“...ข้อมูลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ในห้วงเวลาวิกฤติโควิด-19 ในช่วงเฟส 2 ภายหลังรัฐบาลผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2 ไปแล้ว เห็นได้ว่า การปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from home) ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังติดขัดอุปสรรคปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต และความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีเช่นเดิม...”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอประเด็นการรายงานผลข้อมูลการปฏิบัติงานในและนอกสถานที่ของส่วนราชการ และหน่วยงานรัฐ กรณีการแพร่ะรบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย-5 พ.ค. 2563 หรือช่วงแรกกันไปแล้วว่า มีอุปสรรคปัญหาสำคัญอย่างไรในการ ‘Work from home’ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขอย่างไร (อ่านประกอบ : เจาะเบื้องลึก! หลังโควิดฯระบาด จนท.รัฐ-ราชการ‘ทำงานที่บ้าน’อย่างไร-สำเร็จแค่ไหน?)
คราวนี้มาดูช่วงที่ 2 กันบ้างว่า อุปสรรคปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขหรือไม่-อย่างไร ?
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยสรุปข้อมูลเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 จากทั้งหมด 142 แห่ง พบว่า ส่วนราชการทั้งหมด 142 แห่ง (ร้อยละ 100) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง โดยส่วนราชการ 76 แห่ง (ร้อยละ 54) กำหนดสัดส่วนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ส่วนราชการที่เน้นงานระดับนโยบาย เป็นต้น เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น และส่วนใหญ่เริ่มให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
ส่วนการเหลื่อมเวลาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งนั้น แบ่งเป็น 1) ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานสำหรับกรณีที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนราชการส่วนใหญ่ร้อยละ 56 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 07.30 – 15.30 น. เวลา 08.30 – 16.30 น. และ เวลา 09.30 – 17.30 น. ส่วนราชการร้อยละ 15 (22 ส่วนราชการ) กำหนดรูปแบบการเหลื่อมเวลามากกว่า 3 ช่วงเวลา เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมสรรพสามิต เป็นต้น นอกจากนี้บางส่วนราชการกำหนดรูปแบบการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานอื่น ๆ ได้แก่ 06.00 – 14.00 น. เวลา 11.00 – 19.00 น. เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
2) ส่วนราชการมีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในลักษณะงานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการและข้าราชการซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้อำนวยการสำนัก/กองของส่วนราชการ
สำหรับแนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
1) การกำกับดูแลและบริหารผลงาน เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารที่ส่วนราชการเน้นเพื่อคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานทั้งในและนอกสถานที่ตั้งให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนราชการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและติดตามงานอย่างเข้มข้น โดยส่วนราชการร้อยละ 57 กำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form
2) การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการพิจารณาเลือกใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าหนึ่งระบบ โดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE (ร้อยละ 99.3) Zoom (ร้อยละ 61.3) Microsoft Team (ร้อยละ 31) และ Cisco Webex (ร้อยละ 25) ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่
อย่างไรก็ดียังคงมีข้อจำกัดของส่วนราชการในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ได้แก่ การขาดความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และการขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงาน ในกรณีส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคมีบ้านพักข้าราชการตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ตั้งของสำนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องให้ข้าราชการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ลักษณะงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่นงานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการ งานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน งานความลับ งานควบคุมผู้ต้องขัง งานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เป็นต้น
สำนักงาน ก.พ. มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ ค่าบริการสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ในกรณีข้าราชการต้องปฏิบัติราชการในสถานที่ตั้งของส่วนราชการควรกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่มีการหมุนเวียนสลับกันมาปฏิบัติราชการได้ตามความจำเป็น และจะต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ตั้งของส่วนราชการ การเตรียมน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค การสวมหน้ากากอนามัย การสลับเวลาพักรับประทานอาหาร การกำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น
(หลักเกณฑ์สำนักงาน ก.พ.ให้ จนท.รัฐ-ราชการ ปฏิบัติงานที่บ้านได้ช่วงโควิด-19 ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเมื่อ มี.ค. 2563, อ่านละเอียด คลิกที่นี่)
ส่วนรัฐวิสาหกิจนั้น สำนักข่าวอิศราพบว่า ตามรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ระหว่างวันที่ 11-15 พ.ค. 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พบรายละเอียดดังนี้
รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 56 แห่ง พบว่า การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ที่รัฐวิสาหกิจกำหนด) มี 51 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติ มี 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การสุรา กรมสรรพสามิต ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว และจากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 294,955 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง จำนวน 79,080 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 27
ส่วนการปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ มีอย่างน้อย 32 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30 น.
สำหรับแนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ กรณีที่รัฐวิสาหกิจมีนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง มีการติดตามผลการปฏิบัติงานเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน โดยส่วนใหญ่มีการกำกับติดตามและบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นรายวัน ผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง พบว่า มีการใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด
ทั้งนี้รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ รวมถึงควรให้มีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
นี่คือข้อมูลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ในห้วงเวลาวิกฤติโควิด-19 ในช่วงเฟส 2 ภายหลังรัฐบาลผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2 ไปแล้ว เห็นได้ว่า การปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from home) ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังติดขัดอุปสรรคปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต และความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีเช่นเดิม
ส่วนปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่ อย่างไร คงต้องรอติดตามกันต่อไป!
อ่านประกอบ : เจาะเบื้องลึก! หลังโควิดฯระบาด จนท.รัฐ-ราชการ‘ทำงานที่บ้าน’อย่างไร-สำเร็จแค่ไหน?
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage