“...หากกล่าวถึง ‘ข่าวใหญ่แห่งปี’ ในแวดวง ‘บิ๊กสีกากี’ และเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ของศึกชิงเก้าอี้ ‘เบอร์ 1 ปทุมวัน’ คือ กรณีความขัดแย้งของ ‘สองบิ๊กตำรวจ’ ระหว่าง ‘บิ๊กต่อ’ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับ ‘บิ๊กโจ๊ก’ พลตำรวจเอก สุรเชชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ถึงขั้นที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 เพื่อ ‘หย่าศึก’ สองบิ๊กสีกากี ไม่ให้ ‘รอยร้าว’ ลุกลาม-บานปลายเป็น ‘รอยแยก’ เกิดความเสียหายกระทบภาพลักษณ์ของ ‘องค์กรตำรวจ’ ที่มี ‘ต้นทุนต่ำ’ ในสายตาของประชาชนอยู่แล้ว ให้ ‘ติดลบ’ ลงไปอีก ...”
365 วัน 12 เดือน ประเทศไทยในรอบปี 2567 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ที่กระทบ-กระเทือนด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งข่าวดี-ข่าวร้าย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอประมวล 10 เหตุการณ์สำคัญของประเทศไทยในรอบปี 2567 เพื่อส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับศักราชใหม่ ที่จะเกิดขึ้นใน พ.ศ.2568
@ สมรสเท่าเทียม-ก้าวข้ามเหลื่อมล้ำทางเพศ
เริ่มต้นด้วยการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ ด้วยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 ประกาศใช้ จากการออกแรงผลักดันของหลายภาค ทั้งภาคประชาสังคม และพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน จนประสบความสำเร็จ
ปัจจุบัน ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ได้ประกาศเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือ ตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2568
สาระสำคัญของกฎหมาย เป็นการรับรองสิทธิของคู่สมรสทุกเพศ นอกจากการสมรสระหว่าง ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ และกำหนดอายุขั้นต่ำในการหมั้นหรือสมรส จากเดิม 17 ปี บริบูรณ์ เปลี่ยนเป็น 18 ปีบริบูรณ์ (อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง)
นับเป็นพลวัตทางสังคม เป็นสัญญะของการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้าม ‘ความเหลื่อมล้ำทางเพศ’ ไม่ให้เกิดการกดขี่-ข่มเหง เพียงแค่ข้อจำกัดระหว่าง ‘สถานภาพทางเพศ’ หรือ การถูกกีดกัน-เลือกปฏิบัติ เพียงแค่กายภาพความเป็น ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ เป็นนิมิตหมายของบ่อเกิด ‘สังคมเท่าเทียม’ นับจากนี้
@ คดี ‘ดิไอคอน’ - 18 บอส มหกรรม ‘ฉ้อโกง’
เป็นปรากฎการณ์สั่นสะเทือนวงการ ‘ธุรกิจขายตรง’ คือ กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่งสำนวนฟ้อง ‘บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด’ กับพวก รวม 19 คน กระทำผิดฐาน ‘ฉ้อโกงประชาชน’ และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯ
ภายหลังดีเอสไอรับไว้เป็น ‘คดีพิเศษ’ เลขที่ 119/2567 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 โดยใช้เวลาสืบสวนสอบสวน 54 วัน แจ้ง 5 ข้อกล่าวหา
- ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่) อันเป็นความผิดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น
- ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545
- ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
- ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
คดีดังกล่าวดีเอสไอสรุปสำนวน มีพยานเอกสาร 348,209 แผ่น พยานบุคคล 8,071 ปาก มีผู้เสียหาย 7,875 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,644 ล้านบาท
สำหรับผู้ต้องหา 19 ราย ที่ดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหาและส่งสำนวนฟ้องต่อสำนักงานอัยการ ประกอบด้วย นิติบุคคล 1 ราย คือ บริษัท ดิไอคอนฯ และบุคคล 18 ราย
1.บอสพอล-นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล 2.บอสปัน-นางสาว ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร 3.บอสปีเตอร์-นายกลด เศรษฐนันท์ 4.บอสหมอเอก-นายฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ 5.บอสสวย-นางสาว นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์ 6.บอสโซดา-นางสาว ญาสิกัญจณ์ เอกชิสนุพงศ์ 7.บอสโอม-นายนันท์ธรัฐ เชาวนปรีชา 8.บอสวิน-นายธวิณทร์ภัส ภูพัฒนรินทร์
9.บอสแม่หญิง-นางสาว กนกธร ปูรณะสุคนธ์ 10.บอสอูมมี่-นางสาว เสาวภา วงษ์สาขา 11.บอสทอมมี่-นายเชษฐ์ณภัฎ อภิพัฒนกานต์ 12.บอสป๊อบ-นายหัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์ 13.โค้ชแล็ป-นายจิระวัฒน์ แสงภักดี 14.บอสจอย-นางวิไลลักษณ์ ยาวิชัย 15.บอสอ๊อฟ-นายธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์ 16.บอสกันต์-นายกันต์ กันตถาวร 17.บอสมีน-นางสาว พีชญา วัฒนามนตรี และ 18.บอสแซม-นายยุรนันท์ ภมรมนตรี
‘ดีเอสไอ’ ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินตามมูลฐานความผิด ‘ฟอกเงิน’ จำนวน 747.640 ล้านบาท เช่น อาคาร ที่ดิน หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ เงินในบัญชีเงินฝาก
เป็น ‘มหกรรมฉ้อโกง’ ที่มีผู้เสียหายมโหฬาร คดีหนึ่ง จึงต้องจับตาว่า สุดท้ายแล้ว ‘วิบากกรรม’ ของ ‘18 บอส’ จะจบลงอย่างไร
@ ศึกบิ๊กกากี ‘บิ๊กต่อ vs บิ๊กโจ๊ก’ และคดีความเป็นหางว่าว
หากกล่าวถึง ‘ข่าวใหญ่แห่งปี’ ในแวดวง ‘บิ๊กสีกากี’ และเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ของศึกชิงเก้าอี้ ‘เบอร์ 1 ปทุมวัน’ คือ กรณีความขัดแย้งของ ‘สองบิ๊กตำรวจ’ ระหว่าง ‘บิ๊กต่อ’ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับ ‘บิ๊กโจ๊ก’ พลตำรวจเอก สุรเชชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.
ถึงขั้นที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 เพื่อ ‘หย่าศึก’ สองบิ๊กสีกากี ไม่ให้ ‘รอยร้าว’ ลุกลาม-บานปลายเป็น ‘รอยแยก’ เกิดความเสียหายกระทบภาพลักษณ์ของ ‘องค์กรตำรวจ’ ที่มี ‘ต้นทุนต่ำ’ ในสายตาของประชาชนอยู่แล้ว ให้ ‘ติดลบ’ ลงไปอีก
- คำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับแรก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 106 /2567 เรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
- ฉบับที่สอง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 108/ 2567 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทน
- ฉบับที่ 3 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 109 / 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เป็นคำสั่งย้าย ‘บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก’ ให้มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ ‘บิ๊กต่าย’ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ขณะนั้น รักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผบ.ตร.
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน 60 วัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ‘วิษณุ เครืองาม’ ในฐานะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว ภายหลังจากใช้เวลาทำงานประมาณ 4 เดือน สอบปากคำกว่า 50 คน โดยผลสอบสรุปว่า ให้ ‘บิ๊กต่อ’ กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.ตามเดิม
“สรุปความได้ว่า ผลการตรวจสอบ ข้อที่ 1 พบความขัดแย้ง และความไม่สงบเรียบร้อยในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริง มีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง ระดับกลาง ระดับเล็ก ทุกระดับ ทุกฝ่าย จนกระทั่งเกิดเป็นคดีความต่างๆ เกิดการฟ้องร้องกันอยู่ภายนอกบ้าง ร้องเรียนกันอยู่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติบ้าง ข้อที่สอง เรื่องราวที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับบุคคลสองท่าน คือ พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ และพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ซึ่งต่างมีทีมงานของตัวเอง ผู้ใต้บังคับบัญชาก็พลอยเกิดความขัดแย้งไปด้วย คดีสำคัญที่เกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ เช่น คดี 140 ล้าน วงเล็บไว้ในรายงานว่า คดีเป้รักผู้การเท่าไหร่ คดีกำนันนก คดีหวยพนันออนไลน์มินนี่ คดีพนันออนไลน์บีเอ็นเค และยังมีคดีย่อย ๆ อีกประมาณ 10 คดี”วิษณุ เครืองาม แถลงข่าว
ดูเหมือนว่าหลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ฯ จะ ‘ปิดจ็อบ’ เพราะ ‘บิ๊กต่อ’ ก็ได้กลับเข้าไปทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในตำแหน่งเดิม-ผบ.ตร.แล้ว
ขณะที่ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ก็กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ก่อนที่นายวิษณุจะแถลงผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายฯ เสียอีก
ทว่า ‘บิ๊กโจ๊ก’ กลับถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้ง ‘คณะกรรมการสอบวินัย’ และออกคำสั่งให้ ‘ออกจากราชการไว้ก่อน’ ในเวลาเดียวกัน จนเป็นสาเหตุให้ความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
แต่คราวนี้ ‘เปลี่ยนคู่’ กลายเป็น ‘บิ๊กโจ๊ก’ กับ ‘บิ๊กต่าย’ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ ในฐานะที่เป็นผู้ออกคำสั่งให้ ‘ออกราชการไว้ก่อน’
ถึงแม้ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ที่มีนายวิษณุ เป็นประธาน ได้มีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ได้ทำความเห็นระบุว่า การออกคำสั่งให้ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ออกจากราชการนั้น ‘ลัดขั้นตอน’ ต้องทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัย-สอบสวนทางวินัยให้ได้ผลเสร็จสิ้นก่อน และระหว่างสอบสวนจะใช้เป็นข้ออ้างทำให้กระทบต่อสิทธิผู้สอบสวนไม่ได้ ดังนั้น การจะนำความกราบบังคมทูลฯ ต้องทำให้กระบวนการให้ออกจากราชการถูกต้องเสียก่อน
แต่ต่อมา คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนายเศรษฐาเป็นประธาน มีมติเอกฉันท์ 12 ต่อ 0 ยืนยันตาม ‘มติเดิม’ ให้ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ออกจากราชการไว้ก่อน
นอกจากนั้น คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ก็มีมติ ‘ยกคำร้อง’ ของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ที่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกราชการอีกด้วย
ล่าสุดศาลปกครองได้มีคำสั่ง ‘ยกคำขอทุเลา’ การบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ในคดีที่ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน
ถือเป็น ‘มหากาพย์’ ความขัดแย้งในวงการตำรวจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และขยายความรุนแรงทะลุจุดเดือดในปี 67
@ ถนนมรณะ ‘พระราม 2’
ยังเป็นที่กล่าวถึงเสมอในหน้าสื่อไม่ว่าจะกี่ปีถึงการก่อสร้าง ‘ถนนพระราม 2’ หรือในชื่อเต็ม คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง–วังมะนาว เพราะนอกจากชื่อเสียงในการเป็นถนนที่ซ่อมสร้างไม่รู้จบแล้ว จนได้รับการขนานนามว่า ‘ถนนเจ็ดชั่วโครต’ ยังเป็นถนนที่ประชาชนหวาดเสียวเสมอเมื่อใช้ทาง เพราะในปี 2567 เกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างถนนสายนี้อย่างน้อย 3 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 เหตุการณ์สลิงรถเครนยกกระเช้าคนงานขาด ทำให้กระเช้าตกลงมาด้านล่าง ซึ่งมีความสูงประมาณ 15 เมตร เป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิต 1 คนและได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 1 คน กรมทางหลวงมีคำสั่งให้บริษัทก่อสร้างทางยกระดับบริเวณพระราม 2 หยุดก่อสร้าง 3 วัน หลังเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุคาดว่า เกิดจากความประมาทของพนักงาน และคนขับรถเครนคันเกิดเหตุ ที่ไม่มีความชำนาญในการขับ เหตุการณ์เมื่อเดือน ม.ค. 2567
- ครั้งที่ 2 เหตุการณ์แผ่นเหล็กตกมาจากถนนทางหลวงพิเศษที่อยู่ระหว่างก่อสร้างใส่รถยนต์ของนายอาจิน (สงวนนามสกุล) อายุ 46 ปี เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2567 เวลา 11.45 น. กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เศษแผ่นเหล็กหล่นร่วงใส่กระโปรงรถยนต์ด้านหน้าฝั่งซ้าย บริเวณสะพานลอยแยกวัดปากบ่อบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระรามที่ 2) นั้น จากการตรวจสอบ พบว่าขณะเกิดเหตุไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาการดำเนินงานก่อสร้างที่ได้กำหนดใว้ คือ ตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น. เบื้องต้นสาเหตุเกิดจากคนงานได้เก็บแผ่นเหล็กกองไว้ด้านบนของโครงการฯ แต่ด้วยสภาพอากาศแปรปรวนและมีลมพัดแรง ส่งผลให้เศษแผ่นเหล็กหล่นร่วงลงมาจนรถยนต์ที่อยู่ด้านล่างได้รับความเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ บริษัทผู้รับจ้างได้ดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งสั่งหยุดงานเป็นเวลา 3 วัน เพื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง รวมถึงสาเหตุโดยละเอียด ขณะเดียวกันหากตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้รับจ้างละเลยการปฏิบัติตามมาตราการความปลอดภัย ให้ดำเนินการลงโทษผู้รับจ้างตามกฎหมาย รวมทั้งตัดคะแนน ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าร่วมประมูลโครงการในครั้งต่อไป
