"... การดูแลอารมณ์ความรู้สึกในช่วงที่มีการแพร่ระบาด เช่น หากเรามีเสียงในหัวเราเกิดขึ้น เรื่องสภาวะความทนได้ยาก สภาวะที่ทนได้ยากจะผ่านไปได้อย่างไร นี่เป็นตัวอย่างที่เราบอกตัวเองว่าต้องทน คือ เวลาที่มันผุดขึ้นในหัวเราเป็นความคิดว่าเราทนได้ยาก เมื่อมันผุดขึ้นมาแบบนี้ ในหัวเรามันเป็นลักษณะความคิดที่ทำให้เราไปต่อได้ยาก เราอาจต้องเปลี่ยน ว่ามันอาจไม่ได้ยาก แต่เป็นสิ่งที่ไม่ได้คุ้นเคย..."
โมโห ทะเลาะ หงุดหงิด อยากออกนอกบ้านไปยังสถานที่ที่คุ้นเคย แต่ไปไม่ได้ นึกอยากระบายความโกรธกับคนในครอบครัว
หลายครั้งอาจทำไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ทันคิด แล้วมารู้สึกผิด
เชื่อว่าทั้งหมดนี่ คือ ผลข้างเคียงที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่คนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญหน้าจากการต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน งดเว้น สร้างระยะห่าง จากบุคคลอื่น เพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไม่ให้ขยายตัวเป็นวงกว้างไปมากกว่านี้
ขณะที่การอยู่อาศัยแต่ในบ้านพัก ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครบ้างคน
การปรับความสัมพันธ์ ดูแล ประคับประคองจิตใจในครอบครัวเพื่อให้ก้าวผ่านภาวะเหตุการณ์โควิดแพร่ระบาดไปได้ นับเป็นหลากหลายแง่คิดที่น่าสนใจและควรค่าแก่การรับฟัง เพื่อการอยู่ร่วมกันในชายคาที่ร่มเย็น
แม้ภายนอกจะเต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่อาจคาดคิด ยังไม่รู้ถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่ตราบใดที่มีหวัง มีการปรับความคิดอารมณ์ในแง่ดี มองโลกในแง่บวกก็ช่วยเยียวยาระดับความสัมพันธ์ไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไปได้
เราจะอยู่กับบ้านกับคนในครอบครัวด้วยสภาวะที่ทนได้ยากในสถานการณ์โควิดระบาดอย่างไร ?
คือ ประเด็นแรกที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตั้งคำถามกับ รศ.แพทย์หญิง พรจิรา ปริวัชรากุล อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงการปรับความสัมพันธ์ ดูแล ประคับประคองจิตใจในครอบครัวเพื่อให้ก้าวผ่านภาวะเหตุการณ์โควิดแพร่ระบาดไปได้
คำตอบที่ได้รับทราบ คือ การดูแลอารมณ์ความรู้สึกในช่วงที่มีการแพร่ระบาด เช่น หากเรามีเสียงในหัวเราเกิดขึ้น เรื่องสภาวะความทนได้ยาก สภาวะที่ทนได้ยากจะผ่านไปได้อย่างไร นี่เป็นตัวอย่างที่เราบอกตัวเองว่าต้องทน คือ เวลาที่มันผุดขึ้นในหัวเราเป็นความคิดว่าเราทนได้ยาก เมื่อมันผุดขึ้นมาแบบนี้ ในหัวเรามันเป็นลักษณะความคิดที่ทำให้เราไปต่อได้ยาก เราอาจต้องเปลี่ยน ว่ามันอาจไม่ได้ยาก แต่เป็นสิ่งที่ไม่ได้คุ้นเคย
เมื่อถามว่า จะเปลี่ยนความคิดอย่างไร ?
รศ.แพทย์หญิง พรจิรา ปริวัชรากุล ให้คำตอบที่น่าสนใจว่า เราต้องตระหนักว่าสิ่งที่มันผุดขึ้นมาในหัวเรา ความคิดนี้มันจริงหรือเปล่า ?
เพราะบางครั้ง บางเรื่องมันอาจไม่ใช่คำถามแต่เป็นแค่ความคิดอันนึง เช่น หากมีคนถามว่า “เหตุการณ์มันจะเป็นอย่างนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่?” ถึงประโยคจะเป็นประโยคคำถาม แต่มันเป็นแค่ความคิดรำพึงขึ้นมา แต่ถ้าเราเผลอไปหาคำตอบกับคำถามที่จริงๆ ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบนี้เราก็จะเหนื่อย จะท้อไปเรื่อยๆ
นี่คือลักษณะที่เราต้องระวังความคิดตัวเองในช่วงนี้ให้มาก เพราะมันมีแนวโน้มที่จะวนเวียนได้
@ รศ.แพทย์หญิง พรจิรา ปริวัชรากุล
ส่วนการแก้ไขเรื่องความหงุดหงิดนั้น รศ.แพทย์หญิง พรจิรา ให้มุมมองว่า "เรื่องความหงุดหงิดเมื่อมันเกิดขึ้น เราต้องตระหนักก่อนว่ามันเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แลกลับเข้าไปมองความรู้สึกข้างในของเราว่าความหงุดหงิดนี้มีที่มาจากอะไร เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจหงุดหงิดเพราะไม่ใช่ว่าออกไปไหนไม่ได้ แต่เพราะว่า มีสิ่งที่คาดไม่ถึง ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้น จะแก้อย่างไร ก็ต้องหาที่มาที่ไปของตัวเองก่อน
มีวิธีการในการค้นหาที่มาความหงุดหงิดของตัวเอง เมื่อรู้แล้วเราจะจัดการได้ว่าอะไร
วิธีการที่ว่านั้นคืออะไร ?
รศ.แพทย์หญิง พรจิรา ยกตัวอย่างว่า เช่น อยู่ๆ ที่เราหงุดหงิดขึ้นมา เราก็ทำอะไรอยู่ แล้วพฤติกรรมสอดคล้องกัน เช่นบางคนหงุดหงิดโดยไม่รู้ว่าตัวเองหงุดหงิด บางคนคิ้วผูกโบว์ บางคนเสียงปรี๊ด นี่คือ มาในรูปของพฤติกรรมทางร่างกาย ในคนที่ไม่ถนัดเรื่องรับรู้พฤติกรรม ประเภทที่เขารู้สึกปวดหัวเลยเมื่อหงุดหงิด ก็หลักการเดียวกันว่า เมื่อกี้นี้ เราคิดหรือเราทำอะไรอยู่ ยกตัวอย่างเช่น อาจจะมีเจ้านายโทรมา เราทำงานที่บ้านอยู่ เจ้านายโทรมาแค่เห็นสายเข้าเราก็เกิดความคิดขึ้นมาต่างๆ นานา ว่าเป็นวันหยุดทำไมเขาไม่เข้าใจ ซึ่งจริงๆ เรายังไม่รู้เลยว่าเขาโทรมาทำไม เขาอาจจะโทรมาบอกให้เราลงทะเบียนประกันชีวิตที่เขาทำให้ก็ได้ เป็นต้น นี่คือ
ตัวอย่างความคิดที่มันไม่ใช่ความจริง แต่มันกระทบจิตใจเราแล้ว
รศ.แพทย์หญิง พรจิรา ยังให้คำแนะนำความกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด ว่า เราจะเห็นว่าปฏิกิริยาตอบรับกับเรื่องนี้แตกต่างกันไป บางคนหาข้อมูลเยอะมาก บางคนพยายามไปเสิร์ชว่ามีวัคซีนอะไร ยาอะไร นั่นก็เป็นการแก้ปัญหาความหงุดหงิดของแต่ละคน ซึ่งจริงๆ แล้ว พื้นฐานการจัดการความเครียดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และสิ่งหนึ่งที่หมอคิดว่าต้องระวังคือเรื่องของวิธีการที่เราแก้ปัญหา มันทำให้เป็นปัญหามากขึ้น หรือเรากลายเป็นเหยื่อด้วยหรือเปล่า เช่น บางที พอเราจะหาของที่จะมาป้องกันบางคนก็โดนหลอกให้ซื้อเครื่องอะไรก็ไม่รู้
นอกจากนี้ เราต้องป้องกันตัวเองจากข่าวและสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเหมือนกัน เพราะเมื่อเรามีความหวังแล้ว บางทีมันเป็นความหวังที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ ทุกคนอยากให้โควิดหายไป แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะหายเมื่อไหร่ ก็จะมีมิจฉาชีพบางคนที่เอาความหวังของคนเป็นเครื่องมือ ดังนั้น เราต้องมีวิจารณญาณ
ส่วนในประเด็นที่ว่า ความไม่พอใจในช่วงนี้ที่อาจไประบายความหงุดหงิดใส่คนในครอบครัว จะแก้อย่างไร ?
รศ.แพทย์หญิง พรจิรา ระบุว่า เมื่อเรารู้สึก เราอาจเผลอระบายอารมณ์กับเขาไปแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น ตัวเรารู้สึกว่าคนอื่นมาบังคับเรา เราก็อาจไปลงกับเขาแล้วโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น อยากให้มองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ในช่วงนี้ที่ทุกคนล้วนไม่สบายใจ ให้มองว่ามันเป็นช่วงที่ทุกคนพยายามปรับตัว แต่เมื่อปรับตัวยังไม่ได้ หลายๆ ครั้ง ไม่ได้มีเจตนา ที่จะอยากให้เกิดกับคนรอบข้าง แต่เขาจัดการความรู้สึกไม่ได้ เพราะว่าอะไรรู้ไหมคะ เพราะว่า ถ้าเกิดว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาว่าเราถูกกระทำ หรือเขามาลงกับเรา นี่ก็คือการด่วนสรุปแบบหนึ่งเหมือนกัน มองว่าเขามาลงกับเรา ทั้งที่จริงเขาอาจจะแค่อยากขอความช่วยเหลือจากเรา เพราะเขาเองก็ไม่ไหวแล้ว แล้วแทนที่เราจะรู้สึกว่าถูกกระทำ เราอาจพลิกสถานการณ์เป็นคนที่ดึงเขาขึ้นมาก็ได้ ดังนั้น อันดับแรก ต้องปรับการมองก่อน การมองแบบนี้มีประโยชน์ทั้งสองทาง ความสัมพันธ์เป็นเรื่องรอง แต่สิ่งที่ได้เลยคือ ประโยชน์ต่อใจตัวเราเอง
รศ.แพทย์หญิง พรจิรา ยังให้มุมมองเพิ่มเติมแก่ ประชาชนทั่วไป ที่ต้องอยู่ในบ้าน ออกไปไหนไม่ได้ ว่า "เรื่องบางเรื่อง เราทนได้ทุกอย่างถ้าเรารู้ว่าเราทนเพื่ออะไร แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเราทนเพื่ออะไร เราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปนานมาก อย่างกรณีนี้ ก็คือเราต้องคอยบอกตัวเองว่าเราทำเพื่ออะไรบ้าง เช่นทำเพื่อคนที่เรารัก ทำเพื่อชาติ เพื่อสังคม แล้วก็จะเกิดความภาคภูมิใจ หลายครั้งที่เราอยู่ในบ้านแล้วอึดอัดเพราะเรารู้สึกถูกบังคับ ไม่อยากให้รู้สึกแบบนั้น เป็นความรู้สึกที่บั่นทอนตัวเอง แต่ธรรมชาติของคนมันต้องผุดขึ้นมาบ้างอยู่แล้วล่ะ แต่ถ้ารู้แล้ว ว่าถ้าเราคิดอย่างนี้เราก็เครียดเอง ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งดีเราก็จะไม่เครียด"
ส่วนคนไทยจะก้าวฝ่าภาวะนี้ไปได้อย่างไร?
รศ.แพทย์หญิงพรจิรา ชี้ว่า "หมอคิดว่าเราทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองตามที่เราทำได้และมีความถนัด เราในสถานการณ์แบบนี้ไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง เราอาจรู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วทุกคนทำได้ เช่นการที่ทุกคนอยู่บ้าน นั่นคือการเป็นการช่วยที่ดีที่สุดแล้ว และในส่วนอื่นๆ อันไหนเราทำได้ก็ทำ อันไหนทำไม่ได้ก็ให้กำลังใจ เช่น ช่วงนี้ก็มีจิตอาสา เย็บผ้าหน้ากากที่ทั้งให้กำลังใจกันละกัน และส่งเสริมสุขภาพจิตของตัวเราเองด้วย
นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นคำพูดที่บั่นทอนที่ผุดขึ้นมาเช่น เราทำไม่ได้ มันยาก สิ่งนี้ต้องตระหนัก เราต้องเปลี่ยนคำศัพท์ใหม่ เช่นมันอาจจะง่ายสำหรับบางคน แต่กับเรามันเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย แค่นั้นเอง แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เราก็จะคุ้นชินและเก่งกับมันในที่สุด
และสุดท้ายนี้ พวกเราจะผ่านไปด้วยกันได้ ถ้ารักกัน สามัคคีกัน และอยู่บ้านเพื่อชาติ
อ่านประกอบ
ศิลปะ (ของใช้) ในบ้าน..เครื่องมือบำบัดจิต ในห้วงยามแห่งการกักตัว 'สู้' โรคโควิด
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage