"หากพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบฯให้ได้ตามเป้าหมาย คือ มีกรอบวงเงิน 8 หมื่น-1 แสนล้านบาท ก็จำเป็นต้องตัดงบของทุกกระทรวงลงไม่น้อยกว่า 12% เพื่อให้ได้งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และตัดงบทุกกระทรวงลงไม่น้อยกว่า 15% เพื่อให้ได้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งนั่นอาจรวมทั้งการชะลอการลงทุน และชะลอการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่างออกไป..."
จนถึงเวลานี้ยังคงไม่มีใครรู้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยุติลงเมื่อใด
แต่เพื่อรับมือวิกฤตไวรัสที่ย่างเข้าสู่เดือนที่ 3 และมีแนวโน้มลากยาวนับปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการใช้จ่าย ‘งบฉุกเฉิน’ เพื่อดูแลด้านสาธารณสุข และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบการ ‘ปิดเมือง’ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงการดูแลปัญหาภัยแล้ง เรียกว่าแทบจะเกลี้ยงกระเป๋า
ข้อมูลล่าสุดรัฐบาลมีการใช้ง่ายงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2563 ไปแล้ว 9.3 หมื่นล้านบาท และเหลืองบฉุกเฉินเพียง 3,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับ ‘เงินทุนสำรองจ่าย’ ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2561 อีก 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีไม่เพียงพอต่อการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิดรอบนี้
นี่จึงเป็นที่มาของการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และการจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 กรอบวงเงิน 8 หมื่น-1 แสนล้านบาท
“การจัดเตรียมพ.ร.บ.โอนงบฯได้ให้ทุกหน่วยงานลดงบไม่น้อยว่า 10% ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น โดยครม.จะเร่งเสนอร่างกฎหมายโดยเร็ว คาดว่าจะทูลเกล้าฯถวายไม่เกินกลางเดือนมิ.ย.นี้” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งมีหลักเกณฑ์และแนวทาง ดังนี้
@รายการที่นำงบประมาณรายจ่ายไปจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... มีดังนี้
1.รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพัน หรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เม.ย.2563 ประกอบด้วย
-ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ (รวมถึงการศึกษาดูงานในต่างประเทศที่อยู่ในหลักสูตรการฝึกอบรม) รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ และการดำเนินกิจกรรม ที่มีการจ้างผู้จัดกิจกรรมหรือดำเนินการเอง
-รายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดหรือบางส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ.2563
2.รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย
-รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เม.ย.2563 และ/หรือไม่สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 พ.ค.2563 โดยงบประมาณรายจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมถึงองค์กรปกครองส่วนห้องถิ่น สำนักงบประมาณจะพิจารณาเป็นกรณีโดยคำนึงถึงประโยชน์ในการสร้างงาน สร้างรายได้ของประชาชนในพื้นที่
-รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่ยังไม่สมารดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 7 เม.ย.2563 ให้ได้รับการจัตสรงบประมาณในปีแรกลดลง 5% ซึ่งมีผลให้ต้องได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2552 ที่กำหนดให้รายจ่ายลงทุนที่ขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณทุกรายการต้องได้รับการจัดสรงบประมาณแผ่นดินในปีแรกเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายส่วนที่เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นของรายจ่ายลงทุนนั้นๆ
-รายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563
3.หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐ ที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนและทุนหมุนเวียน ที่พิจารณาเห็นว่ารายการที่ได้รับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของการตั้งงบประมาณ หรือมีเงินรายได้/เงินรายได้สะสมคงเหลือเพียงพอต่อการดำเนินภารกิจของหน่วยงานทดแทนเงินงบประมาณที่ได้รับ ให้ใช้หลักเกณฑ์และแนวทางตามข้อ 1 และ 2 โดยอนุโลม
@รายการที่ไม่นำงบประมาณรายจ่ายไปจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... มีดังนี้
1.รายการในลักษณะรายจ่ายประจำที่เป็นไปเพื่อการจัดสวัสดิการแห่งรัฐ หรือค่าใช้จ่ายรายหัวตามสิทธิพื้นฐานจากการบริการของรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานของหน่วยรับงบประมาณ โดยเฉพาะในลักษณะค่าจ้างเหมาบริการต่างๆ
2.รายการในลักษณะรายจ่ายลงทุนที่เป็นงานดำเนินการเอง ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน รายการผูกพันตามสัญญา รายการที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลา และรายการที่มีลำดับความสำคัญสูงหากไม่ดำเนินการจะเกิดความสียหายต่อราชการหรือส่งผลกระทบต่อประชาขน
3.แผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD 19) และสถานการณ์ภัยแล้ง ที่สำนักงบประมาณได้พิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2563
4.รายการและงบประมาณที่มีภารกิจด้านสาธารณสุข และ/หรือภารกิจที่เกี่ยวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้งโดยตรง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงบประมาณได้รวบรวมงบรายจ่ายประจำ และงบรายจ่ายลงทุนของทุกกระทรวงตามมติครม.เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563 พบว่า ส่วนราชการยังเหลืองบรายจ่ายประจำและงบรายจ่ายลงทุนในปีงบ 2563 รวมกัน 644,181 ล้านบาท จากงบที่ได้รับจัดสรรทั้งหมด 1,069,612 ล้านบาท
แบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 362,076 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเดินไปต่างประเทศ 360,854 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว 1,222 ล้านบาท ส่วนงบรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 282,104 ล้านบาท
สำหรับหน่วยงานที่มีงบรายจ่ายประจำ (ไม่รวมงบเดินทางไปราชการต่างประเทศ) เหลืออยู่ที่มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.กระทรวงมหาดไทย (มท.) คงเหลือ 117,083 ล้านบาท
2.กระทรวงศึกษาธิการ คงเหลือ 59,438 ล้านบาท
3.กระทรวงกลาโหม คงเหลือ 36,371 ล้านบาท
4.รัฐวิสากิจ คงเหลือ 31,845 ล้านบาท
5.กระทรวงเกษตรฯ คงเหลือ 17,612 ล้านบาท
หน่วยงานที่มีงบค่าใช้ในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวเหลืออยู่มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.กระทรวงกลาโหม คงเหลือ 549 ล้านบาท
2.กระทรวงเกษตรฯ คงเหลือ 123 ล้านบาท
3.สำนักนายกรัฐมนตรี คงเหลือ 109 ล้านบาท
4.กระทรวงพาณิชย์ คงเหลือ 90 ล้านบาท
5.กระทรวงต่างประเทศ คงเหลือ 74 ล้านบาท
ส่วนหน่วยงานที่มีงบรายจ่ายลงทุนเหลืออยู่มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.กระทรวงมหาดไทย คงเหลือ 60,241 ล้านบาท
2.กระทรวงคมนาคม คงเหลือ 47,276 ล้านบาท
3.กระทรวงเกษตรฯ คงเหลือ 44,427 ล้านบาท
4. กระทรวงกลาโหม คงเหลือ 35,195 ล้านบาท
5.ส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงฯ คงเหลือ 18,459 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากงบคงเหลือดังกล่าว พบว่าในกรณีที่มีการตัดงบรายจ่ายประจำ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศ) ของทุกหน่วยงานลง 10% ของงบที่เหลืออยู่ จะมีงบที่โอนไปจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบฯได้ 36,085 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศอีก 1,222 ล้านบาท
ทำให้มีงบรายจ่ายประจำที่โอนไปจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบฯได้ 37,307 ล้านบาท
และเมื่อรวมกับงบรายจ่ายลงทุนที่ตัดงบลง 10% หรืออีก 28,210 ล้านบาท จะเท่ากับว่าการตัดงบทุกส่วนราชการลง 10% นั้น จะสามารถโอนงบฯ มากองไว้เป็น ‘งบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น’ ในร่างพ.ร.บ.โอนงบฯได้เพียง 65,517 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบฯให้ได้ตามเป้าหมาย คือ มีกรอบวงเงิน 8 หมื่น-1 แสนล้านบาท จำเป็นต้องตัดงบของทุกกระทรวงลงไม่น้อยกว่า 12% เพื่อให้ได้งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และตัดงบทุกกระทรวงลงไม่น้อยกว่า 15% เพื่อให้ได้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งนั่นอาจรวมถึงการชะลอการลงทุน และชะลอการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่างออกไปด้วย
จากนี้คงต้องติดตามว่า ร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณปีงบประมาณ 2563 ที่สำนักงบประมาณจะเสนอให้ครม.พิจารณาในวันที่ 21 เม.ย.นี้ จะมีวงเงินเท่าใด และหน่วยงานใดจะถูกปรับลดงบลงเท่าไหร่
อ่านประกอบ :
ชำแหละงบผูกพันปี 63 ‘รบ.บิ๊กตู่’ ซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ-เครื่องบินฝึก 14 ลำ 3 หมื่นล.
ครม.บิ๊กตู่’ ยึดกรอบงบปี 64 เดิม สู้ไวรัสโควิด-19 ไม่รื้องบกลาโหม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/