"...เงื่อนไขพิเศษของผู้ที่เดินทางผ่านมาตรการ ‘ทราเวล บับเบิ้ล’ ภายใต้ข้อตกลงนี้ ‘ไม่ต้องถูกกักตัว’ และเป็นการตกลงร่วมกันในลักษณะทวิภาคี กำหนดจำนวนคน ภายใต้การจัดการพิเศษ สำคัญที่สุดต้องทำกับประเทศคู่ตกลงที่ไม่มีผู้ติดเชื้อแล้ว หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน และมีการจัดการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ..."
29 มิ.ย.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะนั่งหัวโต๊ะ ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เพื่ออนุมัติ 2 วาระสำคัญ
วาระแรก ว่าด้วยเรื่องการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมที่กลุ่มเสี่ยงสูงสุด ประกอบด้วย ผับ บาร์ คาราโอเกะ ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต รวมถึงอาบ อบ นวด
ทั้งหมดได้มีการหารือกับผู้ประกอบการบางส่วน เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมโรค โดยระหว่างนี้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะจัดทำคู่มือแจกจ่ายให้กับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
วาระสอง ถือว่าความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ นั่นคือการพิจารณาเปิดทางให้บุคคลนอกราชอาณาจักรเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
โดยประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มบุคคลที่นายกรัฐมนตรีอนุญาต เช่น คณะทูต คณะกงสุล องค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนรัฐบาล ผู้ขนส่งสินค้าจำเป็น 2.กลุ่มคนไทยที่กลับมาแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว
และ 3.กลุ่มชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนนี้มีการพิจารณาแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง ได้แก่ อาคันตุกะของรัฐบาล กลุ่มนักธุรกิจนักลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ กลุ่มที่เข้ามาอยู่ระยะยาว เช่น แรงงานฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญ คนต่างด้าวที่มีครอบครัวในไทย รวมไปถึงครู อาจารย์นักเรียน นักศึกษา
ระยะที่สอง คือ ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ และเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลของไทย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ กทม. และหัวเมืองสำคัญ เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ และเชียงราย ฯลฯ
ทั้ง 2 ระยะนี้ จะเริ่มดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุด คือ 1 ก.ค. หรือทันทีที่มีความพร้อม
ส่วนระยะที่สาม คือ นักท่องเที่ยว ที่จะต้องเข้ามาตรการ ‘ทราเวล บับเบิ้ล’ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็วที่สุด 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป
ศบค.ประมาณการณ์ไว้ว่า จะมีชาวต่างชาติเข้าข่ายมาตรการต่างๆ รวม 50,100 คน ประกอบด้วย นักธุรกิจนักลงทุน 700 คน แรงงานฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญ 15,400 คน คนต่าวที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย 2,000 คน บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษา 2,000 คน และผู้เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ 30,000 คน
ทั้งหมดจะต้องรอข้อสรุปจากที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้
(ประมาณการจำนวนชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศ)
สำหรับแนวคิดการเปิดพื้นที่ให้บุคคลภายนอกเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ได้มีการเสนอให้ ศบค.พิจารณาตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้เสนอ
เงื่อนไขพิเศษของผู้ที่เดินทางผ่านมาตรการ ‘ทราเวล บับเบิ้ล’ ภายใต้ข้อตกลงนี้ ‘ไม่ต้องถูกกักตัว’ และเป็นการตกลงร่วมกันในลักษณะทวิภาคี กำหนดจำนวนคนที่จะอนุญาตให้เดินทางแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้การจัดการพิเศษ ตั้งแต่ขอวีซ่า การโดยสารเครื่องบิน ที่พัก การเยี่ยมเยือน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และผู้รับประกัน
สำคัญที่สุด ‘ทราเวล บับเบิ้ล’ ต้องทำกับประเทศคู่ตกลงที่ไม่มีผู้ติดเชื้อแล้ว หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน และมีการจัดการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างประเทศที่ทำข้อตกลงในลักษณะนี้ อาทิ สิงคโปร์-จีน(บางเมือง) , อิสราเอล-กรีซ/ไซปรัส , ประเทศในกลุ่มบอลติก 3 ประเทศ ได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิธัวเนีย ดำเนินการข้อตกลงกับ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ส่วนแนวทางดำเนินการของไทย เบื้องต้นวางมาตรการไว้ 7 เรื่อง ดังนี้
1.เลือกประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ดี โดยพิจารณาจากเกณฑ์ข้อกำหนดและคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
2.ต้องมีมาตรการตรวจหาเชื้อและป้องกันอย่างเข้มงวด โดยต้องตรวจเชื้อก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งเมื่อถึงไทย ทั้งนี้ต้องซื้อประกันโควิด เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลหากเกิดการติดเชื้อ และต้องเข้ารักษาตัวในระหว่างอยู่ในประเทศไทย
3.นักท่องเที่ยว ‘ไม่ถูกกักตัว’ แต่ต้องยินยอมให้ ‘ติดตามตัว’ โดยใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือชื่อ Digital Health Passport หรือ 'หนังสือเดินทางสุขภาพ' และต้องเข้า-ออกตามระยะเวลาที่แจ้งไว้อย่างเคร่งครัด โดยเป็นการรับผิดชอบของผู้รับประกัน
ทั้งนี้แอปพลิเคชันดังกล่าวจะบันทึกข้อมูลสุขภาพ ช่วยเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยง แจ้งระดับความเสี่ยง และยืนยันความปลอดภัยของผู้เดินทาง ซึ่งจะไม่ละเมิดการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
(หนังสือเดินทางสุขภาพ)
4.อาจกำหนด ‘พื้นที่ปิด’ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว โดยพิจารณาจากแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองหลัก-เมืองรอง โดยประชาคมต้อง ‘เต็มใจ’ ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาพำนักและท่องเที่ยว
5.วางมาตรการ Safe Hospitality Service ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ต้องได้รับมาตรฐานที่ปลอดภัย โดยผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
6.การผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ โดยกลุ่มแรกที่จะได้รับรองให้ใช้มาตรการนี้คือ ‘นักธุรกิจ’ เนื่องจากมีศักยภาพทางการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป และสามารถตัดสินใจเดินทางได้ทันที ถือเป็นการสร้างและขยายโอกาสจากนโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยต้องมีหนังสือรับรองจากบริษัท
กลุ่มถัดมาคือ ‘กลุ่มผู้รับบริการตรวจรักษาทางการแพทย์’ ต้องไม่ใช่กรณีเข้ามารักษาโรคโควิดในไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงเช่นกัน และมีความจำเป็นในการเดินทางเป้นลำดับต้นๆ มีฐานตลาดกลุ่มรักษาสุขภาพจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนา กัมพูชา โดยจะต้องมีหนังสือรับรองจากโรงพยาบาล
ทั้งนี้เมื่อดำเนินการได้ระยะหนึ่ง หากควบคุมสถานการณ์ได้ดี ให้พิจารณาให้ ‘นักท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก’ จากนั้นจึงจะเป็น ‘นักท่องเที่ยวอิสระ’ ตามลำดับ
7.กลุ่มเป้าหมายแรกที่ไทยจะติดต่อด้วย คือ จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า) , เวียดนาม , ลาว , กัมพูชา , เมียนมา , ญี่ปุ่น , เกาหลีใต้ , ไต้หวัน , ออสเตรเลีย , นิวซีแลนด์ และประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ให้มีการพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นสำคัญ เช่น กรณีประเทศที่กลับมามีการระบาดรอบใหม่ อาจจะยังไม่พิจารณามาตรการนี้
ซึ่งที่ประชุมวันดังกล่าว รับทราบตามข้อเสนอ และมอบหมายให้หารือรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เมื่อได้ข้อสรุปทางการแพทย์ที่ชัดเจน ให้นำเสนอให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารราผ่อนคลายบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดพิจารณาต่อไป ก่อนที่จะเสนอให้ ศบค.พิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย
โดยกระบวนการทั้งหมดได้ดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่ 12 มิ.ย. จนกระทั่งวันที่ 29 มิ.ย.นี้น่าจะได้แนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นว่า ‘ทราเวล บับเบิ้ล’ ของไทยจะมีหน้าตาอย่างไร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/