ส่องชีวิตคนไร้บ้าน หลังเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม-ตี 4 ทหาร-ตร. ลงพื้นที่ดูเเล เเนะนำเว้นระยะห่างบุคคล สั่งห้ามเดินไปมาช่วงสั่งห้าม หลายคนเลือกหลับนอนที่สาธารณะเเทนอยู่ในสถานสงเคราะห์ พม.
นับตั้งเเต่เวลา 22.00 น. ของคืนวันที่ 3 เม.ย. 2563 จนถึงปัจจุบัน เกือบครบกำหนดระยะเวลา 1 สัปดาห์ของการประกาศเคอร์ฟิว ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อลดการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งหลักใหญ่ของการประกาศนี้ คือ การห้ามออกจากเคหสถานในเวลา 4 ทุ่ม -ตี 4 หากฝ่าฝืนมีโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สังคมกำลังจับตาไปที่การจัดการดูเเล 'คนไร้บ้าน' ของหน่วยงานภาครัฐ นำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีนายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นเจ้ากระทรวง จะมีมาตรการออกมาอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ (อ่านประกอบ: ท่ามกลางโควิด-19 ระบาด คนไร้บ้าน “อยู่บ้าน” อย่างไร เมื่อไม่มีที่อยู่ ?) เพราะในเวลานั้นที่มีการประกาศเคอร์ฟิวออกมาเเล้ว พม.กลับยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ
สำนักข่าวอิศราเคยลงพื้นที่พูดคุยกับคนไร้บ้าน บริเวณตรอกสาเก เขตพระนคร ตั้งเเต่วันเเรกที่มีคำสั่งออกมา (อ่านประกอบ:'คนไร้บ้าน' ถามเสียงดัง 'เคอร์ฟิว' สกัดโควิดฯ ชีวิตต้องหลับนอนที่ไหน) ทุกคนต่างตอบเหมือนกันว่า ไม่รู้จะไปหลับนอนที่ไหน เนื่องจากไม่มีบ้าน เเละยอมรับกังวลจะมีทหารเเละตำรวจมาขับไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น เเต่หากให้ไปอยู่สถานสงเคราะห์ที่รัฐจัดให้ คนไร้บ้านกลุ่มนี้ก็ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ขาดความเป็นอิสระ
ทำให้ 'คนไร้บ้าน' เป็นกลุ่มคนชายขอบที่น่าห่วงใย โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หากไม่ได้รับการดูเเลป้องกันอย่างดี
จนกระทั่งเมื่อมีการนำเสนอออกไป ในเวลาต่อมา พม. จึงออกมาตรการต่าง ๆ อาทิ เเจกหน้ากากอนามัยผ้า 5,000 ชิ้น ให้ความรู้เรื่องการป้องกันตนเอง ฝึกอาชีพระยะสั้นเเละให้ทุนในการประกอบอาชีพ (อ่านประกอบ:เปิดมาตรการดูเเล 'คนไร้บ้าน' ช่วง 'โควิด-19' เเจกหน้ากากผ้า 5 พันชิ้น-สร้างที่พักรองรับ) เเต่มาตรการที่สำคัญ นั่นคือ การเชิญชวนให้คนไร้บ้าน รับบริการในบ้านพักชั่วคราวของ พม. โดยจะมีอาหาร ที่พักสะอาด ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บ้านพักชั่วคราวของ พม. ได้เเก่ 1.บ้านมิตรไมตรี 4 มุมเมือง กรุงเทพมหานคร (อ่อนนุช) 2.บ้านมิตรไมตรี 4 มุมเมือง กรุงเทพมหานคร (ธนบุรี) 3.บ้านมิตรไมตรี 4 มุมเมือง กรุงเทพมหานคร (ดินเเดง) 4.บ้านสร้างโอกาส ปทุมธานี เเละ 5.บ้านสร้างโอกาส ปากเกร็ด
นายจุติ ลงพื้นที่สวนสาธารณะลุมพินีเเละสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เชิญชวนด้วยตนเอง ไม่บังคับว่าต้องมาอยู่ ซึ่งปรากฎว่า มีคนไร้บ้านไม่กี่คนที่ยอมไปอยู่ที่บ้านพักชั่วคราวนั้น
ด้านนางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ซึ่งทำงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง เเละผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กลับเห็นต่างในมาตรการของ พม. เนื่องจากมองว่า การนำคนหมู่มากมารวมกัน ไม่เเตกต่างอะไรจากการกวาดจับหรือไม่เเตกต่างจากการสร้างพื้นที่เเพร่เชื้อให้ได้รับความเสี่ยงหนักกว่าที่อยู่เดิม จึงเสนอให้ตรึงคนในพื้นที่ให้อยู่กับที่ เเบ่งโซนดูเเลระหว่างมูลนิธิกับรัฐ โดยยึดรัฐเป็นหน่วยงานกลาง
"โดยพื้นฐานชีวิตของคนเร่ร่อน ไม่เข้ารวมกลุ่มกับใครอยู่เเล้ว ที่สำคัญ การจับไปรวมกัน คือ การรวมโรค ไม่ใช่การจัดระเบียบขอฐานตอนนี้ หากจะทำ ควรนำผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ให้ได้รับดูเเลก่อน" เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุ (อ่านประกอบ:มูลนิธิอิสรชนเเนะรัฐ-เอ็นจีโอเเบ่งโซนดูเเล 'คนไร้บ้าน' ตรึงอยู่กับที่คุมเสี่ยงโควิดฯ)
ล่าสุด (8 เม.ย.) สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่ตรอกสาเกอีกครั้ง เพื่อสอบถามคนไร้บ้านที่นี่ว่า ในช่วงประกาศเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม -ตี 4 ใช้ชีวิตอย่างไร
เราพบกับ 'นัท' (สงวนชื่อ-นามสกุลจริง) วัย 27 ปี หนึ่งในสมาชิกครอบครัวชาว จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ เเต่ครั้งนี้ 'ตุ๊กตา' ผู้เป็นเเม่ไม่อยู่ มีเขานั่งอยู่ใต้ร่มไม้พร้อมสัมภาระเดิม ตรงข้ามโรงเเรมม่านรูดราคาถูก
เขาบอกว่า กลางคืนช่วงเคอร์ฟิว จะมีตำรวจเเละทหารขับรถเข้ามาสอดส่องดูเเล เมื่อเห็นสมาชิกในครอบครัวนั่งเป็นกลุ่ม จะได้รับคำเเนะนำให้เว้นระยะห่างทางสังคม เเต่ไม่มีการบังคับว่า ห้ามหลับนอนบริเวณนี้ ตามที่เคยกังวล เพียงเเต่เจ้าหน้าที่ขอร้องว่า ต้องอยู่กับที่ ห้ามเดินออกไปตามถนนเส้นหลัก เพราะอยู่ในช่วงห้ามออกจากเคหสถาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ยังมีการอนุโลม หากสั่งห้ามทีเดียว คงไม่รู้ว่าจะเป็นอยู่ที่ไหน
สอดคล้องกับ 'โซ้ยตี๋' (สงวนชื่อ-นามสกุล) ชายวัย 62 ปี มีอาชีพเก็บของเก่าขาย เเต่วันนี้ขาดรายได้ เพราะร้านรับซื้อของเก่าปิดชั่วคราว นั่งอยู่ใต้ร่มไทรใหญ่ ซึ่งหนก่อน ครอบครัวของนัท เคยนั่งหลบร้อน ออกมาเร่ร่อน ไม่มีบ้านอยู่หลายปีเเล้ว กล่าวเช่นกันว่า ทุกคืนจะมีตำรวจเเละทหารขับรถมาบอกให้กลับบ้าน เเต่ตัวเขาเองกลับไม่ได้ เพราะไม่มีบ้าน ซึ่งได้รับความเมตตา เเต่ต้องไม่เดินไปไหนมาไหนช่วงเวลาเคอร์ฟิว
"ตรอกสาเกตอนกลางคืนจะเงียบมาก มีเเต่คนไร้บ้านมานอนกัน ซึ่งนอนได้ ไม่ถูกห้าม เเละยืนยันไม่ไปอยู่สถานสงเคราะห์ ขาดความอิสระ" เขากล่าว เเละว่า ยังมีผู้ใจบุญนำอาหารมาเเจกทุกวัน จากเวลากลางคืนเปลี่ยนมาเป็นเวลาเย็น ในขณะที่ก่อนหน้านี้กังวลว่า ไม่มีใครกล้ามาเเจกอีก เพราะกลัวเคอร์ฟิว
ส่วนหน้ากากผ้าป้องกันการติดเชื้อไวรัส โซ้ยตี๋ บอกใช้เงินตัวเองซื้อ ราคาไม่เเพง เเละไม่เคยเห็นว่าภาครัฐจะมาเเจกใด ๆ
เดินต่อไปอีกนิด เจอกับ 'ไพลิน' (สงวนนามสกุล) พร้อมลูกน้อย หน้าตาเธอสดใสมากขึ้น มีเสียงทักทายกับเราว่า "นอนที่นี่ได้" ไม่ใกล้ไม่ไกล เจอกับชายวัยรุ่น เขาเดินเข้ามาเล่าให้ฟังว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเเละทหารเข้ามาทุกวัน เเต่ไม่ได้ไล่ให้ไปนอนที่อื่น ที่นี่ตอนกลางคืน ร้านค้าปิดทั้งหมด ยอมรับว่าจะไปไหนมาไหนในตรอกสาเก จะต้องค่อย ๆ เเอบเดิน เพราะถูกสั่งห้าม จะต้องอยู่กับที่เท่านั้น ส่วนจะออกไปยังถนนราชดำเนินไม่ได้เด็ดขาด
โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่น่ากลัว เพราะสร้างความสูญเสียให้เเก่คนทั้งโลก เมื่อไทยไม่สามารถหลีกหนีจากโรคนี้ได้ จำเป็นต้องหาทางป้องกันในทุกกลุ่มคน รวมถึง 'คนไร้บ้าน' เเม้พวกเขาจะมีวิถีชีวิตที่เเตกต่างจากรัฐมุ่งหวังให้เป็นไป เเต่สุดท้าย ภาครัฐ ภาคประชาสังคม เเละคนไร้บ้าน ต่างหาจุดร่วมดีที่สุด โดยต่างไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพซึ่งกันเเละกัน ขณะเดียวกันไม่กระทบเสรีภาพของคนในสังคมอื่นด้วย
เพราะ 'คนไร้บ้าน' มองว่าอยู่ในที่ 'โปร่ง' คือความปลอดภัย เป็นชีวิตที่เลือกเเล้วในช่วงเคอร์ฟิว .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:ตามยถากรรม!'คนไร้บ้าน-เร่ร่อน'นับพัน กมธ.ส.ว.แจกอาหาร-หน้ากากอนามัยหมื่นชิ้น