มูลนิธิอิสรชนตั้งคำถาม พม. นำคนไร้บ้านไปอยู่ 5 สถานที่รองรับ ไม่ต่างจากการกวาดจับ สร้างพื้นที่เเพร่เชื้อ บางคนเป็นจิตเวช วัณโรค เเนะจับมือเอ็นจีโอ เเบ่งโซนดูเเล ตรึงให้อยู่ในพื้นที่ ควบคุมความเสี่ยงโควิดฯ
ภายหลังจากนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านและผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะบริเวณสวนลุมพินีและสถานีรถไฟหัวลำโพง ให้มาอยู่สถานที่รองรับ 5 แห่ง ได้แก่ 1.บ้านมิตรไมตรี 4 มุมเมือง กรุงเทพมหานคร (อ่อนนุช) 2.บ้านมิตรไมตรี 4 มุมเมือง กรุงเทพมหานคร (ธนบุรี) 3.บ้านมิตรไมตรี 4 มุมเมือง กรุงเทพมหานคร (ดินแดง) 4.บ้านสร้างโอกาส ปทุมธานี และ 5.บ้านสร้างโอกาส ปากเกร็ด โดยมีอาหารครบ 3 มื้อ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ภายใต้โครงการ เราไม่ทิ้งกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 นั้น
(อ่านประกอบ:พม. ชวนคนไร้บ้านสวนลุมฯ-หัวลำโพง เข้าที่พักรัฐ 5 เเห่ง มี 12 คน สมัครใจรับบริการ)
นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า คนไร้บ้านเเละผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่มีการนำเสนอในสื่อราว 1,400 คน ซึ่งหากให้อยู่ในสถานที่รองรับ 5 เเห่ง ตามที่ พม.จัดไว้นั้น เฉลี่ยเเห่งละ 280 คน จึงตั้งคำถามว่า สถานที่ดังกล่าวสามารถบริหารจัดการเรื่องการเว้นระยะห่างของบุคคลได้หรือไม่ เพราะจากการประชุมร่วมกัน พบว่า สามารถรองรับได้เพียง 100 คน/เเห่ง เท่านั้น เเละกรณีที่รับเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ครอบครัวที่มีเด็ก คนชรา จะมีระบบการคัดกรองอย่างไร
"เจ้าหน้าที่ยังไม่มีระบบใด ๆ เลย ตามที่บอกว่ามีหมอเเละพยาบาลมาดูเเละ วัดไข้ตรวจสุขภาพเช้าเเละเย็นนั้น ในความเป็นจริง สามารถเป็นไปได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทางมูลนิธิอิสรชน เพิ่งอบรมกับสำนักบริหารงานนายกรัฐมนตรี ถึงเรื่องราวงานอาสากับความเข้าใจโควิด-19 เพื่อถ่ายทอดสู่พี่น้องคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง" เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าว เเละว่า การนำคนหมู่มากมารวมกัน ไม่เเตกต่างอะไรจากการกวาดจับหรือไม่ต่างจากการสร้างพื้นที่แพร่เชื้อให้ได้รับความเสี่ยงหนักกว่าที่อยู่เดิม
นางอัจฉรา กล่าวต่อถึงบ้านมิตรไมตรี 4 มุมเมือง กรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่รองรับ พบว่า เต็มไปด้วยคนไร้บ้านที่ถูกนโยบายจัดระเบียบคนไร้บ้าน ขอทาน หรือบ้านพักคนเดินทางยังมีปัญหาในเรื่องการรองรับเชิงป้องกันโรคระบาด เพราะคนเร่ร่อน คนไร้ทีพึ่ง บางคนที่มีอาการจิตเวช หรือมีปัญหาโรคติดต่อ เช่น วัณโรค ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ตรึงคนในพื้นที่ให้อยู่กับที่ แบ่งโซนมูลนิธิร่วมกับรัฐดูแล โดยรัฐเป็นหน่วยงานกลาง เพราะโดยพื้นฐานชีวิตของคนเร่ร่อนไม่เข้าไปรวมกลุ่มกับใครอยู่แล้ว ที่สำคัญ การจับไปรวมกัน คือ การรวมโรค ไม่ใช่การจัดระเบียบขอทานตอนนี้ เเละให้นำผู้ที่มีความเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุ ให้ได้รับการดูแล เข้าที่พักพิงก่อน ส่วนฝ่ายความมั่นคงต้องไม่เข้าไปกวดจับ
"คนเร่ร่อนควรอยู่ในพื้นที่ แค่ควบคุมถือว่าดีเเล้ว หากมีการเคลื่อนย้ายนั่นคือความเสี่ยง ฉะนั้น คนกลุ่มนี้จะปลอดภัยกว่าเมื่ออยู่ในที่โปร่ง" เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:เปิดมาตรการดูเเล 'คนไร้บ้าน' ช่วง 'โควิด-19' เเจกหน้ากากผ้า 5 พันชิ้น-สร้างที่พักรองรับ
ตามยถากรรม!'คนไร้บ้าน-เร่ร่อน'นับพัน กมธ.ส.ว.แจกอาหาร-หน้ากากอนามัยหมื่นชิ้น
'คนไร้บ้าน' ถามเสียงดัง 'เคอร์ฟิว' สกัดโควิดฯ ชีวิตต้องหลับนอนที่ไหน
ท่ามกลางโควิด-19 ระบาด คนไร้บ้าน “อยู่บ้าน” อย่างไร เมื่อไม่มีที่อยู่ ?