"...ข้อมูลที่ให้กับเด็กนั้นต้องสัมพันธ์กับการรับรู้และอายุของเด็กด้วย โดย UNICEF ให้คำแนะนำว่า ให้ผู้ปกครองใช้ภาษาที่เหมาะสม สังเกตปฏิกิริยาตอบสนองของเด็ก และพยายามรับรู้ถึงความวิตกกังวลของเด็กด้วย ถ้าหากเด็กมีคำถามที่ผู้ปกครองไม่รู้คำตอบ ให้ใช้โอกาสนี้ช่วยกันค้นหาคำตอบ เพราะเด็กก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้ใหญ่จะรู้คำตอบของทุกคำถาม การช่วยกันหาคำตอบเป็นหนทางอันดีในการสอนให้เด็กรู้จักแหล่งที่มาของข้อมูลต่าง ๆ..."
“อีกมุมหนึ่งของการที่ผู้คนทั่วทั้งโลกกำลังพยายามกักตัวเองอยู่ในบ้านเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือโอกาสที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้ากัน
สำหรับครอบครัวที่มีเด็กอยู่ด้วยคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอธิบายให้ลูกหลานได้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงสาเหตุที่เด็ก ๆ ต้องอยู่ห่างจากเพื่อนหรือญาติ และไม่มีกิจกรรมแบบเดิม”
คือ คำขึ้นต้นในรายงานพิเศษ ของ สำนักข่าวอัลจาซีรา สื่อชื่อดังแห่งหนึ่งของโลก ในชื่อว่า "How to talk to your children about coronavirus" หรือแปลเป็นไทยว่า "วิธีการพูดคุยกับลูกของคุณ ในสถานการณ์โควิด-19" ที่ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา
เนื้อหาสาระสำคัญในรายงานพิเศษชิ้นนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิดในประเทศไทย ที่คนไทยต้องกักตัวอยู่ในบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว
วิธีการพูดคุยกับลูกของคุณ ในสถานการณ์โควิด-19 สำหรับสังคมไทยด้วย นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก และไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด!
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงนำมาเสนอให้รับทราบกัน ณ ที่นี้
สำนักข่าวอัลจาซีรา ระบุว่า ตามที่ปรากฏในการนำเสนอขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ว่า "เด็ก ๆ อาจมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อความวิตกกังวล ความเครียดและความเศร้า"
ดังนั้น ในช่วงเวลาดังเช่นปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่บรรดาผู้ปกครองจะให้พื้นที่แก่เด็ก ๆ ในการพูดคุยถึงความรู้สึกต่าง ๆ
ทั้งนี้ วิธีการก็คงจะไม่ได้แตกต่างไปจากวิธีการทั่วไปที่ผู้ปกครองใช้เพื่อพูดคุยกับลูกหลานในเรื่องอื่น ซึ่งการพูดคุยกับเด็กเรื่องไวรัสโควิด-19 นั้นรวมถึงการรับฟัง การพูดความจริงกับเด็ก การรักษาตารางประจำวัน การหลีกเลี่ยงการว่ากล่าว และการสอนเรื่องความสะอาด
การรับฟัง
ผู้ปกครองต้องเริ่มต้นจากการฟังว่าเด็กเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันมากน้อยเพียงใด พยายามถามคำถามปลายเปิดและตั้งใจฟังคำตอบโดยไม่ปล่อยให้มีสิ่งรบกวน ทั้งนี้ผู้ปกครองอาจให้เด็กใช้ตัวช่วยอื่นในการอธิบาย เช่น การระบายสี
สิ่งสำคัญคือเด็กจะต้องรู้สึกว่าตนสามารถกับผู้ใหญ่ในสิ่งที่ตนต้องการจะพูดได้
ผู้ปกครองจะต้องไม่ละเลยความกังวลใจของเด็ก เช่นการพูดว่า "เรื่องนั้นไม่มีทางเกิดขึ้น" หรือ "ไม่ต้องห่วงเรื่องนั้น" แต่ควรพยายามเปิดรับความกังวลใจดังกล่าวอย่างเต็มที่และเล่าให้ฟังถึงความพยายามของคนมากมายที่กำลังทำงานหนักเพื่อหยุดความเลวร้ายนี้
พูดความจริงกับเด็ก
ปรากฏตามรายงานของ US Centers for Disease Control and Prevention ว่า ความจริงและข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กมีความเข้าใจในสิ่งอื่น ๆ ที่พวกเขาได้รับรู้มาได้ดีขึ้น
ข้อมูลที่ให้กับเด็กนั้นต้องสัมพันธ์กับการรับรู้และอายุของเด็กด้วย โดย UNICEF ให้คำแนะนำว่า ให้ผู้ปกครองใช้ภาษาที่เหมาะสม สังเกตปฏิกิริยาตอบสนองของเด็ก และพยายามรับรู้ถึงความวิตกกังวลของเด็กด้วย