- ครั้งที่ 3 เหตุการณ์อุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปี กับเหตุการณ์ที่คานปูน (Segment) และเครน (Launching Gantry Crane) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างทางยกระดับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย -บ้านแพ้ว ตอน 1 พังถล่มลงมา เมื่อเวลาประมาณ 04.08 น.ของ วันที่ 29 พ.ย.67 โดยจุดเกิดเหตุอยู่บนถนนพระราม2 กม.21+600 (บริเวณช่องทางหลัก ทั้งขาเข้าและออก) ต.คอกกระบือ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ใกล้แยกมหาชัยเมืองใหม่ ต.คอกกระบือ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บจํานวน 9 ราย
‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสองรัฐบาล ให้สัมภาษณ์เมื่อ 29 พ.ย. 67 จะมีการนำสมุดพกมาตัดคะแนนผู้รับเหมา เร่งรัดทางกรมบัญชีกลางเร่งรัดมาตรการนี้ สำหรับการเยียวยาผู้เสียชีวิต จะให้ผู้รับเหมาเยียวยาศพละ 1 ล้านบาท
ปัจจุบันโครงการบนถนนพระราม 2 อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง จำนวน 4 สัญญา ภายใต้การดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
2.โครงการทางยกระดับ ทล.35 บางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร จำนวน 3 สัญญา ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง (ทล.)
3.โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 เอกชัย - บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร จำนวน 10 สัญญา ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง (ทล.)
แต่ละโครงการหน่วยงานต้นสังกัดยืนยัน ปี 2569 เสร็จทั้งหมด ระหว่างนี้คนไทยต้องกุมพระให้แน่น ภาวนาไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายกับคนใดคนหนึ่งอีกซ้ำซากเด็ดขาด
@ โศกนาฏกรรมไฟไหม้รถบัสนักเรียน
ถือเป็นเหตุการณ์เศร้าสลด-สะเทือนจิตใจที่สุดแห่งปี กับ ‘โศกนาฎกรรม’ เพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อำเภอลานศักดิ์ จังหวัดอุทัยธานี บนถนนวิภาวดีรังสิต จนทำให้มี ‘ผู้เสียชีวิต’ ในที่เกิดเหตุ 23 ราย เป็นนักเรียน 20 ราย และครู 3 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเกือบ 10 ราย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567
สาเหตุของการเกิดไฟไหม้รถบัสนักเรียน นอกจากรถบัสอยู่ในสภาพเก่า ผ่านการใช้งานมาแล้วกว่า 54 ปี ยังมีการดัดแปลงและติดตั้งถังแก๊สเกินจำนวนกว่าที่กฎหมายกำหนด
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ‘เจ้ากระทรวงคมนาคม’ ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกัน สำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ โดยมี รองปลัดดกระทรวงคมนาคม-หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธาน ‘ขีดเส้น’ รายงานกลับมาภายใน 15 วัน
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมได้ออกมาตรการเร่งด่วน 5 ข้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก
ปัจจุบันเหตุการณ์ผ่านมาแล้วกว่า 3 เดือน แต่ดูเหมือนว่า การสอบสวนหาผู้กระทำความผิดและการดำเนินคดียังไม่มีความคืบหน้า รวมถึงยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว มิหน้ำซ้ำยังเงียบไป ประหนึ่ง ‘กลบความผิด’
@ น้ำท่วม-โคลนถล่ม เหนือ-ใต้
อีก 1 เหตุการณ์สำคัญ ที่ดูเหมือนว่าเป็น ‘ฤดูกาล’ ของปรากฎการณ์ธรรมชาติ-ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในทุกปี แต่หนักขึ้นทุกวัน คือ ‘น้ำท่วม’ ในภาคเหนือและภาคใต้ แต่ครั้งนี้ ‘ผู้ประสบภัย’ ต่างประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘หนัก’ กว่าครั้งผ่านมา
รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ตั้ง ‘วอร์รูม’ รับมือน้ำท่วมและ ‘โคลนถล่ม’ ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ที่มี ‘แพทองธาร ชินวัตร’ เป็นประธาน และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) มี ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็น ‘หัวเรือใหญ่’ เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
โดยมาตรการเยียวยาเป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 9,000 บาท ทุกหลัง ซึ่งครม.ได้อนุมัติงบประมาณไปแล้วประมาณ 8,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยได้สรุปเหตุเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ภาคเหนือตอนบน และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. - 15 พ.ย. 67 มีจำนวน 47 จังหวัด ครอบคลุม 287 อำเภอ 1,320 ตำบล 7,035 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 268,261 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 57 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 28 ราย
ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 22 พ.ย.- 28 ธ.ค. 67 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ครอบคลุม 118 อำเภอ 795 ตำบล 5,909 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 780,272 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 53 ราย
เป็นอีก 1 เหตุการณ์ในรอบปีที่คนไทยต้องตกเป็น ‘ผู้ประสบภัย’ อีกครั้ง และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ-ซ้ำซาก
@ ตามจับ ‘ไอ้โม่ง’ ปล่อยปลาหมอคางดำระบาด
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง คือ ปรากฎการณ์ ‘ปลาหมอคงดำ’ ระบาด จนต้องมีการอนุมัติงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา และการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาข้อเท็จจริงและศึกษา เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหา ความหละหลวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำเข้า-ควบคุม-ติดตาม-กำจัด ปลาหมอสายพันธุ์ทำลายล้าง
จุดเริ่มต้นคือการนำเข้าปลาหมอคางดำ โดยกรมประมงได้อนุญาตให้ ‘บริษัทเอกชน’ นำเข้า จำนวน 2,000 ตัว เมื่อปี 2549 และมีการนำเข้ามาเมื่อปี 2553 มายังศูนย์ทดลองตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
โดยรัฐบาลได้ตั้ง ‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ’ และประกาศเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ซึ่งมีการงัดทุกวิธีการในการกำจัดปลาหมอคางดำ ทั้งการปล่อย ‘ปลานักล่า’ เพื่อไปตัดวงจรการขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ ตลอดจนการนำไปแปรรูปเป็นเมนูต่าง ๆ
จากสภาพปัญหาการแพร่ระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ ครั้งแรกเมื่อปี 60 เพียง 2 จังหวัด คือ สมุทรสาครและเพชรบุรี จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบ 574 ฟาร์ม คิดเป็นพื้นที่รวม 57,957 ไร่ และในปี 61 พบอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร
ปัจจุบันในปี67 พบการแพร่ระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ เพิ่มขึ้นรวม 16 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นครปฐม และนนทบุรี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บริเวณรอยต่อที่มีความเสี่ยงต้องมีการเฝ้าระวังอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ปราจีนบุรี ตราด และพัทลุง
รูปธรรมของการแพร่ระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ เห็นได้จากข้อมูลของกรมประมง ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 กำจัดปลาหมอคางดำได้ทั้งสิ้น 623,370 กิโลกรัม
รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ‘แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ’ พ.ศ. 2567-2570’ จำนวน 7 มาตรการ 14 กิจกรรม วงเงิน 450 ล้านบาท
- มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่ง ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน
- มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว
- มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน
- มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในเขตพื้นที่กันชน
- มาตรการที่ 5 การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ
- มาตรการที่ 6 การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านประมง
- มาตรการที่ 7 การฟื้นฟูระบบนิเวศน์ เช่น ปล่อยสัตว์น้ำประจำถิ่น
ตลอดจนคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ‘หมอวาโย’ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นประธาน
โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมประมง ในฐานะประธานกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร.ศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร.ศ.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ ‘อาจารย์อ๊อด’ อาจาร์ยประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานกรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ซีพีเอฟ’ รวมถึงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
ทว่าจนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบจากความเสียหายในครั้งนี้ได้
@ ไร่ภูนับดาว กับ ‘หวานใจ’ บิ๊กการเมือง
จากคดีบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. จังหวัดสระบุรี หรือ ‘ไร่ภูทับดาว’ ของ ‘นายทุน’ กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาทันทีทันใด เมื่อมีการเสนอข่าวขยายผล ‘เส้นทางการเงิน’ ไปเชื่อมโยงถึง ‘หวานใจ’ นักการเมืองใหญ่
เป็นคดีที่เป็น ‘ภาคต่อ’ จากการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. ทับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตำหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
จาก ‘เส้นเงิน’ จำนวน 10 ล้านบาท ที่มีการปล่อยข่าวโยงไปถึง ‘หวานใจบิ๊กการเมือง’ จนเขย่าให้คนใน ‘บ้านป่า’ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ‘บริษัทเอกชน’ ที่ถูก ‘พาดพิง’ ได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว ว่า ‘เงิน10ล้าน’ มาจากการจ่ายค่า ‘หุ้นกู้’ ที่ครบกำหนดชำระ ทำให้ข่าวขย่ม-เขย่า คนใน ‘บ้านป่า’ หายไป
อย่างไรก็ตามระหว่างตัวละครหลัก ‘พักรบ’ มีเป็นการเปิดศึก ‘คนกันเอง’ ระหว่าง ‘ธนดล สุวัณณะฤทธิ์’ อดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ของ ‘ธรรมนัส พรหมเผ่า’ สมัยเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับ ‘วิชิต ปลั่งศรีสกุล’ อดีตประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายวิชิต แถลงข่าวจะฟ้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา ข้อหาดูหมิ่นทำให้เกิดความเกลียดชัง
คู่ขนานไปกับการลงพื้นที่ ‘ไร่ภูนับดาว’ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ของ ‘บิ๊กเต่า’ พลตำรวจตรี จรูญเกียรติปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิของ ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ เอื้อประโยชน์ให้กับ ‘นายทุน’ ในการบุกรุกป่าหรือไม่
ส่วนในปี 68 จะมีการขยายผลของคดีเพื่อออกหมายจับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเส้นทางการเงินจะ ‘สาวถึงใคร’ แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้หรือไม่ยังต้องจับตาใกล้ชิด
@ มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’
ที่ดินแยก ‘เขากระโดง’ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ‘มหากาพย์’ ปม ‘ข้อพิพาท’ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับประชาชน-ตระกูลนักการเมืองใหญ่ในจังหวัดบุรีรัมย์
แม้ รฟท. จะชนะคดีทั้งในศาลฎีกา ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลปกครองกลาง รวมถึงการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และมติชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ทว่า ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญ คือ การ ‘ยุติ’ เรื่องของคณะกรรมการสอบสวน ที่ตั้งตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน ในการพิจารณาการเพิกถอนเอกสารสิทธิครอบครองโฉนดที่ดินและเอกสารครอบครองการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือ น.ส. 3 ก รวม 68 ฉบับ บริเวณแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ ความยาว 8 กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ 5,038 ไร่ 80 ตารางวา ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 842-876/2560 และ ที่ 8027/2561
คณะกรรมการสอบสวนฯ ให้เหตุผลที่หักล้างทุกคำวินิจฉัยของศาลและการตีความของกฤษฎีการและการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า การตีความของการรฟท.ว่า ที่ดินนอกเหนือจากการการครอบครองของประชาชน 33 ราย ถูกตัดสินว่า เป็นที่ดินของการรถไฟฯ เป็นการตีความที่เกินเลยไปตากคำตัดสินของศาล
โดยยก ‘แผนที่แนบท้าย’ ซึ่งไม่มีแนบท้ายในพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462 จึงไม่อาจตีความอย่างกว้างได้ว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงทั้งหมด 5,038 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ ทั้งหมด
จนกว่าการรถไฟฯจะนำ ‘แผนที่แนบท้าย’ พระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว มาแสดงให้เห็นเป็น ‘หลักฐานใหม่’ ได้
ปัจจุบัน ‘วีริศ อัมระปาล’ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการสอบสวน ฯ ที่สั่งให้ยุติเรื่องและไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ต่ออธิบดีกรมที่ดิน ไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567
ขณะนี้เกินกำหนด 30 แล้ว แต่ล่าสุด กรมที่ดิน ได้ออกแถลงการณ์ที่ดินบริเวณเขากระโดง ความยาว 5 หน้ากระดาษ สรุปใจความว่า การรถไฟฯ ตีความเกินขอบเขตคำพิพากษาของศาลฎีกา พร้อมกับทวงหลักฐานที่เป็น ‘แผนที่แนบท้าย’ พ.ร.ฎ.ฯ ซึ่งนี่อาจจะเป็นหนึ่งในคำวินิจฉัยการอุทธรณ์ของอธิบดีกรมที่ดินก็ไปได้
“ที่ดินที่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตแนวทางรถไฟตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2464 ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากรูปแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งกรมรถไฟมีหน้าที่จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตแสดงไว้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจดู อันเป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงกรรมสิทธิ์และขอบเขตที่ชัดเจนของที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย”แถลงการณ์ของกรมที่ดินระบุ
ศึกชิงเขากระโดง ระหว่าง ‘กรมที่ดิน’ กับ ‘การรถไฟฯ’ ที่มี ‘นักการเมืองขาใหญ่’ เป็น ‘จิ๊กซอว์สำคัญ’ สุดท้ายแล้วคงหนีไม่พ้นไปจบที่ศาลปกครองสูงสุด
@ สังหาร ‘ส.จ.โต้ง’ สะเทือน ‘บ้านใหญ่ปราจีนบุรี’
ข่าวส่งท้ายปี 67 เขย่าขวัญเมืองปราจีนบุรี คือ คดียิง ‘ส.จ.โต้ง’ ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ปราจีนบุรี เสียชีวิตที่บ้านพักของ ‘โกทร’ สุนทร วิลาวัลย์ นายกอบจ.ปราจีนบุรี ที่ว่ากันว่า เปรียบเสมือนเป็น ‘พ่อบุญธรรม’
โดย ‘2 ผู้ก่อเหตุ’ ซึ่งอยู่ในบ้านวิลาวัลย์ - ‘ลูกน้องโกทร’ รับสารภาพว่าเป็น ‘มือสังหาร’ ส.จ.โต้ง
คดีนี้ถูกไขอย่างรวดเร็วจาก ‘คลิปเสียง’ ที่ถูกปล่อยออกมาทันควัน เป็นเสียงโต้-เถียง ระหว่าง ‘สจ.โต้ง’ กับ ‘โกทร’ ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ‘นายก อบจ.’ ปราจีนบุรี เมื่อไม่มีใคร ‘ยอมถอย’ สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยชีวิต
‘ส.จ.โต้ง’ ต้องการส่ง ‘ณภาภัช อัญชสาณิชมน’ หรือ ‘ส.จ.จอย’ ภรรยา ลงสมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ.ปราจีนบุรี ในนามพรรคเพื่อไทย
ทำให้ทุกวงการสันนิษฐานว่า ‘ปมสังหาร’ เกิดจากความขัดแย้งเรื่อง ‘การเมืองท้องถิ่น’ แต่ก็มี ‘คนในรัฐบาล’ ออกมาให้สัมภาษณ์ชี้นำสังคมว่า เป็นเรื่องของการ ‘บันดาลโทสะ’ ตรงกับข้ามกับพนักงานสอบสวนที่ตั้งข้อหาว่า ‘ร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน’
ปัจจุบันคดีโอนไปอยู่ในความดูแลของ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.)
คดีฆ่าอุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมืองดังกล่าว ทำให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ชนิดควันออกหูว่า รัฐบาลจะตั้ง ‘คณะกรรมการกวาดล้างผู้มีอิทธิพล’ โดยมี ‘แพทองธาร’ นายกรัฐมนตรี นั่ง ‘หัวโต๊ะ’
นอกจากนั้น ตำรวจภูธรภาค 2 นำโดย ‘พลตำรวจโท ยิ่งยศ เทพจำนงค์’ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2 เปิดปฏิบัติการ ภายใต้ยุทธการ ‘ทลายรังนักเลง’ เพื่อขุดรากถอนโคนตัดเส้นเลือดเครือข่ายอิทธิพลในพื้นที่ ปูพรมตรวจค้นเป้าหมายใน 12 อำเภอ ของจังหวัดปราจีนบุรี รวม 59 เป้าหมาย ตรวจค้นอาวุธปืน 79 กระบอก อาวุธปืนไม่มีทะเบียน 2 กระบอก กระสุน 601 นัด จับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหา 8 ราย
เป็น ‘คดีดุ’ ส่งท้ายปี 2567 ที่แผ่นดินไหวไปทั้งสนามเลือกตั้งท้องถิ่น-ดงผู้มีอิทธิพล
ทั้งหมดเป็นประมวล 10 เหตุการณ์ ข่าวเด่น-ดุ-เดือด ของประเทศไทยประจำปี 2567