"...เมื่อเราระบายความรู้สึกอะไรแล้ว มันจะไม่ไปออกนอกลู่นอกทาง โมโหก็อยู่แค่นี้ ไม่ได้ไปโผล่ในครอบครัว ไม่ไปด่าลูก ไม่ไปทะเลาะกับสามี กระบวนการมันจัดการตัวเอง และการลงมือทำจะทำให้พบกระบวนการ พบทางออกบางอย่าง หรือว่ารู้สึกมีคุณค่าที่ได้ทำบางอย่างสำเร็จ เช่นอาจรู้สึกว่าฉันได้ทำงานบางอย่างที่มีคุณค่า เป็นการดูแลตัวเอง..."
สีน้ำ สีโปสเตอร์ที่วาดลวดลาย ผักสวนครัวที่ปักไว้อย่างเรียบง่าย จานที่ปั้นเป็นรูปทรงประดับเปลือกหอย เสื้อที่ปักอย่างเรียบง่าย เส้นสายที่ขีดเขียนอย่างเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก
งานประดิษฐ์จากสิ่งของต่างๆ เหลือใช้ในบ้านเหล่านี้ล้วนเป็นศิลปะเพื่อเยียวยาใจได้ทั้งสิ้น
ในห้วงยามที่เชื้อโรคไวรัสโควิด- 19 กำลังแพร่ระบาดและสร้างความกังวลให้กับผู้คนทั้งเมืองแบบนี้ การกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค อาจจะทำให้หลายคนอยู่ในภาวะความเครียดสะสม
การสร้างสรรค์ศิลปะในบ้าน ดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือแห่งการบำบัดจิต ในห้วงยามแห่งการกักตัว สู้ โควิด ได้เป็นอย่างดี
"อยากทำความเข้าใจกับคำว่า “ศิลปะ” ในเบื้องต้นก่อน ว่ามันจะมาช่วยบำบัดเรื่องราวแบบนี้ได้อย่างไร หากเราเคยเห็นศิลปะที่เป็นงานวาดสวยๆ อันนั้นคือคนวาด กับผลงานแต่ศิลปะบำบัด คนวาดกับผลงานคืออันเดียวกัน ฉะนั้น ภาพจึงไม่ต้องสวยไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางศิลปะใดๆ ทั้งสิ้น"
@ น.ส.เพ็รชลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์ /ภาพจาก https://semsikkha.org/2019/trainer-petlada/
คือ คำอธิบายความหมายของคำว่า “ศิลปะ” ในมุมมองของ น.ส.เพ็รชลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์ ประกาศนียบัตรนักศิลปะบำบัด Clinical Art Therapy จากสถาบันศิลปะบำบัดนานาชาติแห่งประเทศแคนาดา ( Canadian International Institue of Art Therpy ; CiAT ) ผู้เยียวยาความรู้สึกภายในของผู้คนมามากมาย ที่ให้กับทีมข่าวพิเศษสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ฟัง
หลังถูกตั้งคำถามถึงแนวทางในการอาศัยอยู่กับภาวะวิกฤตินี้อย่างรู้เท่าทันความรู้สึกภายในตนเอง อีกทั้งเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัวที่นำมาใช้เยียวยาในแนวทางศิลปะที่ตอบตัวเองได้ถึงภาวะภายในที่เผชิญอยู่ และควรนำศิลปะบำบัดมาดูแลเยียวยาอย่างไร ในช่วงมหันตภัยโควิดขณะนี้
ทั้งนี้ ในประเด็นหัวข้อสำคัญที่ว่า ขณะนี้ผู้คนมากมายในสังคมไทยที่กังวลกับโควิด 19 จะนำศิลปะบำบัดมาดูแลเยียวยาอย่างไรบ้าง ?
เพ็รชลดา ตอบคำถามว่า "ในที่นี้ขอตอบเกี่ยวกับคนทั่วไปว่าจะมีความรู้สึกอย่างไร คนที่มีความเสี่ยงเฉพาะอยู่ด้วย เช่นแพทย์ พยาบาล หรือคนที่เสี่ยง ที่ถูกกักตัวจะไม่พูดถึง จะเอ่ยถึงคนทั่วไปที่น่าจะมีอารมณ์ 5 อย่าง คือ 1 แพนิค ว่าฉันจะติดหรือไม่ติด แล้วอาจจะมีความรังเกียจคนไม่ทำตามกติกา 2 ผู้มีความเครียด เช่นไม่ได้ทำงาน ตกงาน นึกอยากฆ่าตัวตายก็มี 3 ผู้ที่น่าจะมีความไม่พอใจในมาตรการว่าปิดเมืองแค่ไหน อย่างไร ปิดช้า ปิดเร็วอย่างไร แล้วก็อาจไปลงความไม่พอใจในเฟซบุ๊กก็มี 4 ผู้อึดอัด คับข้องใจ เพราะมีคำสั่งให้อยู่บ้าน"
"บางครั้งเราก็อาจรู้สึกอยากทำตาม แต่มันกวนชีวิตประจำวันเราแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร อันที่ 5 ผู้ที่รู้สึกผิด อยู่บ้านแล้วรู้สึกโอเคก็จริง แต่คนอื่นอาจเดือดร้อน ก็รู้สึกผิด ความรู้สึกมันมีหลากหลาย"
@ ศิลปะบำบัด คนวาดกับผลงานคืออันเดียวกัน
เพ็รชลดา ยังได้ยกตัวอย่างกระบวนการทำงานของภาพวาดในการบำบัดจิตว่า ภาพจะคลี่คลายความรู้สึกได้อย่างไร
ภาพที่กำลังดูอยู่นี้จะมีภาพขีดเส้น นั่นเป็นภาพของความโกรธ
ประการ 1 ของภาพนี้ กระบวนการของมัน คือ มันทำให้เรามีช่องทางระบายออก ที่ไม่ต้องหรูหรา วันนั้นเราอาจโกรธมาก แล้วเราก็หยิบปากกา ดินสอ หมึกสีเข้มๆ แล้วก็ขีดๆๆๆ ออกไป แล้วระหว่างที่ขีดออกไป จนถึงจุดหนึ่ง มันเปลี่ยนอารมณ์ จะสังเกตได้ว่า มันจะมีสีบางๆ อารมณ์เปลี่ยนไปแล้ว
ข้อดีคือระบายกับกระดาษ ไม่ต้องไประบายกับคนอื่น มันจะไม่ระบายผิดที่ผิดทาง หรือบางทีอาจเอาอุปกรณ์ที่บีบๆ นวดๆ บางคนถนัดทำขนมปัง บีบๆ นวดๆ หรือฉีกกระดาษ อะไรก็แล้วแต่ ให้ไปอยู่กับการลงมือทำ นวดๆ ไปอาจเป็นการทำขนมไป ฉีกกระดาษไปแล้ว อาจกลายเป็นปะติดเป็นรูปเป็นร่าง กล่าวคือ จากอารมณ์ฟุ้งซ่านมันก็อาจจะหลุดกระบวนการจากความคิดไปสู่การลงมือทำ หรืออย่างน้อยการแสดงความไม่พอใจลงบนชิ้นงานที่เราถนัดก็ได้
@ ศิลปะแห่งการบำบัด ไม่จำเป็นต้องวาดหรือปั้น
เพ็รชลดา ยังย้ำด้วยว่า ศิลปะแห่งการบำบัด ไม่จำเป็นต้องวาดหรือปั้น บางคนชอบเย็บปักผ้า ก็ปักอิสระก็ได้ ทำสวนก็ได้ อย่างภาพตัวอย่างที่ให้ไป เพื่อนบางคนก็เอาต้นผักบุ้งที่กินเหลือเอาไปแช่ให้รากงอก เพื่อให้หลุดจากความคิดไปสู่การลงมือทำ
แต่ทว่า ในขณะที่มันช่วยเราระบายออกจากความคิดมันก็มีประโยชน์
ประการต่อมาก็คือ เราจะเห็นคุณค่าเมื่อเราลงมือทำทำอะไรสำเร็จ มีคุณค่า บางอัน เรารู้สึกอยากทำมานานแล้ว อยากทำกิจกรรมที่เราทำเพิ่มเติมได้อีก ทำสวนผัก และอีกอันคือบางคนอาจรู้สึกชีวิตวิตก เขาอาจค้นพบว่าเขาเองวนๆ ไม่จบไม่สิ้นจากการวาดวนในกระดาษ
ที่แนะนำคืออุปกรณ์ง่ายๆ อะไรก็ได้ที่ชอบ เช่น ดอกไม้ เดินไปที่สวนบ้านเรา แล้วก็มีอุปกรณ์ คือไม่ต้องดอกไม้ก็ได้ อะไรก็ได้ที่ดึงดูดใจ แล้วเอามานั่งเรียง อาจจะถามตัวเองหน่อยว่าหยิบอันนี้มาทำไมนะ หยิบใบไม้แห้งมาเพราะว่าฉันกำลังนึกถึงความตายที่ใกล้จะมาถึงหรือเปล่า ถามและลองตอบตัวเอง
ศิลปะเพื่อเยียวยาคือ 1. มันได้ระบาย 2. มันเป็นการรับรู้ว่าเราเกิดอารมณ์ความรู้สึกไหนอยู่ มันจะทำให้เรารู้ว่าเราต้องการอะไร เช่น อาจต้องการพอแล้ว อย่าคิดเยอะมากไปกว่านี้ หรือไม่พอใจอะไร แล้วก็จะนำไปสู่การพินิจพิจารณาไปตามความเป็นจริง อุปกรณ์อะไรก็เอามาใช้ได้หมด ทำสวน เลี้ยงปลา จัดบ้าน เรียงอุปกรณ์ จัดของเก่าในบ้าน เพื่อจะนำมาทำเป็นอุปกรณ์ศิลปะในอนาคต เหลาดินสอ เหลาให้แหลม ขัดห้องน้ำ เปิดเพลงแดนซ์ไปก็ได้ คำว่าศิลปะมันกว้างมาก
@ ศิลปะช่วยให้ได้พักความคิด
เพ็รชลดา ยังย้ำด้วยว่า "ศิลปะช่วยให้ได้พักความคิด คือแน่นอนว่าเราห้ามความคิดไม่ได้ ดิฉันไม่เคยห้าม แต่ว่ามันคิดไป มันก็แก้ความรู้สึกไม่ได้ เพราะมันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น บางคนอาจจะใช้เหตุผล บอกเหตุผลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 เหตุผลที่เราจะโกรธ เช่นให้เหตุผล แพทย์ พยาบาลที่เขาติดโควิด แต่ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้น แทนที่จะไปถามหา คือยิ่งหายิ่งไปกันใหญ่ เพราะความรู้สึกอื่นๆ มาด้วย ก็ไปทำนู่นทำนี่ดีกว่าเพราะความรู้สึกมันแก้ไม่ได้ด้วยเหตุผล ไม่ได้ด้วยการวิเคราะห์ ความรู้สึกมันเป็นกระบวนการที่มันเกิดขึ้นแล้วมันจะไปของมันเอง ถึงใช้ความคิดอย่างไรก็แก้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเกิดความรู้สึก หากไม่เบี่ยงเบนไปทำศิลปะโดยตรงก็ให้ความคิดหยุด ความรู้สึกก็หายไปด้วยได้ เช่น บางที่ถ้าเราโกรธ ปล่อยให้โกรธไป แล้วมันหายไปก็มี"
สำหรับประเด็นการเยียวยาตนเอง จะช่วยอะไรผู้คนในช่วงที่เผชิญกับโควิดได้นั้น
เพ็รชลดา ยืนยันว่า "เมื่อเราระบายความรู้สึกอะไรแล้ว มันจะไม่ไปออกนอกลู่นอกทาง โมโหก็อยู่แค่นี้ ไม่ได้ไปโผล่ในครอบครัว ไม่ไปด่าลูก ไม่ไปทะเลาะกับสามี กระบวนการมันจัดการตัวเอง และการลงมือทำจะทำให้พบกระบวนการ พบทางออกบางอย่าง หรือว่ารู้สึกมีคุณค่าที่ได้ทำบางอย่างสำเร็จ เช่นอาจรู้สึกว่าฉันได้ทำงานบางอย่างที่มีคุณค่า เป็นการดูแลตัวเอง"
สำหรับตัวอย่างอุปกรณ์ที่จะช่วยทำศิลปะบำบัดได้ มีหลากหลาย
เพ็รชลดา อธิบายว่าต้องดูอุปกรณ์ของตัวเอง เช่น ถ้าเป็นดินสอ สีเทียน สีชอล์ค จะลื่นกว่าสีไม้ ก็ระบายอารมณ์ได้ดีกว่า หรือสีน้ำ สีโปสเตอร์ มีส่วนผสมของน้ำ ลื่นไหล ก็ระบายอารมณ์ได้ดีกว่า สีไม้ สีเทียน พวกปั้น ก็เหมาะกับบีบๆ นวดๆ ระบายความเครียดได้ดี กระดาษฉีก ขยำ สะใจ แต่แนะนำว่าให้นำสิ่งต่างๆ มาทำผลงานต่อ นี่คือ คุณสมบัติของวัสดุที่เอื้อให้เราระบายออกทางความรู้สึก ส่วนอีกชุดหนึ่งคือคนที่ชอบสิ่งต่างๆ อยู่แล้ส เช่น บางคนถนัดโครเชต์ บางคนชอบเย็บ ก็เย็บหน้ากากเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย ชอบทำสวน ขุดดินต้นไม้ก็งดงาม เติบโต
"สิ่งเหล่านี้ ช่วยเรื่องอารมณ์ความรู้สึก การจัดการภายใน แต่มันก็จะมีอารมณ์ความรู้สึกการจัดการภายนอกเช่น การแก้ไขปัญหาซึ่งต้องควบคู่กันไป ต้องอาศัยคนอื่น ครอบครัว ชุมชน ต้องควบคู่กันไป ไม่ใช่ว่าศิลปะบำบัดจะแก้ไขปัญหาเรื่องตกงาน เรื่องเงินได้ ไม่ได้นะ"
เมื่อถามย้ำว่า จัดการอย่างไร หากเครียดเพราะออกไปเดินเล่นข้างนอกไม่ได้ ?
นักศิลปะบำบัดรายนี้ แนะว่าบางอันใช้ข้างนอกจัดการได้ แต่ถ้าใช้ข้างนอกไม่ได้ ต้องอาศัยภายใน คือ เช่น ถ้าวิตก การแก้ปัญหาคือไม่ออกจากบ้านนะ ไม่ใช่ว่าออกไปจากบ้านไปสบายๆ มันต้องควบคู่กัน ถ้าออกไปข้างนอกไม่ได้ อาจใช้การลงมือทำ เช่น บางคนทำจิตอาสา รวบรวมหน้ากาก แต่ขณะนี้ไม่แนะนำให้ออกไปเดินเล่นข้างนอก แนะนำให้เดินเล่นในโซนบ้าน ดิฉันเองก็ออกกำลังกายด้วยการเดินขึ้นลงบันได้ เดินรอบบ้านเป็นวงกลม ในบ้าน คือแนะนำให้อยู่บ้านดีกว่า
"หากท่านใดมีความเครียดสุดๆ เลยนะ ลองไปติดต่อที่เพจสมาคมนักศิลปะบำบัด https://www.facebook.com/atha.thailand/ ลองไปขอความช่วยเหลือ ว่าจะขอความช่วยเหลืออย่างไร จะมีน้องแอดมินตอบอินบ็อกซ์ว่าจะให้ความช่วยเหลือในแง่ไหนดี" นักศิลปะบำบัดรายนี้ กล่าวทิ้งท้าย
**********
หมายเหตุ : ปัจจุบัน เพ็รชลดา เป็นนายกสมาคมนักศิลปะบำบัด รับบำบัดเดี่ยวและกลุ่มให้กับผู้มีอาการเครียดจากการทำงานและปัญหาความสัมพันธ์ ผู้ที่มี Trauma และผู้ป่วยจิตเวชภายใต้การรักษาร่วมกับจิตแพทย์ จัด Workshop ให้กับกลุ่มจิตอาสา บุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไป ที่ต้องการรู้พื้นฐานศิลปะบำบัดและนำไปประยุกต์ใช้เพื่อจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทางศิลปะ หรือเพื่อเยียวยาตัวเอง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage