“...โดยสรุปผลการทำงานที่บ้าน (Work from home) ของส่วนราชการ-หน่วยงานรัฐ ในช่วงเดือนเศษแรกภายหลังรัฐบาลออกมาตรการแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19 โดยจะเห็นได้ว่ายังมีอุปสรรคปัญหาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้การใช้แอปพลิเคชั่นในการติดต่อ-ส่งงาน รวมถึงการขาดปัจจัยเช่น อินเทอร์เน็ต เป็นต้น…”
ในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย รัฐบาลออกประกาศตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงแถลงรายวันรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ โดยมีอย่างน้อย 4 ครั้งแล้วที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ และสถานการณ์ในไทยกำลังซาลง รัฐบาลประกาศผ่อนปรนระยะที่ 2
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมาภายหลังรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 การทำงานที่บ้าน (Work from home) กลายเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่รัฐบาลขอให้ประชาชนทุกคนทำตาม เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสดังกล่าว
ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานรัฐ ส่วนนราชการ หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ตาม ต่างมีคำสั่งจากผู้บริหารให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการทำงานที่บ้าน หรือบางแห่งอาจสลับผลัดเวรกันเข้าสำนักงานเพื่อทำงาน แล้วแต่นโยบายของแต่ละแห่ง
ที่น่าสนใจ เมื่อกลางเดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จัดทำรายงานข้อมูลการปฏิบัติงานในและนอกสถานที่ของส่วนราชการ กรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 5 พ.ค. 2563 รวมประมาณ 1 เดือนเศษว่า ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำงานกันอย่างไรในช่วงโควิด-19 และจะประสบผลสัมฤทธิ์มากน้อยแค่ไหน ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีคำตอบ ดังนี้
ตามหนังสือของสำนักงาน ก.พ. ที่แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อกลางเดือน พ.ค. 2563 ระบุว่า ภายหลัง ครม. เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤติการณ์โควิด-19 โดยให้หน่วยราชการทุกหน่วยทำแผนการเหลื่อมเวลาการทำงาน แผนการทำงานจากบ้าน และรายงานผลการปฏิบัติต่อ ศบค. ทุกสัปดาห์ ประกอบกับ ครม.มีมติรับทราบแนวทางการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ของสำนักงาน ก.พ. และให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณากำหนดแนวทางตามความเหมาะสมนั้น สำนักงาน ก.พ. ได้ขอความร่วมมือให้ส่วนราชการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ โดยเริ่มรายงานข้อมูลตั้งแต่ 1 เม.ย. 2563 เป็นรายสัปดาห์เพื่อรายงาน ศบค. ต่อไป
สรุปข้อมูล ณ วันที่ 5 พ.ค. 2563 มีหน่วยงานราชการรวม 134 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99 จากทั้งหมด 142 แห่ง พบว่า ส่วนราชการ 134 แห่ง (ร้อยละ 100) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง โดยส่วนราชการร้อยละ 60 (ประมาณ 80 แห่ง) กำหนดสัดส่วนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ปฏิบัติงานนอกสถานที่โดยมีการมอบหมายในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งส่วนราชการแบบวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน หรือสัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เริ่มให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา
ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลักในการให้ปฏิบัติงานที่บ้าน คือ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีสถานที่พักอาศัยห่างไกลจากสถานที่ทำงาน หรือผู้ที่ต้องใช้รถโดยสารสาธารณะในการเดินทางไปกลับระหว่างสถานที่ทำงาน และที่พักอาศัย หรือผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ และมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ
สำหรับรูปแบบการลงเวลาราชการ ปฏิบัติงานผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ลงเวลาผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชั่นไลน์ โปรแกรมระบบสารสนเทศทรัพยากรบุคคลระดับกรม (DPIS) หรือระบบโปรแกรมเฉพาะของส่วนราชการ
ส่วนการกำกับดูแลและบริหารผลงาน เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารที่ส่วนราชการเน้นคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานทั้งในและนอกสถานที่ตั้ง ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย และให้มั่นใจว่าคุณภาพของการทำงานและการให้บริการไม่ลดลง โดยส่วนราชการส่วนใหญ่กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานล่วงหน้า และให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานอย่างต่อเนื่องผ่าน แอปพลิเคชั่นไลน์ และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) โดยร้อยละ 55 กำหนดให้รายงานความก้าวหน้ารายวัน และร้อยละ 45 กำหนดให้รายงานความก้าวหน้ารายสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ได้รับมอบหมาย
นอกจากนี้ยังมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการส่วนใหญ่ใช้ แอปพลิเคชั่นไลน์ (ร้อยละ 48) แอปพลิเคชั่นซูม (ร้อยละ 28) Microsoft Team (ร้อยละ 13) และ Cisco Webex (ร้อยละ 11) ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์พกพา (โน๊ตบุ๊ก) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ รองลงมาคือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และแท็ปเล็ต
ทั้งนี้มีข้อจำกัดของส่วนราชการในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ในระยะแรก ได้แก่ การขาดความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และการขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นในการปฏิบัติงาน ลักษณะงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ งานควบคุมผู้ต้องขัง งานติดตามรายงานและพยากรณ์อากาศ เป็นต้น
สำนักงาน ก.พ. มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในและนอกสถานที่ราชการ ได้แก่ การพัฒนาระบบโปรแกรมกลางเพื่อให้ส่วนราชการใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เช่น ระบบงานสารบรรณ ระบบการประชุมออนไลน์ เป็นต้น และการจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น รวมทั้งในกรณีการให้ข้าราชการปฏิบัติราชการในสถานที่ตั้งของหน่วยราชการ ส่วนราชการจะต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่น การมีจุดคัดกรองโดยมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ และเตรียมน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค การเตรียมหน้ากากอนามัย การกำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น
เบื้องต้น ครม.มีมติรับทราบรายงานข้อมูลการปฏิบัติงานในและนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการจากสำนักงาน ก.พ. แล้ว รวมทั้งแนวทางการดำเนินการระยะต่อไปตามที่สำนักงาน ก.พ. เสน นอจากนี้ยังมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. และกระทรวงการคลัง (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ดำเนินการรวมรวบผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from home) และการเหลื่อมเวลาการทำงานในสถานที่ตั้งของทุกส่วนราชการ และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กำกับ ติดตาม และรวบรวมรายงานผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งด้วย
โดยสรุปผลการทำงานที่บ้าน (Work from home) ของส่วนราชการ-หน่วยงานรัฐ ในช่วงเดือนเศษแรกภายหลังรัฐบาลออกมาตรการแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19 โดยจะเห็นได้ว่ายังมีอุปสรรคปัญหาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้การใช้แอปพลิเคชั่นในการติดต่อ-ส่งงาน รวมถึงเรื่องค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
นี่คือภาพรวมทั้งหมดเกี่ยวกับการทำงานราชการ-หน่วยงานรัฐในช่วงโควิด-19 ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นภายหลังรัฐบาลประกาศผ่อนปรนระยะที่ 2 แล้ว จะมีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ด้วยหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป ?
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage