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งโรคมะเร็งทำให้พระองค์ทรงเริ่มแผนสืบทอดราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการเร็วกว่าที่ตั้งพระทัยไว้ และเจ้าชายวิลเลียม พระราชโอรสองค์โต ที่เป็นรัชทายาทลำดับที่หนึ่ง จะได้ขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่สืบต่อจากพระองค์ ซึ่งกระแสข่าวเหล่านี้ยิ่งทำให้เกิดข่าวลือเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ว่าพระองค์อาจเป็นมะเร็งชนิดที่รุนแรงกว่าที่ได้มีการสื่อสารให้สาธารณชนอังกฤษได้เข้าใจ
ต่อมาในวันที่ 22 มี.ค. เจ้าหญิงแคทเธอรีน แห่งเวลส์ ทรงเปิดเผยว่าพระองค์ทรงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำเคมีบำบัดหลังจากเข้ารับการผ่าตัดช่องท้องในเดือนมกราคม ซึ่งในตอนแรกไม่ได้ทราบว่ามีมะเร็งมาก่อน พระองค์ตรัสในแถลงการณ์ผ่านวิดีโอว่าแม้จะเป็น "เรื่องช็อกครั้งใหญ่" แต่ทรงมีสุขภาพดีขึ้นเรื่อยๆ และส่งกำลังใจให้ผู้ที่เผชิญกับโรคนี้
และล่าสุดในวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงมีพระราชดำรัสในวันคริสมาสต์ โดยตอนหนึ่งพระองค์ทรงขอบคุณทีมแพทย์และพยาบาล ที่คอยสนับสนุนพระองค์ รับมือกับโรคไม่แน่นอนและความไม่สบายใจ ระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงมีพระราชดำรัสในวันคริสมาสต์ (อ้างอิงวิดีโอจาก โกลบอลนิวส์)
@การล่มสลายของระบอบอัสซาด
เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ทั้งโลกไม่ทันตั้งตัว เมื่อกลุ่มกบฏชื่อว่า Hayat Tahrir al-Sham หรือ HTS ได้เปิดปฏิบัติการสายฟ้าแลบเข้ายึดกรุงดามัสกัสเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ส่งผลทำให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ที่ปกครองซีเรียมานาน 24 ปี ต้องหนีไปยังกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย และเหตุการณ์นี้ยังเป็นการยุติสงครามกลางเมืองซีเรียที่กินเวลานาน 13 ปี โดยยุทธการนี้กินเวลาทั้งสิ้น 11 วันเท่านั้น
หนึ่งในการโค่นล้มระบอบอัสซาดก็คือการปลดปล่อยผู้ต้องขังออกจากเรือนจำเซดนาย่า ซึ่งกลายเป็นที่คุมขังและทรมานนักโทษทางการเมืองตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ครอบครัวอัสซาดปกครองประเทศ
โดยรัฐบาลที่นำโดยกลุ่ม HTS ได้พยายามสร้างความมั่นใจให้กับทั้งประชาชน ชนกลุ่มน้อยในประเทศและรัฐบาลในต่างประเทศ ว่าพวกเขาจะปกป้องชาวซีเรียทุกคน
อย่างไรก็ตามนับแต่นายอัสซาดถูกขับไล่ออกไป อิสราเอลก็ได้ทําการโจมตีหลายร้อยครั้งในฐานทางทหารของซีเรีย เพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธของประเทศตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลชั่วคราวหรือกลุ่มที่ไม่หวังดีต่ออิสราเอล นอกจากนี้ยังนำกำลังเข้ายึดพื้นที่ซึ่งเป็นเขตลาดตระเวนของสหประชาชาติบริเวณที่ราบสูงโกลัน
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้มีรายงานว่าทางสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกรางวัลนำจับ 10 ล้านดอลลาร์ของนายอาห์เหม็ด อัล-ชารา ผู้นำกลุ่ม HTS ออกไปแล้ว แต่ยังไม่ยกเลิกการขึ้นบัญชีกลุ่ม HTS ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายเพราะว่ากลุ่มนี้แยกตัวออกจากกลุ่มก่อการร้ายอัลไคดาในปี 2559
ส่วนนายอัล-ชารา ที่ตอนนี้เป็นผู้นำโดยพฤตินัยของซีเรียก็ได้เรียกร้องให้สหประชาชาติ, สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศ ถอนกลุ่ม HTS ออกบัญชีกลุ่มก่อการร้าย และถอนการคว่ำบาตรซีเรีย โดยเขายืนยันว่าจะไม่ทำให้ซีเรียกลายเป็นแบบอัฟกานิสถานแน่นอน
เบื้องหลังความพ่ายแพ้ของนายอัสซาดและการหนีไปยังรัสเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก AiTelly)
@การกลับมาของ ‘ทรัมป์’
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการเลือกตั้งพบว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะเหนือกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี โดยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่าทรัมป์เอาชนะได้ถึง 30 รัฐซึ่งรวมถึง 7 รัฐสมรภูมิสำคัญ นอกจากนี้ นายทรัมป์ยังรักษาฐานเสียงในรัฐอนุรักษ์นิยมได้ทุกรัฐในภูมิภาคตอนกลางและตอนเหนือ ได้รับชัยชนะขาดลอยในหลายรัฐ เช่น ไวโอมิง, ยูทาห์, โอคลาโฮมา, หลุยเซียนา และอาร์คันซอ นอกจากนี้เขายังได้เป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกในรอบ 20 ปี จากพรรครีพับลิกันที่ชนะคะแนนปอปปูลาร์โหวต โดยในครั้งนี้เขาได้รับคะแนนมหาชนเกือบ 77.2 ล้านเสียง ขณะที่นางแฮร์ริสได้ไปแค่ 75 ล้านเสียง
และการที่นายทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งให้รับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย ด้วยวัย 78 ปีในวันเลือกตั้ง จึงเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยเขามีกำหนดเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค.2568
ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ปัจจัยหลายประการที่นำไปสู่ชัยชนะของนายทรัมป์ในสนามเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่นายทรัมป์ถูกลอบยิงเมื่อวันที่ 13 ก.ค. การที่พรรครีพับลิกันสามารถดึงบุคคลสำคัญและมีอิทธิพล อาทิ นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดังที่คาดว่าจะได้นั่งกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency - DOGE) ที่คาดว่ากระทรวงนี้จะถูกตั้งขึ้นภายใต้การดำรงตำแหน่งของนายทรัมป์ ความเบื่อหน่ายของชาวอเมริกันจากการที่สหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในประเทศอื่น ปัญหาเศรษฐกิจ ความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นแรงงาน รวมไปถึงกรณีที่นางแฮร์ริสมีเวลาเตรียมตัวน้อยเกินไป หลังจากการประกาศถอนตัวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการลงชิงตำแหน่ง โดยประกาศเมื่อวันที่ 22 ก.ค.
ทั้งนี้คาดกันว่านโยบายที่นายทรัมป์น่าจะนำมาใช้อย่าแน่นอนและส่งผลกระทบก็คือนโยบายขึ้นภาษีสินค้าจีน ซึ่งรวมไปถึงสินค้าจีนจากประเทศจีนมีโรงงานอยู่ เช่นประเทศไทย และคาดว่านายทรัมป์อาจจะมีการเข้าหาผู้นำบางประเทศบางประเทศที่มีลักษณะเป็นเผด็จการมากขึ้น อาทิ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จากรัสเซีย นายคิม จอง อุน ผู้นำเกาหลีเหนือ หรือแม้กระทั่งประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง จากจีน
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (อ้างอิงวิดีโอจากรอยเตอร์ส)
@การกลับมาของกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม?
นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์การก่อการร้ายโดยมีกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามหรือว่าไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบอยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่เหตุระเบิดฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2567 ในงานไว้อาลัยนายพลคาเซม โซเลมานี อดีตผู้นำกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน ที่ถูกสหรัฐฯ ลอบสังหารของในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2563 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 95 ราย จากการระเบิดฆ่าตัวตายครั้งนี้ และต่อมาก็คือเหตุการณ์กราดยิงกลางงานคอนเสิร์ตที่ชานเมืองกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2567 จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 139 ราย ซึ่งทางการรัสเซียสามารถจับกุมมือปืนผู้ก่อเหตุได้สี่รายในเวลาต่อมา พร้อมกับตั้งข้อหาก่อการร้ายกับทั้งสี่รายนี้
นอกจากนี้ยังมีกรณีการขัดขวางแผนการของกลุ่มไอเอส ที่ต้องการจะก่อเหตุทั้งในคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่กรุงเวียนนมา ประเทศออสเตรีย และขัดขวางแผนการของกลุ่มไอเอสที่พุ่งเป้าไปยังการเลือกตั้งสหรัฐฯ
โดยแม้จะมีเรื่องดีก็คือว่ามีการสกัดแผนของกลุ่มไอเอสได้มากขึ้นในหลายครั้งก่อนที่การก่อการร้ายจะบรรลุผล ซึ่งคาดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุนน่าจะเป็นกลุ่มไอเอส โคราซาน หรือไอเอส-เค ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในอัฟกานิสถาน แต่ก็มีความกังวลกันว่าทั้งจากเหตุการก่อการร้ายของไอเอสที่เพิ่มมากขึ้นและสถานการณ์ไร้กฎระเบียบในประเทศซีเรีย นี่อาจทำให้กลุ่มไอเอสขยายอิทธิพล โดยเริ่มฟื้นฟูฐานกำลังในซีเรียอีกก็เป็นได้
มือปืนสองรายก่อเหตุกราดยิงที่คอนเสิร์ตชานเมืองกรุงมอสโก (อ้างอิงวิดีโอจาก The Telegraph)
@เหตุการณ์เพจเจอร์ระเบิดที่เลบานอน การสังหารผู้นำระดับสูงกลุ่มเฮซบอลเลาะห์
ในช่วงวันที่ 17-18 ก.ย. ที่ประเทศเลบานอน เกิดเหตุการณ์ที่เพจเจอนับหลายพันเครื่องที่อยู่ในกระเป๋าหรือในมือของเจ้าหน้าทหารกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บมากกว่า 2,800 ราย
แต่ผลกระทบนั้นเกินกว่าจํานวนผู้บาดเจ็บล้มตาย ปฏิบัติการนี้แสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของหน่วยข่าวกรองอิสราเอลที่เจาะกลุ่มระบบการสื่อสารของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ผลักดันให้เจ้าหน้าที่เฮซบอลเลาะห์แสวงหาการสื่อสารทางเลือกอื่นๆที่ปลอดภัยกว่านี้ และเกิดความสั่นคลอนในเหล่าผู้นำของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์
สิบวันถัดมาหลังจากเหตุเพจเจอร์ระเบิด อิสราเอลก็ดำเนินปฏิบัติการณ์ลอบสังหารนายฮัสซัน นาสรัล ผู้นำที่เป็นหัวหน้ากลุ่มเฮซบอลเลาะห์มาอย่างยาวนาน ควบคู่ไปกับการโจมตีทางอากาศและทางบกเพื่อทำลายโครงสร้างบัญชาการและคลังอาวุธของกลุ่ม ซึ่งนี้ส่งผลลามไปถึงการทำให้อิหร่านซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของเฮซบอลเลาะห์มีความอ่อนแอด้วยเช่นกัน เพราะสื่อว่าพวกเขาไม่สามารถสนับสนุนกลุ่มต่างๆที่เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอลได้แล้ว
นางพอลล่า ดอยล์ อดีตผู้ช่วยรองผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการที่สำนักข่าวกรองสหรัฐฯ หรือซีไอเอได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Cipher Brief ระบุว่าเป็นไปได้ไหมที่กลุ่มเฮซบอลเลาะห์กับกลุ่มอื่นๆ กำลังมีความกังวลว่าอิหร่านจะไม่สนับสนุนพวกเขาแล้ว และด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่สามารถเตรียมอุปกรณ์ทางาทหารและสั่งสมกำลังได้เร็วพอที่จะตามทันปฏิบัติการของอิสราเอล ซึ่งนี่เป็นความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวง
โดยคาดกันว่าในปี 2568 กลุ่มเฮซบอลเลาะห์น่าจะเหลือแค่เงาของความยิ่งใหญ่ในอดีตเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นมาจากกรณีการใช้ระเบิดจากเพจเจอร์ดังกล่าว
อิสราเอลลอบสังหารผู้นำกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ (อ้างอิงวิดีโอจากอัลจาซีรา)
@ทหารเกาหลีเหนือสู้รบในสมรภูมิยูเครน-รัสเซีย
ในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏเป็นข่าวว่าทางเกาหลีเหนือได้ส่งกองกำลังเข้าไปสุ้รบในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยแลกกับการที่เกาหลีเหนือจะได้รับทั้งเงินและความช่วยเหลือต่างๆ และตอนนี้มีรายงานยอดเสียชีวิตของกองกำลังเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
การส่งทหารเกาหลีเหนือมากกว่า 11,000 นายทําให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีท่าทีว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งระดับโลก และทำให้ภาพความร่วมมือของแกนอีกขั้นหนึ่งนอกจากตะวันตก อันได้ รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ และอิหร่าน ดูเด่นชัดมากขึ้นตามไปด้วย
โดยก่อนหน้านี้ ทหารเกาหลีเหนือส่งไปยังฐานทัพในรัสเซียเพื่อรับการฝึกอบรม เรียนรู้ภาษาและการทํางานของทหารใหม่รัสเซีย แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ทหารเหล่านี้อยู่ในสมรภูมิ และพยายามผลักดันกองกําลังยูเครนในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซีย ที่ตอนนี้มีรายงานว่ากองทัพรัสเซียสามารถยึดภูมิภาคเคิร์สก์ไปได้แล้ว 40% หลังจากยูเครนเปิดฉากบุกภูมิภาคนี้เมื่อช่วงต้น ส.ค. ซึ่งรายงานจากทางยูเครนระบุว่ารัสเซียวางแผนยึดคืนทั้งภูมิภาคนี้ก่อนวันที่ 20 ม.ค. 2568
ทั้งนี้นอกเหนือจากเรื่องอาวุธแล้ว มีรายงานว่าเกาหลีเหนือได้ช่วยเหลือรัสเซียในด้านขีปนาวุธด้วย โดยนายแซม แลร์ นักวิจัยจากศูนย์ James Martin Center for Nonproliferation Studies (CNS) ของสถาบัน Middlebury Institute of International Studies ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองมอนเทอร์เรย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ กล่าวว่า ทางการเกาหลีเหนือได้มีการขยายชื่อว่า February 11 และเป็นส่วนหนึ่งของ Ryongsong Machine Complex ในเมืองฮัมฮัง ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเกาหลีเหนือ และเป็นโรงงานแห่งเดียวที่ทราบกันดีว่า เป็นสถานที่ผลิตขีปนาวุธ Hwasong-11 ที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งเป็นส่วนประกอบ
โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ยูเครนรายงานว่า ขีปนาวุธ Hwasong-11 ที่ชาติตะวันตกรู้จักกันในชื่อขีปนาวุธ KN-23 ถูกกองทัพรัสเซียนำมาใช้เพื่อโจมตียูเครนอยู่
ส่วนตัวเลขทหารเกาหลีเหนือที่เสียชีวิตในสมรภูมินั้น ทางการยูเครนได้รายงานว่าจนถึงวันที่ 25 ธ.ค. มีทหารเกาหลีเหนือเสียชีวิตไปแล้ว กว่า 3,000 นาย ซึ่งแม้ว่าจนถึงตอนนี้ยูเครนมองว่าจำนวนทหารเกาหลีเหนือในสมรภูมิจะยังไม่มากจนพลิกสถานการณ์รบได้ แต่ก็คาดกันว่าอาจจะมีความเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้นจนเป็นปัญหาลามไปถึงปี 2568 ได้
“มีความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือซึ่งอิงไปทางรัสเซียมากขึ้น จะมีความฮึกเหิมใช้อาวุธเพื่อยุแยงให้เกิดความขัดแย้งกับเกาหลีใต้” นาย Joseph DeTrani ประธานพันธมิตรข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติ (INSA) กล่าวกับสำนักข่าว Cipher Brief
วิดีโอที่คาดว่าจะมีภาพของทหารยูเครนจับเชลยเกาหลีเหนือ (อ้างอิงวิดีโอจาก Kanal 13)
@ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซียเสียชีวิตคาคุก และการเข้าดำรงตำแหน่งของ ปธน.ปูตินสมัยที่ 5
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. มีรายงานข่าวว่านายอเล็กเซ นาวาลนี นักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ และเคยเคลื่อนไหวในการจัดประท้วงต่อต้านรัฐบาลรัสเซียครั้งใหญ่ เสียชีวิตระหว่างรับโทษจำคุก 19 ปีในเรือนจำอันห่างไกลในอาร์กติก ด้วยวัย 47 ปี
แถลงการณ์ของเรือนจำรัฐบาลกลางในเขตปกครองยามาโล-เนเนตส์ ของรัสเซีย ระบุว่า นายนาวาลนีรู้สึกไม่สบายหลังจากเดินอยู่ในบริเวณเรือนจำ IK-3 ทางตอนเหนือของอาร์กติกเซอร์เคิล ในเขตคาร์พ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกเมืองหลวงไปราว 1,900 กิโลเมตร ก่อนจะหมดสติไปแทบจะทันที
ทางทำเนียบรัฐบาลกรุงเครมลิน ยืนยันว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้รับทราบเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนาวาลนี แต่ทางโฆษกของผู้นำฝ่ายค้านรัสเซียยังไม่สามารถยืนยันการเสียชีวิตของนาวาลนีได้
ข่าวการเสียชีวิตของนาวาลนี เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้งรัสเซีย ที่ ซึ่งเรียกเสียงวิจารณ์และความไม่พอใจในตัวผู้นำรัสเซียเป็นอย่างมากโดยเฉพาะจากผู้นำประเทศตะวันตก
ขณะที่สื่อมวลชนตะวันตกได้ลงข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายนาวาลนีเอาไว้ตอนหนึ่งว่าสิ่งนี้ส่งผลทำให้กลุ่มที่ต่อต้านปูตินไม่มีหุ่นเชิดเพื่อที่จะนำมาต่อต้านประธานาธิบดีปูตินและไม่มีตัวละครสำคัญที่จะแปรเปลี่ยนความไม่พอใจใดๆให้กลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ได้
ต่อมาในวันที่ 17 มี.ค. ก็มีการนับคะแนนผลเลือกตั้งทั่วไปที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งผลการเลือกตั้งนี้กินเวลา 3 วัน มีผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย 4 คน รวมถึงประธานาธิบดีปูติน และมีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีมากกว่า 112.3 ล้านคน
ผลการนับคะแนนระบุว่าประธานาธิบดีปูตินได้คะแนนนำที่มากกว่าร้อยละ 87 ขณะที่ผู้สมัครลงชิงเก้าอี้คนอื่นๆ ได้เพียงคนละไม่ถึงร้อยละ 5 นี่จึงส่งผลทำให้ประธานาธิบดีปูตินได้นั่งเก้าอี้ผู้นำรัสเซียเป็นสมัยที่ 5 และดำรงตำแหน่งไปอีก 6 ปี ซึ่งทำให้เขาแซงหน้าอดีตผู้นำอย่าง "โจเซฟ สตาลิน" กลายเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของรัสเซียในรอบกว่า 200 ปี
นายอเล็กเซ นาวาลนี ดูมีสุขภาพดี ก่อนจะเสียชีวิตไม่กี่วันหลังจากนั้น (อ้างอิงวิดีโอจาก NBC)
@ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก ก่อนถูกถอดถอน
ย้อนไปกลางดึกวันที่ 3 ถึงวันที่ 4 ธ.ค. เกิดเหตุที่ทำให้ทั่วโลกตกใจ เมื่อประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ประกาศกฎอัยการศึกในระบอบประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกเช่นนี้
การตัดสินใจที่รุนแรงของประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ถูกประกาศผ่านโทรทัศน์ในช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ธ.ค. โดยมีการกล่าวถึง “กองกำลังต่อต้านรัฐ” และภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ
แต่ในไม่ช้าก็เริ่มมีความชัดเจนว่าประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวนั้นไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยภัยคุกคามจากภายนอก แต่ว่ามาจากปัญหาทางการเมืองที่ดูเหมือนว่าจะสิ้นหวังสำหรับนายยุน เนื่องจากในการบริหารงานนั้นปรากฏว่าพรรคเสรีประชาธิปไตยนั้นที่เป็นฝ่ายค้านมีเสียง สส.อยู่ที่ 192 เสียง และพรรครัฐบาลได้แก่พรรคพลังประชาชนเกาหลีใต้ (People Power Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมีเสียง สส. 108 เสียง จากทั้งหมด 300 เสียง ทำให้เกิดภาวะว่ารัฐบาลไม่สามารถผ่านกฎหมายต่างๆได้
ถึงกระนั้นการประกาศกฎอัยการศึกนี้ได้กระตุ้นให้ผู้คนหลายพันคนรวมตัวกันที่รัฐสภาเพื่อประท้วง ในขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้านรีบดำเนินการเพื่อผลักดันการลงคะแนนเสียงฉุกเฉินเพื่อยกเลิกมาตรการดังกล่าว
สิ่งนี้เป็นเหมือนกับการพ่ายแพ้ของนายยุน ซึ่งไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ปรากฏตัวเพื่อยอมรับการลงคะแนนเสียงของสภาและยกเลิกคำสั่งกฎอัยการศึก
ต่อมาในวันที่ 14 ธ.ค. รัฐสภาเกาหลีใต้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 204 เสียง จากทั้งหมด 300 เสียง ให้ "ถอดถอนประธานาธิบดี ยุน ซ็อกยอล" ออกจากตำแหน่ง หลังจากที่การลงมติถอดถอนก่อนหน้านี้ในวันที่ 7 ธ.ค. ล้มเหลว เพราะไม่สามารถหาเสียง สส.มาลงมติได้ถึง 2 ใน 3
ทั้งนี้หลังจากการถอดถอนโดยรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้จะดำเนินการพิพากษาภายในระยะเวลาหกเดือน ว่าจะถอดถอนนายยุนออกจากตำแหน่งหรือไม่ หากคำพิพากษาระบุว่าถอดถอน ก็จะมีการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว
ขณะนี้เกาหลีใต้จึงมีนายกรัฐมนตรีฮันดั๊กซู ซึ่งเป็นนายกฯที่ถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดียุน ทำหน้าที่เป็นรักษาการประธานาธิบดีไปก่อน ขณะที่นายยุนจะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ แต่ว่าเขาจะถูกระงับจากการใช้อำนาจประธานาธิบดี หลังจากที่ดำรงตำแหน่งมาได้ครึ่งทางของวาระห้าปี
เบื้องหลังกฎอัยการศึกที่เกาหลีใต้ (อ้างอิงวิดีโอจากบลูมเบิร์ก)
@ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ในรอบปี 2567
การอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะและอาณาเขตทางทะเลในพื้นที่ทะเลจีนใต้ เป็นข้อพิพาทที่กินเวลานานหลายสิบปีแล้ว แต่ว่าในปี 2567 ประเทศจีนกลับมีการเพิ่มความร้อนแรงของปฏิบัติการในภูมิภาค
โดยจีนได้มีการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ที่เพิ่มขึ้น และได้สร้างเกาะเล็กๆ ที่มักไม่มีคนอาศัยอยู่ และในบางพื้นที่ก็ได้มีการติดตั้งฐานทัพทหารขนาดเล็กบนเกาะเหล่านั้น ซึ่งการอ้างสิทธิ์ของจีนถูกโต้แย้งโดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์
ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดปี 2567 จนถึงย้อนไปในช่วงปี 2566 กองทัพเรือฟิลิปปินส์มีเหตุต้องปะทะกับหน่วยยามฝั่งของจีนอยู่บ่อยครั้ง หนึ่งในเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดคือเมื่อวันที่19 ส.ค. เวลา 03.24 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดการปะทะกันระหว่างเรือของจีนและเรือของฟิลิปปินส์อีก โดยทั้งสองประเทศต่างกล่าวโทษกันและกันสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เหตุปะทะครั้งนี้เกิดขึ้นบริเวณแนวสันดอนซาบินา (Sabina Shoal) หนึ่งในพื้นที่ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยนายเกิ่ง ยู่ โฆษกของหน่วยยามฝั่งจีน กล่าวว่า เรือของฟิลิปปินส์ได้ “พุ่งเข้าชนเรือของจีนโดยเจตนา” ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 ส.ค.
นายเกิ่งกล่าวว่า “เรือของหน่วยยามชายฝั่งฟิลิปปินส์เข้ามาในเขตน่านน้ำใกล้แนวสันสอนเซียนปิน (สันดอนซาบินาในชื่อภาษาจีน)ในหมู่เกาะหนานซา (หมู่เกาะสแปรตลีย์ในชื่อภาษาจีน)อย่างผิดกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีน” และกล่าวเสริมว่า “หน่วยยามฝั่งของจีนได้ดำเนินการควบคุมเรือของฟิลิปปินส์ตามกฎหมาย”
ขณะเดียวกัน กองกำลังพิเศษแห่งชาติของมะนิลาในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกกล่าวว่า เรือของหน่วยยามฝั่ง 2 ลำได้รับความเสียหายจากการชนกับเรือของจีนที่กำลัง “เคลื่อนไหวอย่างผิดกฎหมายและก้าวร้าว” ใกล้กับสันดอนซาบินา
ความตึงเครียดระหว่างฟิลิปปินส์และจีนยังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีกในช่วงปลายปี โดยในเดือน พ.ย. ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ ประกาศว่าได้ลงนามในกฎหมายที่ยืนยันการเข้าถึงดินแดนทางทะเลของประเทศและสิทธิในทรัพยากร รวมถึงในทะเลจีนใต้ ขณะที่จีนได้ประท้วงต่อกรณีนี้
ดังนั้นจึงคาดกันว่าในปี 2568 ที่จะมาถึง ปัญหาระหว่างจีนและฟิลิปปินส์กับกรณีทะเลจีนใต้ ก็น่าจะดำเนินต่อไปและอาจจะมีความร้อนแรงมากขึ้นตามไปด้วย
เรือยามฝั่งจีนชนกับเรือยามฝั่งจากฟิลิปปินส์ (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
@กองทัพเมียนมาเพลี่ยงพล้ำ พ่ายหลายสมรภูมิ
ตลอดปี 2567 เป็นปีที่มีข่าวความเพลี่ยงพล้ำของกองทัพเมียนมาที่สู้รบในหลายสมรภูมิในสงครามกลางเมืองนับตั้งแต่ปี 2564
อาทิ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ปรากฎเป็นข่าวว่ากองทัพโกก้าง (MNDAA) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ได้ประกาศความสำเร็จในการยึดเมืองเล่าก์ก่าย (Laukkai) เมืองเอกในเขตปกครองตนเองโกก้าง ของรัฐฉาน ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีนได้แล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ส่งผลทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องหนีไปที่เมืองล่าเสี้ยว ซึ่งกลายเป็นอีกพื้นที่สมรภูมิที่มีการสู้รบ จนเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ปรากฎเป็นข่าวว่ากลุ่มโกก้างสามารถยึดค่ายทหารในเมืองล่าเสี้ยวไว้ได้ พร้อมกับจับนายทหารระดับสูงเมียนมาได้อีกหลายราย
โดยนี่นำไปสู่การเจรจากันระหว่างกลุ่มโกก้างกับกองทัพเมียนมา ที่เมืองคุนหมิงของจีนในช่วงต้น ธ.ค. แต่อย่างไรก็ตามมีข่าวว่าการเจรจาระหว่างสองฝ่ายนั้นไร้ข้อสรุป
หรือการสู้รบที่เมืองเมียวดี ซึ่งในต้นเดือน เม.ย. มีข่าวว่า กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้เข้ายึดฐานทัพใกล้กับเมืองเมียวดีที่อยู่ริมชายแดนไทยได้ทั้งหมดอย่างรวดเร็วในช่วงต้นเดือน แต่กองกำลัง KNU ก็ได้มีการถอนตัวในภายหลัง ซึ่งในปัจจุบันเมืองเมียวดีอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลัง BGF ซึ่งเป็นอดีตทหารของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย(DKBA) ที่ได้ตัดสินใจแยกตัวออกมาจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ตั้งแต่ปี 2537 และยอมแปรสภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนที่ขึ้นตรงกับกองทัพเมียนมา
ส่วนการสู้รบในภูมิภาคตะวันตกที่รัฐยะไข่ก็มีข่าวเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ว่ากองทัพอาระกัน (เอเอ) แถลงผ่านช่องเทเลแกรมว่า หลังจากสู้รบมานานหลายสัปดาห์ กองทัพอาระกันยึดกองบัญชาการภาคตะวันตกของกองทัพเมียนมาที่เมืองอาน (Ann) “ได้หมดแล้ว” ส่งผลทำให้เมืองชิตตะเว เมืองเอกของรัฐแทบจะถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้มีการวิเคราะห์กันว่าจากความพ่ายแพ้หลายครั้งของกองทัพเมียนมาตลอดปี ทำให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาได้ออกมาเรียกร้องให้มีการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเขากล่าวในงานเลี้ยง ที่วิหารเซนต์แมรี่ ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ตอนหนึ่งว่า ปัญหาต่างๆ ต้องแก้ไขผ่านวิธีการทางการเมือง ไม่ใช่จัดการด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธ
อย่างไรก็ตามจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าความขัดแย้งในเมียนมา จะสามารถจบลงได้หรือไม่ในปี 2568 ที่จะมาถึงนี้
ข่าวกองทัพเมียนมาเสียการควบคุมในหลายดินแดนทั่วประเทศ (อ้างอิงวิดีโอจาก ABC)