ถ้าหากเด็กมีคำถามที่ผู้ปกครองไม่รู้คำตอบ ให้ใช้โอกาสนี้ช่วยกันค้นหาคำตอบ เพราะเด็กก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้ใหญ่จะรู้คำตอบของทุกคำถาม การช่วยกันหาคำตอบเป็นหนทางอันดีในการสอนให้เด็กรู้จักแหล่งที่มาของข้อมูลต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนว่าผู้ปกครองควรจำกัดขอบเขตของการค้นหาคำตอบที่เหมาะสม เพราะอาจกลายเป็นการเพิ่มความวิตกกังวลให้แก่เด็กได้
รักษาตารางประจำวัน
การรักษากิจกรรมในแต่ละวันของเด็กให้เป็นระบบมีความสำคัญมากถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ได้ไปโรงเรียนหรือทำกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ก็ตาม
UNICEF กล่าวว่า ให้พยายามรักษากิจวัตรประจำวันและตารางให้เป็นปกติให้มากที่สุดโดยเฉพาะช่วงก่อนนอน หรือผู้ปกครองอาจสร้างกิจวัตรใหม่ให้กับเด็กก็ได้
การพยายามช่วยให้เด็กไม่ต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุดในความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยให้เด็กฟื้นตัวได้เร็วมากกว่า
นอกจากนี้ เด็กจะรับรู้ได้ถึงความเครียดของผู้ใหญ่ได้ง่าย ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องคอยผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองด้วย และให้พยายามเล่นกับเด็กให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เด็กรู้สึกถึงความมีปฏิสัมพันธ์และความปลอดภัยทางอารมณ์
หลีกเลี่ยงการว่ากล่าว แสดงความเอื้อเฟื้อ
เมื่อพูดถึงสถานการณ์โควิด-19 ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการว่ากล่าวบุคคลอื่น แต่ควรจะมุ่งเน้นไปที่ข้อเท็จจริงให้มากที่สุดและอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าความเจ็บป่วยนั้นไม่ได้เกี่ยวกับรูปร่าง หน้าตา หรือสถานะของบุคคล แต่อาจเกิดขึ้นได้กลับทุกคนไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครหรือมาจากที่ใดก็ตาม
ผู้ปกครองอาจถามถึงประสบการณ์ที่ไม่ดีของเด็กเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ก็ได้ หากเด็กแบ่งปันประสบการณ์ในแง่ลบให้ผู้ปกครองฟัง ก็ให้ใช้โอกาสนี้ในการสอนคุณค่าของความดีให้แก่เด็ก เช่น ทีมแพทย์ที่กำลังเสี่ยงชีวิตและทำงานอย่างหนัก นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน หรืออาสาสมัครที่อาสานำอาหารไปส่งให้แก่ผู้ที่ถูกกักตัว
นอกจากนี้ ผู้ปกครองอาจใช้โอกาสนี้ส่งเสริมให้เด็กพูดคุยกับญาติผู้ใหญ่เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในการส่งต่อการแสดงความรักและความเอื้อเฟื้อได้
สอนให้เรื่องความสะอาดเป็นเรื่องสนุก
คงมีเด็กจำนวนไม่มากที่จะทนกับการยืนล้างมือได้ถึง 20 วินาที ในขณะที่การล้างมือให้สะอาดนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากโดยเฉพาะหลังจากเข้าห้องน้ำ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร และเมื่อไอ จามหรือสั่งน้ำมูก
ผู้ปกครองควรหาหนทางทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็ก เช่น การร้องเพลงหรือเต้นไปด้วยระหว่างล้างมือนั่นเอง
สิ่งสำคัญประการสุดท้าย คือ การสอนให้เด็กรู้จักปิดปากเวลาไอ หรือจามด้วยกระดาษทิชชูและทิ้งกระดาษนั้นทันที
(แปล/เรียบเรียง/ภาพจาก https://www.aljazeera.com/news/2020/04/talk-children-coronavirus-200402095228102.html)
ทั้งหมดนี้ เป็นวิธีการง่ายๆ ที่ผู้ปกครองชาวไทย สามารถนำมาปรับใช้ว่า คุณจะมีวิธีการพูดคุยกับลูกของคุณอย่างไร ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ดูเหมือนจะยาวนาน และยังไม่มีที่สิ้นสุดแบบนี้
อ่านประกอบ
ศิลปะ (ของใช้) ในบ้าน..เครื่องมือบำบัดจิต ในห้วงยามแห่งการกักตัว 'สู้' โรคโควิด
พบหมอศิริราช อยู่บ้านอย่างไร? ไม่ให้โควิดทำลายความสัมพันธ์คนในครอบครัว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage