"...พ่อแม่เครียด เด็กก็เครียด เขาก็กังวล เช่น เด็กเล็กบางคน มีวันหยุดทุกวันอาทิตย์ ได้ไปเล่นบ้านบอล แต่ทุกวันนี้มันหยุดหมด เด็กเล็ก เด็กโต มีพัฒนาการที่แตกต่าง เขาก็เครียด เขาก็กังวล เด็กบางคนโตแล้ว พูดได้แล้ว เด็กวัยเรียน วัยรุ่น เขาพูดได้แล้ว พ่อแม่ก็เข้าใจได้ แต่เด็กบางคนที่ยังไม่พูดหรือเงียบ อาจแสดงอาการทางกาย..."
ในช่วงสถานการณ์จำกัดพื้นที่เสี่ยงโรคโควิด 19 ทั้งเด็กเล็ก เด็กวัยซน เด็กประถม และวัยรุ่นถูกให้อยู่บ้านในช่วงนี้ ควรมีคำแนะนำอย่างไรต่อครอบครัว พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กบ้าง?
เป็นอีกหนึ่งชุดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการดูแลเด็ก ในช่วงเวลาที่คนไทยต้องกักตัวอยู่ในบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วหลายตอนก่อนหน้านี้
วิธีการดูแลเด็กๆ ในทุกช่วงวัย รวมถึงการจัดการอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ ให้สามารถรับมือกับสภาวะที่เป็นอยู่ ทั้งเป็นหลักให้ลูกได้ และจัดการอารมณ์ตนเองได้ เพื่อความสุขในครอบครัว
สิ่งเหล่านี้ คือ หลักการและ คำอธิบายที่น่าสนใจจาก นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข อาจารย์ประจำสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่ถ่ายทอดผ่านสำนักข่าวอิศราล่าสุด
มีรายละเอียดที่สำคัญและน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
@ หลักการแรกสุด แสดงให้ลูกรู้ว่ายังรักเขาเสมอ
นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข ระบุว่า การดูแลเด็ก มีหลักการสำคัญอยู่ 5 ประการ ที่ผู้ปกครอง ต้องรับทราบและควรนำไปปฏิบัติ คือ
ข้อ 1.ทำให้เด็กรับรู้คำพูดที่ว่า พ่อแม่รักลูกแบบไม่มีเงื่อนไข การที่มีโรคเหล่านี้พ่อแม่ก็ยังรักลูกเหมือนเดิม และจะดูแลเขาเหมือนเดิม
เริ่มที่หลักการแรกผู้ใหญ่เราก็กลัวและตกใจกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น เราเอง ลูกๆ ทุกช่วงวัย ยิ่งเด็กๆ ก็ยิ่งตกใจ เพราะเขาสัมผัสได้ถึงสภาวะบ้านเมืองที่มันไม่ปกติ อยากให้พ่อแม่ทำให้เขารับรู้ว่าโลกตอนนนี้มันอยู่ในสถานะวุ่นวาย แล้วมันก็อยู่ในสภาวะที่คาดเดาไม่ได้ ไม่มีใครอยากให้มันเกิดแบบนี้ แต่ว่า ยังไงเราก็อยากให้ลูกรับรู้ว่า เขาสำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ พ่อแม่จะปกป้องดูแลเขาเสมอ ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
@ พ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ตนเองให้ได้
ข้อที่ 2 ผู้ใหญ่เราเครียดจากภาวะที่เกิด พ่อแม่ก็ต้องรับรู้สภาวะใจตัวเองที่เกิดก่อน ว่าตอนนี้ก็เครียดมากๆ เปิดใจ ยอมรับว่าทุกคนก็เครียด ใครๆ ก็เครียด ทั้งเครียดจากตัวโรค ว่าแต่ละวันจะมีประกาศผู้ติดเชื้อเพิ่มเท่าไหร่ ในขณะเดียวกันก็เครียดจากผลพวงจากโควิด เช่นอาจถูกให้ออกจากงาน รายรับลดลง รายจ่ายเท่าเดิม แล้วลูกก็ยังต้องดูแล ลูกอยากไปซัมเมอร์ก็ไม่ได้ไป พ่อแม่เองก็ต้องรับรู้ถึงความเครียดของตัวเอง แล้วเมื่อรับรู้จัดการอารมณ์ตนเองได้ พ่อแม่จะเป็นต้นแบบในการจัดการอารมณ์ที่ดีให้กับลูก ที่ทำให้เด็กเห็นเว่าพ่อแม่ก็เครียดแต่จัดการอารมณ์ได้ และพ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะบอกลูกได้ ว่าพ่อแม่ไม่พร้อม ตอนนี้แม่กำลังกังวล สามารถสื่อสารทางตรงให้เขาเห็นได้ แต่เมื่อเกิออารมณ์ด้านลบต้องทำให้เขาเห็นว่าสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าจัดการอารมณ์ได้เช่นเดียวกัน
ข้อ 3 การจัดการอารมณ์ ที่เมื่อทำได้ดีขึ้น มันทำให้เด็กรับรู้ได้ว่าเขาสำคัญจริงๆ ว่าเมื่อพ่อแม่เครียด แล้วหากจัดการอารมณ์ได้ พ่อแม่จะมีพลังที่เหลือสำหรับจัดการดูแลลูก ซึ่งทำให้ลูกรับรู้ได้จริงๆ ว่ารักเขาจริงๆ นี่คือเรื่องของการจัดการอารมณ์ สำคัญไม่น้อยกว่าการระวังการติดเชื้อ การจัดการจำกัดการติดเชื้อด้วยการอยู่บ้าน หยุดการติดเชื้อ อยู่บ้านเพื่อชาติ
@ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกในการระวังการติดเชื้อ
ข้อ 4 ดังนั้น พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการป้องกันการติดเชื้อ ทั้งการล้างมือ การอยู่ระยะห่างจากคนในสังคม
ถ้าเราออกจากบ้านเราถึงต้องระวัง เพราะเราออกไปในพื้นที่เสี่ยง แล้วเราก็รักษาอนามัย ล้างเจลอนามัยบ่อยๆ เมื่อกลับมาบ้านแยกย้ายกันไปอาบน้ำ สระผม ให้สะอาด รักษาพื้นที่ในบ้านให้สะอาด เราก็สามารอยู่ใกล้กันได้ถ้ามั่นใจว่าทุกคนสะอาด ด้วยความที่พ่อแม่เป็นตัวอย่างเรื่องความสะอาด
@ ดูแลเด็กเล็ก เด็กวัยซน ที่เขาอาจไม่ได้อยากอยู่บ้านช่วงโควิดอย่างไร
สิ่งที่ต้องรับรู้ข้อที่ 5 คือ พ่อแม่เครียด เด็กก็เครียด เขาก็กังวล เช่น เด็กเล็กบางคน มีวันหยุดทุกวันอาทิตย์ ได้ไปเล่นบ้านบอล แต่ทุกวันนี้มันหยุดหมด เด็กเล็ก เด็กโต มีพัฒนาการที่แตกต่าง เขาก็เครียด เขาก็กังวล เด็กบางคนโตแล้ว พูดได้แล้ว เด็กวัยเรียน วัยรุ่น เขาพูดได้แล้ว พ่อแม่ก็เข้าใจได้ แต่เด็กบางคนที่ยังไม่พูดหรือเงียบ อาจแสดงอาการทางกาย
เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าลูกเครียด นอนไม่หลับ บ่นว่าฝันร้าย นี่คือสิ่งที่ต้องรู้ว่าเขาเครียด พ่อแม่ก็ต้องรับฟังลูก และอย่าเพิ่งรีบสอนอะไรมาก บางครั้งเราพบว่าคุณพ่อคุณแม่รีบบอกว่า “อย่าคิดมาก” และรีบขู่ จะให้หมอฉีดยา ครูตี ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่เป็นความจริง ไม่อยากให้ขู่ อยากให้รับฟังลูก
@ นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข
@การดูแลเด็กเล็กและเด็กวัยประถม ทำกิจกรรมนอกจอให้สนุกกว่าหน้าจอ
นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข ยังระบุถึง คำแนะนำต่อครอบครัว พ่อแม่ ในการเลี้ยงดูเด็กแต่ละช่วงวัยดังนี้
กรณี ถ้าเป็นเด็กเล็กที่เขาเคยไปบ้านบอล ถ้าไปไม่ได้ ก็นำมาสู่การทำกิจกรรมในครอบครัว พ่อแม่ต้องมีกิจกรรมในครอบครัวที่ดี ทั้งเด็กเล็กและเด็กวัยประถม เราใช้ช่วงเวลาที่ดีที่พ่อแม่อยู่กับลูกได้ ลดการใช้เวลาหน้าจอ มาใช้เวลามองหน้ากัน ถ้าลูกเป็นเด็กเล็ก เล่นฝึกแต่งตัว ฝึกติดกระดุม ฝึกเข้าห้องน้ำ จากเดิมที่ไม่มีเวลาให้เขา อยากให้มองเห็นโอกาสทองที่ได้ใช้ช่วงเวลานี้ ได้อยู่กับเขาได้มากขึ้น
ถ้าเด็กเล็กงอแง เราก็เบี่ยงเบนความสนใจ โดยเน้นหลักการความสะอาดเหมือนเดิม เน้นหลักการระวังไม่ให้ไม่ติดเชื้อ แต่เมื่อเด็กโตขึ้นมาเป็นวัยอนุบาลอาจวาดรูป เล่านิทาน เล่นตุ๊กตาด้วย และอย่าลืมว่าระวังการใช้เวลาอยู่หน้าจอมากขึ้น เพราะมีการศึกษามาแล้ว ช่วงโควิดเด็กติดเกม ติดเฟซบุ๊คมากขึ้น เสพสังคมออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น ต้องระวังเหมือนกัน ว่าเราจะทำให้กิจกรรมนอกหน้าจอ มันต้องสนุกกว่าในจอ เป็นโจทย์ที่ท้าทายของพ่อแม่ ว่าจะทำอย่างไร
@ สำหรับวัยรุ่น เพื่อนคือทุกสิ่ง ทำตัวเป็นเพื่อนกับลูก ชวนวิธีปาร์ตี้วิดิโอคอล
ในส่วนวัยรุ่น ถ้าเขาเครียดๆ อยู่บ้าน อย่าลืมว่าวัยรุ่น สิ่งสำคัญของเขาคือเพื่อน พ่อแม่ไม่ใช่คนที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาแล้ว ดังนั้น ทำอย่างไร ที่เขาจะยังรู้สึก Connect กับเพื่อนเขาอยู่ เราคงไม่ได้ห้ามที่จะไม่ให้เขาไปติดต่อกับเพื่อน แต่เปลี่ยนเป็นการที่ไม่ไปพบปะ ไม่ไปรวมกลุ่มนอกบ้าน ไม่ออกนอกบ้าน เช่น ปาร์ตี้สนุกๆ กันทางวิดีโอคอลไหม ไม่ได้กินเหล้าเบียร์นะ แต่กินขนม คุยกันสนุก ๆ สื่อสาร เล่นกิจกรรมสนุกๆ กันระหว่างหน้าจอ อาจเล่นเกมออนไลน์ ไม่ถึงกับห้าม แต่อยู่ในเวลาที่เหมาะสม คือ วัยรุ่นเมื่อเห็นเพื่อนคนอื่นถูกห้ามออกจากบ้านเหมือนกัน เขาก็จะรู้ว่า เขาเองก็ไม่ต่างจากคนอื่น
นอกจากนี้ วัยรุ่น พ่อแม่ก็อาจจะใช้เวลากับเขามากขึ้นด้วยการดูซีรี่ย์ ดูยูทูบ ดูเน็ตฟลิกซ์ด้วยกันมากขึ้น หรือมีเวลาที่รับฟังเขาเยอะๆ ลองทำความรู้จักลูกให้มากขึ้น ถือโอกาสนี้ ว่าเขาชอบศิลปินดาราคนไหน ชอบอะไร แล้วเราก็รับรู้โลกของเขาให้มากขึ้น เช่น เด็กผู้ชายเขาชอบนักฟุตบลกคนไหน เราลองรับรู้เข้าไปในโลกของเขา แต่ไม่พยายามมากเกินไปจนเขาอึดอัด
@ เด็กวัยอนุบาล ใช้วิธีเล่านิทาน เล่นสนุก วาดรูป สื่อสารกับลูกอย่างสร้างสรรค์
ในเด็กวัยเล็ก ถ้าเขาพร้อมเราสามารถเล่นสนุก สอนจิตนการเขาเกี่ยวกับโรคโควิดได้ เช่น อธิบายเขาว่านี่ตัวเชื้อโรคนะ มาวาดรูปกันไหม ทำให้เด็กเห็นว่าการสื่อสารเรื่องพวกนี้มันสนุก แต่ถ้าเด็กประถม เขาเริ่มเข้าใจหลักการและเหตุผลแล้ว ว่าทำไมต้องล้างมือบ่อย ต้องดูแลความสะอาดเพราะอำไร
ส่วนวัยรุ่นก็เข้าใจแล้ว ว่าเขาช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย ลูกๆ สามารถได้รับการสอนได้ ว่า แนะนำลูกว่า ผู้ที่เป็นโควิดไม่มีใครอยากป่วย แต่ว่าทุกคนที่เขาป่วยเพราะเขาไปเจอโอกาสที่ไม่ดี ที่ทำให้ติดโรคนี้ เพราะฉะนั้น เราก็ควรเข้าใจผู้ป่วยแต่ไม่ควรไปตีตราเขา ควรมองว่าเขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งของเราเหมือนกัน
@หลักการสำคัญ เลี้ยงลูกเชิงบวก
อาจารย์หมอประจำสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ยังระบุด้วยว่า หลักการอื่นๆ ต้องเลี้ยงดูเชิงบวก ไม่ขู่ หากต้องลงโทษต้องใช้วิธีที่เหมาะสม ไม่ใช้การตี วัยอนุบาล หรือประถม อาจใช้การดูแลและจัดสรรเวลาเหมือนที่โรงเรียนว่าเราตื่นนอนกี่โมง แต่ละช่วงเวลา ทำกิจกรรมอะไรบ้าง พักเที่ยงกินอะไร เข้าครัวกับคุณแม่ไหม เมื่อจัดการเวลาของลูกได้ คุณพ่อคุณแม่ ก็จะมีเวลาจัดการดูแลช่วงเวลาของตัวเองได้ หรือมีเวลาไปทำธุรกิจ ทำงานที่บ้านได้
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ไหวจริงๆ มีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือเฟซบุ๊คแฟนเพจ “ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย” ให้คำแนะนำ
….
ทั้งหมดนี้ คือหลักการดีๆ ที่น่าสนใจจาก อ.นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข อาจารย์ประจำสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการดูแลเด็กทุกช่วงวัย รวมทั้งดูแลจิตใจคุณพ่อคุณแม่ ทุกคนในครอบครัว ให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้อย่างปลอดภัย และมีความสุข ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ดูเหมือนจะยาวนาน และยังไม่มีที่สิ้นสุดแบบนี้ ..เหมือนที่เคยระบุไปแล้ว
อ่านประกอบ
ศิลปะ (ของใช้) ในบ้าน..เครื่องมือบำบัดจิต ในห้วงยามแห่งการกักตัว 'สู้' โรคโควิด
พบหมอศิริราช อยู่บ้านอย่างไร? ไม่ให้โควิดทำลายความสัมพันธ์คนในครอบครัว
วิธีการพูดคุยกับลูกของคุณ ในสถานการณ์โควิด-19
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage